สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สมาคมประชาชาติ
แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
||||||
---|---|---|---|---|---|---|
|
||||||
คำขวัญ: "One Vision, One Identity, One Community" (หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม) |
||||||
เพลงสดุดี: "ดิอาเซียนเวย์" |
||||||
สำนักงานใหญ่ | กรุงจาการ์ตา | |||||
เมืองใหญ่สุด | กรุงจาการ์ตา | |||||
ภาษาทางการ | ||||||
ชื่อเรียกประชาชน | เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ | |||||
รัฐสมาชิก |
10 ประเทศ
|
|||||
การปกครอง | องค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาค | |||||
- | เลขาธิการ | สุรินทร์ พิศสุวรรณ | ||||
ก่อตั้ง | ||||||
- | ปฏิญญากรุงเทพ | 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 | ||||
- | กฎบัตรอาเซียน | 16 ธันวาคม พ.ศ. 2551 | ||||
พื้นที่ | ||||||
- | รวม | 4,479,210.5 ตร.กม. 2,778,124.7 ตร.ไมล์ |
||||
ประชากร | ||||||
- | 2553 (ประเมิน) | 601 ล้าน | ||||
- | ความหนาแน่น | 135 คน/ตร.กม. 216 คน/ตร.ไมล์ |
||||
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | 2553 (ประมาณ) | |||||
- | รวม | $3.084 ล้านล้าน[2] | ||||
- | ต่อหัว | $5,131 | ||||
จีดีพี (ราคาตลาด) | 2553 (ประมาณ) | |||||
- | รวม | $1.8 ล้านล้าน | ||||
- | ต่อหัว | $2,995 | ||||
ดพม. (2554) | ▲ 0.742 (ปานกลาง) (61¹) | |||||
สกุลเงิน | ||||||
เขตเวลา | เวลามาตรฐานอาเซียน (UTCUTC+9 - UTC+6:30) | |||||
โดเมนบนสุด | ||||||
เว็บไซต์ทางการ http://www.asean.org/ |
||||||
รหัสโทรศัพท์ |
10
+673
+855 +62 +856 +60 +95 +63 +65 +66 +84 |
|||||
1 | หากถือว่ากลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นรัฐเดียว | |||||
2 | Selected key basic ASEAN indicators | |||||
3 | อัตราการเติบโตของประชากรอยู่ที่ 1.6% ต่อปี |
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อังกฤษ: Association of South East Asian Nations) หรือ อาเซียน เป็นองค์กรทางภูมิรัฐศาสตร์และองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า อาเซียนมีพื้นที่ราว 4,435,670 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 590 ล้านคน[3] ในปี พ.ศ. 2553 จีดีพีของประเทศสมาชิกรวมกันคิดเป็นมูลค่าราว 1.8 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ[4] คิดเป็นลำดับที่ 9 ของโลกเรียงตามจีดีพี มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ[1]
อาเซียนมีจุดเริ่มต้นจากสมาคมอาสา ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2504 โดยไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อไทยเสียดินแดนปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาในปี พ.ศ. 2505 ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 ได้มีการลงนามใน ปฏิญญากรุงเทพ อาเซียนได้ถือกำเนิดขึ้นโดยมีรัฐสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม วัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ[5] หลังจาก พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา อาเซียนมีรัฐสมาชิกเพิ่มขึ้นจนมี 10 ประเทศในปัจจุบัน กฎบัตรอาเซียนได้มีการลงนามเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งทำให้อาเซียนมีสถานะคล้ายกับสหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น[6] เขตการค้าเสรีอาเซียนได้เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2553 และกำลังก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะประกอบด้วยสามด้าน คือ ประชาคมอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558[7]
เนื้อหา |
[แก้] ประวัติ
[แก้] สมาคมอาสาและปฏิญญากรุงเทพ
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจุดเริ่มต้นนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2504 โดยประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ได้ร่วมกันจัดตั้ง สมาคมอาสา (ASA, Association of South East Asia) ขึ้นเพื่อการร่วมมือกันทาง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แต่ดำเนินการได้เพียง 2 ปี ก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากความผกผันทางการเมืองระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย และการเสียดินแดนปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาของไทย จนเมื่ออินโดนีเซียและมาเลเซียฟื้นฟูสัมพันธภาพระหว่างกัน จึงได้มีการแสวงหาลู่ทางจัดตั้งองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจขึ้นในภูมิภาค "สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" และถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร โดยมีการลงนาม "ปฏิญญากรุงเทพ" ที่พระราชวังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ อาดัม มาลิกแห่งอินโดนีเซีย, นาร์ซิโซ รามอสแห่งฟิลิปปินส์, อับดุล ราซัคแห่งมาเลเซีย, เอส. ราชารัตนัมแห่งสิงคโปร์ และถนัด คอมันตร์แห่งไทย ซึ่งถูกพิจารณาว่าเป็นบิดาผู้ก่อตั้งองค์กร[8]
ความประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มอาเซียนขึ้นมาเกิดจากความต้องการสภาพแวดล้อมภายนอกเพื่อที่ผู้ปกครองของประเทศสมาชิกจะสามารถมุ่งความสนใจไปที่การสร้างประเทศ ความกังวลต่อการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ร่วมกัน ความศรัทธาหรือความเชื่อถือต่อมหาอำนาจภายนอกที่เสื่อมถอยลงในช่วงพุทธทศวรรษ 2500 รวมไปถึงความต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การจัดตั้งกลุ่มอาเซียนมีวัตถุประสงค์แตกต่างจากสหภาพยุโรป เพราะกลุ่มอาเซียนถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนความเป็นชาตินิยม[9]
