นักวิจัยจากเมโย คลินิกในโรเชสเตอร์ สหรัฐฯ ได้ทำการวิจัยพบว่า คนที่อ่านหนังสือ หรือเกี่ยวข้องกับงานศิลปะหรืองานฝีมือ เล่นเกม และใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำ มีแนวโน้มน้อยลงที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับความจำเมื่ออายุมาก ในทางกลับกัน คนที่ชอบดูทีวีมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม โดยการวิจัยได้เปรียบเทียบรูปแบบการใช้ชีวิตของกลุ่มตัวอย่างเกือบ 200 คน ที่อายุระหว่าง 70-89 ปี และเริ่มมีปัญหาความจำ กับกลุ่มตัวอย่างอีกกลุ่มจำนวน 1,124 คนที่ไม่มีสัญญาณการเสื่อมถอยของสมอง
ทั้งสองกลุ่มต้องตอบคำถามเกี่ยวกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันในปีก่อนหน้าและช่วงวัยกลางคน
นักวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่อ่านหนังสือและนิตยสาร เล่นเกม ใช้คอมพิวเตอร์ หรือทำงานฝีมือในช่วงอายุ 50-60 ต้นๆ มีแนวโน้มเป็นโรคสมองเสื่อมในช่วงบั้นปลายชีวิตน้อยลง 40%
ส่วนคนที่ดูทีวีวันละไม่ถึง 7 ชั่วโมงมีปัญหาความจำน้อยกว่าคนที่ติดทีวีงอมแงมกว่านั้นครึ่งหนึ่ง
ดร.โจนาส เกดา ผู้นำการวิจัย นำเสนอต่อที่ประชุมอเมริกัน อะคาเดมี ออฟ นิวโรโลจีในซีแอตเติลเมื่อกลางสัปดาห์ว่า ภาวะสูงวัยไม่ใช่กระบวนการที่ไร้การตอบโต้ แต่การออกกำลังสมองเพียงพอแล้วที่จะปกป้องการสูญเสียความจำในอนาคต
อย่างไรก็ดี ดร.เกดายอมรับว่า การวิจัยนี้อิงกับความทรงจำในอดีตของกลุ่มตัวอย่างอย่างมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องวิจัยเพิ่มเติมต่อไป
อนึ่ง ความสำคัญของกิจกรรมในสมองที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอ ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรม ‘ฝึกสมอง’ ให้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นอกจากเกมปริศนา อักษรไขว้ และโซโดกุแล้ว ยังมีเครื่องเล่มเกมมือถือ เช่น นินเทนโด ดีเอส ที่แข่งกันชิงเงินจากกระเป๋าผู้สูงวัย
แต่ก็มีการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์อยู่ในวารสารอัลไซเมอร์ แอนด์ ดีเมนเทีย ระบุว่า เกมคอมพิวเตอร์ฝึกสมองอาจไม่ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม ซ้ำกลับทำร้ายผู้ชราจากการแย่งชิงเวลาที่ควรใช้ในการออกกำลังกาย
สรุปความจาก ASTV ผู้จัดการรายวัน 19 ก.พ. 52
Tags: การส่งเสริมการอ่าน, อัลไซเมอร์, โรคสมองเสื่อม
[...] อ่านหนังสือป้องกันสมองเสื่อม : KULC BLOG สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ [...]