นิทานชาดกหรือชาดก
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์
แสดงถึงความเป็นมาในพระชาติต่างๆ
ที่ได้เกิดมาสร้างบารมีเอาไว้เพื่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
เราเรียกว่าพระเจ้า ๕๐๐ ชาติ
ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ , ๒๘
มีทั้งหมด ๕๔๗ เรื่อง
อาจมีทั้งเรื่องที่ซ้ำกันบ้างแต่คาถาจะต่างกัน
หรือบางเรื่องที่ยกมาเพียงคาถาเดียวจากเรื่องที่มีหลายๆ
คาถา
นิทานชาดกนั้นมีคัมภีร์หลักอยู่ ๒ ส่วน คือ
คัมภีร์พระสุตตันตปิฏก และคัมภีร์อรรถกถา
ขยายความเรื่องอีก ๑๐ เล่ม
นอกนั้นอาจปรากฏในพระวินัยปิฏกและพระสูตรส่วนอื่นๆ
หรือมีปรากฏในคัมภีร์อรรถกภาธรรมบทบ้าง
นิทานชาดกในอรรถกถามีโครงสร้าง ๕ ส่วนคือ
๑.
ปัจจุบันนิทาน
กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่
ประทับอยู่ที่ไหน
ทรงปรารภใคร ๒.
อดีตนิทาน เป็นเรื่องชาดกโดยตรง
เรื่องที่เคยมีมาในอดีต
บางเรื่องเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ของชนชาติต่างๆ
ในชมพูทวีป บางเรื่องเป็นนิทานท้องถิ่น
บางเรื่องเป็นนิทานเทียบสุภาษิต เช่น
คนพูดกับสัตว์ สัตว์พูดกับสัตว์
เป็นต้น ๓.
คาถา เป็นพุทธพจน์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
บางเรื่องเป็นพุทธพจน์โดยตรง
บางเรื่องเป็นฤาษีภาษิต บางเรื่องเป็นเทวดาภาษิต
แต่ถือเป็นพุทธพจน์เพราะเป็นคำที่นำมาตรัสเล่าใหม่ ๔.
เวยยากรณภาษิต
เป็นการอธิบายธรรมที่ปรากฏในชาดกนั้นๆ
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ๕.
สโมธาน
เป็นการสรุปชาดกให้เห็นว่าผู้ปรากฏในชาดกนั้นๆ
เป็นใคร เคยทำอะไรไว้
แต่ในที่นี้
ได้กำหนดโครงสร้างนิทานชาดกไว้เพียง ๔ ตอน คือ
ตอนที่หนึ่ง
เป็นบทนำเรื่องทำให้ทราบว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ใด
ปรารภใครถึงได้ตรัสนิทานเรื่องนี้
ตอนที่สอง
เป็นอดีตนิทานชาดกที่พระพุทธองค์ทรงนำมาสาธก
ตอนที่สาม
เป็นคาถาประจำเรื่องนั้นๆ
ซึ่งมีทั้งเป็นคาถาของพระพุทธเจ้า เทวดา บัณฑิต
พระโพธิสัตว์ และสัตว์ในเรื่อง
และ ตอนที่สี่
ตอนสุดท้าย
เป็นคติประจำใจที่ไม่มีในอรรถกถาที่ผู้เขียนได้จัดทำขึ้นใหม่
เพื่อให้ครบองค์ของนิทานที่เรามักจะหยอดคำลงท้ายด้วยคำว่า
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไรเสมอ
เนื้อเรื่องได้คัดเอาแต่เรื่องที่น่าสนใจเท่านั้นมานำเสนอคิดไว้ว่าคงจะมีหนังสือนิทานชาดกเล่มที่