[แก้] การขยายตัว
-
ดูบทความหลักที่ การขยายตัวของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในปี พ.ศ. 2519 ปาปัวนิวกินีได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์[10] และตลอดช่วงพุทธทศวรรษ 2510 กลุ่มประเทศสมาชิกได้มีการจัดตั้งโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง หลังจากผลของการประชุมที่จังหวัดบาหลี ในปี พ.ศ. 2519 แต่ว่าความร่วมมือดังกล่าวได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างหนักในช่วงพุทธทศวรรษ 2520 ก่อนจะได้รับการฟื้นฟูเมื่อปี พ.ศ. 2534 เนื่องจากไทยเสนอให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีขึ้น ต่อมา ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเป็นประเทศที่หก เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2527 ซึ่งห่างจากวันที่บรูไนประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 1 มกราคม เพียงสัปดาห์เดียว[11]
ต่อมา เวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกประเทศที่เจ็ด ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2538[12] ไม่นานหลังจากนั้น ลาวและพม่าได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประเทศที่แปดและเก้าตามลำดับ ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2540[13] ส่วนกัมพูชามีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่ถูกเลื่อนออกไปจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ จนกระทั่งในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542 กัมพูชาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประเทศที่สิบ หลังจากรัฐบาลกัมพูชามีความมั่นคงแล้ว[13][14]
ในช่วงพุทธทศวรรษ 2530 สมาชิกอาเซียนได้มีประสบการณ์ทั้งในด้านการมีประเทศสมาชิกเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงความพยายามในการรวบรวมกลุ่มประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวไปอีกขึ้นหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2533 มาเลเซียได้เสนอให้มีความร่วมมือทางเขตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ซึ่งประกอบด้วยประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้[15] โดยมีเจตนาเพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาซึ่งเพิ่มพูนมากขึ้นในความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) และภูมิภาคเอเชียโดยรวม[16][17] แต่ว่าข้อเสนอดังกล่าวถูกยกเลิกไป เพราะได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา[16][18] แม้ว่าจะประสบความล้มเหลวในด้านดังกล่าว แต่กลุ่มสมาชิกก็ยังสามารถดำเนินการในการรวมกลุ่มประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวกันต่อไปได้
ใน พ.ศ. 2535 มีการลงนามใช้แผนอัตราภาษีศุลกากรพิเศษที่เท่ากัน (Common Effective Preferential Tariff) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในฐานะที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญเพื่อป้อนสินค้าสู่ตลาดโลก โดยอาศัยการเปิดเสรีด้านการค้าและการลดภาษีและอุปสรรคข้อกีดขวางทางการค้าที่มิใช่ภาษี รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีศุลกากรเพื่อเอื้ออำนวยต่อการค้าเสรี โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นโครงร่างสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ในปี พ.ศ. 2540 ข้อเสนอของมาเลเซียถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งในจังหวัดเชียงใหม่ หรือที่รู้จักกันว่า การริเริ่มเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มระหว่างกลุ่มสมาคมอาเซียนและประเทศในเอเชียอีกสามประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้[19]
นอกเหนือจากความร่วมมือช่วยเหลือพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกแล้ว อาเซียนยังมีวัตถุประสงค์ในการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2538 มีการลงนามสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวเริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ทุกประเภทในภูมิภาค[20]
หลังจากปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน ฉบับที่สอง (อังกฤษ: Bali Concord II) ในปี พ.ศ. 2546 กลุ่มประเทศอาเซียนได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยทฤษฎีสันติภาพประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่า ประเทศสมาชิกทุกประเทศมีความเชื่อว่ากระบวนการตามหลักการประชาธิปไตยจะทำให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค นอกจากนั้น ประเทศอื่นที่มิได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันต่างก็เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ควรใฝ่หา[21]
ผู้นำของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาเธร์ โมฮัมหมัดแห่งมาเลเซีย ตระหนักถึงความจำเป็นในการรวมกลุ่มประเทศกันอย่างจริงจัง โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2540 อาเซียนได้เริ่มตั้งก่อตั้งองค์การหลายแห่งในความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว อาเซียนบวกสามเป็นองค์การแรกที่ถูกก่อตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตามด้วยการประชุมเอเชียตะวันออก ซึ่งมีอีกสามประเทศที่เข้าร่วมด้วย คือ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กลุ่มดังกล่าวมีแผนการที่เป็นรากฐานของประชาคมเอเชียตะวันออกในอนาคต ซึ่งร่างขึ้นตามอย่างของประชาคมยุโรปซึ่งปัจจุบันสิ้นสภาพไปแล้ว หลังจากนั้น ได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิอาเซียนขึ้น เพื่อศึกษาผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบของนโยบายดังกล่าว รวมไปถึงความเป็นไปได้ในการร่างกฎบัตรอาเซียนในอนาคต
