|
001.42 วิธีการวิจัย
วิธีการวิจัย
การทำวิจัย ผู้วิจัยจะต้องทำการวิจัยอย่างมีขั้นตอน และอย่างเป็นระบบ วิธีการวิจัย (Research methods) ที่นักสังคมวิทยาใช้ในการศึกษาเพื่อหาความรู้สามารถจำแนกออกได้เป็น 7 วิธีการดังนี้ (Popenoe 1993 : 39-48)
1. การสำรวจ (Surveys) การวิจัยสำรวจ เป็นการวิจัยที่นิยมใช้กันมากในวิธีเชิงปริมาณ โดยจะใช้กับการวิจัยที่ต้องการเก็บข้อมูลจากกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมาก เพื่อสอบถามความคิดเห็น ทัศนคติ ความรู้สึก และการกระทำ เป็นต้น โดยมีขั้นตอนดังนี้
1.1กำหนดกลุ่มประชากร (Identifying the population) นักวิจัยจะต้องกำหนดว่า ใครคือกลุ่มประชากรที่จะใช้ในการศึกษา เช่น นักศึกษาชายของมหาวิทยาลัยบูรพา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นต้น
1.2 เลือกกลุ่มตัวอย่าง (Selecting a sample) กลุ่มตัวอย่าง คือ ประชากรที่เลือกให้เป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรทั้งหมดที่ใช้ในการศึกษาวิจัย ดังนั้นในการเลือกกลุ่มตัวอย่าง จะต้องเลือกประชากรที่ใกล้เคียงและเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชากรทั้งหมดให้มากที่สุดถ้าเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของประชากรที่ศึกษาวิจัย หรือที่เรียกว่าความคาดเคลื่อนของกลุ่มตัวอย่าง (Sampling error) ก็จะมีผลทำให้ผลการวิจัยออกมาไม่ถูกต้องด้วย ดังนั้นในการศึกษาวิจัยจะมีวิธีการเลือกลุ่มตัวอย่างดังนี้
-การสุ่มแบบธรรมดา (Random sampling) การสุ่มโดยวิธีนี้ เป็นวิธีสุ่มตัวอย่างที่ใช้กันมากกลุ่มตัวอย่างมีโอกาสที่จะได้รับการเลือกเท่าเทียมกัน เช่น เขียนชื่อกลุ่มตัวอย่างใส่ในกล่องแล้วจับฉลากขึ้นมา หรือใช้ตารางตัวเลขสุ่ม (Random table) เป็นต้น
-การสุ่มแบบเป็นระบบ (Systematic sampling) การสุ่มแบบนี้ นักวิจัยจะต้องมีรายการหรือรายชื่อกลุ่มประชากร แล้วเลือกว่าต้องการเลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวนเท่าใดแล้วทำแซมปลิงแฟรกชั่น (Sampling fraction) จำนวนตัวอย่าง/จำนวนประชากร เช่น มีประชากร 1,000 คน ต้องการตัวอย่าง 500 คน S.F. = 2 เราก็เลือกประชากรทุกๆ อันดับที่ 2 เป็นต้น
-การสุ่มแบบช่วงชั้น (Stratified sampling) เป็นการสุ่มตัวอย่างที่เริ่มจากการแบ่งประชากรออกเป็นกลุ่ม ๆ เช่น แบ่งตามกลุ่มเพศ กลุ่มอายุ กลุ่มอาชีพ กลุ่มรายได้ เป็นต้นจากนั้นนักวิจัยก็สุ่มตัวอย่างจากแต่ละกลุ่มด้วยวิธีแบบธรรมดา หรือแบบระบบ
1.3การออกแบบเครื่องมือการวิจัย (Designing the research instrument) ในการวิจัยสำรวจนั้นมีวิธีสำหรับเก็บข้อมูลหลายชนิด เช่น แบบสอบถาม (Questionnaires) การสัมภาษณ์(Interviews) หรือแบบทดสอบ เป็นต้น เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลสำหรับการสำรวจจะนิยมใช้แบบสอบถามเป็นหลัก โดยปกติแบบสอบถามจะมี 2 แบบ คือ
-คำถามปลายปิด (Closed response questions) จะเป็นคำถามที่นักวิจัยมีคำตอบให้เลือกไว้แล้ว โดยนักวิจัยจะกำหนดตัวเลือกที่สัมพันธ์กับคำถาม เตรียมไว้ให้ผู้ตอบเลือกข้อที่ตรงกับผู้ตอบต้องการ
-คำถามปลายเปิด (Open response questions) จะเป็นคำถามที่นักวิจัยเปิดโอกาสให้ผู้ตอบตอบได้อย่างอิสระ โดยท้ายคำถามจะเป็นที่ว่างให้ผู้ตอบเขียนตอบได้ตามต้องการ
1.4การบริหารเครื่องมือการวิจัย (Administering the research instrument) ในขั้นนี้นักวิจัยจะต้องทำการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ ส่งจดหมาย หรือโทรศัพท์ไปเก็บข้อมูลตามแบบสอบถามหรือเครื่องมือที่สร้างไว้เพื่อให้ได้ข้อมูลตามที่กำหนดไว้
