ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

370.2 เรื่องเบ็ดเตล็ดทางการศึกษา
รวมเรื่องการศึกษา ข่าวการศึกษา

ครูนาง’ นางฟ้าจาก ‘รักแท้’ แห่งสะพานพุทธ

บ้านและห้องเรียนของพวกเขาอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงหัวค่ำจนดึกที่นี่เต็มไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอย ตลาดกลางคืนอีกแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ทำให้บางคนมีรายได้ด้วยการเก็บขวดพลาสติกขาย บางครั้งพวกเขาจับกลุ่มและขึ้นไปรับลมเย็นบนสะพานพุทธ และพวกเขาใช้ลานโล่งติดกับลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 เป็นที่หลับนอน

พวกเขาตั้งตัวเป็นเจ้าถิ่นของที่นี่ เป็นธรรมดาหากหลายคนที่ผ่านไปมา จะมีสายตาไม่ไว้ใจและเลี่ยงเดินออกห่าง พฤติกรรมที่ดูแข็งกร้าว ซุกซน และดูเหมือนจะไม่ยอมใคร แต่ใครจะเชื่อว่า บุคคลที่พวกเขาเคารพนับถือ เป็นดั่งผู้ปกครอง จะเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ดูทะมัดทะแมง และสายตาอ่อนโยน

ครูนาง ‘นริศราภรณ์ อสิพงษ์‘ หัวหน้าแผนกครูข้างถนน แห่งมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคลในพระอุปถัมภ์ หรือเมอร์ซี่ ผู้ที่คลุกคลีกับกลุ่มเด็กเร่ร่อนย่านสะพานพุทธมากว่า 10 ปี ซึ่งมาจากจุดเริ่มต้นผู้ช่วยครู และได้ลงพื้นที่สะพานพุทธเกือบทุกวัน จนกระทั่งเข้าทำงานที่ศูนย์เมอร์ซี่ก็ยังคงลงพื้นที่อยู่เป็นประจำ

ครูนาง เล่าว่า ตอนแรกที่มา เด็กก็ยังดื้อ ไม่ฟังเรา แต่เราอาศัยการคลุกคลี มาบ่อยๆ เข้าหาพวกเขาเหมือนเป็นเพื่อนคนหนึ่ง คุยเล่นสนุกสนาน และช่วยเหลือเขาทุกอย่างตามที่เขาต้องการ ทั้งรับปรึกษาปัญหาต่างๆ ช่วยเหลือเวลาเขาเจ็บป่วย หายาให้ พาไปหาหมอบ้าง จนเปรียบเสมือนเป็นแม่ของพวกเขา แต่กว่าจะเข้าไปนั่งในใจของพวกเขาได้ ก็ใช้เวลานานหลายปี

สถาพแวดล้อมที่นี่ มันเอื้อต่อการทำให้เด็กใช้สารระเหย เราไม่ได้อยู่กับเขาตลอด 24 ชั่วโมง เด็กพวกนี้จะชอบจับกลุ่มกัน อยู่กันเยอะๆ พอตื่นมา ก็จะไปขอเงินขอข้าวเค้ากิน บางคนก็รับจ้างเข็นรถ เก็บขวดขายบ้าง เพื่อหาเลี้ยงปากท้องไปวันๆ ที่หนักไปกว่านั้นก็เรื่องขายบริการ

“สิ่งที่เรามักจะบอกเด็กอยู่เสมอ ซึ่งเขาจะฟัง หรือไม่ฟัง ก็ไม่รู้ คือเราบอกว่า เราเป็นห่วงเขานะ รักเหมือนลูกนะ เรื่องยาเสพติดเลิกได้ ก็เลิกซะ บอกไปเรื่อยๆ เขาอาจจะเชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง มันเป็นเรื่องที่ตัวเขาจะตัดสินเอง เด็กที่มาที่นี่ คือมีปัญหาทางบ้าน ซึ่งเราคิดว่า บางทีการบอกให้เขากลับบ้าน มันไม่จำเป็นที่สุด เพราะเมื่อกลับไป เขาก็ยังเจอปัญหาเดิมๆ แล้วก็กลับมาอีก ฉะนั้นก็พยายามหาทางออกอื่นให้เขา เช่น หาที่เรียนให้ หาที่ที่เหมาะสมให้เขาอยู่ หรือถ้าโตแล้วก็ให้ไปทำงาน”