ในปี พ.ศ. 2549 กลุ่มอาเซียนได้รับสถานภาพผู้สังเกตการณ์สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ[22] ซึ่งกลุ่มอาเซียนได้มอบสถานภาพ "หุ้นส่วนการอภิปราย" ให้แก่สหประชาชาติเป็นการตอบแทน[23] นอกเหนือจากนั้น ในวันที่ 23 กรกฎาคมปีนั้นเอง โจเซ รามุส-ออร์ตา นายกรัฐมนตรีแห่งติมอร์ตะวันออก ได้ลงนามในความต้องการในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มอาเซียนอย่างเป็นทางการ และคาดหวังว่าการได้รับสถานภาพผู้สังเกตการณ์เป็นเวลาห้าปีก่อนที่จะได้รับสถานภาพเป็นประเทศสมาชิกอย่างสมบูรณ์[24][25]
ในปี พ.ศ. 2550 กลุ่มอาเซียนได้เฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 40 ปีการก่อตั้งกลุ่มอาเซียน และครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกา[26] ในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2550 กลุ่มอาเซียนตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีทุกฉบับกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ภายในปี พ.ศ. 2556 ไปพร้อมกับการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายในปี พ.ศ. 2558[27][28] ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามในกฎบัตรอาเซียน ซึ่งเป็นกฎข้อบังคับในการดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน และยกระดับกลุ่มอาเซียนให้เป็นองค์การระหว่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553[29][30] นับเป็นเขตการค้าเสรีที่มีประชากรมากที่สุดในโลกและมีมูลค่าจีดีพีคิดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก[31][32]
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 มีการลงนามความตกลงการค้าเสรีระหว่างภูมิภาคอาเซียน 10 ประเทศ กับนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย มีการประเมินว่าความตกลงการค้าเสรีนี้จะเพิ่มจีดีพีใน 12 ประเทศขึ้นมากกว่า 48 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ระหว่าง พ.ศ. 2543-2563[33][34] ต้นปี พ.ศ. 2554 ติมอร์ตะวันออกวางแผนจะยื่นจดหมายขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกแก่สำนักเลขาธิการอาเซียนในอินโดนีเซีย เป็นประเทศสมาชิกลำดับที่สิบเอ็ดของอาเซียนระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซียแสดงท่าทีต้อนรับติมอร์ตะวันออกอย่างอบอุ่น[35][36][37]
[แก้] ภูมิศาสตร์
ในปัจจุบัน สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยประเทศสมาชิกจำนวน 10 ประเทศ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 560 ล้านคน (ข้อมูลในปี พ.ศ. 2549) [38] ยอดเขาที่สูงสุดในภูมิภาค คือ ยอดเขาข่ากาโบราซีในประเทศสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งมีความสูง 5,881 เมตร และมีอาณาเขตติดต่อกับจีน อินเดีย บังกลาเทศและประเทศสังเกตการณ์อาเซียน คือ ปาปัวนิวกินี
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 27-36 °C[39] พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าฝนเขตร้อน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าสน ป่าหาดทรายชายทะเล ป่าไม้ปลูก มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง สับปะรด ยางพารา ปาล์มน้ำมันและพริกไทย[40]
[แก้] วัตถุประสงค์
จากสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการสรุปแนวทางของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้จำนวนหกข้อ ดังนี้[41]
- ให้ความเคารพแก่เอกราช อำนาจอธิปไตย ความเท่าเทียม บูรณภาพแห่งดินแดนและเอกลักษณ์ของชาติสมาชิกทั้งหมด
- รัฐสมาชิกแต่ละรัฐมีสิทธิที่จะปลอดจากการแทรกแซงจากภายนอก การรุกรานดินแดนและการบังคับขู่เข็ญ
- จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของรัฐสมาชิกอื่น ๆ
- ยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน หรือแก้ปัญหาระหว่างกันอย่างสันติ
- ประณามหรือไม่ยอมรับการคุกคามหรือการใช้กำลัง
- ให้ความร่วมมือระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ
[แก้] การประชุม
[แก้] การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน
ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนได้จัดการประชุมขึ้น เรียกว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งประมุขของรัฐบาลของแต่ละประเทศสมาชิกจะมาอภิปรายและแก้ไขประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมไปถึงการจัดการประชุมร่วมกับประเทศนอกกลุ่มสมาชิกเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ. 2519 จากผลของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่สาม ณ กรุงมะนิลา ในปี พ.ศ. 2530 สรุปว่าผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนควรจะจัดการประชุมขึ้นทุกห้าปี[42] อย่างไรก็ตาม ผลของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งต่อมาที่ประเทศสิงคโปร์ ในปี พ.ศ. 2535 ได้เสนอให้จัดการประชุมให้บ่อยขึ้น และได้ข้อสรุปว่าจะมีการจัดการประชุมสุดยอดขึ้นทุกสามปีแทน[42] ต่อมา ในปี พ.ศ. 2544 ผู้นำสมาชิกประเทศกลุ่มอาเซียนได้เสนอให้จัดการประชุมขึ้นทุกปีเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาด่วนที่ส่งผลกระทบในพื้นที่ ประเทศสมาชิกจะได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดขึ้นเรียงตามตัวอักษร ยกเว้นประเทศพม่า ซึ่งถูกยกเลิกการเป็นเจ้าภาพการประชุมในปี พ.ศ. 2549 เนื่องจากปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547[43]
การประชุมอาเซียนอย่างเป็นทางการมีกำหนดการสามวัน ดังนี้
- ประมุขของรัฐสมาชิกจะจัดการประชุมภายใน
- ประมุขของรัฐสมาชิกจะหารือร่วมกันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในที่ประชุมกลุ่มอาเซียน
