ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

การบริหารงานวิชาการในสถานศึกษา

ในการบริหารงานโรงเรียน คุณภาพการศึกษาของโรงเรียนพิจารณาได้จากความสำเร็จของงานวิชาการ ครูเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะนำพานาวาลำนี้ให้ถึงฝั่งได้ หากครูมีความพึงพอใจในการทำงานได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง การบริหารงานวิชาการ ก็จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

การบริหารงานวิชาการ เป็นการบริหารกิจกรรมทุกประเภทในโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา การปรับปรุงกิจกรรม การเรียนการสอน สื่อ งานการควบคุมดูแลหลักสูตรการสอน การจัดชั้นเรียน การจัดครูเข้าสอน การปรับปรุงการเรียนการสอน การฝึกอบรมครู การนิเทศการศึกษา การเผยแพร่งานวิชาการ การวัดผลการศึกษา การศึกษาวิจัย การประเมินมาตรฐานสถานศึกษา เพื่อปรับปรุงคุณภาพ และประสิทธิภาพของสถานศึกษา เป็นการบริหารสถานศึกษา โดยจัดกิจกรรมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนให้ได้ผลดี มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน

ทั้งนี้ การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนามนุษย์ให้มีความเจริญงอกงามทั้งทางด้านสติปัญญา ความรู้ คุณธรรมความดีงามในจิตใจ มีความสามารถที่จะทำงาน และคิดวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง สามารถเรียนรู้ แสวงหาความรู้ ตลอดจนใช้ความรู้อย่างสร้างสรรค์ มีสุขภาพร่างกายและจิตใจสมบูรณ์แข็งแรงประกอบอาชีพได้ มีวิถีชีวิตกลมกลืนธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสามารถปรับตนได้ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์สำคัญของการจัดการศึกษา คือ การจัดให้มีการศึกษาตลอดชีวิต และทำสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

การศึกษาที่สร้างคุณภาพชีวิตและสังคมบูรณาการอย่างสมดุลระหว่างปัญญาธรรม คุณธรรม และวัฒนธรรม เป็นการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อคนไทยทั้งปวง มุ่งสร้างพื้นฐานที่ดีในวัยเด็ก ปลูกฝังความเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมตั้งแต่วัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน และพัฒนาความรู้ ความสามารถ เพื่อการทำงานที่มีคุณภาพ โดยให้สังคมทุกภาคมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาได้ตรงตามความต้องการของผู้เรียน และสามารถตรวจสอบได้อย่างมั่นใจว่าการศึกษาเป็นกระบวนการของการพัฒนาชีวิตและสังคมเป็นปัจจัย

สำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสามารถพึ่งตนเองได้ และสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2545

ได้กำหนดหลักการการจัดการเรียนรู้ไว้ในมาตรา 8 ว่าการจัดการการศึกษาให้ยึดหลักดังนี้
1) เป็นการศึกษาตลอดชีวิต
2) ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
3) การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นอย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ แผนการศึกษาแห่งชาติ

พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2559 ได้กำหนดนโยบายเพื่อดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ พัฒนาผู้เรียนตาม ธรรมชาติ และเต็มศักยภาพ ดังนี้
3.1) ผู้เรียนเป็นคนเก่งที่พัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ เป็นคนดี และมีความสุข
3.2) ครูทุกคนมีความรู้ ความสามารถในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนมี ความสำคัญที่สุด
3.3) ผู้บริหารสถานศึกษาและครูทุกคนได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพ
3.4) สถานศึกษาทุกแห่งมีการประกันคุณภาพการศึกษา

เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปตามที่ กล่าวมา กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ กำหนดนโยบายเพื่อปฏิรูปการศึกษาโดย ให้โรงเรียนในสังกัดดำเนินการเร่ง ขยายและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึง

ในการพัฒนามาตรฐานการศึกษาของนักเรียนให้ใกล้เคียงกัน สนับสนุนและส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันรวมทั้งพัฒนาหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอนที่หลากหลายโดยให้ชุมชน ท้องถิ่น เอกชน หน่วยงานมีส่วนร่วมจัดทำและประสานเครือข่ายการเรียนรู้ ทั้งนี้ได้มีมาตรการเร่งพัฒนาครูและ บุคลากรทางการศึกษาโดยให้เข้ารับการอบรม ศึกษาดูงานและศึกษาต่อเพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีในการปฏิบัติงาน รวมทั้งให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การสรรหาบุคลการ ให้ได้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมยิ่งขึ้น และกระจายอำนาจไปสู่จังหวัดและโรงเรียน เพื่อเร่งดำเนินการปฏิรูปสถานศึกษาให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

