คำถามเรื่องการเกิดมาของคนเรานี้มีการตั้งประเด็นคำถามไว้หลายแง่มุมเพราะคนเรามีปัญหาตั้งแต่เกิดแล้วก็ดำเนินเรื่อยไปจนกระทั่งจนตายก็ยังมีปัญหาอยู่ว่าคนเราเกิดมาจากไหน เกิดมาทำไม และตายแล้วจะไปไหน เพื่อไขข้องใจในเรื่องของการเกิดมาของคนเราจึงขอนำปัญหาเรื่องการเกิดมาของคนเรามาแถลงไขตามแบบฉบับของพระอริยสงฆ์ ซึ่งผู้ที่ให้ความเมตตาตอบปัญหาข้อนี้ ได้แก่ พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวัณโณ)
คนธรรมดาถาม “ถ้าคนเราตายแล้วเกิดจริง เมื่อตายไปเท่าใดก็ควรเกิดเท่านั้น แต่ทำไม ในปัจจุบันจึงเกิดมากกว่าแต่ก่อนมาก แล้วดวงวิญญาณมาจากไหน?”
พระอริยสงฆ์ตอบ
“ตามหลักพระพุทธศาสนา ถือว่า วิญญาณมีมาก และมีมากอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังพระบาลีว่า อนนฺตํ วิญฺญาณํ- วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด วิญญาณดวงหนึ่งก็คือชีวิตหนึ่ง วิญญาณนี้ก็คือจิตนั่นเองและจิตนี้เป็นตัวไปเกิดในภพภูมิต่างๆ ตามพลังแห่งกรรมดีและกรรมชั่วที่ผู้นั้นทำไว้
จิตหรือวิญญาณนี้ หรือจะเรียกว่าชีวิตก็ได้ ไม่ใช่มีอยู่ในโลกมนุษย์เท่านั้นแต่ยังมีอยู่ในโลกหรือในภพภูมิอื่นๆ อีกเป็นจำนวนนับไม่ถ้วนวิญญาณเหล่านี้มีการถ่ายเท เคลื่อนย้ายจากโลกหนึ่งไปยังอีกโลกหนึ่ง หรือจากภูมิหนึ่งไปยังอีกภูมิหนึ่ง ตามพลังแห่งกรรมของสัตว์โลกนั้นๆ
ฉะนั้น วิญญาณจากโลกนี้จึงไปเกิดในโลกอื่นได้ และในทำนองเดียวกัน วิญญาณหรือชีวะจากโลกอื่นก็มาเกิดในโลกนี้ได้เช่นกันแม้วิญญาณในโลกนี้ ก็มีการถ่ายเทเคลื่อนย้ายอยู่มาก และมีอยู่ตลอดทุกวินาทีก็ว่าได้ เช่นคนตายไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือสัตว์เดรัจฉานตายไปเกิดเป็นคน และสัตว์เดรัจฉานในโลกมนุษย์ก็มีมากหลายแสนชนิด
แม้แต่ปลา แมลง และมด ก็มีมากชนิดจนแทบนับไม่ถ้วน สัตว์เหล่านี้เมื่อตายแล้ว บางตัวก็มาเกิดเป็นคน ไม่ต้องดูอื่นไกล ในวันหนึ่งๆ มีปลาที่ขึ้นสู่ท่าเรือในเมืองท่าใหญ่ๆ ของโลก แต่ละวันก็นับเป็นแสนๆ ตันแล้ว วิญญาณของปลาเหล่านี้ ก็มีโอกาสที่จะเกิดเป็นมนุษย์ได้ ฉะนั้นมนุษย์จึงอาจเพิ่มขึ้นอีกเท่าไรก็ได้ หากมีตัวกรรมที่ดลบันดาลให้เขามาเกิดได้ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงวิญญาณที่มาจากโลกอื่น แม้แต่วิญญาณที่มีอยู่ในโลกนี้ก็นับไม่ถ้วนเสียแล้ว”
คนธรรมดาถาม “แล้วคนที่ตายแล้วจะต้องมาเกิดเป็นคนตลอดไป หรือว่าไปเกิดเป็นสัตว์โลกอย่างอื่นก็ได้ใช่หรือเปล่า”
พระอริยสงฆ์ตอบ
“คนที่ตายแล้ว ถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็ต้องเกิดอีกตามกรรมที่เขาทำไว้ และสามารถไปเกิดในภพภูมิต่างๆ ได้ทั้ง 31 ภูมิ หาใช่เกิดเป็นคนตามเดิมอย่างเดียวไม่”
