ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

294.37 การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การให้การศึกษาเรื่องพุทธศาสนา

ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์

ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เริ่มจัดตั้งขึ้นครั้งแรกในประเทศศรีลังกาจากนั้นได้ขยายไปยังประเทศอื่น ๆที่มีพระภิกษุชาวลังการไปจัดตั้งสำหรับในประเทศไทยศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เริ่มกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณปีพ.ศ. ๒๔๙๖-๒๕๐๐ โดยพระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถร) สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง (สมัยพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔) อธิบดีสงฆ์ (เจ้าอาวาส) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ องค์ทุตยสภานายกมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีสมณศักดิ์สุดท้ายเป็นที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เดินทางไปดูกิจการพระพุทธศาสนาที่ประเทศพม่าและศรีลังกา เห็นพระสงฆ์ในประเทศพม่าและศรีลังกาจัดระเบียบการสอนศีลธรรมแก่เด็กและเยาวชนได้ผลดีมาก และจัดการสอนเฉพาะวันอาทิตย์ เมื่อท่านเดินทางกลับมาประเทศไทยจึงได้ปรารภถึงการสอนศีลธรรมของคณะสงฆ์ในประเทศพม่าและศรีลังกาแก่พระเจ้าหน้าที่บริหารและพระนิสิตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมีดำริว่า “โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สมควรจะจัดให้มี ขึ้นในประเทศไทยบ้าง เพราะเด็กและเยาชนมีความสนใจในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อไป และยังเป็นการส่งเสริมในด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกประการหนึ่ง อีกทั้งเป็นการให้โอกาสแก่เด็กและเยาวชนได้ศึกษาและรู้จักหลักธรรมในพระพุทธศาสนาได้ถูกต้องตามสมควรแก่วัยของตน” ประกอบกับในสมัยนั้น พระเจ้าหน้าที่และพระนิสิตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้นำบุตรหลานของข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนทั่วไปที่สนใจมาฟังบรรยายธรรม ฝึกสมาธิในวันอาทิตย์ ซึ่งพากันวิ่งเล่นบริเวณลานอโศกวัดมหาธาตุ ฯ มาเล่านิทานและสอนธรรมะ นอกจากนั้นทางโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆได้อาราธนาพระสงฆ์ดังกล่าวไปสอนธรรมะ อบรมศีลธรรมแก่นักเรียนและนักศึกษาอีกด้วย ดังนั้น พระเจ้าหน้าที่และพระนิสิตมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงดำเนินการขอเสนออนุมัติ ต่อทางสภามหาวิทยาลัยเพื่อเปิดสอนโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น และได้รับอนุมัติให้เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ จึงนับได้ว่าเป็นโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทย หลังจากนั้นก็ได้รับความสนใจมีการจัดตั้งขยายไปยังวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ต่อมาทางราชการได้พิจารณาเห็นว่า สภาพสังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ต่างก็มุ่งแต่จะประกอบภารกิจเกี่ยวกับอาชีพการงานที่รัดตัว โดยไม่มีเวลาสนใจเข้าวัดปฏิบัติธรรมหรือประพฤติตนในฐานะเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี เด็กและเยาวชนที่เกิดมาในครอบครัวชาวพุทธจึงขาดแบบอย่างที่ดีในการประพฤติปฏิบัติตนตามหลักของพระพุทธศาสนา ดังนั้น หากทางราชการสนับสนุนให้วัดในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนได้จัดตั้งโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น โดยเน้นให้พระสงฆ์เป็นผู้อบรมสั่งสอน ก็จะเป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รับการอบรม ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมตั้งแต่วัยการศึกษา และได้ใช้เวลาว่างวันหยุดการศึกษาได้ศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและนำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ถูกต้องตามสมควรแก่วัย ทั้งยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้วัด มีบทบาทการปฏิบัติภารกิจด้านการศึกษาสงเคราะห์และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน วัด และโรงเรียน ให้เป็นเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตในสังคมไทยตลอดไป

ด้วยเหตุนี้ กรมการศาสนาในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ด้านการรับสนองงานการพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการพระพุทธศาสนาที่ต้องทำนุบำรุงส่งเสริมเป็นพิเศษในฐานะที่เป็นศาสนาประจำชาติไทยมาตั้งแต่บรรพกาล จึงได้จัดตั้งโครงการส่งเสริมการศึกษาศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา โดยในระยะแรกได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนวัดต่าง ๆ ที่เปิดดำเนินการโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ด้วยงบประมาณที่จำกัด และได้เห็นความสำคัญของการเผยแผ่ปลูกฝังศีลธรรมแก่เด็กและเยาวชนในรูปแบบการศึกษาสงเคราะห์ โดยการจัดตั้งโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เพื่อสอนวิชาพระพุทธศาสนาขึ้นในวัดที่ดำเนินการโดยพระสงฆ์ จึงได้เสนอโครงการส่งเสริมต่อรัฐบาลเพื่อให้ได้รับงบประมาณสนับสนุนมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลทุกสมัยก็ได้เห็นความสำคัญของงานด้านนี้ว่าเป็นการดำเนินงานพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมสู่ประชาชนที่มีเด็กและเยาวชนเป็นเป้าหมายที่สำคัญยิ่ง จึงได้มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างต่อเนื่องทุกปี

