|
วิชาชีพบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์
การศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ในทวีปออสเตรเลีย
หลักสูตรบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ของประเทศออสเตรเลีย
Ruchareka
สรุปรายงานการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง Today Australia: Tomorrow the World! New Directions in Internationalisation for LIS Education, Research and Practice บรรยายโดย Dr. Gillian Hallam, Adjunct Professor, Science and Engineering Faculty, Queensland University of Technology, Brisbane, Australia เมื่อ วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 เวลา 9:30-12:00 น. ณ ห้องประชุม 233 อาคารสัมมนา 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เนื้อหาของการบรรยายครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ (LIS) ในภาพรวมของประเทศออสเตรเลีย บทบาทของสมาคม Australian Library and Information Association (ALIA) ที่มีต่อการศึกษา การวิจัย และการปฏิบัติงานทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ทิศทางใหม่ๆ ของห้องสมุด หลักสูตรการศึกษา และสมาคมห้องสมุดในอนาคต ซึ่งจะเน้นความร่วมมือระดับนานาชาติเป็นหลัก และปิดท้ายด้วยการเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของผู้บรรยายที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ เพื่อการพัฒนาวงการ LIS ของประเทศออสเตรเลียและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ห้องสมุดต่างๆ ในประเทศออสเตรเลีย ประกอบด้วย
1.ความร่วมมือระหว่างกลุ่มห้องสมุดระดับชาติและระดับรัฐ จำนวน 8 แห่ง ของประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ National and State Libraries Australasia (NSLA) http://www.nsla.org.au
2.ห้องสมุดประชาชน จำนวน 1,620 แห่ง
3.ห้องสมุดโรงเรียน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 9,300 แห่ง
4.ห้องสมุดสถาบันการศึกษา ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอาชีวศึกษาประเภท TAFE (Technical and Further Education) จำนวน 430 แห่ง โดยมีสภาบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศออสเตรเลีย (Council of Australian University Librarians หรือ CAUL) เป็นองค์กรที่สำคัญสำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างห้องสมุดมหาวิทยาลัย http://www.caul.edu.au
5.ห้องสมุดเฉพาะ ในสาขาวิชาต่างๆ ทั้งของรัฐบาลและบริษัทเอกชน จำนวน 2,200 แห่ง
กำลังคนด้าน LIS ในประเทศออสเตรเลีย
ประชากรทั้งหมดของประเทศออสเตรเลียมีจำนวนทั้งสิ้น 23 ล้านคน เป็นกำลังคนหรือแรงงานจริง จำนวน 10 ล้านคน สำหรับในภาคส่วนของ LIS มีคนทำงานในห้องสมุด 28,000 คน บรรณารักษ์ 13,000 คน เจ้าหน้าที่งานเทคนิคห้องสมุด 5,000 คน เจ้าหน้าที่งานบริการห้องสมุด 7,000 คน นักจดหมายเหตุ ภัณฑรักษ์ หรือนักวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 3,000 คน เมื่อดูอายุเฉลี่ยของอาชีพบรรณารักษ์ พบว่า จำนวนสูงสุดอยู่ในช่วง 45-54 ปี หรือมีค่ามัธยฐานอยู่ที่ 47 ปี ในขณะเดียวกัน บรรณารักษ์ที่อายุน้อยมีจำนวนไม่มากนัก
การศึกษาในสาขาวิชา LIS ของประเทศออสเตรเลีย
การศึกษา LIS เริ่มต้นเมื่อปี 1944 ในรูปแบบการสอบประเมินผล ในปี 1960 ให้ประกาศนียบัตร ปี 1963 เริ่มมีสมาคมห้องสมุด Library Association of Australia (LAA) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Australian Library and Information Association (ALIA) และในปี 1965 เริ่มมีหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปัจจุบันหลักสูตรวิชาชีพในระดับมหาวิทยาลัย มีมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี จำนวน 5 แห่ง และหลักสูตรหลังปริญญาตรี จำนวน 10 แห่ง นอกจากนั้น ยังมีหลักสูตรประกาศนียบัตรระดับอาชีวศึกษาหรือที่เรียกว่า TAFE สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดด้วย
บทบาทของสมาคม Australian Library and Information Association (ALIA)