คนธรรมดาถาม “คนที่เกิดเป็นหญิงหรือชาย จะเกิดเป็นหญิงหรือชายทุกชาติหรือไม่ ถ้าหญิงอยากเกิดเป็นชาย หรือชายอยากเกิดเป็นหญิงจะทำได้หรือไม่”
พระอริยสงฆ์ตอบ
“ตามหลักพระพุทธศาสนา ผู้ชายอาจเกิดเป็นหญิงหรือหญิงอาจเกิดเป็นชายได้ ข้อนี้ขึ้นอยู่กับกฎแห่งกรรมและความปรารถนาของแต่ละคน ถ้าหญิงต้องการเกิดเป็นชายก็ทำบุญเพิ่มเข้าไว้ แล้วอธิษฐานขอเกิดเป็นชาย ก็สามารถเกิดเป็นชายได้ในชาติต่อไป หรือชายต้องการเกิดเป็นหญิง ก็ทำบุญเข้าไว้ แล้วอธิษฐานขอเกิดเป็นหญิงก็สามารถเกิดเป็นหญิงได้เช่นกัน หรือชายบางคนที่ประพฤติผิดในกามก็อาจเกิดเป็นหญิงได้ในชาติต่อไป
เช่นพระอานนทเถระปรากฏว่าท่านเคยเกิดเป็นหญิงติดต่อกันนานถึงห้าร้อย ชาติเพราะประพฤติผิดในกาม แต่ก็มีสามีภรรยาบางคู่ หรือจำนวนไม่น้อย ทำบุญแล้วตั้งความปรารถนาให้เกิดมาเป็นคู่ครองกันทุกภพทุกชาติ ถ้าความปรารถนาของเขาสมประสงค์ สามีก็ต้องเกิดเป็นชายฝ่ายภรรยาก็ต้องเกิดเป็นหญิงอย่างแน่นอน”
คนธรรมดาถาม “ทำไมจึงมีคำกล่าวที่ว่า “การเกิดเป็นมนุษย์เป็นของยาก” ในเมื่อคนเราก็เกิดกันทุกๆวินาทีเข็มวินาทีขยับหนึ่งครั้งก็เกิดขึ้นมาอีกหนึ่งคนแล้ว?”
ตอบโดย พระอาจารย์ สิงห์ทอง ธัมมะวะโร แห่งวัดป่าแก้ว จ.สกลนคร ได้ให้ความเมตตาตอบคำถามนี้ว่า
พระอริยสงฆ์ตอบ
“การเกิดเป็นมนุษย์นี้ยากแสนยากลำบากเหลือเกินกว่าจะเกิดได้ เพราะภพชาติอื่นๆ มันมีมาก สัตว์เขาเกิดเขาตายเหมือนกันกับเราแต่เขาไม่ประเสริฐก็เพราะเขาไม่ได้คิดในทางดีของเขา เพราะการเกิดเป็นมนุษย์ มันเกิดยากลำบากแสนเข็ญกว่าจะเกิดได้ เมื่อเกิดมาแล้วก็อย่าให้ชีวิตของตัวมันหมดไปเปล่า รีบกระทำบำเพ็ญคุณงามความดีเอาไว้ส่วนใดที่ควรจะทำรีบกระทำเอา
ถ้าเราทุกคนชำระสะสางจิตใจของตนสังวรระวังไม่ให้ชั่วต่างๆ เข้ามาครอบงำจิตใจ จิตใจสว่างไสว จิตใจเย็นสงบ ผู้นั้นอยู่ในโลกอันนี้ก็มีความสุข ความสบายตามอัตภาพของเขา เมื่อจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า เมื่อกิเลสตัณหายังไม่หมดเขาเหล่านั้นก็จะไม่ได้เสียใจ ได้สมหวังในการไปของเขา
ส่วนคนที่ชำระสะสางกิเลสตัณหาหลุดล่วงออกไปจากใจ มีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง อยู่ทุกกาล ทุกสมัย พร้อมที่จะไปจะอยู่ ถ้าพูดถึงจะไปใจของท่านบริสุทธิ์ประเสริฐอย่างนั้น, ท่านไม่มีอะไรที่จะเสียจิตเสียใจ ไม่มีอะไรที่จะตำหนิติตนว่า เกิดมาเป็นคน ไม่ได้สะสมอะไรท่านจนถึงที่สุด จนจิตเป็นวิมุตติแล้ว ท่านสะดวกสบายในการตายการอยู่ของท่าน ฉะนั้นพวกเราท่าน ทุกคนมีสิทธิ ที่จะประพฤติ ปฏิบัติได้ รีบเร่งขวนขวาย กระทำบำเพ็ญ ให้เห็น ให้รู้ ให้เย็น ให้สงบ อย่าไปอ้างกาล อ้างเวลา”
คนธรรมดาถาม “คนเราเกิดมาเพื่อใช้กรรมจริงหรือเปล่า?”
