กระทรวงการต่างประเทศ (ประเทศไทย)
กระทรวงการต่างประเทศ ราชอาณาจักรไทย |
|
---|---|
Ministry of Foreign Affairs of Thailand | |
ตราบัวแก้ว | |
ที่ทำการ | |
เลขที่ 443 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 | |
ภาพรวม | |
วันก่อตั้ง | 14 เมษายน พ.ศ. 2418 |
เขตอำนาจ | ทั่วราชอาณาจักร |
งบประมาณ | 7,579.8116 ล้านบาท (พ.ศ. 2555) [1] |
รัฐมนตรีว่าการ | ดร.สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล, รัฐมนตรี |
ผู้บริหาร | สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว, ปลัดกระทรวง เฉลิมพล ทันจิตต์, รองปลัดกระทรวง นพปฎล คุณวิบูลย์, รองปลัดกระทรวง เกียรติคุณ ชาติประเสริฐ, รองปลัดกระทรวง |
ลูกสังกัด | ดูในบทความ |
เว็บไซต์ | |
www.mfa.go.th |
กระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย (อังกฤษ: Ministry of Foreign Affairs of Thailand)[2] เป็นหน่วยงานราชการไทยประเภทกระทรวง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการต่างประเทศและราชการอื่น ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ
เนื้อหา |
[แก้] ที่ตั้ง
กระทรวงการต่างประเทศ เคยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่พระราชวังสราญรมย์ ถนนสนามไชย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2418 จนถึงปี พ.ศ. 2535 ต่อจากนั้นจึงได้ย้ายที่ทำการมายังเลขที่ 443 ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งสำนักงาน องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO ซีโต้ หรือ สปอ.) นอกจากนั้นยังมีอาคารสำนักงานในสังกัด คือ กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ และสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว 14 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศ
[แก้] ตราสัญลักษณ์ประจำกระทรวง
วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ: |
ตราบัวแก้ว ซึ่งเป็นรูปเทพยดานั่งในดอกบัว ถือดอกบัวข้างขวา ถือวชิระข้างซ้ายนั้น เป็นตราของกระทรวงการต่างประเทศ ตรานี้มีปรากฏใช้มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตราบัวแก้วเป็นตราซึ่งเจ้าพระยาพระคลังใช้ประทับในเอกสารของกรมท่า (ซึ่งต่อมาในสมัยปัจจุบันได้ปรับรูปมาเป็น กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม) และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการต่างประเทศ เช่น สนธิสัญญาต่าง ๆ
ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ตราสำคัญในราชการไทยมีสามดวง คือตราพระคชสีห์สำหรับสมุหพระกลาโหม ซึ่งใช้ในราชการด้านการทหารทั่วไป ตราพระราชสีห์สำหรับสมุหนายก ใช้ในราชการด้านมหาดไทย และตราบัวแก้วประจำตำแหน่งพระคลัง กฎหมายไทยที่เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง" ก็เป็นเพราะมีการประทับตราทั้งสามดวงนี้ ซึ่งมีตราบัวแก้วรวมอยู่ด้วยดวงหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2418 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกราชการด้านการคลังออกจากกรมท่า ตราบัวแก้วจึงเป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์ กรมท่า และต่อมาเมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดระบบราชการใหม่โดยแบ่งเป็น 12 กระทรวง ตราบัวแก้ว จึงเป็นตราประจำเสนาบดีว่าการต่างประเทศ และกลายมาเป็นตราของกระทรวงการต่างประเทศจนปัจจุบัน การใช้ตราบัวแก้วในปัจจุบันนี้ไม่ได้ใช้ประทับในเอกสารทางราชการเหมือนเช่นในสมัยโบราณแล้ว (ตราสำหรับเอกสารราชการไทยทั้งหมด รวมทั้งที่ใช้ในเอกสารราชการของกระทรวงการต่างประเทศด้วย คือตราครุฑ)แต่ถือเป็นตราประจำกระทรวง และเป็นตราประจำสโมสรสราญรมย์ อันเป็นสโมสรของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศด้วย
กระทรวงการต่างประเทศมีเพลงประจำกระทรวง คือเพลง "บัวแก้ว" ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย หลวงวิจิตรวาทการ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
[แก้] สีประจำกระทรวง
สีประจำกระทรวง คือสี "กรมท่า" (หรือสีน้ำเงินเข้ม) เป็นอนุสรณ์ถึงประวัติของกระทรวงการต่างประเทศที่สืบมาตั้งแต่กรมท่า ในสมัยจตุสดมภ์
อนึ่ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2470 เป็นต้นมา มีการกำหนดให้มีธงประจำตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศด้วย และต่อมาได้รับการรับรองไว้ในพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 โดยกำหนดให้มีลักษณะเป็นธงชาติ (ธงไตรรงค์) มีวงกลมสีน้ำเงินหรือสีกรมท่าอยู่ตรงกลางธงชาติ กลางวงนั้นมีรูปช้างเผือกยืนอยู่ หันหน้าเข้าหาเสาธง หากเป็นธงประจำตำแหน่งเอกอัครราชทูต (ซึ่งพระราชบัญญัติธงเรียกว่า ธงราชทูต) ให้ใช้รูปช้างเผือกทรงเครื่องพร้อมยืนบนแท่น หากเป็นธงประจำตำแหน่งกงสุลใหญ่ (ซึ่งพระราชบัญญัติธงเรียกว่า ธงกงสุล) ให้ใช้รูปช้างเผือกไม่ทรงเครื่องและไม่ยืนบนแท่น (ธงราชทูตนี้มีลักษณะคล้ายธงราชนาวีไทย ซึ่งเป็นธงชาติไทยและมีช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นอยู่ในวงกลมกลางธงเช่นเดียวกัน แต่ธงราชนาวีใช้วงกลมสีแดงกลางธง)
[แก้] หน่วยงานในสังกัด
- สำนักงานรัฐมนตรี
- สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
- กรมการกงสุล
- กรมพิธีการทูต
- กรมยุโรป
- กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
- กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย
- กรมสารนิเทศ
- กรมองค์การระหว่างประเทศ
- กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
- กรมอาเซียน
- กรมเอเชียตะวันออก
- กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
- สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ
[แก้] หน่วยงานอื่น
กระทรวงการต่างประเทศ มีหน่วยงานในสังกัดอยู่ในต่างประเทศ คือ สำนักงานตัวแทนทางการทูตและการกงสุลของไทยที่ตั้งในต่างประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ภายใต้สังกัดของสำนักงานปลัดกระทรวง ประกอบด้วย สถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ไทย สำนักงานคณะผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำองค์การต่างๆ และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป ซึ่งรัฐบาลไทยใช้เป็นจุดติดต่อกับไต้หวัน รวมทั้งสิ้นประมาณ 93 แห่งใน 70 กว่าประเทศทั่วโลก มีข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งที่เป็นนักการทูตไทย กงสุลไทย และเจ้าหน้าที่ ทำงานอยู่ในต่างประเทศประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนข้าราชการสังกัดกระทรวงการต่างประเทศทั้งหมด ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับ 193 ประเทศทั่วโลก และมีสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย 74 แห่ง สถานกงสุลต่างประเทศ 13 แห่ง และสำนักงานขององค์การระหว่างประเทศมาตั้งอยู่ในประเทศไทย 32 องค์การ
สำนักงานตัวแทนทางการทูตของประเทศไทย มีฐานะเป็นสถานเอกอัครราชทูต (Embassy) และในหลักการ ประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งผู้แทนทางการทูตระดับเอกอัครราชทูต (Ambassador) ไปประจำการในต่างประเทศและรับผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตของรัฐต่างประเทศมาประจำในประเทศของตนได้ แต่ในประวัติศาสตร์การทูตก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ตามธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศในยุคนั้น การส่งผู้แทนทางการทูตไปประจำในต่างประเทศในระดับเอกอัครราชทูต เป็นสิทธิพิเศษที่มหาประเทศในยุคนั้น เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สงวนไว้สำหรับพวกตนด้วยกันเองเท่านั้น สยามในฐานะประเทศเล็กจึงไม่มีสิทธิส่งผู้แทนในระดับเอกอัครราชทูตไปประจำในต่างประเทศ สามารถส่งได้เพียงอัครราชทูต (Envoy) และตั้งได้เพียงสถานอัครราชทูต (Legation) ประจำต่างประเทศ ประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตในระดับเอกอัครราชทูตกับต่างประเทศครั้งแรกกับประเทศญี่ปุ่น ในฐานะมิตรร่วมรบในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ต่อมา หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศได้เปลี่ยนเป็นถือว่า ประเทศต่างๆ ไม่ว่าเล็กใหญ่ มีความเสมอภาคกันและสามารถส่งผู้แทนทางการทูตในระดับเอกอัครราชทูตได้ด้วยกันทุกประเทศ
อนึ่ง รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศยังได้แต่งตั้งบุคคลสัญชาติต่างประเทศเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยประจำเมืองต่างๆ บางแห่งที่ไม่มีสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยประจำอยู่ด้วย
[แก้] อ้างอิง
[แก้] ดูเพิ่ม
- รายนามเสนาบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- รายนามปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
- คณะผู้แทนทางการทูตของประเทศไทย
- คณะผู้แทนทางการทูตในประเทศไทย
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
|