จากนโยบายดังกล่าวจึงส่งผลให้การจัดการศึกษาต้องเร่งดำเนินการพัฒนางานวิชาการในสถานศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 โดย หัวใจหลัก ของโรงเรียนในการจัดการเรียนการสอน คือ งานด้านการบริหารวิชาการ.....

หลักสูตรเก่ายังใช่ไม่ทันไร หลักสูตรใหม่ก็จะมาอีกแล้ว

เป็นครูต้องปรับตัวตลอดเวลา อันไหนไม่ดีก็เปลี่ยน อันไหนดีก็ใช้ต่อไป

ข้อความดังกล่าวข้างต้น ครูหลาย ๆท่าน คงจะเคยกล่าวกันเองมาบ้างแล้ว การจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา บริบท หรือ หน้าที่ ในจัดการศึกษาให้กับผู้เรียน มีความสำคัญเป็นอับดับต้นๆสำหรับครูผู้สอน ซึ่งในการพัฒนาผู้เรียนควรพัฒนาใน 3 ด้าน คือ
1. ด้านความรู้หรือสติปัญญา/พุทธพิสัย (connitive domin) เรียงลำดับคือ
1.1 ความรู้ความจำ (knowledge)
1.2 ความเข้าใจ (comprehehsion)
1.3 การนำไปประยุกต์ใช้(Application)
2. ด้านเจตคติหรือความรู้สึกนึกคิด/เจตพิสัย (Affective domain) เรียงลำดับคือ
2.1 การเต็มใจรับ (Receving)
2.2 การตอบสนอง (Responding)
2.3 การสร้างคุณค่า(valuing)
2.4 การจัดระบบคุณค่า(Organizing)
2.5 การสร้างลักษณะนิสัยตามคุณค่า(characterization by a value or value complex)
3. ด้านทักษะหรือความสามารถ/ทักษะพิสัย (Psychomotor dommain)
3.1 การรับรู้(Perception)
3.2 การเตรียมพร้อม(set)
3.3 การสนองตอบแนวทางที่ให้(Guided response)
3.4 การเกิดทักษะพิสัย (Mechanism)
3.5 การตอบสนองสิ่งที่ซับซ้อน(Complexovert Response)

เป็นที่ยอมรับกันว่าการดำเนินงานในสถานศึกษา งานวิชาการเป็นงานหลักของสถานศึกษา และหัวใจสำคัญที่จะส่งผลให้การพัฒนาคุณภาพนักเรียนบรรลุเป้าหมาย และงานวิชาการยังเป็นงานหลัก เป็นงานส่วนใหญ่ที่สุดของระบบ เป็นงานที่เป็นหัวใจของสถานศึกษา งานวิชาการจึงกลายเป็นงานที่เป็นศูนย์กลางของสถานศึกษาครอบคลุมสถานศึกษาทั้งระบบ

ดังนั้น สถานศึกษาใดที่งานวิชาการก้าวหน้า หรือเป็นเลิศสถานศึกษานั้นมักมีชื่อเสียงเป็นที่นิยม เป็นที่ยอมรับ ส่วนสถานศึกษาใดงานวิชาการล้าหลัง หรือไม่เป็นเลิศ สถานศึกษานั้นจะ ไม่เป็นที่นิยม ขาดความศรัทธา และมักเสื่อมถอยไม่เป็นที่ยอมรับ

สำหรับการบริหารงานวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2546, หน้า 99 - 112) ได้กล่าวว่า