ตอบโดย พระอาจารย์ มิตซูโอะ คเวสโก แห่งวัดป่าสุนันทวนาราม บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
พระอริยสงฆ์ตอบ
“ตามธรรมดาความปรารถนาของมนุษย์ทุกคนอยากเกิดมาสบาย สุขภาพสมบูรณ์ สติปัญญาดี ฐานะดี ครอบครัวอบอุ่น แต่ตามความเป็นจริงแล้วก็เป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีใครสมบูรณ์พร้อมทุกด้าน บางครั้งเมื่อเราประสบปัญหามีประสบการณ์ทุกข์ เรามักน้อยใจ ท้อใจ บางคนก็สรุปเอาว่าชีวิตนี้เกิดมาเพื่อ “ชดใช้กรรม”
อาจารย์รู้สึกว่า ข้อสรุปนี้เป็นการเข้าใจกฎแห่งกรรมในแง่ลบ ถ้าเราลองพิจารณาด้วยปัญญาแล้วก็ไม่ใช่ จริงๆ แล้วการเกิดมานั้นเป็นกรรมเก่าก็จริงอยู่ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือกรรมเก่า แต่พระองค์ก็สอนด้วยว่า เราเกิดมาเพื่อ “ศึกษาไตรสิกขา” ศึกษาเพื่ออะไร เพื่อที่จะพัฒนาชีวิตจิตใจและสติปัญญาอันจะนำไปสู่ความรู้แจ้ง เพื่อความดับแห่งทุกข์ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดที่มนุษย์ทุกคนสามารถจะบรรลุได้
หากเราลองพิจารณากฎแห่งกรรมด้วยปัญญาชอบแล้วล่ะก็ เราจะเข้าใจว่ากรรมปัจจุบันสำคัญที่สุด เราต้องยอมรับความจริงว่า อดีตผ่านไปแล้วเราไม่อาจแก้ไขอะไรได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึงแต่ปัจจุบันเราสามารถจะเลือกได้ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไร
อาจารย์ขอยกตัวอย่างเรื่องการเกิดมาของคน ๆหนึ่ง เมื่อหลายปีก่อน อาจารย์ได้อ่านเรื่องราวของชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งผ่านงานเขียนของเขาที่ชื่อ “No One’s Perfect” เมื่อแปลเป็นภาษาไทยเขาก็ใช้ชื่อตามต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นว่า “ไม่ครบห้า”
“ไม่ครบห้า” นี่เป็นชีวิตของชายญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ชื่อ ฮิโรทาดะ โอโตตาเกะ เขาเกิดที่โตเกียวไม่มีแขนมีขาเลยตั้งแต่เกิดมา แต่ก็น่าแปลกที่เขามองความพิการของตัวเองว่านั่นคือ “ลักษณะพิเศษทางกาย”ไม่ไปจาก คนอ้วน คนผอม คนสูง คนเตี้ย คนตัวดำ หรือตัวขาว ความพิการของเขาเป็นเพียงความไม่สะดวก แต่ไม่ใช่ “ความไม่สบาย”
โอโตตาเกะไม่ได้มองว่าการไม่มีแขนขาตั้งแต่เกิดมานั้นไม่ใช่ปมด้อยไม่ได้เกิดมาเพื่อใช้กรรม แต่เขามองว่าสิ่งนี้เป็นจุดแข็งที่ไม่มีใครเหมือน เขาไม่เคยโทษโชคชะตาฟ้าลิขิตที่สร้างเขามาให้มีรูปร่างไม่สมประกอบ ไม่เคยคิดฆ่าตัวตายแต่กลับภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนเป็น ทุกวันนี้คุณ โอโตตาเกะ ก็กำลังใช้ร่างกายเล็ก ๆของเขาช่วยเหลือให้กำลังใจแก่คนพิการ ด้วยการเขียนหนังสือและเดินทางไปเผยแพร่ความคิดดังกล่าวไปทั่วญี่ปุ่น เรื่องของฮิโรทาดะ โอโตตาเกะน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่คิดว่าเกิดมาเพื่อใช้กรรมว่าจริง ๆแล้วไม่ใช่เช่นนั้น ขอให้หันกลับมามองตัวเองแล้วมีกำลังใจที่จะสู้ชีวิตต่อไปด้วยใจที่เข้มแข็งดีกว่า”
คนธรรมดาถาม “เมื่อเกิดมาเป็นทุกข์อย่างนี้แล้วเราจะทำอย่างไรให้ได้อยู่อย่างสุขสบาย?”