ALIA ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนวิชาชีพ LIS หาทุนเพื่อพัฒนาวิชาชีพ ดูแลมาตรฐานการศึกษา ให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาทางด้าน LIS หลักสูตรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด หลักสูตรครูบรรณารักษ์ และทำกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือระดับนานาชาติ มีเว็บไซต์อยู่ที่ http://www.alia.org.au
ข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ http://joboutlook.gov.au แสดงให้เห็นว่า อาชีพบรรณารักษ์ มีระดับการศึกษาหลังปริญญา (ปริญญาโทและประกาศนียบัตร) สูงสุด 43.0% รองลงมาคือปริญญาตรี 34.2% อาชีพเจ้าหน้าที่งานเทคนิคห้องสมุด (Library Technicians) มีระดับการศึกษาสูงสุด คือ อนุปริญญา 40.2% รองลงมาคือ ปริญญาตรี 16.6% ส่วนอาชีพเจ้าหน้าที่งานบริการห้องสมุด (Library Assistants) มีระดับการศึกษาสูงสุด คือ มัธยมศึกษา เกรด 12 (23.3%) เกรด 11 และเกรด 10 (22.7%) แต่มีบ้างที่มีวุฒิการศึกษาสูงกว่านั้น เนื่องจากต้องการงานทำ
ธรรมชาติของหลักสูตร LIS เป็นพหุวิทยาการ
เป็นการผสมผสานหลายสาขาวิชา เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการ ศึกษาศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ และจิตวิทยา ซึ่งทำให้สาขาวิชา LIS มักไปรวมเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในคณะอื่นๆ เช่น คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะบริหารธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะสื่อสารมวลชน คณะนิติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ เป็นต้น ในกรณีของ Queensland Institute of Technology ได้นำหลักสูตร LIS ไปรวมอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์
บทบาทของ ALIA เกี่ยวกับมาตรฐานหลักสูตรและการรับรองคุณภาพการศึกษา
เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินได้แก่ การออกแบบหลักสูตร เนื้อหาของหลักสูตร จำนวนอาจารย์ ทรัพยากร โครงสร้างพื้นฐาน ผลการประเมินของนักศึกษา และกลไกในการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งรายชื่อหลักสูตรสำหรับบรรณารักษ์และนักเอกสารสนเทศ หลักสูตรสำหรับครูบรรณารักษ์ และหลักสูตรสำหรับเจ้าหน้าที่งานเทคนิคห้องสมุด ที่ผ่านการรับรองแล้ว ได้แสดงไว้บนเว็บไซต์ของ ALIA ในหัวข้อ Accredited courses http://www.alia.org.au/employment-and-careers/accredited-courses
ในปี 2013 นี้จะมีการทบทวนเกณฑ์ใหม่ และจะเปลี่ยนจากการเก็บข้อมูลแบบ paper-based มาเป็นออนไลน์ โดยใช้โปรแกรม Moodle ทิศทางใหม่ๆ สำหรับหลักสูตร LIS คือ เน้นในเรื่องของทักษะและสมรรถนะทางวิชาชีพ ความสามารถทั่วไปหรือ Soft Skills การเรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพในระยะยาว การสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบัน และการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น
ALIA กำหนดความรู้หลัก ทักษะ และคุณลักษณะเฉพาะของบรรณารักษ์และนักเอกสารสนเทศ ในด้านต่างๆ เอาไว้ที่ http://www.alia.org.au/about-alia/policies-standards-and-guidelines/library-and-information-sector-core-knowledge-skills-and-attributes
ทิศทางใหม่ของการบริการห้องสมุด ได้เปลี่ยนแปลงจากในอดีต เริ่มจากการเป็นสถานที่เก็บรวบรวมทรัพยากร การให้บริการยืมคืนทรัพยากร การบริการระหว่างห้องสมุด การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์ PC ภายในห้องสมุด การเรียนรู้อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ กลายมาเป็นสถานที่ในการพบปะของคนในชุมชน และเป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะหรือ Learning Commons ในปัจจุบัน
ในปี 2012-2013 ผู้บรรยายได้มีส่วนร่วมในโครงการของ National and State Libraries Australasia (NSLA) ที่จะศึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลงห้องสมุดให้กลายเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้หรือ Learning Organisation ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างจาก LO ในภาคธุรกิจ ซึ่งมุ่งเพิ่มผลกำไร แต่ LO ในกรณีห้องสมุดจะมุ่งเน้นการรู้สารสนเทศเพื่อช่วยเหลือสังคมและชุมชน
