นิพพาน

จุดหมายปลายทางของชีวิต

คำนำ

เรื่องพระนิพพาน มิใช่เป็นเรื่องที่พูดให้จบหรือให้เข้าใจกันได้ด้วยคำพูดเพียงสองสามคำ, เพราะฉะนั้นผู้ศึกษาจะต้องอ่านทบทวนไปมา และทำการศึกษาคิดค้น ตีความและเทียบเคียง หยั่งให้ถึงความหมายของศัพท์ และประโยคไปโดยลำดับจริงๆ ไม่อ่านอย่างสะเพร่าลวกๆ หรือข้ามไปทั้งที่ไม่เข้าใจ, จึงจะมีความรู้จักตัวพระนิพพานชัดเจนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับๆ จนกว่าจะลุถึงได้จริงๆ ด้วยการ ปฏิบัติธรรม ทางใจ, ต่อไปนี้เป็นแนวการคิดค้นหาความเข้าใจ หรือคุณค่าของพระนิพพาน เพื่อก่อให้เกิดฉันทะในการบรรลุพระนิพพานแรงกล้ายิ่งขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย.

พระนิพพานไม่ใช่เป็นจิต, ไม่ใช่เป็นเจตสิกหรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต โดยอาศัยจิตนั้น, ไม่ใช่มีรูปร่าง, เป็นก้อน เป็นตัว อันเป็นประเภทรูปธรรม, ไม่ใช่บ้านเมือง ไม่ใช่ดวงดาว หรือดวงโลกในโลกใดโลกหนึ่ง, และยิ่งกว่านั้น พระนิพพานไม่ใช่สิ่งที่มีความเกิดขึ้นมา, ไม่ใช่สิ่งที่มีความดับลงไป, หรือทั้งเกิดและดับสลับกันไปในตัว, ไม่ใช่สิ่งที่มีความดับลงไป, หรือทั้งเกิดและดับสลับกันไปในตัว, แต่พระนิพพานเป็นสภาวะแห่งธรรมชาติชนิดหนึ่ง และเป็นสิ่งเดียวเท่านั้น ที่ไม่ต้องตั้งต้นการมีของตนขึ้นเหมือนสิ่งอื่นๆ แต่ก็มีอยู่ได้ตลอดไป และไม่รู้จักดับสูญ เพราะไม่มีเวลาดับหรือแม้แต่แปรปรวน.

สิ่งทั้งหลายอื่นซึ่งมีอยู่ นอกจากพระนิพพานแล้ว; แรกที่สุด มันต้องมีการเกิดขึ้น มันจึงจะมีอยู่ได้ และต้องดับไปในที่สุด แม้จะช้านานสักเพียงไรก็ตาม และยังต้องแปรไปๆ ในท่ามกลางด้วย, เพราะสิ่งนั้นมันมีการเกิดขึ้น. แม้ที่สุดแต่ดวงอาทิตย์ ซึ่งวิทยาศาสตร์ บอกว่ามีอยู่นานก่อนสิ่งใดในสากลจักรวาล มันจะต้องกลายเป็นไม่มีสักวันหนึ่ง และเราจะไม่ได้เห็นมันในเวลาเช้า และลับหายจากสายตาไปในเวลาเย็น เช่น เดี๋ยวนี้, แม้ ดิน น้ำ ไฟ หรือความร้อน ลม หรืออากาศ ก็เช่นกัน จักต้องถึงสมัยหนึ่ง ซึ่งมันจะไม่มีอยู่, เพราะสิ่งเหล่านี้ มีการเกิดขึ้นมา และเกิดขึ้นได้เป็นขึ้นได้โดยต้องอาศัยสิ่งอื่น.

ส่วนสิ่งที่เรียกว่า พระนิพพาน ไม่เป็นเช่นนั้น; ไม่มีการเกิดขึ้น ทำไมจะต้องมีการอาศัยสิ่งอื่น, เมื่อตัวเองมีของตัวเองได้ มันจึงไม่รู้จักดับ, และจะมีอยู่ตลอดไปโดยไม่มีที่สุดหรือเบื้องต้น และเหตุนี้เอง พระนิพพานจึงไม่ใช่สิ่งที่ใครจะกล่าวได้อย่างมีเหตุผลเลยว่า พระนิพพานนั้นเป็นอดีต, อนาคต หรือเป็นปัจจุบัน ได้เลย, ทั้งนี้เพราะความมีอยู่แห่งพระนิพพานนั้น แปลกกับความมีอยู่ของสิ่งอื่น อย่างสุดที่จะกำหนดมากล่าวได้. พระนิพพานมีอยู่ตลอดกาล อันไม่มีที่สุด, มีเป็นของคู่เคียงกับกาลเวลาอันไม่มีที่สิ้นสุด, แต่หากว่ากาลหรือเวลาจะเป็นสิ่งที่สิ้นสุดลงในวันหนึ่งได้ พระนิพพานก็ยังหาเป็นเช่นนั้นไม่.

พระนิพพาน เป็นสิ่งที่เปิดโอกาสเตรียมพร้อมอยู่เสมอ สำหรับที่จะพบกันเข้ากับดวงจิตของคนเราทุกๆ คน. หากแต่ว่า ดวงจิตของเราตามธรรมดา มีอะไรบางอย่างเข้าเคลือบหุ้มเสียก่อน ไม่เปิดโอกาสให้พบกันได้กับพระนิพพานเท่านั้น, พระนิพพานจึงไม่ปรากฏแก่เราว่ามีอยู่ที่ไหน ทั้งที่พระนิพพานอาจเข้าไปมีได้ในที่ทั่วไป ยิ่งเสียกว่าอากาศ ซึ่งเรากล่าวกันว่ามีทั่วไปเสียอีก. เมื่อเราไม่อาจกำหนด หรือเคยพบกับพระนิพพาน ก็เลยคิดไปว่า พระนิพพานไม่ได้มีอยู่ดังที่ท่านกล่าว เข้าใจว่าเป็นการกล่าวอย่างเล่นสำนวนสนุกๆ ไป. คนตาบอดมาแต่กำเนิดย่อมไม่รู้เรื่องแสงสว่าง หรือสีขาว แดง ทั้งที่มันมีอยู่รอบตัว หรือถึงตัวฉันใด, ผู้บอดด้วยอวิชชาซึ่งห่อหุ้มดวงจิต ก็ไม่รู้เรื่องพระนิพพาน ไม่อาจคาดคะเน พระนิพพานฉันนั้น, จนกว่าเขาจะหายบอด.

เราเกิดโผล่ออกมาจากท้องแม่สู่โลกนี้ บอดเหมือนกันหมดทุกคน จึงไม่อาจรู้เรื่องพระนิพพานได้ตั้งแต่แรกเกิด. ยิ่งผู้ที่มีตาเนื้อ ตาเนื้อก็บอดเสียอีกด้วยแล้ว ไม่อาจรู้จักแสง หรือสี ก็ยิ่งร้ายไปกว่านั้น. บอดตาไม่อาจรักษาได้ แต่บอดใจหรือบอดต่อพระนิพพานนั้นรักษาได้. ผู้ที่ตาบอด แต่ถ้าเขาหายบอดใจ เขาก็ประเสริฐกว่าผู้ที่แม้ไม่บอดตา แต่บอดใจ. นี่เราจะเห็นได้ชัดๆ ว่าแสงแห่งพระนิพพานส่องเข้าไปถึงได้ในที่ที่แสงสว่างในโลกส่องเข้าไปไม่ถึง. ดวงจิตของคนตาบอดอาจพบกับพระนิพพานได้ไม่ยากไปกว่าของคนตาดีๆ. แต่ว่าทุกๆ คนที่ตาของเขายังเห็นแสงและสีได้ ก็ไม่ยอมเชื่อหรือสำนึกว่า ตาของตนบอด, ตาข้างนอกของเขาแย่งเวลาทำงานเสียหมด ตาข้างในจึงไม่มีโอกาสทำงาน แม้ที่สุดแต่จะรู้สึกว่าตาข้างในของฉันยังบอดอยู่ก็ทั้งยาก, และยิ่งขึ้นไปกว่านั้น อาจไม่รู้สึกด้วยซ้ำไปว่ามีตาข้างในอยู่อีกดวงหนึ่ง ซึ่งเป็นดวงสำคัญที่สุดด้วย.

เมื่อเขาแก้ปัญหาชีวิตอันยุ่งเหยิง ซึ่งเป็นวิสัยส่วนของตานอกได้หมดจนสิ้นเชิง เขาก็ยังต้องพบกับความยุ่งยากอยู่อีก และเขาไม่ทราบว่า นั่นมันเป็นวิสัยส่วนของตาใน, ก็แก้ไขมันไม่ได้, ทำให้ว้าวุ่นไป โทษนั่น โทษนี่ เดาอย่างนั้น เดาอย่างนี้ ก็ไม่อาจพบกับความสุขอันแท้จริงเข้าได้เลย. นี่ ! จะเห็นได้แล้วว่า เพราะแก้มันไม่ถูก คือไม่ได้ใช้ตาในแก้, ที่ไม่ใช้เพราะตาในยังบอด, ที่ยังบอดเพราะยังไม่ได้รักษา. ที่ยังไม่ได้รักษา ก็เพราะตนยังไม่รู้เลยว่า ตาในมีอีกดวงหนึ่ง, เป็นตาสำหรับพระนิพพาน คือความสุขอันเยือกเย็นแท้จริงของชีวิต. 

ใจของเราบอดเพราะอวิชชา คือความโง่หลงยิ่งกว่าโง่หลงของเราเอง นั่นเอง. เปรียบเหมือนเปลือกฟองไข่ที่หุ้มตัวลูกไก่ในไข่ไว้, เหมือนกะลามะพร้าวที่ครอบสัตว์ตัวน้อยๆ ซึ่งเกิดภายใต้กะลานั้นไว้, ฯลฯ, เหมือนเปลือกแข็งของเมล็ดพืช ซึ่งหุ้มเยื่อสารในสำหรับงอกของเมล็ดไว้, แม้แสงสว่างมีอยู่ทั่วไป มันก็ไม่อาจส่องเข้าไปถึงสิ่งนั้น, จิตที่ถูกอวิชชาเป็นฝ้าห่อหุ้ม ก็ไม่อาจสัมผัสกับพระนิพพานอันมีแทรกอยู่อย่างละเอียดยิ่งกว่าละเอียดในที่ทั่วไป  ตลอดถึงที่ที่แสงอาทิตย์ส่องลงไปไม่ถึง ฉันใดก็ฉันนั้น.

เมื่อใดเปลือกฟองไข่ กะลามะพร้าว เปลือกแข็งนั้นๆ ได้ถูกเพิกออก หรือทำลายลง. แสงสว่างก็เข้าถึงทั้งที่ไม่ต้องมีใครขอร้อง อ้อนวอน หรือขู่เข็ญบังคับมันเลย, นี่ฉันใด. เมื่อฝ้าของใจกล่าวคือ อวิชชา อุปาทาน ตัณหา อันเป็นฝ้าทั้งหนาและบาง ทั้งชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นใน ถูกลอกออกแล้วด้วย "การปฏิบัติธรรม" แสงและรสแห่งพระนิพพานก็เข้าสัมผัสกันได้กับจิตนั่น เมื่อนั้น ฉะนั้น. เราจึงเห็นได้ชัดเจน, เห็นได้อย่างแจ่มแจ้งทันทีว่า พระนิพพานไม่ใช่จิต, ไม่ใช่เจตสิกอันเกิดอยู่กับจิต, ไม่ใช่รูปธรรม, ไม่ใช่โลกบ้านเมือง, ไม่ใช่ดวงดาว. ไม่ใช่อยู่ในเรา, ไม่ใช่เกิดจากเรา, ไม่ใช่อะไรปรุงขึ้น ทำขึ้น. มันเป็นเพียงสิ่งที่เข้าสัมผัสดวงใจเรา ในเมื่อเราได้ดำเนินการปฏิบัติธรรม ถึงที่สุด เป็นการเปิดโอกาสให้แก่พระนิพพานได้เท่านั้น.

 

 
อาหารของดวงใจ นิพพาน จุดหมายปลายทางของชีวิต (ต่อ)

 

คัดจาก หนังสือ ชุมนุมเรื่องสั้น พุทธทาสภิกขุ  พิมพ์ ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๘ โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