- การประชุมที่เรียกว่า "อาเซียนบวกสาม" ประมุขของรัฐสมาชิกจะประชุมร่วมกับประมุขของสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยจัดขึ้นพร้อมกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน
- การประชุมที่เรียกว่า "อาเซียน-เซอร์" ประมุขของรัฐสมาชิกจะประชุมร่วมกับประมุขของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอย่างเป็นทางการ | |||
---|---|---|---|
ครั้งที่ | วันที่ | ประเทศเจ้าภาพ | สถานที่จัดการประชุม |
1 | 23-24 กุมภาพันธ์ 2519 | อินโดนีเซีย | บาหลี |
2 | 4-5 สิงหาคม 2520 | มาเลเซีย | กัวลาลัมเปอร์ |
3 | 14-15 ธันวาคม 2530 | ฟิลิปปินส์ | มะนิลา |
4 | 27-29 มกราคม 2535 | สิงคโปร์ | สิงคโปร์ |
5 | 14-15 ธันวาคม 2538 | ไทย | กรุงเทพมหานคร |
6 | 15-16 ธันวาคม 2541 | เวียดนาม | ฮานอย |
7 | 5-6 พฤศจิกายน 2544 | บรูไน | บันดาร์เสรีเบกาวัน |
8 | 4-5 พฤศจิกายน 2545 | กัมพูชา | พนมเปญ |
9 | 7-8 ตุลาคม 2546 | อินโดนีเซีย | บาหลี |
10 | 29-30 พฤศจิกายน 2547 | ลาว | เวียงจันทน์ |
11 | 12-14 ธันวาคม 2548 | มาเลเซีย | กัวลาลัมเปอร์ |
12 | 11-14 มกราคม 25501 | ฟิลิปปินส์2 | เซบู |
13 | 18-22 พฤศจิกายน 2550 | สิงคโปร์ | สิงคโปร์ |
143 | 27 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2552 10-11 เมษายน 2552 |
ไทย | ชะอำ, หัวหิน พัทยา |
15 | 23-25 ตุลาคม 2552 | ไทย | ชะอำ, หัวหิน |
16 | 8-9 เมษายน 2553 | เวียดนาม | ฮานอย |
17 | 28-30 ตุลาคม 2553 | เวียดนาม | ฮานอย |
18 | 7-8 พฤษภาคม 2554 | อินโดนีเซีย | จาการ์ตา |
19 | 17-19 พฤศจิกายน 2554 | อินโดนีเซีย | จาการ์ตา |
20 | 3-4 เมษายน 2555 | กัมพูชา | พนมเปญ |
1 การประชุมเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 10-14 ธันวาคม เนื่องจากภัยไต้ฝุ่น | |||
2 พม่าไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเนื่องจากความกดดันอย่างหนักจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป | |||
3 การประชุมถูกเลื่อนออกไปสองครั้งเนื่องจากการชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล | |||
4 อินโดนีเซียเสนอแลกเปลี่ยนกับบรูไนอาจจะเป็นเจ้าภาพเอเปค (และอาจมีการประชุม G20) ในปี 2013 |
[แก้] การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก
-
ดูบทความหลักที่ การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก
การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกเป็นการจัดการประชุมทั่วเอเชียซึ่งจัดขึ้นทุกปีโดยผู้นำเอเชียตะวันออก 16 ประเทศ โดยหัวข้อการประชุมนั้นเกี่ยวข้องกับการค้า พลังงานและความมั่นคง จากการประชุมดังกล่าวถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการสร้างประชาคมเอเชียตะวันออก จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีหลังจากนั้น
ประเทศผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้นำชาติอาเซียน 10 ประเทศร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งมีประชากรรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของโลก รัสเซียได้ขอเสนอเข้าเป็นสมาชิกเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกด้วยในปี พ.ศ. 2548,2553และ2554 ได้รับเชิญให้เป็นแขกในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกในครั้งที่หนึ่งด้วย[44]และต่อมาสหรัฐอเมริกาก็ได้เข้าร่วมประชุมมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกด้วยในปีพ.ศ. 2553และ2554และเป็นสมาชิกเต็มตัวในเวลาต่อมา
ครั้งที่ | ประเทศเจ้าภาพ | สถานที่จัดการประชุม | วันที่ | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
1 | มาเลเซีย | กัวลาลัมเปอร์ | 14 ธันวาคม 2548 | รัสเซียได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมด้วย |
2 | ฟิลิปปินส์ | เซบู | 15 มกราคม 2550 | ถูกเลื่อนมาจากวันที่ 13 ธันวาคม 2549 ได้มีการลงนามใน ปฏิญญาเซบูว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานเอเชียตะวันออก |
3 | สิงคโปร์ | สิงคโปร์ | 21 พฤศจิกายน 2550 | ปฏิญญาสิงคโปร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ พลังงานและสิ่งแวดล้อม[45] ข้อตกลงว่าด้วยการก่อตั้งสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออก |
4 | ไทย | พัทยา | 10-12 เมษายน 2552 | ถูกย้ายมาจากกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ |
5 | เวียดนาม | ฮานอย | 30 ตุลาคม 2553 | ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการที่สหรัฐอเมริกาและรัสเซียจะเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกและได้สิทธิในการประชุมในอนาคตเป็นสมาชิกอย่างเต็มเปี่ยม |
6 | อินโดนีเซีย | บาหลี | 19 พฤศจิกายน 2554 | สหรัฐอเมริกาและรัสเซียจะเข้าร่วมประชุมสุดยอด |
[แก้] การประชุมเชื่อมสัมพันธไมตรี
การประชุมเชื่อมสัมพันธไมตรีเป็นการประชุมระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างชาติอาเซียน ถูกจัดตั้งขึ้นเนื่องในวาระครบรอบการก่อตั้งความสัมพันธ์ทางการทูต ประเทศนอกกลุ่มอาเซียนจะเป็นผู้เชิญชวนผู้นำชาติอาเซียนเพื่อประชุมเชื่อมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือในอนาคต
[แก้] ที่ประชุมกลุ่มอาเซียน
ที่ประชุมกลุ่มอาเซียนเป็นการประชุมหลายฝ่ายอย่างเป็นทางการในภาคพื้นแปซิฟิก ในเดือนกรกฎาคม 2550 ที่ประชุมดังกล่าวประกอบด้วย ประเทศสมาชิก 27 ประเทศ; ออสเตรเลีย บังคลาเทศ แคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี รัสเซีย ติมอร์ตะวันออก สหรัฐอเมริกาและศรีลังกา จุดประสงค์ของที่ประชุมเพื่อการปรึกษาหารือ นำเสนอความไว้วางใจและธำรงความสัมพันธ์ทางการทูตในกลุ่มสมาชิก ที่ประชุมกลุ่มอาเซียนจัดการประชุมครั้งแรกในปี 2537[46][47]