1.5การวิเคราะห์ข้อมูล (Analyzing the data) เป็นขั้นสุดท้ายของการวิจัยสำรวจ นักวิจัยจะนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจมาทำการวิเคราะห์ และแปรความหมายผลการวิจัย
2.การทดลอง (Experiments) การทดลองถือได้ว่าเป็นวิธีการวิจัยที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ในทางสังคมวิทยานั้นได้มีการประยุกต์นำเอาวิธีการทดลองมาใช้ในการศึกษา พฤติกรรมความสัมพันธ์ของคนในสังคม ศึกษาบทบาทและการกระทำของคนในสังคมเช่นกัน ในการทดลองนั้นนักวิจัยจะทำการศึกษาหาความสัมพันธ์ของปัจจัยเหตุ (Cause) และผล (Effect) ภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เพื่อทดสอบสมมติฐานหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสองตัว คือ ตัวแปรอิสระ (Independent variables) กับ ตัวแปรตาม (Dependent variables) รูปแบบของการทำการทดลองมีหลายรูปแบบการทดลองขึ้นอยู่กับวัถตุประสงค์ของนักวิจัยว่าจะใช้รูปแบบใด แต่วิธีที่นิยมใช้กันทั่วไปหรือเป็นรูปแบบการทดลองพื้นฐาน (Basic Experimental Design) มีขั้นตอนดังนี้
2.1 แบ่งกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณลักษณะใกล้เคียงกันออกเป็น กลุ่มทดลอง (Experimental group)กับ กลุ่มควบคุม (Controlgroups)
2.2 เปรียบเทียบผลของการวัดค่าตัวแปรตาม (Measure dependent variable) ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม
2.3 ปรับหรือเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของกลุ่มทดลอง
2.4เปรียบเทียบผลของการวัดค่าตัวแปรตามใหม่ (Remeasure dependent variable) ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม
3.การสังเกต (Observation) การเก็บข้อมูลโดยการสังเกต เป็นวิธีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการทำวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะนักมานุษยวิทยาจะนิยมทำการเก็บข้อมูลด้วยการสังเกต เช่น ความเป็นอยู่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ต่าง ๆ การสังเกตแบบนี้เราเรียกว่า การสังเกตภาคสนาม (Field observation) แต่ในการทำวิจัยบางเรื่อง นักวิจัยสามารถนำเอาวิธีการสังเกตไปใช้ในห้องทดลองก็ได้ซึ่งเราเรียกว่า การสังเกตในห้องทดลอง (Laboratory observation) ในการเก็บข้อมูลโดยการสังเกตสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.1การสังเกตแบบมีโครงสร้าง (Structured observation) การสังเกตแบบนี้นักวิจัยจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะทำการศึกษาอะไรจากกลุ่มตัวอย่าง และมีการจดบันทึกการสังเกตตามแบบแผนที่นักวิจัยได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า เช่น นักวิจัยอาจสร้างเป็นแบบบันทึกพฤติกรรม เหตุการณ์ และการกระทำต่าง ๆของกลุ่มตัวอย่าง กำหนดการบันทึกว่าเป็นระยะเวลาของเหตุการณ์ ความถี่ของการกระทำ รูปแบบของพฤติกรรมและความสัมพันธ์ โครงสร้างทางสังคม เมื่อนักวิจัยทำการสังเกต นักวิจัยจะสังเกตจะมุ่งไปยังกิจกรรมที่กำหนดไว้ในแบบบันทึกเป็นหลัก ดังนั้นการสังเกตแบบมีโครงสร้างจึงสามารถที่จะวัดการศึกษาเป็นเชิงปริมาณได้ และเหมาะกับการนำไปใช้ในการเก็บข้อมูลในการทดลอง
1.2การสังเกตแบบไม่มีโครงสร้าง (Unstructured observation) การสังเกตแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการวิจัยที่ใช้การพรรณนา (Descriptive) ในเรื่องที่ทำการวิจัย ในการทำการสังเกตนักวิจัยจะไม่ทำการจดบันทึกการสังเกตโดยทันที เพราะนักวิจัยต้องเข้าร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มตัวอย่าง ต้องการทำตัวให้เข้ากับธรรมชาติของสภาพสังคม และไม่ก่อให้เกิดความระแวงความสงสัยจากกลุ่มตัวอย่าง การจดบันทึกจะทำเมื่อมีโอกาสเหมาะสมหลังจากการสังเกต