ตอบโดย หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพระมหาเถระที่รู้จักกันในนาม “หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด”
พระอริยสงฆ์ตอบ
“ชีวิตนี้มันเป็นทุกข์ การเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่งจะว่าประเสริฐก็ประเสริฐ จะว่าไม่ประเสริฐก็ไม่ประเสริฐ จะเห็นได้ว่าตื่นเช้าก็มีความทุกข์เข้าครอบงำ จะต้องล้างหน้า ล้างปาก ล้างฟัน ล้างมือเสร็จแล้วจะต้องกินต้องถ่าย นี่คือความทุกข์แห่งกายเนื้อ เมื่อเราจะออกจากบ้านก็จะประสบความทุกข์ในหมู่คณะ ในการงานในสัมมาอาชีวะการเลี้ยงตนชอบ นี่คือ ความทุกข์ในการแสวงหาปัจจัย
การที่เราจะไม่ต้องทุกข์มากนั้นเราจะต้องรู้ว่าเรานี้จะต้องไม่เอาชีวิตไปฝากสังคมเราต้องเป็นตัวของเราเองและเราจะต้องวินิจฉัย ในเหตุการณ์ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเราว่าส่งใดเราควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ แม่น้ำทะเล และมหาสมุทร ไม่มีที่สิ้นสุดของน้ำ ฉันใด กิเลสตัณหาของมนุษย์ก็ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ฉันนั้นเมื่อไปยึดถือเข้าจึงเดือดร้อน
ทุกวันนี้การเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็เพราะมนุษย์ไปยึดโน่นยึดนี่ ยึดพวกยึดพ้อง ยึดหมู่ยึดคณะ ยึดประเทศเป็นสรณะโดยไม่คำนึงถึงธรรมสากลจักรวาลโลกมนุษย์นี้ทุกคนมีกรรมจึงเกิดมาเป็นสัตว์โลก สัตว์โลกทุกคนต้องใช้กรรมตามวาระ ตามกรรม ถ้าทุกคนยึดถือเป็นอารมณ์ก็จะเกิดการเข่นฆ่ากัน เกิดการฆ่าฟันกัน เพราะอารมณ์แห่งการยึดถืออายตนะ ฉะนั้นต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า สิ่งใดทำแล้ว สัตว์โลกมีความสุข สิ่งนั้นควรทำนี่คือหลักความจริงของธรรมะ
และในภาวะแห่งการที่เราจะอยู่อย่างสบายนั้น เราต้องอยู่กันอย่างไม่ยึด อยู่กันอย่างไม่ยินดี อยู่กันอย่างไม่ยินร้าย อยู่กันอย่างพยายามให้จิตวิญญาณของนามธรรมนั้นเหนืออารมณ์ เหนือคำสรรเสริญ เหนือนินทา เหนือความผิดหวัง เหนือความสำเร็จ เหนือรัก เหนือชัง เรียกว่า “ธรรมารมณ์”
การอยู่อย่างมีธรรมารมณ์ คือการอยู่เหนือความรู้สึกทั้งปวง อยู่อย่างรู้หน้าที่การเป็นคน และรู้หน้าที่ในการงาน คือรู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องทำ ไม่ใช่ทำเพื่อหวังผลตอบแทนเพราะถ้าเราทำงานเพื่อหวังผลตอบแทนต่างๆ แล้ว ถ้าสิ่งต่างๆ ไม่สัมฤทธิ์ผลตามความหวังนั้น เราย่อมเกิดความโทมนัส เสียใจน้อยใจ เป็นทุกข์ และถ้าเรามีชีวิตอยู่อย่างที่ว่า เราเกิดเพราะกรรม อยู่เพื่อกรรม ทำเพราะกรรม ตายเพราะกรรมแล้วชีวิตการเป็นมนุษย์ย่อมมีความภิรมย์มีความรื่นเริง”
คนธรรมดาถาม “ทำอย่างไรถึงจะไม่กลัวตาย?”
