ความรู้เกี่ยวกับรัฐ
มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยเริ่มจากการอยู่ด้วยกันในลักษณะสังคมที่เล็กที่สุด
ตั้งแต่ขนาดครอบครัวหลายๆ ครอบครัวในรูปของเผ่า เมื่อสมาชิกของสังคมเพิ่มมากขึ้น
สังคมก็ขยายตัวออกไปทั้งในด้านจำนวนและบริเวณที่ตั้งสังคม
จากเผ่ากลายเป็นนครรัฐและไปเป็นชาติ เป็นรัฐหรือประเทศ เป็นอาณาจักร
เป็นจักวรรดิ
การแบ่งกลุ่มคนหรือสังคมเป็นประเทศ คำที่ใช้ในการสื่อความหมาย คือคำว่า รัฐ
ซึ่งบ่งบอกถึงสถานะนิติบุคคลของประเทศ ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประเทศต่างๆ
มีฐานะเป็นรัฐในสังคมนานาชาติโดยเท่าเทียมกัน
ไม่ว่าขนาดของประเทศหรือรัฐจะแตกต่างกันหรือไม่ก็ตาม โดยปกติ คำว่า
รัฐและประเทศมีความหมายคล้ายกัน
ความหมายของรัฐ
รัฐ หมายถึง
กลุ่มคนที่รวมกันอยู่ในดินแดนอันมีอาณาเขตแน่นอน
และมีรัฐบาลซึ่งมีอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการดำเนินกิจการของรัฐในประเทศและนอกประเทศโดยอิสระ
ดังนั้นรัฐจึงเป็นสังคมที่มีการจัดองค์กรทางการเมืองแตกต่างจากการรวมตัวกันเป้นสังคมแบบธรรมดา
ๆ ความหมายของรัฐเน้นในเรื่องการเมือง คือ มีการจัดองค์กรในรูปแบบที่ว่า
มีคนจำนวนหนึ่งเป็นผู้ปกครองมีอำนาจเหนือกลุ่มคนทั้งหมด
อำนาจของผู้ปกครองนี้อาจได้มาด้วยการใช้กำลัง หรือความยินยอมมอบให้
หรือการยอมรับของคนที่อยู่ในสังคมนั้นทางใดทางหนึ่งก็ได้ คำว่า รัฐ
นี้อาจให้ความหมายโดยสมบูรณ์ว่า รัฐประชาชาติ ก็ได้
เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า รัฐ แล้ว จะเห็นได้ว่า จุดประสงค์สำคัญในการมีรัฐ
คือความปรารถนาของคนที่จะมีชีวิตที่มีความสมบูรณ์ อันได้แก่ การมีเสรีภาพ
มีโอกาสอันเท่าเทียมกัน มีความเจริญก้าวหน้า มีโอกาสพัฒนาด้านสติปัญญา
ความสามารถและบุคลิกภาพ มีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของประเทศ
องค์ประกอบของรัฐ
การจะจัดว่าสังคมใดเป็นรัฐ หรือรัฐประชาชาติ ตามที่เรียกกันในปัจจุบันนั้น
ต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ ประชากร อาณาเขต รัฐบาล และอธิปไตย
และจะต้องมีครบถ้วนทั้ง 4 ประการ จะขาดประการใดประการหนึ่งไม่ได้
แต่ละองค์ประกอบมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. ประชากร รัฐจะต้องมีจำนวนประชากรจำนวนหนึ่ง
ไม่มีการกำหนดไว้ว่ารัฐหนึ่งควรมี
ประชากรเท่าใด
แต่หากรัฐใดมีประชากรน้อยเกินไปก็ยากที่จะคงไว้ซึ่งเอกราชของตนเอง
โดยเหตุนี้จำนวนประชากรของแต่ละรัฐอาจจะแตกต่างกันมาก เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน
มีประชากรประมาณ 1,288 ล้านคน ในขณะที่ประเทศนาอูรู (Nauru) และตูวาลู (Tuvalu)
ซึ่งอยู่ในแถบโอเซียเนีย มีประชากรเพียง 1 หมื่นคนเศษเท่านั้น
ประชากรภายในรัฐไม่จำเป็นต้องมีเชื้อชาติเดียวกัน ตัวอย่างเช่น สหพันธรัฐรัสเซีย
มีชนเชื้อชาติต่างๆ มากกว่าร้อยเชื้อชาติ
ภาษาที่ใช้ในรัฐก็ไม่จำเป็นต้องมีภาษาเดียวกัน เช่น
สาธารณรัฐอินเดียมีภาษาที่ใช้มากกว่าร้อยภาษา
ประชากรที่อยู่ในรัฐเดียวกันก็อาจมีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อถือแตกต่างกัน
2. ดินแดน
รัฐต้องมีดินแดนที่ตั้งหรือมีอาณาเขตที่แน่นอน จะมีขนาดใหญ่หรือเล็กก็ได้
เช่น สหพันธรัฐรัสเซียมีพื้นที่มากกว่า 17
ลานตารางกิโลเมตร ในขณะที่สาธารณรัฐสิงคโปร์มีพื้นที่เพียง 600
ตารางกิโลเมตรเศษเท่านั้น หมู่คนที่เร่ร่อนไม่ปักหลักหากินเป็นถิ่นฐานแน่นอน เช่น
