|
370.27 รวมข่าวทางการศึกษา
ประธานสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โพสต์ไม่เห็นด้วยแยกวิชาปวศ.-หน้าที่พลเมือง
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนนายอรรถพล อนันตวรสกุล
อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Athapol Anunthavorasakul
แสดงความเห็นโต้แย้งแนวคิดที่จะแยกวิชาประวัติศาสตร์และ
หน้าที่พลเมืองออกจากชุดวิชาสังคมศึกษามีเนื้อหาดังนี้
สำหรับท่านที่สงสัยว่าทำไมผมจึงไม่เห็นด้วย
กับการแยกวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง
ออกจากชุดวิชาเดิมคือสังคมศึกษาผมขอชี้แจงยาว ๆ ดังนี้
1 หากการแยกรายวิชาเป็นไปตามแนวคิดร่วมสมัย
ในการจัดการศึกษาคงไม่มีใครว่า แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาดังกล่าว
ทั้งนักวิชาการภายนอกและภายในศธ
รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายส่วนงาน
ก็เห็นไปทิศทางเดียวกันว่าไม่สมควรดำเนินการดังกล่าว
เนื่องจากไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียน
ควรเน้นการเชื่อมโยงหลอมหลวมและบูรณาการความรู้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น
ที่เป็นการศึกษาภาคบังคับ ทั้งยังทำให้เกิดปัญหาใหม่นั่นคือการเพิ่มเวลาเรียน
เพิ่มการแยกส่วนเนื้อหาสาระมากขึ้นโดยไม่จำเป็น
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากแนวคิดทางการศึกษาใดๆ และ
ไม่ได้มีพื้นฐานจากข้อมูลหรือเหตุผลทางวิชาการ
แต่อาศัยประสบการณ์และมุมมองส่วนบุคคล โดยไม่มีการรับฟังเสียงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูผู้สอนและเด็กนักเรียน ที่จะกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
2 การกำหนดแนวทางการทำงานระดับนโยบายการจัดการศึกษาในครั้งนี้
ไม่ได้สอดคล้องกับแนวคิดในการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันแม้แต่น้อย
ขณะที่นักการศึกษาหัวก้าวหน้านักการศึกษาทางเลือก
ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านที่สนใจจะเข้ามาพัฒนางานการศึกษา
ตลอดจนผู้ประกอบการภาคเอกชนซึ่งเป็นกลุ่มนายจ้าง
กำลังต้องการยกระดับเชิงคุณภาพในการจัดการศึกษา
ลดเวลาเรียน ลดสาระความรู้ที่มากเกินไปและไม่จำเป็น
ส่งเสริมแนวทางการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น
ในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ ฯลฯ
การประกาศนโยบายเรียนวิชาใหม่เหมือนกันทั้งประเทศที่เกิดขึ้น
โดยไม่มีการสอบถามความคิดเห็นการพิจารณาอย่างรอบคอบ
ในการนำมาใช้กลางปี??การศึกษา
เพื่อจะเริ่มต้นใช้ในภาคการศึกษาปลาย ในอีกไม่ถึง 4 เดือน
โดยจะต้องเร่งทำเอกสารหลักสูตรให้เสร็จ
ฝึกอบรมครูผู้สอนให้ใช้เอกสารหลักสูตรและชุดกิจกรรมในเวลาเร่งด่วนเช่นนี้
จึงชวนให้เกิดคำถามอย่างมากว่าเราจะยกระดับคุณภาพการศึกษา
หรือซ้ำเติมคุณภาพที่ถูกตั้งคำถามอยู่ให้ถดถอยลงกันแน่
3 การประกาศให้การแยกวิชาใหม่จากเนื้อหาสาระเดิม
กำหนดจำนวนคาบมา??ให้เป็นโจทย์ว่าละ 1 คาบสัปดาห์
ในส่วนวิชาเพิ่มเติม ทำให้ต้องพิจารณากันว่าเดิมจำนวนคาบเหล่านี้
เคยได้รับการกระจายหน้าที่รับผิดชอบอย่างหลากหลายในแต่ละโรงเรียน
ที่สามารถจัดรายวิชาแตกต่างกันไปตามบริบทและความต้องการของโรงเรียนเช่น
เน้นการพัฒนาทักษะภาษาไทยสำหรับชั้นเด็กเล็ก
ในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องระดับความสามารถทางภาษาของเด็ก
การเน้นวิชาภาษาต่างประเทศโรงเรียนที่เน้นวิชาเฉพาะเช่นวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ดนตรี - ศิลปะพลศึกษา
เราจะเพิ่มวิชาใหม่นี้เข้าโดยลดทอนจำนวนชั่วโมงเรียนเดิมที่จัดเต็มแน่นอยู่แล้ว
หรือเพิ่มเข้าไปให้จำนวนชั่วโมงเรียนของเด็ก ๆ เพิ่มขึ้นอีก?