[แก้] การประชุมอื่น
นอกเหนือจากการประชุมที่กล่าวมาข้างต้น อาเซียนยังได้มีการจัดการประชุมอื่นขึ้นอีก[48] ประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนประจำปี[49] รวมไปถึงคณะกรรมการย่อย อย่างเช่น ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[50] การประชุมดังกล่าวมักจะมีหัวข้อการประชุมที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่น ความมั่นคงระหว่างประเทศ[48] สิ่งแวดล้อม[48][51] ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมประชุมจะเป็นรัฐมนตรีแทนที่จะเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลทั้งหมด
[แก้] การประชุมอาเซียนบวกสาม
ในขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ผลักดันให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เกาหลีใต้ก็ได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก ด้วยการผนึกสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เข้ากับกลุ่มประเทศอาเซียนที่เรียกชื่อว่า "อาเซียนบวกสาม" (APT) แต่สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินหน้าจัดตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน โดยกีดกันญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วยความจงใจ แม้ว่าตามข้อตกลงในการจัดซื้อเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน จะมีแผนที่จะผนวกเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเข้ามาในภายหลังเพื่อเป็นอาเซียนบวกสาม แต่มิได้กำหนดเงื่อนเวลาอันแน่นอน อันทำให้เขตการค้าเสรีอาเซียนบวกสามเป็นเรื่องค่อนข้างเลื่อนลอย
[แก้] การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป
การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรปเป็นกระบวนการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ มีขึ้นครั้งแรกในปี 2538 เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาชิกของสหภาพยุโรปและอาเซียน[52] โดยกลุ่มอาเซียนจะส่งเลขาธิการอาเซียนเป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมร่วมกับผู้แทนอีก 45 คน และได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้บริหารของมูลนิธิเอเชีย-ยุโรป ซึ่งเป็นองค์การความร่วมมือกันทางด้านสังคมและวัฒนธรรมระหว่างเอเชียกับยุโรป
[แก้] การประชุมอาเซียน-รัสเซีย
เป็นการประชุมประจำปีระหว่างผู้นำของประเทศกลุ่มอาเซียนร่วมกับประธานาธิบดีของสหพันธรัฐรัสเซีย
[แก้] ประชาคมเศรษฐกิจ
กลุ่มอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในภูมิภาค อันประกอบด้วย "หลักสามประการ" ของความมั่นคง สังคมวัฒนธรรมและการรวมตัวทางเศรษฐกิจ[53] การรวมกลุ่มกันในภูมิภาคได้ทำให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะประสบความสำเร็จในการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2558[54] ประชาคมเศรษฐกิจดังกล่าวจะมีประชากรรวมกัน 560 ล้านคน และมูลค่าการค้ากว่า 1.4 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ[53]
[แก้] เขตการค้าเสรี
รากฐานของการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเริ่มต้นมาจากเขตการค้าเสรีอาเซียน[54] ซึ่งเป็นการลดอัตราภาษีศุลกากรเพื่อให้สินค้าภายในอาเซียนเกิดการหมุนเวียน เขตการค้าเสรีอาเซียนเป็นข้อตกลงโดยสมาชิกกลุ่มอาเซียนซึ่งกังวลต่อผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่นของตน ได้รับการลงนามในสิงคโปร์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2535 ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก 10 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย เวียดนาม (เข้าร่วมในปี 2538) ลาว พม่า (เข้าร่วมในปี 2540) และกัมพูชา (เข้าร่วมในปี 2542) [55][56]
[แก้] เขตการลงทุนร่วม
เขตการลงทุนร่วมมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนหมุนเวียนภายในอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยหลักการดังต่อไปนี้:[57]
- เปิดให้อุตสาหกรรมทุกรูปแบบเกิดการลงทุนและลดขั้นตอนตามกำหนดการ
- ทำสัญญากับผู้ลงทุนในกลุ่มอาเซียนที่เขามาลงทุนในทันที
- กำจัดการกีดขวางทางการลงทุน
- ปรับปรุงกระบวนการและระเบียบการลงทุนให้เกิดความคล่องตัว
- สร้างความโปร่งใส
- ดำเนินการตามมาตรการอำนวยความสะดวกในการลงทุน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากเขตการลงทุนร่วมจะเป็นการกำจัดการกีดกันในกิจการเกษตรกรรม การประมง การป่าไม้และการทำเหมืองแร่ ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จภายในปี พ.ศ. 2553 สำหรับประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนเป็นส่วนใหญ่ และคาดว่าจะสำเร็จในปี พ.ศ. 2558 สำหรับประเทศกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม[57]
[แก้] การแลกเปลี่ยนบริการ
ข้อตกลงการวางกรอบเรื่องการแลกเปลี่ยนบริการเริ่มต้นขึ้นในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงเทพมหานครในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548[58] ภายใต้กรอบข้อตกลงดังกล่าว รัฐสมาชิกของกลุ่มอาเซียนจะสามารถประสบความสำเร็จในการเจรจาอย่างเสรีในด้านการแลกเปลี่ยนบริการ โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากขึ้น ผลของการเจรจาการแลกเปลี่ยนบริการซึ่งได้เริ่มดำเนินการตามหมายกำหนดการเป็นรายเฉพาะจะถูกรวมเข้ากับกรอบข้อตกลง ซึ่งหมายกำหนดการดังกล่าวมักจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มการแลกเปลี่ยนบริการ ในปัจจุบัน พบว่ามีกลุ่มการแลกเปลี่ยนบริการจำนวนเจ็ดกลุ่มภายใต้กรอบข้อตกลงดังกล่าว[59]
[แก้] ตลาดการบินเดียว