พวกยิปซีในสมัยก่อนถือว่าไม่ได้อยู่ร่วมกันในลักษณะของรัฐ
โดยปกติอาณาเขตของรัฐมักติดต่อกัน แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป
เช่นมลรัฐอะแลสกาของสหรัฐอเมริกา มีพื้นที่ไม่ติดกับมลรัฐอื่นๆของสหรัฐอเมริกา
เพราะมีประเทศแคนาดาคั่นอยู่ เป็นต้น
3. รัฐบาล
รัฐจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปกครองบริหารซึ่งเรียกว่า รัฐบาล เป็นผู้
ทำหน้าที่คุ้มครองรักษาความสงบภายใน
ป้องกันการรุกรานจากภายนอก จัดการทางเศรษฐกิจ
และการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชากรที่อาศัยอยู่ในรัฐ
รวมทั้งการดำเนินกิจการของรัฐในทางการเมืองระหว่างประเทศด้วย
4.
อธิปไตย สังคมที่จะเป็นรัฐประชาชาติโดยสมบูรณ์ได้ต้องมีอธิปไตย คือ
มีอำนาจเด็ด
ขาดและเต็มที่ที่จะบัญญัติบังคับและตัดสินคดีความตามกฎหมายให้ประชาชนของรัฐของตน
และสามารถที่จะดำเนินกิจการภาในหรือภายนอกประเทศโดยอิสระ
ไม่ถูกควบคุมหรือบงการโดยรัฐอื่น
ถ้าหากว่ารัฐใดขาดอธิปไตยแล้วถือว่ารัฐนั้นไม่มีเอกราชโดยแท้จริง
รูปแบบของรัฐ
รัฐ
หรือรัฐประชาชาติ โดยทั่วไปมี 2 รูปแบบ คือ รัฐเดี่ยวกับรัฐรวม
1. รัฐเดี่ยว
เป็นรัฐที่มีรัฐบาลเดียวเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยปกครองอาณาเขต หรือดินแดนทั้งหมด
ประชาชนที่อยู่ในรัฐถือว่าอยู่ภายใต้รัฐบาลเดียวกัน
รัฐอาจจะจัดระบบการปกครองให้มีหน่วยปกครองระดับรองกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆของรัฐ
เพื่อให้บริการหรือให้ความสะดวกแก่คนในรัฐ รัฐเดี่ยวนี้
แม้จะมีการจัดตั้งหน่วยงานปกครองท้องถิ่น
เพื่อให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการปกครอง หรือดำเนินการพัฒนาด้านต่างๆในท้องถิ่น
แต่ก็เป็นรูปแบบของการปกครองตนเอง
หน่วยปกครองท้องถิ่นนั้นๆยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่ตราขึ้นมาจากส่วนกลาง คือ
การปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีรัฐบาลกลางเป็นผู้ควบคุม
การปกครองตนเองจะมีอำนาจมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรัฐบาล
2. รัฐรวม รัฐประเภทนี้ ได้แก่
การที่รัฐอย่างน้อย 2 รัฐมารวมกันเป็นรัฐเดียว
โดยแบ่งการใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็นสัดส่วน มีรัฐบาล 2 ระดับ ได้แก่ รับบาลกลาง
(Federal Government) กับรัฐบาลท้องถิ่น (State Government) รัฐบาลทั้ง 2
ระดับต่างมีอำนาจหน้าที่ของตนโดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยทั่วไป
รัฐบาลกลางของรัฐรวมจะใช้อำนาจอธิปไตยในส่วนที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐทั้งหมด
หรือผลประโยชน์อันเป็นส่วนรวมของรัฐ เช่น การติดต่อกับต่างประเทศ
การรักษาความมั่นคงของชาติ การเงิน การคลัง เป็นต้น
ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการดำเนินกิจการอันเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นโดยเฉพาะ เช่น
การจัดการศึกษา การรักษาความสงบภายใน การรักษาสุขภาพของประชาชน เป็นต้น
รัฐบาลรวมประกอบด้วยหลายๆ รัฐเข้ามารวมกันเป็นรัฐประชาชาติใหญ่ เรียกว่า สหพันธรัฐ
(Federal State) เช่น สหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยมลรัฐต่างๆ ถึง 50 มลรัฐ
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี มีรัฐต่างๆรวมกันจำนวน 16 รัฐ เป็นต้น
รัฐธรรมนูญของรัฐรวม
หรือสหพันธรัฐแบ่งแยกอำนาจของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นออกจากกันอย่างเด่นชัดว่า