ใครคือผู้รับผิดชอบรายวิชาใหม่นี้
หากเป็นไปตามการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา
รายวิชาใหม่นี้จะเน้นการพัฒนาทักษะและคุณลักษณะ
ที่ครูทุกคนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอน
หากโรงเรียนนั้นมีจำนวนห้องเรียนระดับชั้นละ 6 - 12 ห้องเรียนต่อระดับชั้นและ
เปิดสอน 6 ระดับชั้นการเพิ่มชม. เรียนต่อ ๆ ละ 1 คาบสัปดาห์
นั่นเท่ากับจะมีภาระงานสอนของครูเพิ่มขึ้นทั้ง ร.ร. อยู่ที่ 36-72 คาบเรียน
แต่หากวิชาใหม่นี้เป็นการแยกเนื้อหาสาระจากกลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ เดิมออกมา
ผู้รับผิดชอบหลักก็คงไม่พ้นครูสังคมศึกษาในโรงเรียนที่อยู่ๆ
ก็จะมีการเพิ่มจำนวนชั่วโมงสอนขึ้นในภาคปลาย
ขณะที่ภาระงานในปัจจุบันของครูโรงเรียนสังกัด สพฐ อยู่ที่ 20-24 คาบเรียนขึ้นไปต่อคนอยู่แล้ว
การเพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนมากถึง 36-72 คาบ
ให้กับครุกลุ่มสาระการเรียนรู้เดี่ยวจำนวน 10-20 คนต่อโรง
ตามขนาดของโรงเรียน เท่ากับเพิ่มชม.สอนต่อคนอีกอย่างน้อย 3-4 คาบเรียน
เรายังใช้งานครูน้อยไปอีกหรือครับ
4 หากมีการแยกวิชาใหม่นี้ จำนวนชั่วโมงสังคมศึกษาเดิมจะลดหายลงไปหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเดิมเรียนสังคมศึกษาจำนวน 160 คาบเรียน / ปีการศึกษา
(วิชาภาษาไทย - คณิตศาสตร์ - วิทยาศาสตร์กำหนดให้เรียนวิชาละ 120 คาบ / ปีการศึกษา)
หากแยกประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองออกมาอย่างละ 40 ชั่วโมงเรียน
จะเหลือชม.เรียนวิชาสังคมหลักเดิมอยู่เพียง 80 ชั่วโมง
แต่ต้องครอบคลุมทั้งภูมิศาสตร์เศรษฐศาสตร์พุทธศาสนาและศาสนาสากลและ
ในทางปฏิบัติ โรงเรียนส่วนใหญ่ได้แยกจัดสอนวิชาพุทธศาสนา
แยกอยู่แล้วจำนวน 40 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา
จึงเท่ากับเหลือเวลาเรียนภูมิศาสตร์ - เศรษฐศาสตร์และศาสนาสากล
รวมกันเพียงสัปดาห์ละ 1 คาบหรือ 40 ชม ต่อปีการศึกษา
ทั้งที่เราได้เห็นแล้วว่าความรู้และทักษะในเรื่องภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
การเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องภูมิอากาศ ภัยพิบัติ
ประเด็นร่วมสมัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและการประกอบอาชีพ
การเป็นผู้ผลิต-ผู้บริโภคที่ฉลาดเและเท่าทัน
การรู้เรื่องการเงินการออมการลงทุนปรัชญาและแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง
ศาสนาสากลและจริยธรรมสากล ฯลฯ ล้วนแต่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
การแยกรายวิชาใหม่นั้น ไม่ว่าจะแยกโดยไม่ลดทอนชั่วโมงเรียนเดิม
หรือแยกโดยเพิ่มชั่วโมงเข้าไปในหลักสูตร
ก็ล้วนส่งผลต่อการปฏิบัติงานจริงของครูนับแสนคน และ
จำนวนชั่วโมงเรียนของเด็ก ๆ นับล้านอย่างแน่นอน
ปัจจุบันเด็กไทยมีจำนวนชั่วโมงเรียนตามหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับสูงมาก
ทั้งประถมศึกษา (ไม่น้อยกว่า 1,000 ชม. ต่อปี) และมัธยมศึกษา (ไม่น้อยกว่า 1,200 ชม. ต่อปี) และ
ในทางปฏิบัติก็เรียนกันมากกว่าที่กำหนดขั้นต่ำไว้ในหลักสูตรเสียอีก
การตัดสินใจในเรื่องที่จะกระทบต่อผู้คนจำนวนหลายล้าน
ทั้งครูเด็กผู้ปกครอง จำเป็นอย่างยิ่งต้องพิจารณารอบคอบถึงผลกระทบที่จะตามมา
และคำถามที่สำคัญยิ่งก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับประเด็น "หน้าที่ของพลเมือง" ในวันนี้
ปัญหาเร่งด่วนอยู่ที่เด็กหรือผู้ใหญ่ในสังคม
เราเชื่อจริงๆหรือว่าการที่เด็ก ๆ เรียนวิชาใหม่นี้เพิ่มขึ้นจากหลักสูตรเดิม 1 คาบเรียน / สัปดาห์
จะทำให้มีความเป็นพลเมืองดีมากขึ้น
หากว่าสิ่งที่เด็ก ๆ เรียนในห้องเรียน ไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้ใหญ่กำลังทำให้เห็น
ทั้งการเคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น
การปฏิบัติตามหน้าที่พลเมืองการเคารพกฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน
การเคารพในความหลากหลายของคนในสังคมและ
การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
การใช้เหตุผลในการตัดสินใจร่วมกัน
การใช้กระบวนการสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
การส่งเสริมให้พลเมืองมีความกระตือรือร้นและ
มีส่วนร่วมรับผิดรับชอบในการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐ ฯลฯ
จำเป็นแล้วหรือที่ต้องเร่งรีบดำเนินการเรื่องเหล่านี้เอากับเด็กๆ ในเวลาไม่กี่เดือนนี้
หรือแท้จริงแล้วเราคิดจะรอให้เด็ก ๆ เหล่านี้ร่ำเรียนจนจบการศึกษา
ออกมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ผู้ใหญ่ในสังคมก่อไว้
โดยไม่จัดการกับรากเหง้าปัญหาที่แท้จริงอย่างจริงจังและเร่งด่วน
นั่นคือผู้ใหญ่ทุกวันนี้ "เป็นตัวอย่างในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองดี"
ให้เด็ก ๆ เห็นแล้วหรือยัง
เพราะนั่นต่างหากคือเป้าหมายแท้จริงของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถพลอนันตวรสกุล
ประธานสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคณะครุศาสตร์
|
|