แนวคิดเรื่องตลาดการบินเดียวเป็นความคิดเห็นที่เสนอโดยกลุ่มงานขนส่งทางอากาศอาเซียน ได้รับการสนับสนุนในการประชุมการขนส่งอย่างเป็นทางการของอาเซียน และได้รับการอนุมัติโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคมของรัฐสมาชิก ซึ่งจะนำไปสู่การจัดระเบียบน่านฟ้าเปิดในภูมิภาคภายในปี พ.ศ. 2558[60] โดยตลาดการบินเดียวมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดการคมนาคมทางอากาศระหว่างรัฐสมาชิกเป็นไปอย่างเสรี ซึ่งสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มอาเซียนจากการเติบโตของการเดินทางทางอากาศในปัจจุบัน และยังเป็นการเพิ่มการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนและการบริการให้กับรัฐสมาชิกทั้งหมด[60][61] เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ข้อจำกัดเสรีภาพทางอากาศที่สามและที่สี่ระหว่างเมืองหลวงของรัฐสมาชิกสำหรับบริการสายการบินจะถูกยกเลิก[62] ในขณะที่หลังจากวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 จะมีเสรีภาพบริการการบินในภูมิภาค[60][61] และภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 จะมีการเปิดเสรีเสรีภาพทางอากาศข้อที่ห้าระหว่างเมืองหลวงทั้งหมด[63]
[แก้] ข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศนอกกลุ่มอาเซียน
อาเซียนได้เปิดการค้าเสรีกับประเทศภายนอกหลายประเทศ ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และล่าสุด อินเดีย[64] ข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศจีนได้สร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ในปัจจุบัน อาเซียนนั้นกำลังเจรจากับสหภาพยุโรปในการที่จะทำการค้าเสรีด้วยกัน[65] ผลดีของข้อตกลงนั้น คือการเปิดโอกาสการค้าของอาเซียน ให้มีศักยภาพและขยายตัวมากขึ้น รวมไปถึงการลงทุนจากต่างชาติด้วย[66] ไต้หวันยังแสดงความสนใจที่จะทำข้อตกลงกับอาเซียน แต่ได้รับการคัดค้านทางการทูตจากประเทศจีน[67]
[แก้] กฎบัตรอาเซียน
-
ดูบทความหลักที่ กฎบัตรอาเซียน
[แก้] ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม
เมื่อก้าวเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 ประเด็นปัญหาเริ่มมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยกลุ่มประเทศสมาชิกได้เริ่มเจรจากันถึงข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึง การลงนามในข้อตกลงมลภาวะฟ้าหลัวระหว่างประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี พ.ศ. 2545 ในความพยายามที่จะจำกัดขอบเขตของมลภาวะฟ้าหลัวในเขตพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้[68] แต่ทว่าในพื้นที่ก็ยังเกิดปัญหาฟ้าหลัวในประเทศมาเลเซีย ในปี พ.ศ. 2548 และปัญหาฟ้าหลัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี พ.ศ. 2549 ส่วนสนธิสัญญาฉบับอื่นที่ได้รับการลงนามโดยสมาชิกอาเซียนได้แก่ ปฏิญญาเซบูว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานเอเชียตะวันออก[69] เครือข่ายกำกับดูแลสัตว์ป่าอาเซียนในปี พ.ศ. 2549[70] และ หุ้นส่วนเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยการพัฒนาความสะอาดและสภาพอากาศ ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อปรากฏการณ์โลกร้อน และผลกระทบทางด้านลบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ใน พ.ศ. 2550 ปฏิญญาเซบูว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานเอเชียตะวันออก ซึ่งลงนามในกลุ่มอาเซียน ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานด้วยการหาพลังงานทางเลือกเพื่อใช้ทดแทนเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์
[แก้] ความร่วมมือทางวัฒนธรรม
ความร่วมมือทางวัฒนธรรมนั้น มีจุดประสงค์เพื่อที่จะช่วยสร้างภาพรวมในด้านต่าง ๆให้ดีขึ้น โดยการให้การสนับสนุน ทั้งการกีฬา การศึกษา และกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ความร่วมมือต่าง ๆดังนี้
[แก้] รางวัลซีไรต์
ได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เพื่อมอบรางวัลแก่นักประพันธ์หรือนักเขียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้สร้างผลงานที่ดีมีชื่อเสียง ที่ประสบความสำเร็จในช่วงชีวิตของนักเขียนนั้น ๆ ผลงานนั้นเป็นผลงานเขียนทุกประเภท ทั้งวรรณกรรมต่าง ๆ เรื่องสั้น กลอน รวมไปถึงผลงานทางศาสนา ซึ่งจะมีการจัดงานที่กรุงเทพมหานคร โดยมีเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์ไทยเป็นผู้พระราชทานรางวัล
[แก้] สถาบันเพื่อการศึกษาขั้นสูงแห่งอาเซียน
เป็นองค์การเอกชนที่จัดตั้งขึ้น ในปี พ.ศ. 2499 เพื่อที่จะพัฒนาระดับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ทั้งสถาบันการศึกษาระดับสูง การสอน การบริการสาธารณะที่ดีได้มาตรฐานที่สูงขึ้น โดยสอดคล้องไปกับวัฒนธรรมและพื้นที่นั้น ๆ
[แก้] อุทยานมรดก
ได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2527และเริ่มใหม่อีกรอบในปี พ.ศ. 2547 เป็นการรวมรายชื่อของอุทยานแห่งชาติทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจุดประสงค์ที่จะทำการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมป่าไม้ ปัจจุบันมีรวมทั้งหมด 35 แห่ง
[แก้] ดูเพิ่ม
- เขตการค้าเสรีอาเซียน
- กฎบัตรอาเซียน
- เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- รายนามเลขาธิการอาเซียน
- องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน
[แก้] อ้างอิง
- ^ 1.0 1.1 Aseansec.org, ASEAN-10: Meeting the Challenges, by Termsak Chalermpalanupap, Aseansec.org, ASEAN Secretariat official website. Retrieved 27 June 2008.
- ^ "IMF DataMapper". Imf.org. 4 December 1999. http://www.imf.org/external/datamapper/index.php. เรียกข้อมูลเมื่อ 8 August 2011.
- ^ Selected basic ASEAN indicators. สืบค้น 05-09-2010
- ^ EC.Europa.eu, European Union Relations with ASEAN. Retrieved 29 October 2010.