ตอบโดย พระครูญาณวิศิษฏ์ หรือหลวงพ่อเฟื่อง โชติโก แห่งวัดธรรมสถิต ต.สำนักทอง อ.เมือง จ.ระยอง
พระอริยสงฆ์ตอบ
“เมื่อความเกิดและความตายเป็นของธรรมดา ก็อย่ามัวแต่นึกถึงวันเกิด ให้นึกถึงวันตายเสียบ้าง ต้องหมั่นมีสติ หมั่นพิจารณาร่างกายจนเป็นเป็นกระดูกจนร่วงลงไปกอง แล้วเผาให้เกลี้ยงไปเลยถามตัวเองซิ มีตัวตนไหม อะไรทำให้ทุกข์ ทำให้เจ็บปวด มีตัวเราไหมดูให้ถึงแก่นแท้ของธรรมชาติพิจารณาไปจนไม่มีอะไรของเราสักอย่าง มันไม่มีใครเจ็บ มันไม่มีใครตาย นั่นแหละตรงนั้นแหละ มันมีอยู่แล้วทุกคนเหมือนเราคว่ำมืออยู่ เราก็หงายมือเสีย แต่ผู้ที่มีปัญญาเท่านั้นที่จะทำได้ ถ้าโง่ก็ไม่เห็น ก็ไม่ได้ ไม่พ้นเกิด พ้นตายสักวันหนึ่งความตายจะมาถึงเรา มาบีบบังคับให้เราปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้น เราต้องหัดปล่อยวางล่วงหน้าให้มันเคยไม่อย่างนั้นพอถึงเวลาไปจะลำบาก”
สรุปประเด็นปัญหา
จากคำถามเรื่องการเกิดและการตายทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า พระอาจารย์ทุกท่านล้วนให้ความหมายของการเกิดและการตายไว้ว่าเป็นทุกข์ทั้งสิ้นแต่ก็ล้วนเป็นเรื่องธรรมดา ในฐานะที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ย่อมมีไม่มากก็น้อยที่ใจของเราได้มีประสบการณ์ในภพชาติอื่นๆ ทั้งที่ต่ำกว่า และสูงกว่าความเป็นมนุษย์เราย่อมมีปัญญาที่จะรู้ได้จากประสบการณ์ของเราว่าอะไรดี อะไรไม่ดี
พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า “เป็นการยากที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นการยากที่ชีวิตสัตว์ทั้งหลายจะได้อยู่สบาย เป็นการยากที่จะได้ฟังธรรมของสัตบุรุษเป็นการยากที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติมา”
เมื่อเรารู้แล้วว่าการได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นของยาก ก็ควรจะเห็นคุณค่าของการที่เราได้เกิดมา อย่าให้เสียโอกาสหรือเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ต้องเอาใจใส่รักษาความเป็นมนุษย์เอาไว้ให้มั่นคง และถึงจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วแต่จิตใจของคนเราก็ยังเป็นไปได้ 2 ทางคือ มีใจสูงหรือต่ำ ดังนั้นการเกิดเป็นมนุษย์ในชาติหนึ่ง การเลือกวิถีทางดำเนินชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อตายไปแล้วจะได้เป็นสุขและมีภพภูมิที่ดีเป็นที่ไป
และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการที่เราได้เกิดมาแล้วเราจะมีชีวิตอยู่ก็เพื่อแก้ไขของเก่าในอดีตที่ไม่ดีให้หมดไปในปัจจุบัน (กรรมเก่า) และทำชีวิตปัจจุบันให้ดีเพื่อที่จะได้เป็นพื้นฐานของอนาคตที่ดีต่อไป (กรรมใหม่) ด้วยการสร้างบุญบารมีด้วยหลักไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างพากเพียรที่สุดในชาตินี้เพื่อให้ถึงการหลุดพ้น (พระนิพพาน) หากยังไม่สำเร็จในภพชาติปัจจุบันในภพชาติต่อไปก็จะได้ไปอยู่ในที่ๆ เป็นสุขและสามารถหลุดพ้นไปได้ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง