|
เล่าเรื่องในไตรภูมิ
293.301
เล่าเรื่องในไตรภูมิ
ผู้แต่ง: เสฐียรโกเศศ
ชื่อเรื่อง: เล่าเรื่องในไตรภูมิ
สรุปเนื้อหา
เรื่องไตรภูมิ เป็นเรื่องที่นับถือกันแพร่หลายมาแต่โบราณ ถึงคิดขึ้นเป็นรูปภาพเขียนไว้ตามฝาผนังวัด และเขียนจำลองลงไว้ในสมุด มีมาแต่ครั้งกรุงเก่ายังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ไตรภูมิแปลว่าแดนสาม ซึ่งแยกเป็น กามภูมิ 1 รูปภูมิ 1 และอรูปภูมิ 1 สัตว์ทั้งหลายเกิดมาย่อมเวียนวนไปมาเกิดใน 3 ภูมินี้
กามภูมิคือแดนที่ข้องอยู่ด้วยกามตัณหา ยังมีความ โลภ โกรธ หลง ดิ้นรนระคนอยู่ด้วยเรื่องอยากๆ เรื่องรักๆ ใคร่ๆ มีสุข มีทุกข์ สัตว์ไปเกิดเป็นสัตว์นรกในแดนนรก ไปเกิดเป็นเปรตในแดนเปรต และไปเกิดเป็นยักษ์มารในแดนอสูรกาย สามแดนนี้เรียกรวมว่าอบายภูมิ คือแดนอันเป็นทุกข์ เดือนร้อนมาก สัตว์ไปเกิดเป็นคนในแดนมนุษย์ และไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ 6 ชั้นแรกของชั้นฟ้า คือชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นชั้นต่ำที่สุด ชั้นนี้เป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ถัดไปถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นที่อยู่ของ พระอินทร์นายเทวดา แล้วถึงชั้นมายา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรมิตวสวัตตี รวมเป็นสวรรค์ชั้นฟ้า 6 ชั้นนี้ รวมกันกับแดนมนุษย์ด้วยก็เป็น 7 แดนด้วยกัน เรียกว่าสุคติภูมิ คือเป็นแดนมีสุข เมื่อรวมเข้ากับอบายภูมิแดนมีทุกข์ 4 แดนด้วยกันก็เป็น 11 แดน
จัดเป็นกามภูมิอันเป็นแดนทะเยอทะยานเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องกามจึงเรียกว่ากามภูมิ
รูปภูมิ คือแดนมีสุขอันไม่มีเรื่องกามเข้าไปปน ผู้ไปเกิดยังแดนนี้เรียกว่า พวกพรหม มีแดนอันเป็นที่อยู่เรียกว่าพรหมโลก รวม 16 ชั้น หรือ 16 ห้องฟ้า
อรูปภูมิ คือแดนของพรหมซึ่งไม่มีรูป มีหมดด้วยกัน 4 แดน ผู้ไปเกิดในแดนทั้ง 4 นี้ เป็นพรหมเหมือนกัน แต่เป็นพรหมไม่มีรูปร่าง มีก็แต่จิต จิตในที่นี้จะหมายความอย่างที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า mind หรือ หมายความว่า soul (วิญญาณ) ก็ทราบไม่ได้ชัด เขาเขียนรูปพรหมซึ่งไม่มีรูปร่างนี้ เป็นรูปดวงไฟลอยอยู่เหนือแท่นภายในวิมาน สัตว์ที่เกิดย่อมไปเกิดในแดนใดแดนหนึ่งแห่งแดนที่กล่าวมาข้างต้น คือ กามภูมิ 11 รูปภูมิ 16 อรูปภูมิ 4 จึงผสมภูมิทั้งหลายนี้ได้ 31 จึงชื่อว่าไตรภูมินั้นแล
ที่มา :
เสฐียรโกเศศ. (2518). เล่าเรื่องในไตรภูมิ .
กรุงเทพฯ : คลังวิทยา.
|
|