๑-๕ เพราะแต่ละเล่มจะให้มีประมาณ ๕๐
เรื่องเท่านั้น
เพื่อความสะดวกสบายในการหยิบพกนั่นเอง
แต่ละเรื่องจะบอกที่มาไว้ทุกเรื่อง
เนื้อเรื่องได้สรุปมาพอเป็นที่เข้าใจ
ถ้าจะนำไปเล่าก็สามารถขยายความได้
เพราะมีเจตนาที่จะทำนิทานชาดกให้เป็นเรื่องง่ายและน่าสนใจยิ่งขึ้น
ถ้ากล่าวถึงพระไตรปิฎกหรืออรรถกถาแล้วเป็นการลำบากที่จะให้ความสนใจ
แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงสำนวนเดิมเอาไว้มากพอสมควร
เนื่องจากเป็นพระพุทธพจน์จึงต้องคงสำนวนบาลีเอาไว้บ้างเพื่อความเหมาะสม
แต่ผู้รู้ก็แนะนำว่า
ควรปรับเปลี่ยนสำนวนให้เป็นภาษาชาวบ้านมากยิ่งขึ้น
เพื่อคนทั่วไป รวมถึงเด็กๆ
ที่ชอบอ่านนิทานจะได้อ่านง่าย
นิทานชาดกเล่มที่ ๑
นี้มีทั้งหมด ๕๔ เรื่อง คัดสรรจากจำนวน ๑๕๐ เรื่อง
จากหนังสืออรรถกถา ๒ เล่ม
เป็นผลพวงที่เกิดจากปัจจัย ๒ อย่าง คือ
จากการจักรายการวิทยุกระจายเสียง ในปี ๒๕๔๓
ชื่อรายการ นิทานธรรมะชาดก
ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทสไทย
จังหวัดหนองบัวลำภู เอฟ.เอ็ม. ๙๗.๒๕ เม็กกะเฮิร์ต
เป็นประจำทุกวันจันทร์ เวลา ๑๔.๐๐-๑๕.๓๐ น.
และจากการเสียชีวิตของพ่อและแม่
บุพการีของข้าพเจ้าเอง นอกจากเหตุผล ๒ ประการแล้ว
ยังมีเหตุผลส่วนตัวที่ได้คิดไว้ว่าจะจัดทำหนังสือนิทานชาดกโดยการเรียบเรียงใหม่ให้เป็นสำนวนชาวบ้านมากขึ้น
เพราะคำนึงถึงการที่จะมีใครสักคนได้มีโอกาสหยิบเอาหนังสือพระไตรปิฎก
หรืออรรถกถาแปลติดมือไปนั่งอ่านเล่นในที่ใดที่หนึ่งนั้น
คงจะหายากเต็มที
ในอดีตเราได้เรียนรู้และรู้จักนิทานชาดกกันตั้งแต่เด็ก
นั่นก็คือหลักสูตรชั้นประถมชั้นปีที่ ๓ เดิม
เราจะได้เรียนนิทานชาดกเรื่อง
กระต่ายตื่นตูม และ โคนันทิวิสาล
เป็นต้นแล้ว
ต่อเมื่อได้มีโอกาสศึกษาจึงได้ถึงบางอ้อ
ขออนุโมทนาขอบคุณ
รองศาสตรจารย์อุดม บัวศรี อาจารย์อุดร จันทวัน
ที่ช่วยแนะนำเป็นที่ปรึกษาทุกด้าน ขอขอบคุณ
ท่านพระมหาสาคร เอกวีโร นิสิตสาขาปรัชญา ปีที่ ๓
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
วิทยาเขตขอนแก่น ที่ช่วยเขียนภาพประกอบเรื่อง
และขอขอบใจในกุศลจิตของ หนูนิก (ธีรณิศ มุกดาหาร)
และ กัลยาณมิตรอีกหลายท่านที่ช่วยพิมพ์ต้นฉบับให้
ข้อบกพร่องใดๆ ที่มีอยู่
ผู้เขียนขอน้อมรับไว้เพื่อปรับปรุงแก้ไข
ส่วนใดที่เป็นความดี
ขออุทิศบุญกุศลให้แก่บุพการีผู้ล่วงลับไป |