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะทางและสอดคล้องกับระเบียบทางราชการ โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ทั่วประเทศได้เปลี่ยนชื่อจากคำว่า “โรงเรียน” เป็น “ศูนย์ศึกษา” จึงมีชื่อเป็นทางการมาจนปัจจุบันนี้ว่า ”ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์” และกำหนดให้ใช้อักษรย่อว่า “ศพอ”

นับตั้งแต่นั้นมา ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ก็ได้เจริญแพร่หลายเพิ่มจำนวนขึ้นตามลำดับ อีกทั้งในปี พ.ศ. พ.ศ. ๒๕๓๐ อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบนักษัตร ๖๐ พรรษา คณะสงฆ์และกรมการศาสนาได้สนับสนุนให้วัดทั่วประเทศที่มีความพร้อมเปิดดำเนินการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนา วันอาทิตย์ทั่วประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายให้ได้จำนวน ๖๑ ศูนย์ เพื่อน้อยเกล้า ฯ ถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เพื่อการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในความอุปถัมภ์ของกรมการศาสนาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ กรมการศาสนาจึงออกระเบียบกรมการศาสนาว่าด้วยศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ซึ่งในระเบียบนี้กำหนดให้มี (๑) แนวทางการจัดตั้งและดำเนินงาน (๒) การจัดชั้นเรียนและหลักสูตรการสอน (๓) การประเมินผลการศึกษา และ (๔) การส่งเสริมอุดหนุน โดยกรมการศาสนาได้นำเสนอระเบียบนี้ให้มหาเถรสมาคมรับทราบ ต่อเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๔ เพื่อให้เป็นไปตามความในข้อ ๑๗ แห่งระเบียบกรมการศาสนาว่าด้วยศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์พ.ศ. ๒๕๓๔ อีกทั้งเพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาพระพุทะศาสนาวันอาทิตย์ทั่วประเทศเป็นไปอย่างมีเอกภาพ โดยมีสำนักงานกลางเป็นศูนย์ประสาน ควบคุม ดูแลและส่งเสริมการจัดการศึกษา การพัฒนาบุคลากร การกำหนดละพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร การจัดทำคู่มือครูและการผลิตสื่อการเรียนการอสนสำหรับใช้ในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ กรมการศาสนาได้ประกาสตั้งสำนักงานบริหารการศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งประเทศไทย (กำหนดใช้อักษรย่อว่า สพท.) พร้อมทั้งประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารซึ่งมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานกรรมการ ไปในคราวเดียวกันด้วย โดยให้มีหน้าที่ในการพิจารณากำหนดนโยบาย แผนงานและโครงการเกี่ยวกับแนวทางพัฒนาการศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ขึ้นต่อมหาเถรสมาคมและให้มีสำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ สว. ชั้น ๒ ของโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดอนงคาราม เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งประกาศแต่งตั้งพระปริยัติกิจโกศล (ขิม อิสสรธัมโม) ปัจจุบันได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชปัญญามุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอนงคาราม เป็นเลขาธิการสำนักงานบริหารการศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งประเทศไทย พระครูอุดมธรรมวาที (สำราญ อัคควโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เป็นรองเลขาธิการ ฯ และพระมหาบัว ปิยวัณโณ วัดอนงคาราม เป็นเลขานุการสำนักงาน ฯ

โดยนอกจากจะแบ่งส่วนงานเป็นสำนักงานเลขานุการ ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายพัสดุ ยังกำหนดให้มีสำนักงาน ศูนย์กลางระดับหน ทำหน้าที่ประสานงานการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตามเขตการปกครองคณะสงฆ์จำนวน ๔ แห่ง คือ (๑) ศูนย์หนกลาง ตั้งอยู่ที่วัดประยุรวงศาวาส กรุงเทพมหานคร
มีพระครูอุดมธรรมวาที เป็นประธานศูนย์ (๒) ศูนย์หนเหนือ ตั้งอยู่ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่
มีพระธรรมสิทธาจารย์ เป็นประธานศูนย์ (๓) ศูนย์หนตะวันออก ตั้งอยู่ที่วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี
มีพระราชกิตติรังษี เป็นประธานศูนย์ และ (๔) ศูนย์หนใต้ ตั้งอยู่ที่วัดแจ้ง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพระเทพปัญญาสุธี เป็นประธานศูนย์ โดยกรมการศาสนามีหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบสนองงานสำนักงานบริหารการศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ แห่งประเทศไทย ตามควรแก่กรณี

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบกรมการศาสนาว่าด้วยศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในความอุปถัมภ์ของกรมการศาสนาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น กรมการศาสนาจึงวางระเบียบกรมการศาสนา ว่าด้วยศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ พ.ศ. ๒๕๔๗

แหล่งที่มา

กรมการศาสนา. (2557). ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ .ค้นจาก

http://www.dra.go.th/ewtadmin/ewt/dra_learn/main.php?filename=about_us

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC.
Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are
registered trademarks of OCLC
Revised:March 2013


Send comments to wachum49@hotmail.com