ในกระบวนการสังเกต นักวิจัยอาจเลือกการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการการสังเกตแบบมีส่วนร่วม(Participant observation) กล่าวคือ เข้าไปร่วมทำกิจกรรมหรือเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง เพื่อให้ได้รายละเอียดมากที่สุด บางครั้งนักวิจัยจะต้องเข้าไปทำการสังเกตแบบมีส่วนร่วมโดยไม่เปิดเผย (Covert participant observation) สถานภาพของตน เพราะต้องการให้กลุ่มตัวอย่างแสดงพฤติกรรมหรือการกระทำที่เป็นธรรมชาติที่สุด โดยไม่เกิดความระแวงสงสัย การใช้วิธีดังกล่าวอาจต้องใช้เวลามาก เพราะการเข้าไปเป็นสมาชิกในสังคมใดสังคมหนึ่ง ต้องอาศัยทั้งเวลาและสถานการณ์กว่าจะได้รับการยอมรับอย่างสนิทใจ แต่บางครั้งนักวิจัยอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วมโดยการเปิดเผย (Overt participant observation) เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและรักษาความปลอดภัยของชีวิตก็เป็นได้เช่นกัน
การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Nonparticipant observation) ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่นักวิจัยสามารถเลือกมาใช้ได้ นั่นก็คือ นักวิจัยจะทำการสังเกตอยู่ภายนอกการทำกิจกรรม และชีวิตประจำวันของกลุ่มตัวอย่าง การสังเกตแบบนี้นักวิจัยจะไม่ได้รายละเอียดอื่น ๆ ที่อยู่นอกช่วงเวลาที่ไปทำการสังเกต ซึ่งอาจเหมาะกับการวิจัยทดลอง ที่สามารถกำหนดช่วงเวลาในการสังเกตได้ การเลือกใช้การสังเกตแบบใดแบบหนึ่งนั้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ เช่น เวลา งบประมาณ และวัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูล บางครั้งอาจต้องใช้หลายรูปแบบเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลตามวัตถุประสงค์การวิจัย
4.การวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary analysis) เป็นการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ที่มีการเก็บบันทึกไว้แล้วทั้งในรูปของเอกสาร แฟ้มข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือวัสดุอื่น ๆ ข้อมูลทุติยภูมิที่นำมาใช้ในการทำวิจัยส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถเก็บรวบรวมได้ขณะทำการวิจัย ซึ่งมีหลายประเภทดังนี้
4.1ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ เช่น ประวัติบุคคล ชุมชนและสังคม
4.2ข้อมูลสถิติรายปี เช่น อัตราการเกิดการตาย การย้ายถิ่น
4.3ข้อมูลเหตุการณ์ทางสังคม เช่น ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
4.4ข้อมูลรายงานของหน่วยงาน เช่น รายงานการประชุม ผลการดำเนินงานของหน่วยงาน
4.5ข้อมูลสำมโนประชากรเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับประชากร ได้แก่ อายุ ศาสนา รายได้ สถานภาพสมรส จำนวนบุตร จำนวนครัวเรือน ข้อมูลสำมโนประชากรจำเป็นข้อมูลที่มีระยะเวลาในการเก็บคือทุก ๆ 10 ปี ซึ่งแตกต่างกับข้อมูลสถิติรายปีที่มีการจดบันทึกทุกปี
ข้อมูลทุติยภูมิบางประเภทเป็นข้อมูลดิบ บางประเภทเป็นข้อมูลที่ทำการประมวลผลแล้ว การนำข้อมูลทุติยภูมิมาใช้ทำการวิจัย นักวิจัยจะต้องทำการแปลรูปข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่นักวิจัยสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ได้ง่าย แม้ว่าการใช้ข้อมูลทุติยภูมิจะทำให้นักวิจัยประหยัดงบประมาณและเวลาได้เป็นอย่างดี แต่การใช้ข้อมูลทุติยภูมิบางครั้งก็จำกัดขอบเขตของการทำวิจัย นั่นก็คือนักวิจัยอาจประสบปัญหาเกี่ยวกับการขาดข้อมูลบางตัวทำให้การวิเคราะห์ไม่สมบูรณ์ หรือนักวิจัยอาจต้องทำการศึกษาข้อมูลก่อนทำการ