รัฐบาลใดมีขอบเขตของอำนาจหน้าที่อย่างไร
ทั้งนี้เพื่อป้องกันความขัดแย้งอันอาจจะเกิดขึ้นได้
ปกติรัฐที่มีการปกครองแบบรัฐรวม มักจะเป็นรัฐหรือประเทศใหญ่ มีอาณาเขตกว้างขวาง
มีภูมิประเทศและสภาพท้องถิ่นไม่เหมือนกัน เช่น สหพันธรัฐรัสเซีย ออสเตรเลีย บราซิล
สหรัฐอเมริกา แคนาดา อินเดีย เป็นต้น
ประเภทชองรัฐ
รัฐเอกราชที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติปัจจุบันมีทั้งสิ้น 191รัฐ
รัฐทั้งหมดนี้มีความแตกต่างกันทั้งเนื้อที่ จำนวนประชากร ลักษณะการปกครอง
และลักษณะเศรษฐกิจ อาจจำแนกประเภทของรัฐได้ตามลักษณะการปกครอง ลักษณะเศรษฐกิจ
และลักษณะของฐานอำนาจได้ ดังนี้
1. การจำแนกประเภทของรัฐตามลักษณะการปกครอง
ลักษณะการปกครอง หมายถึง รูป
แบบการเมืองการปกครองของรัฐ
โดยพิจารณาจากการที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางด้านการเมืองการปกครองซึ่งจำแนกได้2
ลักษณะ คือ
1) รัฐประชาธิปไตย
เป็นระบบการปกครองที่ให้โอกาสประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง เช่น
สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อินเดีย ไทย เป็นต้น
2) รัฐเผด็จการ
เป็นระบบการปกครองที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางด้านการปกครองน้อยมากหรือไม่มีเลย
อำนาจในการปกครองมาจากคนหรือคณะบุคคล เช่น พม่า เกาหลีเหนือ เป็นต้น
2.
การจำแนกประเภทของรัฐตามลักษณะเศรษฐกิจ ลักษณะเศรษฐกิจ หมายถึง
รูปแบบการจัดระบบเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งจำแนกได้ 2 ลักษณะ คือ
1) รัฐทุนนิยม
เป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้โอกาสประชาชนในการดำเนินการผลิตการจำหน่ายและให้กลไกตลาดเป็นผู้กำหนดราคาสินค้า
รัฐไม่เข้าไปแทรกแซงหรือแข่งขัน
ยกเว้นกิจการบางอย่างที่เป็นสาธารณะเพื่อประชาชนส่วนใหญ่
รัฐอาจเข้าไปดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น เช่น
การคมนาคมขนส่งและสื่อสาร การบริการน้ำสะอาด ไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่นๆ เป็นต้น
ประเทศที่มีลักษณะเศรษฐกิจแบบนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร
สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้น
2) รัฐสังคมนิยม
เป็นระบบเศรษฐกิจที่รัฐเป็นผู้ประกอบการทั้งหมด คือ การดำเนินการผลิตการจำหน่าย
และกำหนดราคา
ประชาชนที่ส่วนร่วมในฐานะเป็นลูกจ้างของรัฐและเป็นผู้บริโภคเท่านั้นประเทศที่มีลักษณะเศรษฐกิจแบบนี้
เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีเหนือ คิวบา ลิเบีย เป็นต้น
ตัวอย่าง
รัฐเอกราชที่มีความแตกต่างทั้งขนาดของพื้นที่ รูปแบบของรัฐ
ลักษณะการปกครองและเศรษฐกิจ
รัฐ |
จำนวนประชากร
(ล้านคน) |
พื้นที่
(ตร.กม.) |
รูปแบบของรัฐ |
ลักษณะการปกครองและเศรษฐกิจ |
สาธารณรัฐประชาชนจีน |
1,288.7 |
9,572,899 |
รัฐรวม |
เผด็จการคอมมิวนิสต์ - สังคมนิยม |
อินเดีย |
1,068.6 |
3,287,590 |
รัฐรวม |
ประชาธิปไตย - ทุนนิยม |
สหรัฐอเมริกา |
251.5 |
9,629,091 |
รัฐรวม |
ประชาธิปไตย - ทุนนิยม |
สหพันธรัฐรัสเซีย |
145.5 |
17,075,401 |
รัฐรวม |
ประชาธิปไตย - ทุนนิยม |
ไทย |
63.1 |
513,120 |
รัฐเดี่ยว |
ประชาธิปไตย - ทุนนิยม |
ฝรั่งเศส |
59.8 |
551,499 |
รัฐเดี่ยว |
ประชาธิปไตย - ทุนนิยม |
สหราชอาณาจักร |
59.2 |
244,879 |
รัฐเดี่ยว |
ประชาธิปไตย - ทุนนิยม |
แคนาดา |
31.6 |
9,970,645 |
