ความเป็นมา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545
กำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา
เพื่อการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ
และเพื่อเป็นการพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งของการประกันคุณภาพ
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจึงได้ดำเนินการโครงการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาขึ้น
เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกันของผู้เกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษา
ทั้งสถาบันอุดมศึกษา ผู้ควบคุมมาตรฐาน และผู้ใช้บีณฑิต
ทั้งนี้เพื่อให้มีหลักประกันที่ชัดเจนในคุณภาพของบัณฑิตระดับอุดมศึกษา
อีกทั้งเพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้แต่ละสถาบันมีการพัฒนาคุณภาพที่สูงขึ้น
ขั้นตอนการเตรียมการ (ปี 2545)
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
ได้ดำเนินโครงการวิจัย
เรื่องกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย
โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศ.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ เป็นหัวหน้าคณะ)
เพื่อศึกษา
- การพัฒนากรอบแนวคิดคุณลักษณะบัณฑิตของประเทศไทย
- การพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิตและกระบวนการผลิต
- การพัฒนากรอบมาตรฐานคุณวุฒิในการผลิตบัณฑิต
และเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนากรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาในระดับสากล
ขั้นตอนการดำเนินการ ระยะที่ 1 (ปี 2546 - 2549)
การจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยตามข้อมูลพื้นฐานคุณลักษณะบัณฑิตของสังคมไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
- ปี 2546 กระทรวงศึกษาธิการ วิทยาศาสตร์ และฝึกอบรมของออสเตรเลีย
(DEST) ส่งผู้เชี่ยวชาญ (Dr. Ian Allen) มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ NQF
และหารือแนวทางการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิของประเทศไทย
- ปี 2547
- ผู้ทรงคุณวุฒิของไทยและผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลียร่วมกันจัดทำ
Draft for consultation: National Qualifications Framework
for Higher Education in Thailand และ
Discussion Paper: The
Development of Higher Education Qualifications Framework for
Thailand
- คณะกรรมการอำนวยการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ
และผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลียร่วมกันพิจารณา
Draft for
Consultation
และให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับประเทศไทย
- ผู้ทรงคุณวุฒิของไทยและผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลียได้ปรับปรุงเอกสารแล้วเสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
และนำไปหารือกับผู้อำนวยการ สมศ.
(ศ.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์)
และประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ศ.พจน์ สะเพียรชัย)
และนำข้อแนะนำไปปรับปรุงแก้ไขเอกสาร 2
ฉบับดังกล่าวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
- สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
เชิญผู้แทนผู้บริหารและคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา 50 แห่ง
ร่วมประชุมประชาพิจารณ์ ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อ Draft for
consultation: National Qualifications Framework for Higher
Education in Thailand
- ปี 2548
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง
"กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย" ณ โรงแรม เซนจูรี
พาร์ค กรุงเทพฯ โดยเชิญผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุมรับทราบการดำเนินการและให้ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา
- ปี 2549
คณะกรรมการการอุดมศึกษามีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการระยะแรกโดยมีข้อเสนอแนะว่า
"ลักษณะของโครงการ NQF
เป็นส่วนหนึ่งที่สัมพันธ์กับมาตรฐานการอุดมศึกษา
จึงควรดำเนินการให้มีความเชื่อมโยงกับมาตรฐานการอุดมศึกษาและการประกันคุณภาพภายใน"
คณะอนุกรรมการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย
ได้รับทราบข้อเสนอแนะและพิจารณาว่า
กรอบมาตรฐานคุณวุฒิเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตซึ่งสอดคล้องกับพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
รวมทั้งมาตรฐานการศึกษาของชาติ และมาตรฐานการอุดมศึกษาอยู่แล้ว
แต่มุ่งเน้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้นถึงระบบ
ความเชื่อมโยงของแนวคิดและเสนอแนะแนวทางอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดหลักสูตร
การเรียนการสอนเพื่อให้บัณฑิตมีคุณภาพตามนโยบายที่กำหนดไว้
จึงเสนอแนะให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการต่อไปโดยเชิญคณาจารย์ที่มีการรวมกลุ่มกันในสาขาวิชาต่างๆร่วมเป็นคณาจารย์นำร่องของโครงการ