การบริหารงานวิชาการ หมายถึง การบริหารกิจกรรมทุกอย่างในสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ และการศึกษาของนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยมีขอบข่ายการบริหารงานวิชาการดังนี้
1. การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ได้แก่ศึกษา วิเคราะห์เอกสารหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 สาระแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับสภาพปัญหาและความต้องการของสังคม ชุมชนและท้องถิ่น วิเคราะห์สภาพแวดล้อม เพื่อจัดทำโครงสร้างหลักสูตร และสาระที่กำหนดให้มีในหลักสูตรสถานศึกษา
2. การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ได้แก่ส่งเสริมให้ครูจัดทำแผนการเรียนรู้ตามสาระและหน่วยการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญส่งเสริมให้ครูจัดกระบวนการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระและหน่วยการเรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมให้ครูจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดของผู้เรียน
3. การวัดผลประเมินและเทียบโอนผลการเรียน ได้แก่ กำหนดระเบียบแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการวัดผลประเมินผลของสถานศึกษาส่งเสริมให้ครูจัดทำแผนการวัดผล และประเมินผล แต่ละรายวิชาให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษา สาระการเรียนรู้หน่วยการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ และการจัดกิจรรมการเรียนรู้
4. การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ได้แก่ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยเกี่ยวกับการบริหารการจัดการ และการพัฒนาคุณภาพงานวิชาการในภาพรวมของสถานศึกษา ส่งเสริมให้ครูศึกษา วิเคราะห์ วิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้
5. การพัฒนาสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ได้แก่ ศึกษา วิเคราะห์ ความจำเป็นในการใช้สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการจัดการเรียนการสอน จัดหาสื่อและเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน และพัฒนางานด้านวิชาการ
6. การพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ ได้แก่ การสำรวจแหล่งการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งในสถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น ในเขตพื้นที่การศึกษาใกล้เคียง จัดทำเอกสารเผยแพร่แหล่งการเรียนรู้ให้แก่ครู สถานศึกษาอื่น บุคคล ครอบครัว องค์กร หน่วยงาน และสถาบันอื่น
7. การนิเทศการศึกษา ได้แก่ การจัดระบบการนิเทศงานวิชาการและการเรียนการสอนภายในสถานศึกษา ดำเนินการนิเทศงานวิชาการ การเรียนการสอน ในรูปแบบหลายเหมาะสมกับสถานศึกษา
8. การแนะแนวการศึกษา ได้แก่ จัดระบบการแนะแนวทางวิชาการและวิชาชีพภายในสถานศึกษา โดยเชื่อมโยงกับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และกระบวนการเรียนการสอน ดำเนินการแนะแนวการศึกษาโดยความร่วมมือของครูทุกคนในสถานศึกษา
9. การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ได้แก่ การจัดระบบโครงสร้างองค์กร ให้รองรับการจัดระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กำหนดเกณฑ์การประเมินเป้าหมายความสำเร็จของสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาและตัวชี้วัดของกระทรวงเป้าหมายความสำเร็จของเขตพื้นที่การศึกษา หลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาให้บรรลุตามเป้าหมาย
10. การส่งเสริมความรู้ทางวิชาการแก่ชุมชน ได้แก่ การศึกษา สำรวจความต้องการสนับสนุนงานวิชาการแก่ชุมชน จัดให้ความรู้ เสริมสร้างความคิด และเทคนิคทักษะทางวิชาการ เพื่อการพัฒนาทักษะวิชาชีพและคุณภาพของประชาชนในชุมชน
11. การประสานความร่วมมือ ในการพัฒนางานวิชาการกับสถานศึกษาและองค์กรอื่น ได้แก่ ประสานความร่วมมือ ช่วยเหลือในการพัฒนาวิชาการกับสถานศึกษาของรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา
12. การส่งเสริมสนับสนุนงานวิชาการแก่บุคคล ครอบครัว องค์กร หน่วยงานและสถานบันอื่นที่จัดการศึกษา ได้แก่ สำรวจและศึกษาข้อมูลการจัดการศึกษา ความต้องการในการได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการของบุคคล ครอบครัว องค์กร หน่วยงาน สถานบันสังคมอื่น และการพัฒนาคุณภาพการเรียน จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการศึกษาของบุคคล ครอบครัว องค์กร หน่วยงาน และสถาบันอื่นที่จัดการศึกษา

เมื่อทราบถึงแนวทางการพัฒนาผู้เรียน และขอบข่ายในการบริหารงานวิชาการแล้ว นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่จะลืมเสียไม่ได้คือ แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ อันประกอบด้วย

1. การจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้
การใช้แหล่งเรียนรู้มีความสำคัญในกระบวนการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนเพราะผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากสภาพจริง การจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้จะเกี่ยวข้องกับบุคคล สถานที่ ธรรมชาติ หน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ซึ่งผู้เรียน ผู้สอนสามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้หรือเรื่องที่สนใจได้จากแหล่งเรียนรู้ทั้งที่เป็นธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น ชุมชนและธรรมชาติเป็นขุมทรัพย์มหาศาลที่เราสามารถค้นพบความรู้ได้ไม่จบ ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ลักษณะเด่นของการจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้มีดังนี้
1.1 ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง
1.2 ผู้เรียนผู้เรียนได้ฝึกทำงานเป็นกลุ่มร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งจะ ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และทักษะกระบวนการต่าง ๆ
1.3 ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการสังเกตการณ์เก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การตีความและ การสรุปความ คิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
1.4 ผู้เรียนได้ประเมินผลการทำงานด้วยตนเอง
1.5 ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้และเผยแพร่ความรู้ได้
1.6 ผู้สอนเป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ให้การสนับสนุน

2. การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการพหุปัญญา มีลักษณะเด่นดังนี้
การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่พหุปัญญา เป็นการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนในลักษณะเชื่อมดยงความสัมพันธ์ระหว่างสาระการเรียนรู้และความสามารถทางการเรียนรู้ที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนตามทฤษฎีพหุปัญญาของโฮวาร์ด การ์เนอร์ (Howard Gardner) ซึ่งจำแนกไว้ 8 ด้าน ได้แก่ ด้านวาจา / ภาษา / ด้านดนตรี / จังหวะ ด้านตรรกะ / คณิตศาสตร์ ด้านทัศนสัมพันธ์ / มิติสัมพันธ์ ด้านร่างกาย /การเคลื่อนไหว ด้านธรรมชาติ ด้านการรู้จักตนเอง และด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยมุ่นเน้นให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแก้ปัญหารวมถึงการสร้างผลงานและเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างมีความสุขและยั่งยืน

3. การจัดการเรียนรู้แบบประสบการณ์และที่เน้นการปฏิบัติ มีลักษณะเด่นดังนี้
3.1 ผู้เรียนได้มีโอกาสรับประสบการณ์ แล้วได้รับการกระตุ้นให้สะท้อนสิ่งต่าง ๆ ที่ได้จาก ประสบการณ์ออกมาเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เจตคติใหม่ ๆ หรือวิธีการใหม่ ๆ
3.2 ใช้ทรัพยากรทั้ง 4 ด้าน คือ เวลา สถานที่ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสื่อการสอน เป็น ตัวเชื่อมโยงให้ผู้เรียนก้าวสู่การเรียนรู้โลกรอบตัว
3.3 ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้ความคิด ประสบการ ความสามารถและทักษะต่าง ๆ ในเวลา เดียวกัน จนสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
3.4 ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดและประสบการณ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกัน

4. การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน มีลักษณะเด่นดังนี้
การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ หรือการค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่ผู้เรียนอยากรู้หรือสงสัยด้วยวีการต่าง ๆ เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้เลือกศึกษาตามความสนใจขอตนเองหรือของกลุ่มเป็นการตัดสินใจร่วมกัน จนได้ชิ้นงานที่สามารถนำผลการศึกษาไปใช้ได้ในชีวิตจริง การเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นการเรียนรู้ที่ใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบนำมาผสมผสานกัน ได้แก่ กระบวนการกลุ่ม การฝึกคิด การแก้ปัญหา การเน้นกระบวนการ การสอนแบบปริศนาความคิด และการสอนแบบร่วมกันคิด ทั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้เรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งจากความสนใจอยากรู้อยากเรียนของผู้เรียนเอง โดยใช้กระบวนการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผู้เรียนจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมตาง ๆ เพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงกับแหล่งเรียนรู้เบื้องต้น ผู้เรียนสามารถสรุปความรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งความรู้ที่ผู้เรียนได้มาไม่จำเป็นต้องตรงกับตำรา แต่ผู้สอนจะสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม จากแหล่งเรียนรู้ และปรับปรุงความรู้ที่ได้ให้สมบูรณ์