รัฐรวม |
ประชาธิปไตย - ทุนนิยม |
มาเลเซีย |
25.1 |
329,751 |
รัฐรวม |
ประชาธิปไตย - ทุนนิยม |
ซาอุดีอาระเบีย |
25.1 |
2,149,645 |
รัฐเดี่ยว |
ประชาธิปไตย - ทุนนิยม |
ออสเตรเลีย |
19.9 |
7,741,219 |
รัฐรวม |
ประชาธิปไตย - ทุนนิยม |
สิงคโปร์ |
4.2 |
619 |
รัฐเดี่ยว |
ประชาธิปไตย - ทุนนิยม |
บรูไน |
0.4 |
5,770 |
รัฐเดี่ยว |
ประชาธิปไตย - ทุนนิยม |
ลิกเตนสไตน์ |
0.04 |
160 |
รัฐเดี่ยว |
ประชาธิปไตย - ทุนนิยม |
โมนาโก |
0.03 |
2 |
รัฐเดี่ยว |
ประชาธิปไตย - ทุนนิยม |
ที่มา : Population Reference Bureau (2003) World Population Data Sheet
2003
3. การจำแนกประเภทของรัฐตามลักษณะของฐานอำนาจ
ลักษณะของฐานอำนาจ หมาย
ถึง ปัจจัยที่ส่งเสริมความมีอำนาจของรัฐที่สำคัญ
เช่น ขนาดของเนื้อที่ จำนวนประชากร ทรัพยากรกำลังทหาร และศักยภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์
หากรัฐมีปัจจัยดังกล่าวอยู่มากก็ส่งเสริมให้มีอำนาจมาก อาจแบ่งอำนาจของรัฐได้ 3
ลักษณะ ดังนี้
1) รัฐมีอำนาจน้อย เป็นรัฐที่มีเนื้อที่ขนาดเล็ก
ประชากรน้อย มีทรัพยากรจำกัด เช่นสิงคโปร์ กัมพูชา ลิกเตนสไตน์ เป็นต้น
2)
รัฐมีอำนาจปานกลาง เป็นรัฐขนาดกลางทั้งด้านเนื้อที่และประชากรโดยมี
ทรัพยากรสนองความต้องการของประชากรได้อย่างเพียงพอ เช่น ไทย สเปน เดนมาร์ก
ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
3) รัฐมีอำนาจมาก
เป็นรัฐตามเกณฑ์ที่มีเนื้อที่และประชากรมาก
มีทรัพยากรหลากหลายและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง มีความเข้มแข็งทางยุทธศาสตร์การทหาร
เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส
เป็นต้น
การจำแนกประเภทของรัฐตามลักษณะดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ทั้งทางด้านการปกครอง
เศรษฐกิจและฐานอำนาจ
การศึกษาเรื่องของรัฐจึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐตามลักษณะการจัดระเบียบการปกครองของรัฐมากกว่าประเภทของรัฐ
วัตถุประสงค์และหน้าที่ของรัฐ
การที่มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยจัดตั้งเป็นรัฐนั้น
ก็ด้วยความหวังว่ารัฐจะทำหน้าที่เพื่อทำให้มนุษย์มีความอยู่รอด ปลอดภัย
และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์
รัฐจึงต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดหน้าที่ที่จะสนองความต้องการของประชาชนให้ตรงตามวัตถุประสงค์นั้นวัตถุประสงค์และหน้าที่ของรัฐในความคาดหมายของประชาชน
มีดังนี้
วัตถุประสงค์ของรัฐ
รัฐจะต้องดำเนินการให้ประชาชนของรัฐมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ด้วยการสร้างความเป็นระเบียบการสร้างคุณธรรม
การจัดให้มีสวัสดิการสาธารณะและการสร้างความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคง
1. สร้างความเป็นระเบียบ
ความเป็นระเบียบเป็นรากฐานของความสงบเรียบร้อยของ
สังคมโดยทั่วไป
และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดผลดีแก่ประชาชน
เมื่อสังคมมีควมเป็นระเบียบทำให้สมาชิกมีโอกาสใช้อำนาจที่ถูกต้องชอบธรรมหรือใช้สิทธิของตนได้
ความเป็นระเบียบทำให้เกิดเสรีภาพ คือ ความอิสระที่ประชาชนจะทำสิ่งใดๆได้
โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เพราะเสรีภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐนั้น
มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีหลักเกณฑ์