แม้ว่าจะเรียนจบด้านครูมาโดยตรง แต่ครูนาง ก็ไม่เคยคิดว่า วันหนึ่งจะมาทำงานกับเด็กเร่ร่อน พอได้มาทำก็รู้สึกว่า มันเป็นงานที่ไม่มีเป้าหมายตายตัว เพราะต้องเรียนรู้ถึงสภาพจิตใจของเด็กแต่ละคน ซึ่งก็ต่างกันออกไป และเรียกได้ว่ามีเด็กใหม่มาทดแทนเด็กเก่าตลอด

ครูนาง บอกว่า สิ่งที่สอนเด็กพวกนี้ ไม่ได้สอนตำราเรียน เพราะพวกเขาไม่มีทางรับได้ง่ายๆ ก็ต้องสอนในเรื่องทักษะชีวิต เขาใช้ชีวิตที่สะพานพุทธ จะบอกเขาว่า ต้องอยู่อย่างไร ทำตัวอย่างไร เวลามีคนมาแสวงหาประโยชน์ จากทั้งเรื่องเพศ และสิ่งเสพติด สอนให้เขารู้ว่ามันอันตราย อย่าไปเชื่อคน เพราะเด็กบางคนถูกหลอกไปลงเรือ ในเรื่องของการค้ามนุษย์ เอาชีวิตไม่รอดบ้าง หนีมาได้ก็แย่ รวมทั้งเรื่องสุขอนามัย เด็กบางคนเป็นโรคผิวหนัง เราก็ต้องบอกวิธีรักษา

“การทำงานกับเด็กเร่ร่อน ไม่มีหลักสูตรตายตัว เด็กจะได้ดีหรือไม่ หรือเด็กจะหลุดพ้นจากวิถีชีวิตของการเร่ร่อนหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับชีวิตของเด็กคนนั้น บางทีเราแค่สัมผัสเด็กนิดเดียว ก็สามารถทำให้เด็กหลุดจากวงจรชีวิต ของการเร่ร่อนได้ แต่บางคนทำนานแค่ไหน ก็ยังไกลอยู่ ถามว่าท้อมั้ย ถ้าท้อก็พยายามให้กำลังใจตัวเอง บางทีเราแกล้งพูดกับเด็กเวลาดื้อมากๆ ว่าจะไม่มา ไม่ทำแล้ว เด็กก็บอกว่า ไม่อยากให้เราไป ถ้าเราไปใครจะช่วยเขา บอกว่ารักเราเหมือนแม่ เหมือนพวกเขา ก็คือกำลังใจของเราด้วย”

แม้สังคมไทยจะมองว่า เด็กกลุ่มนี้ จะเป็นเด็กเหลือขอ แต่สำหรับมุมมองครูนาง มองว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้เจอ ‘รักแท้’ ซึ่งมาจากพ่อแม่หรือคนที่เขารักมากกว่า ก็เลยต้องมาใช้ชีวิตแบบนี้ เด็กแต่ละคนก็เป็นเยาวชนของไทย เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราควรหันมาร่วมมือกัน ช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น ดีกว่าการมามองพวกเขาเป็นปัญหาของสังคม

“บอกตรงๆ ว่าที่ยังอยู่ตรงนี้ เพราะเรามีความสุขในการให้ ถ้าเราให้เขาแล้วมีความสุข ก็อยู่ได้ เงินเดือนไม่จำเป็นต้องเยอะมากมาย เราอยากให้เด็กกลุ่มนี้ หลุดออกจากวงจรชีวิตแบบนี้ แค่ 2-3 คน จาก 10 คน ก็ดีใจแล้ว เราไม่เคยหวังอะไรจากเด็กกลุ่มนี้เลย นอกจากหวังให้พวกเขาได้ดี”
ลมเย็นพัดจากแม่น้ำเจ้าพระยา พระอาทิตย์ลดตัวต่ำลง แสงไฟจากเสาไฟฟ้าเริ่มทำงานอีกครั้ง ชายฉกรรจ์หลายคนเข็นรถเตรียมตั้งร้านขายของ เด็กหลายคนเริ่มออกมานั่งจับกลุ่ม โดยมีสายตาจากหญิงคนหนึ่ง มองพวกเขาผ่านความรัก ซึ่งหลายคนบริเวณนั้นอาจไม่สนใจเท่าใดนัก

ที่มา

ไทยรัฐออนไลน์. (2555). ครูนาง’ นางฟ้าจาก ‘รักแท้’ แห่งสะพานพุทธ. ค้นเมื่อ

กรกฎาคม 20, 2555, จาก http://www.thairath.co.th/
content/edu/262881

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:September 2010


Send comments to Chumpot@hotmail.com