- ^ Overview, ASEAN Secretariat official website. Retrieved 12 June 2006
- ^ 'Momentous' day for ASEAN as charter comes into force. AFP. สืบค้น 05-09-2010
- ^ เคาต์ดาวน์สู่ ประชาคมอาเซียน. (8 สิงหาคม 2553). โพสต์ทูเดย์. สืบค้น 05-09-2010.
- ^ Bernard Eccleston, Michael Dawson, Deborah J. McNamara (1998). The Asia-Pacific Profile. Routledge (UK). ISBN 0-415-17279-9. http://books.google.com/books?visbn=0415172799&id=l07ak-yd6DAC&pg=RA1-PA311&lpg=RA1-PA311&ots=XgqmmGV3CC&dq=%22Bangkok+Declaration%22+ASEAN&ie=ISO-8859-1&output=html&sig=u2ddDhzn-yVhEn5Fwu3d8iih0OA.
- ^ Muthiah Alagappa (1998). Asian Security Practice: Material and Ideational Influences. Stanford: Stanford University Press (US). ISBN-10: 0804733473. http://books.google.com/books?id=1t2DRZeDVx8C&printsec=frontcover&dq=Asian+Security+Practice:+Material+and+Ideational&sig=5k92m6QGTHi32zipCdcnX7woEv0.
- ^ "ASEAN secretariat". ASEAN. 23RD JULY 1999. http://www.aseansec.org/3839.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 2009-01-12.
- ^ "Background Note:Brunei Darussalam/Profile:/Foreign Relations". United States State Department. http://www.state.gov/r/pa/ei/bgn/2700.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 2007-03-06.
- ^ "Vietnam in ASEAN : Toward Cooperation for Mutual Benefits". ASEAN Secretariat. 2007. http://www.aseansec.org/10098.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 28 August 2009.
- ^ 13.0 13.1 Carolyn L. Gates, Mya Than (2001). ASEAN Enlargement: impacts and implications. Institute of Southeast Asian Studies. ISBN 9812300813.
- ^ "Statement by the Secretary-General of ASEAN Welcoming the Kingdom of Cambodia as the Tenth Member State of ASEAN : 30 April 1999, ASEAN Secretariat". ASEAN Secretariat. 2008. http://www.aseansec.org/3338.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 28 August 2009.
- ^ East Asia Economic Caucus. ASEAN Secretariat. Retrieved 14 March 2007.
- ^ 16.0 16.1 Whither East Asia? Asian Views. Retrieved 14 March 2007.
- ^ Asia's Reaction to NAFTA Nancy J. Hamilton. CRS - Congressional Research Service. Retrieved 14 March 2007.
- ^ Japan Straddles Fence on Issue of East Asia Caucus International Herald tribune. Retrieved 14 March 2007.
- ^ "Regional Financial Cooperation among ASEAN+3". Japanese Ministry of Foreign Affairs. http://www.mof.go.jp/english/if/regional_financial_cooperation.htm#CMI. เรียกข้อมูลเมื่อ 2008-09-29.
- ^ (in%20alphabetical%20order) ?OpenView Bangkok Treaty (in alphabetical order) At UNODA สหประชาชาติ. Retrieved on 4 September 2008.
- ^ "Asean: Changing, but only slowly", BBC, 2003-10-08
- ^ RP resolution for observer status in UN assembly OK’d, Philippine Daily Inquirer, 13 March 2007.
- ^ "Philippines to Represent Asean in Un Meetings in Ny, Geneva", Yahoo! News, 2007-03-07. สืบค้นวันที่ 2007-03-13
- ^ "East Timor ASEAN bid", The Sun-Herald, The Sydney Morning Herald, 2007-01-28. สืบค้นวันที่ 2007-09-20
- ^ "East Timor Needs Five Years to Join ASEAN: PM", ASEAN Secretariat, 26 July 2006. สืบค้นวันที่ 2007-03-03
- ^ Forss, Pearl. "US and ASEAN seeking to enhance relationship: Dr Balaji", Channel NewsAsia, 2007-08-27. สืบค้นวันที่ 2007-08-27
- ^ "ASEAN to complete free trade agreements by 2013", Forbes, 2007-08-26. สืบค้นวันที่ 2007-08-27
- ^ Ong, Christine. "ASEAN confident of concluding FTAs with partners by 2013", Channel NewsAsia, 2007-08-27. สืบค้นวันที่ 2007-08-27
- ^ "China-Asean Trade Deal Begins Today", Jakarta Globe, 1 January 2010. สืบค้นวันที่ 1 January 2010
- ^ Chan, Fiona. "Asean-China FTA to kick off", The Straits Times, 31 December 2009. สืบค้นวันที่ 1 January 2010
- ^ Walker, Andrew. "China and Asean free trade deal begins", BBC News, 1 January 2010. สืบค้นวันที่ 1 January 2010
- ^ Gooch, Liz. "Asia Free-Trade Zone Raises Hopes, and Some Fears About China", The New York Times, 31 December 2009. สืบค้นวันที่ 1 January 2010
- ^ "ASEAN, Australia and New Zealand Free Trade Agreement – NZ Ministry of Foreign Affairs and Trade". Mfat.govt.nz. http://www.mfat.govt.nz/Trade-and-Economic-Relations/Trade-Agreements/Asean/index.php. เรียกข้อมูลเมื่อ 21 May 2009.
- ^ "Asean, Australia, New Zealand Sign Free-Trade Deal (Update1)". Bloomberg. 27 February 2009. http://www.bloomberg.com/apps/news?pid=newsarchive&sid=aul8rxM98Jg4. เรียกข้อมูลเมื่อ 21 May 2009.
- ^ E.Timor leader pushes for ASEAN membership, date: 1 December 2010.
- ^ East Timor Bid to Join ASEAN Wins 'Strong Support', Bangkok Post, date: 31 January 2011.
- ^ East Timor to Join ASEAN in Jakarta 2011, Jakarta Globe, date: 1 December 2010.
- ^ ASEAN - Overview (อังกฤษ)
- ^ Asean Tourism (อังกฤษ)
- ^ http://ecurriculum.mv.ac.th/social/social/m1/sara4/unit4/lesson1/southeastasia1/k7.htm
- ^ ASEAN at About.com:Geography (อังกฤษ)
- ^ 42.0 42.1 ASEAN Structure, ASEAN Primer
- ^ Denis Hew (2005). Roadmap to an Asean Economic Community. Institute of Southeast Asian Studies. ISBN 981-230-347-2.
- ^ "Chairman's Statement of the First East Asia Summit Kuala Lumpur". ASEAN. 14 December 2005. http://www.aseansec.org/18104.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 2009-01-12.
- ^ "Singapore Declaration on Climate Change, Energy and the Environment". ASEAN. 21 November 2007. http://www.aseansec.org/21116.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 2009-01-12.
- ^ About Us, ASEAN Regional Forum official website. Retrieved 12 June 2006
- ^ Official Website of Australian Department of Foreign Affairs and Trade. Retrieved 3 August 2008
- ^ 48.0 48.1 48.2 ASEAN Calendar of Meetings and Events November 2006, ASEAN Secretariat. Retrieved 13 March 2007.
- ^ ASEAN Ministerial Meetings, ASEAN Secretariat. Retrieved 13 March 2007.
- ^ [1], ASEAN Secretariat. Retrieved 16 March 2007.
- ^ "Malaysians have had enough of haze woes", The Malaysian Bar. สืบค้นวันที่ 2007-03-13
- ^ Lay Hwee Yeo (2003). Asia and Europe: the development and different dimensions of ASEM. Routledge (UK). ISBN 0-415-30697-3.
- ^ 53.0 53.1 "Overview". Aseansec.org. http://www.aseansec.org/64.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 2008-12-21.
- ^ 54.0 54.1 Sim, Edmund "Introduction to the ASEAN Economic Community", http://www.asil.org/aseanevent/Sim_Intro_to_ASEAN.pdf
- ^ "Agreement on the Common Effective Preferential Tariff Scheme for the ASEAN Free Trade Area, Singapore, 28 January 1992". Aseansec.org. http://www.aseansec.org/12375.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 2008-12-21.
- ^ "Overview". Aseansec.org. http://www.aseansec.org/12021.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 2008-12-21.
- ^ 57.0 57.1 "Highlights of the ASEAN Comprehensive Investment Agreement (ACIA)". Aseansec.org. http://www.aseansec.org/21940.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 2008-12-21.
- ^ "ASEAN Framework Agreement on Services (1995)". Aseansec.org. http://www.aseansec.org/6628.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 21 December 2008.
- ^ "Overview". Aseansec.org. http://www.aseansec.org/6626.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 21 December 2008.
- ^ 60.0 60.1 60.2 "Asean Single Aviation Market". The Straits Times. 2 February 2008. http://www.asian-aerocad.com/news/news.php?newsid=23. เรียกข้อมูลเมื่อ 26 September 2008.
- ^ 61.0 61.1 "Singaporean PM urges ASEAN to liberalise aviation", chinaview.cn, Xinhua News Agency, 1 November 2007. สืบค้นวันที่ 26 September 2008
- ^ Kaur, Karamjit. "Tiger offers 50,000 free seats", The Straits Times, 25 September 2008. สืบค้นวันที่ 26 September 2008
- ^ "Three quarters of a million more seats and counting- KL-Singapore benefits from liberalisation". Centre for Asia Pacific Aviation. 28 September 2008. http://www.centreforaviation.com/aviation/index.php?option=com_content&task=view&id=5015. เรียกข้อมูลเมื่อ 26 September 2008.
- ^ "Welcome to Singapore FTA Network". Fta.gov.sg. http://www.fta.gov.sg/sg_fta.asp. เรียกข้อมูลเมื่อ 21 December 2008.
- ^ "Welcome to Singapore FTA Network". Fta.gov.sg. http://www.fta.gov.sg/fta_ongoingneg.asp. เรียกข้อมูลเมื่อ 21 December 2008.
- ^ http://www.scb.co.th/LIB/th/article/kra/2547/k1564.html
- ^ "Taipei Times - archives". Taipeitimes.com. http://www.taipeitimes.com/News/taiwan/archives/2008/10/12/2003425653. เรียกข้อมูลเมื่อ 21 December 2008.
- ^ ASEAN Secretariat. ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution. Extracted 12 October 2006
- ^ East Asian leaders to promote biofuel, Philippine Daily Inquirer, 13 March 2007.
- ^ "ASEAN Statement on Launching of the ASEAN Wildlife Law Enforcement Network (ASEAN-WEN)". ASEAN. 1 December 2005. http://www.aseansec.org/17933.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 2009-01-12.
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- เกี่ยวกับอาเซียน
- ASEAN Secretariat - เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
- ASEAN News Network
- ASEAN Blog
- ASEAN Regional Forum Retrieved on 13 March 2007.
- BBC Country Profile/Asean Retrieved on 13 March 2007.
- การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน
- 14th ASEAN Summit
- 13th ASEAN Summit Retrieved on 16 September 2007.
- 12th ASEAN Summit Retrieved on 13 March 2007.
- 11th ASEAN Summit 12 December-14, 2005, Kuala Lumpur, Malaysia official site. Retrieved on 13 March 2007.
- 11th ASEAN Summit 12 December–14, 2005, Kuala Lumpur, Malaysia. Retrieved on 13 March 2007.
- องค์กรอาเซียน
- ASEAN official directory of ASEAN organizations
- ASEAN Law Association
- ASEAN Ports Association
- US-ASEAN Business Council
- Research Center for Asia Pacific Development Studies
|
|