ขั้นตอนการดำเนินการ ระยะที่ 2 (ปี 2549 - 2552)
การจัดทำเอกสารต้นแบบที่เกี่ยวข้องและแนวทางในการนำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิสู่การปฏิบัติ
- ปี 2549
- ผู้ทรงคุณวุฒิของไทยและผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลียร่วมกันเรียบเรียงเอกสารกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาโดยกำหนดกลุ่มมาตรฐานผลการเรียนรู้
(Domains of Learning) ของบัณฑิตไว้อย่างน้อย 5 ด้าน ได้แก่
ด้านคุณธรรม จริยธรรม ด้านความรู้ ด้านทักษะทางเชาวน์ปัญญา
ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ
และด้านการวิเคราะห์และการสื่อสาร และนำไปพัฒนา (ร่าง)
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง
กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย
- สกอ.เชิญผู้บริหาร/ผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน
ผู้เกี่ยวข้องรวม 200 คน เข้าร่วมประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง
"กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา:
จะนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อปฏิรูปการเรียนการสอนได้อย่างไร?" ณ
โรงแรมสยามซิตี กรุงเทพ ฯ เพื่อร่วมกันวิพากษ์และให้ข้อคิดเห็นต่อ
กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติและแนวทางการนำไปสู่การปฏิบัติ
และ(ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องดังกล่าว
และนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไข
- ปี 2550
- คณะกรรมการการอุดมศึกษา ในการประชุมครั้งที่ 3/2550 เมื่อ 1
มีนาคม 2550 ให้ความเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับ (ร่าง)
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง
กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย
และให้ข้อเสนอแนะให้จัดทำคู่มือ/แนวทางการนำไปสู่การปฏิบัติ
- สกอ.ได้เชิญผู้บริหาร คณาจารย์
และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวม 400
คนเข้าร่วมประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง
กรอบมาตรฐานคุณวุฒิกับการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานอุดมศึกษา ณ
โรงแรมรามา การ์เด้น กรุงเทพมหานคร
เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการนำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิไปสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาและรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินการของโครงการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
- ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย
โดยมีกลุ่มคณาจารยนำร่องร่วมเป็นคณะทำงาน ได้ปรับปรุง
(ร่าง)ประกาศ
และเอกสารกรอบมาตรฐานคุณวุฒิให้สอดคล้องกันและชัดเจนยิ่งขึ้น
เพื่อให้เป็นคู่มือหรือแนวทางพัฒนาต้นแบบต่างๆ
ที่เกี่ยวกับการนำกรอบมาตรฐานสู่การพัฒนาหลักสูตรและรายวิชา
- ปี 2551
- คณะกรรมการการอุดมศึกษา ในการประชุมครั้งที่ 7/2551 เมื่อ 3
กรกฎาคม 2551 มีมติรับทราบการจัดทำ
(ร่าง)
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิ
ระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... และ
(ร่าง)
ประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง แนวปฏิบัติตามกรอบ
มาตรฐานคุณวุฒิฯ
- สกอ. ผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลียและกลุ่มคณาจารย์นำร่อง
ได้ร่วมกันปรับปรุง พัฒนาแนวทางการนำไปปฏิบัติ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
และจัดทำต้นแบบที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักสูตรและรายวิชาต่าง ๆ
เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษามีแนวทางและตัวอย่างเพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมตามปรัชญาและจุดมุ่งหมายของแต่ละสถาบัน
โดยมีการประชุมเชิงปฏิบัติการในกลุ่มคณาจารย์นำร่องเป็นระยะๆ รวม 6
ครั้ง
- ปี 2552
- สกอ.จัดให้มีการประชุม เรื่อง
กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 เมษายน
2552 ณ โรงแรมสยามซิตี กรุงเทพ ฯ มีผู้เข้าร่วมประชุมรวม 80 คน
เพื่อระดมความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อการนำกรอบมาตรฐานไปสู่การปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ
โดยมุ่งให้กรอบมาตรฐานคุณวุฒิเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกต่อการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาให้มีมาตรฐานในระดับนานาชาติ
สามารถเชื่อมโยงและเพิ่มความสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย (Mobility)
ของนักศึกษา ตลอดจนการเทียบโอนผลการเรียนรู้
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง
กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552
- คณะกรรมการการอุดมศึกษา ลงนามในประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา
เรื่อง
แนวทางการปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.
2552