และทุกคนมีความรับผิดชอบที่จะควบคุมการกระทำของตนมิให้กระทบกระเทีอนต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น
นอกจากนี้ ความเป็นระเบียบยังทำให้เกิดความเสมอภาคคือความเท่าเทียมกันของประชาชน
เพราะความมีระเบียบ ยังทำให้เกิดความเสมอภาคกันในระหว่างคนในชาติ
2. สร้างคุณธรรม คุณธรรม
คือ สิ่งที่ทำให้คนแตกต่างจากสัตว์ประเภทอื่นๆ
เพราะคุณธรรมทำให้คนมีความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
รัฐจึงต้องเสริมสร้างและส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณธรรม ศีลธรรม หรือ
จริยธรรมในหลักศาสนา
ซึ่งช่วยสร้างเสริมเพิ่มพูนคุณงามความดีให้กับบุคคลเพื่อให้อยู่ร่วมกันด้วยความสงบเรียบร้อย
มีความเป็นระเบียบ ปลอดภัย และทำให้เกิดสันติสุข
3. บริการสาธารณะ
กิจการอันเป็นสวัสดิการสาธารณะด้านต่างๆ
ซึ่งประชาชนได้รับประโยชน์ในการใช้บริการร่วมกัน เช่น เส้นทางคมนาคมขนส่ง ไฟฟ้า
น้ำสะอาด เป็นต้น รัฐจะต้องรับผิดชอบดำเนินการ
4. สร้างความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคง
รัฐเหมือนสิ่งมีชีวิตที่มีคุณค่า ต้องการการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า มีความมั่นคง
และปลอดภัย ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม
หน้าที่ของรัฐ
ประชาชนจะอยู่รอดปลอดภัยและมีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ได้ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้นั้น
รัฐจะต้องทำหน้าที่ด้านต่างๆ ดังนี้
1. การบริหาร คือ การปกครอง ดูแล และการปกกันประเทศ
รัฐต้องจัดให้มีสิ่งต่อไปนี้
1) จัดหน่วยปกครอง เพื่อการบริหารการปกครอง
รัฐจะต้องดำเนินการตามกฎหมายในการให้ความคุ้มครองและป้องกันการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ
และความเสมอภาค ทั้งในส่วนเอกชนและมหาชน
2) รักษาความสงบภายใน
รัฐต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นในรัฐ โดยการป้องกัน
ระงับ และปราบปรามอาชญากรรม
3) หารายได้ รัฐต้องดำเนินการ
เพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในพัฒนาและรักษาความมั่นคงของประเทศ
ด้วยการเก็บภาษีอากรที่เป็นธรรม มีความเสมอภาคและไม่รั่วไหล
4) รักษาเอกราช
รัฐต้องดำเนินการโดยจัดให้มีกำลังป้องกันตนเอง เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตย
ทั้งต้องเป็นมิตร และมีสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ
ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
2.
การบริการและสวัสดิการ รัฐต้องอำนวยและบำบัดทุกข์ บำรุงสุข
ให้แก่ประชาชนในด้านสุขภาพอนามัย การสงเคราะห์ผู้ประสบภัย การศึกษา
การฝึกฝนและประกอบอาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
มีศักดิ์และสิทธิ์แห่งการเป็นพลเมืองของประเทศ
3. ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ รัฐต้องสนับสนุน
ส่งเสริมให้เอกชนมีความสามารถและมีความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพ
ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบทางด้านเศรษฐกิจจากผู้ที่เข้มแข็งหรือร่ำรวยกว่า
และป้องกันการค้าขายผูกขาด
วาทิน ศานติ์ สันติ
·เลขที่บันทึก: 313118
·สร้าง: 12 พฤศจิกายน 2552 22:40 ·
แก้ไข: 16 มิถุนายน 2555 20:31
· ผู้อ่าน:
แสดง· ดอกไม้:
0· ความเห็น:
0· สร้าง: เกือบ 3 ปี ที่แล้ว
·สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ
แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน