อารมณ์ (Emotion)
- Tab 1
- Tab 2
- Tab 3
ธรรมชาติของอารมณ์
ในแต่ละวันบุคคลจะมีอารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย อาจจะเป็นความพึงพอใจ ความโกรธ ความร่าเริง ความเจ็บปวด ความผิดหวัง เพราะตลอดเวลาที่บุคคล อยู่ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง บุคคลจะอยู่ภายใต้สิ่งเร้า (stimulus) และประสบการณ์ (experience) ที่เขามีอยู่ทำให้อารมณ์แปรเปลี่ยนไปมา ซึ่งอารมณ์ในลักษณะดังกล่าวนี้จะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ของบุคคล ดังจะเห็นได้จากกรณีที่คุณพ่อคนหนึ่งกำลังคอยลูกสาวอายุ ๑๕ ปี กลับบ้าน เนื่องจาก ไปงานที่สโมสร ระหว่างนั่งคอยจะเกิดความเป็นห่วง ความกลัวเกิดอันตราย พอได้ยินเสียงโทรศัพท์จึงรีบไปรับ เสียงลูกสาวบอกว่า ประมาณ ๒๐.๐๐ น. จะกลับมาถึงบ้าน พ่อจะรู้สึกสบายใจคลายความห่วงใย แต่เวลาเกือบ ๒๔.๐๐ น. แล้วลูกสาวก็ยังไม่กลับ พ่อรู้สึกหงุดหงิด โกรธ พอได้ยินเสียงกริ่งดัง จึงรีบไปเปิดประตู เห็นลูกสาวกลับมาอารมณ์จะเปลี่ยนไปเป็นดีใจ ความกลัวว่า จะเกิดอันตรายได้หายไป แต่อาจยังโกรธอยู่เพราะกลับดึกมากเกินไป และอาจนอนคิดโกรธตลอดคืนก็ได้
อารมณ์เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นภายใน เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้
และเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ ที่จะนำไปสู่พฤติกรรมนั้น
อารมณ์และแรงจูงใจจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ
แรกเริ่มที่มีอารมณ์เกิดขึ้น พฤติกรรมการจูงใจก็จะเกิดตาม ตัวอย่างเช่น
เกิดความรู้สึกรักและพึงพอใจจะทำให้เกิดพฤติกรรมทางเพศตามมา ซึ่งอาจเป็นการอยากไปพบหน้าคนที่รัก อยากอยู่ใกล้ อยากพูดคุยด้วย
หรืออีกกรณี ขณะที่บุคคลมีความรู้สึกโกรธ พฤติกรรมทางการก้าวร้าว ก็จะตามมา
อย่างไรก็ตามการเชื่อมโยงกันดังที่กล่าวคงไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
เพราะพฤติกรรมทางเพศ สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีอารมณ์
และความก้าวร้าวก็จะเกิดขึ้นได้โดยไม่มีความโกรธ ในทางกลับกันความรักอาจ
เกิดขึ้นได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับ
พฤติกรรมทางเพศ และความโกรธก็เกิดขึ้นได้โดยไม่มีความก้าวร้าว หรือบางครั้ง
ก็มีอยู่บ่อย ๆ ที่อารมณ์และแรงจูงใจไม่เชื่อมไปด้วยกัน
โดยภาพรวมกล่าวได้ว่า
อารมณ์และแรงจูงใจเป็นกระบวนการทางจิตวิทยาอย่างเด่นชัด
สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นอิสระของกันและกัน แต่มีโอกาส
ที่จะมาเชื่อมโยงกันได้อย่างใกล้ชิดเสมอ อารมณ์สามารถที่จะกระทำสิ่งต่าง ๆ
เหมือนเป็นผู้ที่จูงใจ สามารถที่จะกระตุ้น
เมื่อพฤติกรรมการจูงใจมีอุปสรรค
อารมณ์ คืออะไร
อารมณ์ มาจากภาษาอังกฤษ "Emotion" มีความหมายว่าการเกิดการเคลื่อนไหว
หรือภาวะที่ตื่นเต้น มันเป็นการยากที่จะบอกว่า อารมณ์คืออะไร
แต่มีแนวคิดหนึ่ง
ที่ให้ความเข้าใจได้ง่ายกล่าวไว้ว่า อารมณ์เป็นความรู้สึกภายในที่เร้า
ให้บุคคลกระทำ หรือเปลี่ยนแปลงภายในตัว ของเขาเอง ซึ่งความรู้สึก
เหล่านี้จะเป็นความรู้สึกที่พึงพอใจ ไม่พึงพอใจ หรือรวมกันทั้งสองกรณี
อารมณ์เป็นสิ่งที่ไม่คงที่มีการแปรเปลี่ยน อยู่ตลอดเวลา
ดังจะเห็นได้จากกรณีที่พ่อกำลังคอยลูกสาวอายุ ๑๕ ปี ที่กล่าวข้างต้น
จากความหมายและธรรมชาติของอารมณ์
ทำให้นักจิตวิทยาทั้งหลายมีความเห็นว่าองค์ประกอบของอารมณ์จะแบ่งออกเป็น ๓ อย่าง
(Baron, ๑๙๘๙ : ๓๐๔) ดังนี้
๑.สภาวะการรู้คิด
(cognitive states)เป็นความรู้สึกของผู้ที่กระทำหรือประสบการณ์ต่าง ๆ
ของบุคคล อย่างเช่น เราเคยรู้สึกโกรธ ร่าเริง สะอิดสะเอียน เป็นต้น
๒. ปฏิกิริยาทางสรีระ (physiological
reactions) เป็นการเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายของเรา เช่น
หัวใจเต้นเร็วขึ้นเมื่อรู้สึกตื่นเต้นหรือตกใจ
๓. การแสดงออกของพฤติกรรม (expressive
bahaviors) เป็นสัญญาณการแสดงออกของสภาวะภายใน เช่น
เกิดความพอใจก็จะแสดงการยิ้ม หรือเมื่อโกรธก็อาจกล่าววาจาต่อว่าออกมา
หรือแสดงการกระทืบเท้า, ตบตี
องค์ประกอบทั้งสามอารมณ์ : สภาวะการรู้คิด ปฏิกิริยาทางสรีระ และการแสดงออกพฤติกรรม
การจำแนกอารมณ์
อารมณ์มีอยู่มากมายหลายชนิดซึ่งเราอาจเรียกมันว่าอะไรก็ตาม แต่ว่าอารมณ์เหล่านั้น ก็มีความเด่นชัดและเป็นอิสระ นักจิตวิทยาได้จำแนก อารมณ์ โดยคำนึง สิ่งเร้าที่มาเป็นตัวกระตุ้น และรูปแบบการตอบสนองพฤติกรรมที่มีต่อสิ่งเร้านั้น และส่วนมากมีความเชื่อว่า บุคคลมีอารมณ์พื้นฐานอยู่ ๓ ชนิด คือ ความโกรธ (anger) ความกลัว (fear) และความพึงพอใจ (pleasure) (Carlson, ๑๙๙๓ : ๔๐๐) ส่วนอารมณ์ อื่นๆ เป็นผลที่เกิดจากอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือมากกว่าของ อารมณ์ทั้งสามนี้ ตัวอย่างเช่น
รังเกียจ เดือดดาล เครียดแค้น เป็นรูปแบบของอารมณ์โกรธ
การอิจฉาและความรู้สึกผิดจะอยู่บนพื้นฐานของความกลัว
ความรักและความสุขจะมีพื้นฐานมาจากความรู้สึกพึงพอใจ
ความโศกเศร้าเป็นเสมือนการรวมกันของอารมณ์กลัวและอารมณ์โกรธ
ทุกคนเคยมีอารมณ์โกรธ กลัว และพึงพอใจมาแล้ว แต่ทั้งอารมณ์โกรธ กลัว
และพึงพอใจ
เกิดมาจากสาเหตุที่แยกออกได้แตกต่างกันซึ่งมีความเป็นไปได้ที่เราจะจัดการหรือควบคุมมัน
ความโกรธ (anger)
เป็นอารมณ์ที่ไม่พึงพอใจอย่างแท้จริง มักเกิดขึ้นเนื่องจากถูกขัดขวางไม่ให้ทำกิจกรรมที่ตนต้องการ
ในบุคคลแต่ละวัย
ความโกรธจะแตกต่างกันไป ในวัยเด็ก เรื่องที่ทำให้โกรธมักจะเป็นกิจกรรมที่เด็กกำลังทำอยู่ หรือการอยากรู้อยากเห็น
และการแสดงออก ซึ่งความโกรธ ก็จะแสดงออกในรูปของการก้าวร้าวทางกาย หน้าตาบูดบึ้ง
ทุบตีสิ่งของ ต่อยตี ถ้าเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ความโกรธจะเป็น เรื่องทางสังคมมากขึ้น
และการแสดงอารมณ์โกรธจะออกมาในรูปวาจา พูดติติง นินทา พูดจาเสียดสี จะมีวัยรุ่นบางกลุ่มบางพวก
ยังชอบใช้การก้าวร้าวทางกาย
อีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากได้เรียนรู้หรือได้รับการปลูกฝังในสังคมที่เขาเป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม ความโกรธนับว่าเป็นอารมณ์ที่สำคัญยิ่ง
เพราะมีพลังที่เชื่องโยงกับพฤติกรรมการจูงใจเป็นอย่างมาก ซึ่งเราจะพบได้เสมอ
ในทุกสังคม เมื่อบุคคลมีความโกรธพฤติกรรมการจูงใจ
ที่เกิดตามมาก็คือไม่อยากทำกิจกรรมต่าง ๆ
ความกลัว (fear)
เป็นอารมณ์ที่แสดงออกถึงความรู้สึกว่าเป็นอันตราย ซึ่งจะมีอยู่มากมายทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น
เด็กเล็ก ๆ จะกลัวเสียงดัง
กลัวสิ่งแปลกประหลาด ถึงแม้จะเป็นเด็กโตก็ยังกลัว นอกจากนี้ยังกลัวความมืด กลัวคำขู่
กลัวถูกทอดทิ้งตามลำพัง ในเด็ก ตอนปลายเด็ก
จะกลัวคำเยาะเย้ยจากเพื่อน กลัวตัวเองจะไม่เท่าเทียมกับเพื่อน
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ จะเกิดความกลัวในทางสังคมมากขึ้น
กลัวความผิดหวัง กลัวในความมีบทบาททางเพศ กลัวจะไม่ได้รับการยอมรับ
พอเป็นผู้ใหญ่สูงอายุก็จะกลัว
ในเรื่องสังขารร่างกาย ตลอดจนความสำเร็จในการงาน
ความพึงพอใจ (pleasure) เป็นอารมณ์ของความรู้สึกที่มีความสุขที่ร่าเริงอย่างมาก เป็นความสำเร็จหรือความสุขสดชื่นเกิดขึ้น เมื่อบุคคลได้รับผลการตอบสนองตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางด้านร่างกายและด้านจิตใจ
การควบคุมอารมณ์
การควบคุมอารมณ์เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ที่จะประสบความสุขหรือความสำเร็จในชีวิต เพราะถ้าไม่รู้จักควบคุมอารมณ์แล้ว เมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น ก็จะไม่สามารถปรับตนให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ ได้ บางคนอาจจะควบคุมอารมณ์ของตนเองด้วยการสกัดกั้นไว้ไม่แสดงออก วิธีนี้อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ การควบคุมอารมณ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต
บุคคลใดรู้จักควบคุมอารมณ์จะก่อให้เกิดผลดีดังนี้
๑. ทำให้เป็นคนมีบุคลิกภาพดี สามารถแสดงออกทางพฤติกรรมได้เหมาะสม
๒. ทำให้เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี
การแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะจะช่วยสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เหมาะสม
๓. ทำให้เป็นผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี
ผู้บริหารที่รู้จักวิธีการควบคุมอารมณ์จะช่วยให้การบริหารงานเป็นไปด้วยความราบรื่น
งานมีประสิทธิภาพ
๔. ทำให้เป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์
เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ให้เหมาะสมกับวัย
๕. ทำให้เป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดี
ผู้ที่รู้จักวิธีการควบคุมอารมณ์จะรู้จักหาวิธีการระบายออกของอารมณ์ได้เหมาะสม เช่น
การอ่านหนังสือ การเล่นกีฬา การฟังเพลง ฯลฯ
วิธีการควบคุมอารมณ์ที่สำคัญ
๑. ฝึกการควบคุมตั้งแต่ในวัยเด็ก การฝึกให้เด็กรู้จักความมีเหตุมีผล
จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาต่อไปเมื่อเป็นผู้ใหญ่
๒.
ฝึกการมีสติให้รู้เท่าทันอยู่เสมอ การมีสติจะช่วยทำให้เกิดปัญญาในการค้นหาสาเหตุและการแก้ไขปัญหา
๓. การสร้างวินัยในการควบคุมอารมณ์ให้เกิดความเคยชิน เพื่อไม่ให้อารมณ์ที่มากระทบมีอิทธิพลเหนือตัวเรา อาจจะหาทางออกเพื่อผ่อนคลายอารมณ์
เช่น การเล่นกีฬา การหางานอดิเรกทำ ฯลฯ ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อสุขภาพจิต
๔. อย่ากังวลกับสิ่งที่ทำผิดพลาดไปแล้ว พยายามคิดถึงสถานการณ์ปัจจุบัน
รู้จักเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของตนไปตามสถานการณ์ จะทำให้สุขภาพจิตของตนดีขึ้น
๕. ฝึกการแสดงออกของอารมณ์ให้เหมาะสมกับสิ่งเร้า
ซึ่งเราจะต้องคิดไตร่ตรองให้รอบครอบ มีเหตุผลต่อสิ่งที่มาเร้าอารมณ์
๖. สำรวจประสบการณ์การแสดงออกของอารมณ์ตนเองว่ามีผลดี ผลเสียอย่างไร
แล้วนำผลมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
สรุป
๑. การจูงใจเป็นกระบวนการที่กระตุ้นและผลักดันให้บุคคลแสดงพฤติกรรมต่าง
ๆ การจูงใจจึงเป็นกระบวนการสำคัญ
ที่มีอิทธิพลต่อการแสดงออกและการดำเนินชีวิตของบุคคล
๒.
กระบวนการของการจูงใจประกอบด้วย
ความต้องการ (need) แรงขับ (drive) การตอบสนอง (response) เป้าหมาย (goal)
ซึ่งกระบวนการนี้จะเริ่มจากการที่บุคคลถูกเร้าให้เกิด ความต้องการ อันเป็นตัวผลักดัน
ให้เกิด แรงขับ ที่จะแสดง การตอบสนอง ออกมาเป็นพฤติกรรมไปสู่
เป้าหมาย ที่กำหนดไว้
๓. ความต้องการของบุคคลซี่งเป็นองค์ประกอบเบื้องต้นของกระบวนการจูงใจนี้สามารถที่จะเร้าให้เกิดขึ้นได้
โดยการสร้างสิ่งเร้ามาเป็นเครื่องล่อ ( incentive
) ให้คนเราเกิดความต้องการที่จะแสดงพฤติกรรมไปตามเครื่องล่อที่นำมาเร้านั้น
๔. การจูงใจมีหลายประเภท โดยสามารถจัดแบ่งได้หลายลักษณะ ได้แก่
แบ่งประเภทตามความต้องการ แบ่งประเภทตามสิ่งเร้า และแบ่งประเภทตามแรงขับ กล่าวคือ
แบ่งประเภทตามความต้องการ จะแบ่งเป็น
ตามความต้องการทางร่างกายความต้องการทางสังคม และความต้องการทางจิตใจ
แบ่งประเภทตามสิ่งเร้า จะแบ่งเป็น การจูงใจจากสิ่งเร้าภายใน และการจูงใจจาก สิ่งเร้าภายนอก
แบ่งประเภทตามแรงขับ จะแบ่งเป็น
การจูงใจอันเนื่องมาจากแรงขับภายใน ร่างกาย และการจูงใจอันเนื่องมาจากแรงขับภายนอกร่างกาย
๕. การจูงใจพื้นฐานของมนุษย์ได้แก่ การจูงใจอันเนื่องมาจากความหิวความกระหาย
การจูงใจอันเนื่องมาจากความต้องการทางเพศ
และการจูงใจอันเนื่องมาจากที่จะหลีกหนีความเจ็บปวด
ซึ่งการจูงใจพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ โดยจะเป็นกระบวนการที่
ทำให้ร่างกายของมนุษย์มีการปรับตัวให้ร่างกายเกิด สภาวะความสมดุลย์ (Homeostasis)
ทั้งนี้สภาวะความสมดุลย์ จะสร้างให้บุคคล สามารถดำรงชีวิต
ให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมได้อย่างปกติสุขตามความปรารถนาของคนนั้น ๆ
๖. กระบวนการ ทฤษฎีต่าง
ๆ และผลงานวิจัย ที่เกี่ยวกับการจูงใจ ได้รับการนำไปประยุกต์ใช้
เพื่อกระตุ้นพฤติกรรม ของบุคคลในสถานการณ์ต่าง ๆ
๗. อารมณ์เป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากความรู้สึกภายใน เป็นการจูงใจที่เร้าให้บุคคลแสดงพฤติกรรมออกมา
อารมณ์กับการจูงใจ จึงมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน อย่างใกล้ชิด
อารมณ์เป็นสิ่งไม่คงที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
๘. องค์ประกอบของอารมณ์มี ๓ ประการ ได้แก่
สภาวะความรู้สึก เป็นสิ่งเร้าภายในของผู้กระทำ หรือประสบการณ์ต่าง
ๆ ที่ได้เก็บสะสมไว้ในจิตใจของบุคคล
ปฎิกิริยาทางสรีระ เป็นการเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีระภายในร่างกายของบุคคล
การแสดงออกทางพฤติกรรมเป็นการแสดงผลให้ปรากฏออกมาทางร่างกาย
๙. อารมณ์พื้นฐานของมนุษย์สามารถจำแนกได้ ๓ ลักษณะ ได้แก่
ความโกรธ เป็นอารมณ์ที่แสดงออกถึงความรู้สึกไม่พึงพอใจเนื่องจากถูก
ขัดขวางความต้องการ
ความกลัว
เป็นอารมณ์ที่แสดงออกถึงความรู้สึกว่าเป็นอันตราย
ความพึงพอใจ
เป็นอารมณ์ที่แสดงออกถึงความรู้สึกที่มีความสุขเมื่อได้รับการตอบสนอง
๑๐.
อารมณ์จะพัฒนาตามระดับวุฒิภาวะ ลักษณะการแสดงออกทางอารมณ์มี ๒ ลักษณะ ได้แก่
การแสดงออกทางใบหน้า และ การแสดงออกทางความ ก้าวร้าวและความรุนแรง
การแสดงออกทางใบหน้าที่เราสามารถ จะตัดสินหรือคาดเดาถึงอารมณ์ได้อย่าง คร่าว
ๆ มี ๓ มิติ คือ พอใจ – ไม่พอใจ, ยอมรับ – ปฏิเสธ
และการเคลื่อนไหวทางร่างกาย
การแสดงออกทางความก้าวร้าวและความรุนแรง
เป็นการแสดงอารมณ์ที่เมื่อบุคคลถูกขัดขวางการตอบสนองทางอารมณ์
๑๑.
การรู้จักควบคุมอารมณ์ให้ตอบสนองได้อย่างเหมาะสมเป็นสิ่งที่ฝึกได้
และมีความจำเป็นต้องฝึกฝน เพื่อการดำเนินชีวิตและสุขภาพจิตที่ดี