กำหนดปัญหาการวิจัยและตั้งสมมุติฐาน หลังจากนั้นจึงทำการกำหนดปัญหาและตั้งสมมุติฐานตามข้อมูลที่มีอยู่ ดังนั้นในการทำวิจัยอาจจะใช้ข้อมูลทุติยภูมิประกอบกับการเก็บข้อมูลด้วยวิธีอื่นควบคู่กันไป ก็สามารถทำให้งานวิจัยมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นตามที่นักวิจัยต้องการ
5.การวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) เป็นการวิเคราะห์ที่นิยมใช้เกี่ยวกับสื่อสารมวลชล ในการทำการวิเคราะห์เนื้อความนั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของนักวิจัยว่าต้องการวิเคราะห์เรื่องอะไร เป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว หรือความรัก และเก็บรวบรวมข้อมูลจากสิ่งใด จากวารสาร หนังสือพิมพ์ การ์ดวันสำคัญ รายการวิทยุ หรือรายการโทรทัศน์ แล้วมาทำการวิเคราะห์ว่าแต่ละเรื่องให้ความสำคัญกับอะไร เช่น การวิเคราะห์เนื้อหาเรื่องการเมืองจากหนังสือพิมพ์พบว่า ส่วนใหญ่จะลงข่าวเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
6.การวิเคราะห์เปรียบเทียบ (Comparative analysis) การวิเคราะห์เปรียบเทียบอาจเป็นการวิจัยเปรียบเทียบข้ามเชื้อชาติ(Cross-national research) โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างในประเทศต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็น 2 ประเทศหรือมากกว่า แล้วนำผลมาทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบตัวแปรที่ทำการศึกษา หรืออาจใช้วิธีการศึกษาเปรียบเทียบที่เรียกว่า การศึกษาระยะยาว (Longitudinal studies) โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเชื้อชาติเดียว แต่ทำการศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมในช่วงเวลาที่แตกต่างกันยาวนานหลายปี แต่การศึกษาแบบนี้ต้องใช้เวลาและงบประมาณมาก ดังนั้นนักวิจัยจึงใช้วิธีการศึกษาภาคตัดขวาง (Cross-sectional studies) แทน กล่าวคือ ทำการศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างที่มีความแตกต่างกันในด้านอายุ การศึกษา เศรษฐกิจ ฯลฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน
7.การวิจัยซ้ำ (Replication) เป็นการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ในการทดสอบความถูกต้องของผลการวิจัยได้เป็นอย่างดี โดยการนำเอาผลการวิจัยในแต่ละครั้งมาทำการเปรียบเทียบว่าจะให้ผลการวิจัยแตกต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร การวิจัยซ้ำอาจเป็นการทำวิจัยซ้ำในเรื่องเดิมแต่ใช้ กลุ่มคน สถานที่ และเวลาต่างกันก็ได้
การวิจัยเป็นการค้นหาความรู้จากข้อสงสัยที่เกิดขึ้นโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ วิธีการค้นหาคำตอบสามารถกระทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับลักษณะของข้อมูลที่จะนำมาใช้ตอบคำถาม ในการวิจัยเรื่องหนึ่งอาจใช้วิธีการวิจัยหลายวิธีก็ได้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุด
ที่มา
วิธีการวิจัย. (2553). ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 9, 2553, จาก
http://www.huso.buu.ac.th/cai/Sociology/225101/Lesson4/
%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%
B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2.htm
|
|