ความหมายของการแนะแนว
การแนะแนว เป็นการบริการที่จัดขึ้นเพื่อช่วยให้นักศึกษารู้จักและเข้าใจตนเอง รู้จักและเข้าใจสภาพแวดล้อมรอบตัว ด้วยกระบวนการ กลวิธี และเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้ตัดสินใจเลือกวิธีที่จะเผชิญปัญหา เลือกวิธีแก้ปัญหา และปรับตัวได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและทำประโยชน์ ให้กับสังคมได้เป็นอย่างดี
จุดมุ่งหมายการแนะแนว
- ส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านของนักศึกษาทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ให้ไปได้ด้วยดี
- สร้างเสริมและแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของนักศึกษา ให้เปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่พึงประสงค์และเป็นที่ยอมรับของสังคม
- ช่วยเหลือ ดูแลนักศึกษาให้รู้สมรรถภาพของตนเอง มองเห็นคุณค่าความสำคัญของตนเอง มองเห็นชีวิตในอนาคต รู้และปฏิบัติตนอย่างชาญฉลาด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และสังคม
ปรัชญาสำคัญของการแนะแนว
- มนุษย์มีความแตกต่างกันทั้งบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย เจตคติ ความรู้สึก สภาวะของจิตและอารมณ์ ความสนใจ ความสามารถ ความถนัด และสติปัญญา
- พฤติกรรมของมนุษย์ย่อมมีสาเหตุ มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีหรือไม่ดีก็ได้
- มนุษย์ทุกคนย่อมมีปัญหา มีความคับข้องใจ และต้องการได้รับการช่วยเหลือ
- มนุษย์มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสูงยิ่ง จะมีความสุขก็ต่อเมื่อมีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถสติปัญญาอย่างเต็มที่ หากได้รับการแนะแนวที่ถูกต้อง จะสามารถช่วยตนเองให้พัฒนาเจริญงอกงามถึงขีดสุดตลอดจนสามารถดำเนินชีวิตเป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม
- การแนะแนวยึดหลักเมตตาธรรม อาศัยความรัก ความหวังดีต่อกันยึดมั่นในความเป็นประชาธิปไตย เคารพกันตามเหตุผลและร่วมมือประสานงานกัน
- การให้คำปรึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการแนะแนวยึดหลักการว่าช่วยให้เขารู้จักการปรับตัวและสามารถนำตนเองช่วยเหลือตนเองได้ในโอกาสต่อไป