5. การเรียนรู้แบบส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ มีลักษณะเด่นดังนี้
5.1 ผู้เรียนมีความคิดที่อิสระ
5.2 ไม่มีรูปแบบตายตัว
5.3 ใช้ได้ทุกโอกาสทุกเวลา
5.4 ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง
5.5 มีการบูรณาการในตัวเอง
5.6 มีความยืดหยุ่นคล่องตัวสูง
5.7 เปิดทางเลือกให้ผู้เรียนหาคำตอบที่หลากหลาย
5.8 ชื่อรูปแบบมีนัยเชิงบวก ท้าทาย กระตือรือร้น
5.9 ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ในการคิดที่สันติสุข
5.10 ผู้เรียนสร้างชิ้นงานผลงานสิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ที่เป็นรูปธรรม
5.11 เชื่อมโยงความคิดที่เป็นระบบอย่างมีขั้นตอนจากง่ายไปยากและใกล้ตัว ไปไกลตัว
5.12 นำไปจัดการเรียนรู้ได้กับทุกกลุ่มสาระและสามารถเชื่อมโยงได้กับรูปแบบการ เรียนรู้อื่น ๆ

6. การจัดการเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้ มีลักษณะเด่นดังนี้
การจัดการเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้มีลักษณะเด่นคือ การให้ความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนและความสำคัญของความรู้ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเป็นผู้แสดงความรู้สร้างความรู้ด้วยตนเองผู้เรียนสังเกตสิ่งที่ตนอยากเรียนรู้แล้วค้นคว้าแสวงหาความรู้เพิ่ม เชื่อมดยงกับความรู้เดิม ประสบการณ์เดิม ผนวกกับความรู้ใหม่ จนสร้างสรรค์เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ กล่าวโดยสรุปเป็นการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริง ค้นหาความรู้ด้วยตัวเอง จนค้นพบความรู้และรู้จักสิ่งที่ค้นพบ เรียนรู้วิเคราะห์ต่อจนรู้จริง รู้ลึกซึ่งว่าสิ่งนั้นคืออะไรมีความสำคัญมากน้อยเพียงไร การเรียนรู้แบบนี้ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถในการคิด พร้อมทั้งฝึกทักษะทางสังคมที่ดี ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน

7. การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน มีลักษณะเด่นดังนี้
การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เริ่มต้นจากปัญหา ที่เกิดขึ้นโดยสร้างความรู้จากกระบวนการทำงานกลุ่ม เพื่อแก้ปัญหาหรือสถานการณ์เกี่ยวกับชีวิตประจำวันและมีความสำคัญต่อผู้เรียน ตัวปัญหาจะเป็นจัดตั้งต้นของกระบวนการเรียนรู้และเป็นตัวกระตุ้นการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาด้วยเหตุผลและการสืบค้นหาข้อมูลเพื่อเข้าใจกลไกของตัวปัญหาของตัวปัญหา รวมทั้งวิธีการแก้ปัญหา การเรียนรู้แบบนี้ มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนในด้านทักษะและกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองซึ่งผู้เรียนจะได้ฝึกฝนการสร้างองค์ความรู้โดยผ่านกระบวนการคิดด้วยการแก้ปัญหาอย่างมีความหมายต่อผู้เรียน

8. การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา มีลักษณะเด่นดังนี้
การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา มีลักษณะเด่นคือผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติกิจกรรม มีชิ้นงานที่เป็นรูปธรรม ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนและเพื่อน ได้พัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหา และตระหนักรู้ในปัญหาที่อาจเกิดขึ้น สามารถใช้ทักษะการคิดแก้ปัญหาที่พบ การจัดกรเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหามีความสำคัญต่อการเรียนรู้เป็นอย่างมากเพราะเป็นการเรียนรู้จากปัญหาของชีวิตและมีความหมายต่อผู้เรียน ผู้เรียนได้ฝึกคิดด้วยตนเอง จากสถานการณ์หรือปัญหาที่น่าสนใจท้าทายให้คิดกระบวนการเรียนรู้ช่วยพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนอย่างเป็นลำดับขั้นตอน โดยผ่านการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์การจักการเรียนรู้ใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น บทบาทสมมติ โครงงานการสืบสวย สอบสวน การศึกษานอกสถานที่ การเรียนรู้รูปแบบนี้จะกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนให้ตั้งใจเรียนมากขึ้น พร้อมกับการเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้ สร้างนิสัยใฝ่รู้รักการค้นคว้าหาความรู้และฝึกนิสัยให้เป็นคนมีเหตุผล และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

9. การจัดการเรียนรู้แบบพัฒนากระบวนการคิดด้วยการใช้คำถาม หมวกความคิด 6 ใบ
มีลักษณะเด่นดังนี้
การจัดการเรียนรู้ด้วยการใช้คำถาม เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาการคิดของผู้เรียน ให้มีความสามารถด้านทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ จุดเน้นคือการกระตุ้นผู้เรียนให้สามารถคิดและตั้งคำถามกระตุ้นให้เกิดความสนใจใฝ่รู้ และคิดหาคำตอบที่ถูกต้อง คำถามมีส่วนสำคัญที่จะจุดประกายให้ผู้เรียนฉุกคิด เกิดข้อสงสัย ใคร่รู้เพื่อแสวงหาคำตอบ และความรู้ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การใช้คำถามจึงเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดเป็น คิดได้ การใช้คำถามเพื่อให้เกิดกระบวนการคิดมีหลากหลาย ในที่นี้จอนำเสนอการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบพัฒนากระบวนการคิดด้วยการใช้คำถามหมวกความคิด 6 ใบ (Six Thinking Hats)

ลักษณะเด่นของการใช้คำถามหมวกความคิด 6 ใบ คือ การใช้ สีหมวก ได้แก่ หมวกสีขาว หมวกสีแดง หมวกสีเหลือง หมวกสีดำ หมวกสีเขียว และหมวกสีฟ้า เป็นกรอบแนวทางในการตั้งคำถามเพื่อค้นหาคำตอบ ผู้เรียนสามารถค้นหาคำตอบจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อย่างรอบด้าน และได้แสดงบทบาทการคิดในแง่มุมตามสีของหมวก สีของหมวกแต่ละใบจะมีความหมายที่บอกให้ทราบว่าผู้สอนต้องการให้ผู้เรียนคิดไปทางใด ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ช่วยเพิ่มพูนทักษะการคิดของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากที่กล่าวมา จะเห็นว่าการพัฒนางานวิชาการมีขอบข่ายของงานกว้างขวางมากและเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย ดั้งนั้นการที่โรงเรียนจะพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถในด้านวิชาการจะต้องทำให้เขาพอใจในด้านการบริหารงานวิชาการสร้างความร่วมมือและแก้ไขปัญหาการทำงานร่วมกัน ผู้บริหารต้องดำเนินการที่เกี่ยวกับการที่แสวงหา และเขียนปรัชญา จุดประสงค์ของการจัดการศึกษาในโรงเรียนออกมาให้ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางให้ครูปฏิบัติได้ บรรลุเป้าหมาย ผู้บริหารต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตรเป็นอย่างดี รู้จักแนะนำให้ครูรู้จักใช้และทำประมวลการสอน ทำโครงการสอนหรือบันทึกการสอน รู้หลักในการจัดตารางสอน จัดรายการวิชาต่าง ๆ ได้เหมาะสมเป็นผู้ให้การนิเทศหรือหาผู้ให้การนิเทศมาให้การนิเทศแก่ครู รู้จักจัดทำ จัดหาสื่อและวัสดุอุปกรณ์ และ ให้ครูรู้จักเลือกและจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร จัดห้องสมุดให้ครูและนักเรียนได้ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ส่งเสริมให้ครูรู้จักวิธีการประเมินผลการเรียนการสอน และนำผลการสอบมาปรับปรุงการสอน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูคิดค้นนวัตกรรมการสอนใหม่ๆในการสอน ผู้บริหาร คนใดทำได้อย่างนี้ครูจะมีความพึงพอใจในการทำงาน และ งานด้านวิชาการของโรงเรียนจะประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน

แหล่งที่มา

เอกชัย. (2557). การบริหารงานวิชาการในสถานศึกษา. ต้นเมื่อ มีนาคม 7, 2557,
จาก http://www.gotoknow.org/posts/518295

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com