ทิศทางใหม่ของทรัพยากรห้องสมุด เปลี่ยนแปลงจากหนังสือที่เป็นตัวเล่ม ไปสู่หนังสือในรูปแบบ Kindle ในปี 2012 ผู้บรรยายได้มีส่วนร่วมในโครงการระดับชาติของ Council of Australian University Librarians (CAUL) ในโครงการนำหนังสือตำราอิเล็กทรอนิกส์ หรือ eTextBooks มาใช้ในห้องสมุดมหาวิทยาลัย
โครงการวิจัยที่เกี่ยวกับ LIS Education
เป็นการใช้วิธีวิจัยแบบชุมชนมีส่วนร่วม หรือ Community Based Participatory Research โดยเน้นศึกษาใน 3 ประเด็นคือ 1. นักศึกษาหลักสูตร LIS 2. กำลังคนหรือแรงงานในสาขา LIS และ 3. การศึกษาในระดับอุดมศึกษาและการศึกษาต่อเนื่องในสาขา LIS
ข้อสังเกตที่ได้จากงานวิจัย คือ นักศึกษาสนใจที่จะเข้าศึกษาในหลักสูตรนี้ จากการบอกเล่าปากต่อปากและการค้นจากเว็บไซต์ นักศึกษามีความพึงพอใจในเนื้อหารายวิชา วิธีการสอน และชอบการเรียนแบบเผชิญหน้ามากกว่าเรียนทางออนไลน์ ซึ่งควรปรับปรุงให้ interactive มากกว่านี้ เมื่อออกไปทำงานพบว่า ต้องเผชิญกับความท้าทายในสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แตกต่างกัน ทักษะที่ต้องการเปลี่ยนแปลงจากทักษะที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาโดยตรง มาเป็นทักษะทั่วไปหรือ soft skills มากขึ้น แต่มีความต้องการทักษะในการบริหารจัดการเนื้อหาสารสนเทศ เป็นพื้นฐานสำคัญ ในส่วนของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา พบว่า โรงเรียนหรือภาควิชาต่างๆ มีการแข่งขันกันเองเพื่อแย่งนักศึกษาซึ่งมีจำนวนน้อยลง อาจารย์ผู้สอนลดลงและมีอายุมากขึ้น (มากกว่า 68% ของอาจารย์ทั้งหมด เป็นผู้มีอายุไม่น้อยกว่า 50 ปี) หรือโดยเฉลี่ยมีอายุ 50 ปี อย่างไรก็ตาม 80% ของอาจารย์ผู้สอนมีความพึงพอใจในอาชีพการทำงาน
ประเด็นด้านความเป็นนานาชาติของการศึกษา LIS ในประเทศออสเตรเลีย
จุดสนใจของหลักสูตร LIS ในขณะนี้สนใจไปทาง iSchools ซึ่งเน้นเทคโนโลยีเป็นหลัก และมีความกังวลในเรื่องต่างๆ เช่น การมุ่งเน้นงานวิจัยหรือการปฏิบัติงานจริง การขาดแคลนทฤษฎีหลักของสาขาวิชา และการเจือจางลงของหลักสูตร มหาวิทยาลัยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรอย่างรวดเร็ว ทำให้หลักสูตรขาดความเป็นอิสระ ความสนใจในการร่วมมือกันระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่ยังขาดมาตรฐานของหลักสูตรที่ใช้ร่วมกันทั่วโลก ข้อแนะนำคือ ให้ใช้คำศัพท์ที่ครอบคลุมอย่างกว้างๆ เช่น ใช้คำว่าสารสนเทศ แทนคำว่าห้องสมุด พยายามที่จะผลักดันให้เกิดความเลิศด้านการวิจัยมากขึ้น มีกลยุทธ์ในการสร้างความยั่งยืนของอาชีพผู้สอน ทำการตลาดเพื่อดึงดูดผู้เรียน พัฒนาวัฒนธรรมการเรียนรู้และการสอนที่มีคุณภาพ สร้างความร่วมมือระหว่างอุดมศึกษากับการฝึกอบรมในระดับอาชีวศึกษา เป็นต้น
ประเทศออสเตรเลียใช้กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ที่เรียกว่า Australian Qualifications Framework (AQF)
ทิศทางใหม่ของสมาคมห้องสมุด
เป็นช่วงเวลาแห่งการท้าทายของสมาคมห้องสมุด จำเป็นต้องเพิ่มความสนใจในเรื่องของผู้สนับสนุน หาทุนหรือรายได้ เพิ่มความสนใจในเรื่องขององค์ความรู้และทักษะ ในขณะที่จำนวนสมาชิกเริ่มลดน้อยลง ผู้ที่สนใจเข้ามาทำงานให้สมาคมแบบอาสาสมัครมีจำนวนลดลง จำเป็นต้องมุ่งเน้นในเรื่องของอนาคตให้มากขึ้น
บทสรุป
การศึกษาด้าน LIS ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของอาจารย์ผู้สอนเพียงฝ่ายเดียว แต่ขึ้นกับผู้เรียน ผู้จ้างงาน และสมาคมวิชาชีพด้วย การศึกษาด้าน LIS จะต้องประสานเข้าด้วยกันกับการวิจัยและการปฎิบัติงานจริง การศึกษาด้าน LIS จะไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวตามลำพังในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่จะต้องพัฒนาโดยเพิ่มมุมมองในระดับนานาชาติด้วย
ที่มา
Ruchareka . (2014). หลักสูตรบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ของประเทศออสเตรเลีย.
ค้นจาก http://ruchareka.wordpress.com/2013/07/31/%E0%B8%AB%E0%
B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B9%
E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%
E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%
E0%B8%A9%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%
95%E0%B8%A3/
|
|