|
คิดอย่างไร เอกภาพและสมานฉันท์ในชาติจะเกิดมี
ผศ.ชมพู โกติรัมย์
มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ความคิดเป็นสิ่งละเอียด การรับรู้ข้อมูลต่างๆ จากสิ่งเร้าภายนอกแล้วประมวลข้อมูลที่รับรู้นั้นมาย่อยสลายขยายเป็นความคิด ตัวความคิดนั้นจะปรุ่งแต่งอย่างไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของจิต เมื่อคุณภาพของจิตต่างกันการรับรู้ การเสวยอารมณ์ก็ต่างกันและทุกข์หรือสุขปัญหาหรือปัญญาย่อมแตกต่างกันไปตามคุณภาพแห่งจิตนั้นๆ ผลิตผลแห่งความคิดนั้นมีผล(อำนาจสั่งการ)ต่อพฤติกรรมมนุษย์อย่างยิ่งหากคิดซ้ำ(ย้ำความคิดจนเป็นมโนภาพ) หรือขยายความให้ชัดเชิงประมาณคร่าวๆคือ คิดร้อยครั้งกลายเป็นการกระทำหนึ่งครั้ง เมื่อความคิดเป็นธรรมชาติมีมาคู่กับมนุษย์ จึงมีประดิษฐกรรมแห่งความคิดในศาสนาเพื่อเป็นแนวทางแห่งการบริหารจัดการความคิดให้มีศักยภาพในลักาณะเอื้อคุณประโยชน์ ทั้งในระดับสงบสุขแห่งบุคคล
และสันติสุขของมนุษยชาติทั้งมวลรองรับมิติแห่งเศรษฐกิจ การเมืองให้ยั่งยืนโดยเฉพาะของมนุษย์นั้นมีที่มากระทบ ก็ไม่อาจตอบฟันธงว่าเกิดจากความอ่อนแอบกพร่องจากด้าน การศึกษา การเมือง เศรษฐกิจเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง หากยอมรับว่าการศึกษาคือสถาบันที่สร้างมันสมองของชาติก็คง ต้องมองดูว่าการศึกษาของชาติเป็นอย่างไร การศึกษาได้แยกส่วนไม่สร้างความรู้ให้ผู้เรียนเกิดบูรณาการทางความคิด ผู้เรียนขาดการมองคิดทางสังคมอย่างบูรณาการ ทั้งนี้เป็นเพราะวิชาพื้นฐานในระดับอุดมศึกษาหมวดสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ (วิชาที่สร้างบูรณาการทางความคิดทางสังคมและเสริมความคิดในคุณค่าของมนุษย์) ได้ยกระดับความสำคัญจากระดับที่ต้องเรียนไปสู่ระดับเลือกเรียนหรือเป็นวิชาพื้นฐานของวิชาชีพ อนึ่งการศึกษาในระดับพึ้นฐาน(วิชาชาศึกษาทั่วไป)โดยเนื้อแท้แล้วเป็นวิชาชีวิตในฐานะเติมให้วิชาการสมบูรณ์ในตัวผู้เรียน ตรงนี้ขาดความเข้มในระดับนำไปใช้งาน หากมองว่าอุดมศึกษาเป็นการศึกษาในดับมันสมองที่พร้อมเป็นผู้นำของชาติ เมือชาติประสบกับวิกฤติก็เรียกร้องหาคุณธรรมจริยธรรม เห็นควรเรียกอย่างต่อเนื่องพร้อมพลิกวิกฤติอันเกิดจากความอ่อนความคิดผลักดันสู่ระดับการศึกษาในฐานะมันสมองของชาติ วิกฤติปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความไม่สมบูรณ์ ไม่ลงตัว ไม่เชื่อมระหว่างส่วนต่างๆอันเป็นกระบวนการ (บูรณาการ) ทางความคิดทางสังคม
ความคิดที่เชื่อมโยงอย่างบูรณาการนั้นเป็นเช่นกับแผ่นที่มีความชัดเจนไม่หลงทาง ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการความคิดของโลกตะวันออกซึ่งปรากฎทางประดิษฐกรรมทางความคิดในนามศาสนาทางกล่าวคือ
1. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คือพิจารณาปรากฏการณ์ต่างๆ ให้รู้จักสภาวะตามที่มันเป็นจริง หรือพิจารณาปัญหา ค้นหาหนทางแก้ไข ด้วยการสืบสาวหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมา อาจแยกวิธีคิดนี้ได้ 2 อย่าง คือ
ก.คิดแบบสัมพันธ์เหตุและผล เมื่อพบเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ก็ควรมองหยั่งย้อน และสืบสาวชักโยงออกไปถึงปัจจัยต่างๆทั้งหลายที่เข้ามาสัมพันธ์นั้น เมื่อสิ่งนั้นมี สิ่งนี้จึงมีเป็นต้น
ข.คิดแบบสืบสวน เมื่อประสบพบเห็นสิ่งใดๆที่ควรพิจารณา ก็คอยตั้งคำถามแก่ตนว่า ทำไม เพราะอะไร หรือคิดสืบสาวหาสาเหตุเกี่ยวกับจิตใจต่อไปว่าตนรู้สึกอย่าง ชอบ-ชัง-กลางๆ
2.วิธีคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ หรือกระจายเนื้อหา เป็นวิธีคิดที่มุ่งเพื่อเข้าใจสิ่งต่างๆตามสภาวะของมัน ตามธรรมดา (เป็นอย่างนั้นเอง) ปรากฏการณ์ต่างๆที่อุบัติขึ้นก็ดี ไม่ใช่เกิดแบบลอยๆแต่ประกอบด้วยส่วนต่างๆได้เชื่อมโยงจากสิ่งหนึ่งไปสิ่งหนึ่ง การคิดแบบนี้ จึงจะรู้จักสิ่งนั้น เรื่องราวนั้นๆได้ถูกต้องแท้จริง จึงจับจุดที่เป็นปัญหาได้ และจึงจะแก้ปัญหาได้
3.วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา มองเหตุการณ์ สถานการณ์ ทั้งหลายลายอย่างรู้เท่าทันในธรรมดาธรรมชาติของมัน ซึ่งจะต้องเป็นไปอย่างนั้น กล่าวคือ การที่มันเกิดขึ้นแล้วจะต้องดับไป ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ไม่คงอยู่ตลอดไป มีภาวะที่ถูกปัจจัยต่างๆที่ขัดแย้ง บีบคั้นได้ ไม่มีอยู่และไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไป 2 ขั้นตอน คือ ก.รู้เท่าทันความจริง เป็นท่าทีแห่งปัญญา เช่น เมื่อประสบสถานการณ์ที่ไม่ปรารถนาให้สำนึกขึ้นในเวลานั้นว่า เราจะมองตามความเป็นจริง ไม่มองด้วยตามความอยากของเราที่อยากให้เป็นหรืออยากไม่ให้เป็น รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นตามเหตุปัจจัยของมัน เปลื้องตัวอิสระได้ ไม่เอาตัวไปให้ถูกกดถูกบีบ ข.แก้ไขตามเหตุปัจจัย เป็นขั้นปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ เป็นท่าทีแห่งปัญญา เป็นอิสระไม่ผูกมัด รู้ว่าสิ่งทั้งหลายจะเป็นอย่างไรก็ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ขึ้นต่อความอยากความปรารถนาของเราหรือของใครๆ เมื่อเราต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น หากปัจจัยพร้อมบริบูรณ์ที่จะให้เป็นอย่างนั้นมันก็เป็นไม่ได้ขึ้นกับความอยาก มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น(ตถาคตา)แล้วเมื่อรู้เช่นนี้และลงมือแก้ไขกันที่เหตุปัจจัย ไม่ใช่แก้ด้วยความอยาก
4. วิธีคิดแบบแก้ปัญหา เมื่อเข้าใจในความเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลายวางใจได้และตกลงใจว่าจะแก้ปัญหาที่ตัวเหตุตัวปัจจัย จากนั้นก็ดำเนินความคิดต่อไปตามวิธีคิดที่สัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลตามขั้นตอนดังนี้
ขั้นกำหนดรู้ คือ แจกแจงแถลงปัญหา ทำความเข้าใจปัญหา สภาพและขอบเขตของปัญหาว่ามันคือ คืออะไร
ขั้นสืบวิเคราะห์ค้นหามูลเหตุหรือต้นตอของปัญหา
ขั้นเล็งเป้าหมาย มีความชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายและหลักการทั่วไป หรือตัวกระบวนการของการแก้ปัญหาก่อนที่จะวางรายละเอียดและกลวิธีปลีกย่อยในขั้นดำเนินการร
ขั้นแก้วิกฤติ เป็นตอนสุดท้ายจากกระบวนการวิเคราะห์สืบสวนและปฎิบัติการนำไปสู่การคลี่คลายวิกฤติ
5. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ หรือคิดตามหลักการและความมุ่งหมายว่าสัมพันธ์กันไหมเป็นวิธีคิดในระดับปฏิบัติการหรือลงมือทำ ไม่ลงมือปฏิบัติที่เลื่อนลอยงมงาย มีการก็ตรวจสอบตนเองให้ชัดเจนว่าเข้าใจหลักการและความมุ่งหมายของงานนั้นดีแล้วหรือไม่
6. วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก คือ มองให้ครบทั้งข้อดี ข้อเสีย(ในเสียมีดีในดีมีเสีย) และหาทางออก เน้นการศึกษาและยอมรับความจริงตามที่สิ่งนั้นๆเป็นอยู่ทุกแง่ทุกมุมเพื่อให้รู้และเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงทั้งด้านดี ด้านเสีย จุดอ่อน จุดแข็ง วิธีคิดแบบนี้มีความสำคัญมาก เพราะคนทั้งหลายมักจะตื่นตามกันและเอนเอียงง่ายพอจับได้อะไรดี ก็มองเห็นแต่ดีไปหมด พอจับได้ว่าอะไรไม่ดี ก็เห็นแต่เสียไปหมด ทำให้พลาดทั้งความรู้จริงและการปฏิบัติที่ถูกต้อง
7. วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม หรือการพิจารณาเกี่ยวกับปฏิเสวนา คือ การใช้สอยหรือบริโภค เป็นวิธีคิดแบบสกัดหรือบรรเทาตัณหา ตัดทางไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจแล้วชักจูงพฤติกรรมต่อไป วิธีคิดแบบนี้ใช้มากในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ และวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ทางเทคโนโลยี มีหลักการโดยย่อว่า คนเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆเพราะเรามีความต้องการ สิ่งใดที่สามารถสนองความต้องการของเราได้ สิ่งนั้นก็มีประโยชน์ มีคุณค่าแก่เรา คุณค่านี้จำแนกได้เป็น 2 ประเภท ตามชนิดของความต้องการ
คุณค่าแท้ หมายถึง ความหมาย คุณค่าที่สิ่งที่สนองความต้องการของชีวิตโดยตรง มนุษย์นำมาใช้ในการแก้ปัญหาของตน เพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนเองและผู้อื่น คุณค่านี้อาศัยปัญญาป็นเครื่องตีค่า จะเรียกว่าคุณค่าที่สนองปัญญาก็ได้ เช่น อาหาร มีคุณค่าเป็นประโยชน์สำหรับหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ มีสุขภาพดี มีกำลังเกื้อกูลแก่การปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น
คุณค่าเทียม หมายถึง ประโยชน์ของสิ่งที่มนุษย์พกให้แก่สิ่งนั้นเพื่อปรนเปรอการเสพเสวยเวทนา เพื่อเสริมความมั่งคั่งยิ่งใหญ่ของตัวตนที่ยึดถือไว้ คุณค่านี้อาศัยตัณหาป็นเครื่องตีค่า จะเรียกว่าคุณค่าที่สนองตัณหาก็ได้ เช่น อาหาร มีคุณค่าอยู่ที่ความเอร็ดอร่อย เสริมความสนุกสนาน หรือความโก้หรูหรา ความสวยงามเป็นเครื่องแสดงหรือวัดฐานะ เป็นต้นวิธีคิดแบบนี้ มุ่งให้เข้าใจและเลือกเสพคุณค่าแท้ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตอย่างแท้จริงเพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น คุณค่าแท้นี้นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริงแล้ว ยังเกื้อกูลต่อความเจริญงอกงามของกุศลธรรม เช่น ความมีสติ ทำให้พ้นจากความเป็นทาสของวัตถุตามกระแสวัตถุนิยม เป็นต้น
8. วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม เรียกง่ายๆว่า วิธีคิดแบบเร้ากุศล ส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรมและสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิที่ระดับต้นๆหลักการทั่วไปของวิธีคิดนี้มีอยู่ว่า ประสบการณ์ที่รับรู้ต่างกัน อาจมองเห็นและคิดนึกปรุงแต่งไปคนละอย่าง สุดแต่โครงสร้าง แนวทางความเคยชินที่เป็นเครื่องปรุงของจิต การตีค่าความดี ความเป็นธรรมยังมีมุมมองที่ต่างกัน สุดแต่การทำใจในขณะนั้นๆ คิดปรุงแต่งไปในทางดีงาม
9. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน คือวิธีคิดแบบมีปัจจุบันธรรมดาเป็นอารมณ์ความจริง ข้อที่จะต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษนั้นคือ เป็นการคิดที่สามารถรวมเอาเรื่องที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เรื่องที่ล่วงผ่านมาแล้ว และเรื่องของกาลภายหน้าเข้าในการเป็นอยู่ในปัจจุบันปัจจุบันในทางธรรม สิ่งที่เป็นปัจจุบันคลุมถึงเรื่องราวทั้งหลายที่เชื่อมโยงต่อกันมา
10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท โดยเเยกเเยะออกให้เห็นเเต่ละเเง่เเต่ละด้านให้ครบทุกด้าน ไม่ใช่จับเอาบางเเง่ขึ้นมาวินิจฉัยตีคลุมลงไปอย่างนั้นทั้งหมด วิธีคิดแบบนี้ทำให้ความคิดและการวินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ ชัดเจนตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง เท่าความจริง พอดีกับความจริง คือ ของความจริงให้ตรงตามที่เป็นอยู่ในเเง่นั้นด้านนั้น ไม่ใช่จับเอาความจริงเพียงเเง่หนึ่งมาตีคลุมเป็นอย่างนั้นไปหมดและ ไม่มองเเคบๆ ไม่ติดอยู่กับส่วนเดียวเเง่เดียวของสิ่งนั้น
เห็นได้ว่ากระบวนการความคิดทั้งสิบรูปแบบนี้สามารถประยุกต์ได้ในหลายมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคมการเมืองเป็นอย่างดีและที่สำคัญที่สำหรับทุกคนในฐานะต้องใช้ความคิดโดยเฉพาะความคิดการตัดสินในที่เกี่ยวกับการบ้านการเมืองที่มีความเปราะบางทางความคิดเช่นนี้
ที่มา
ชมพู โกติรัมย์. (2553). คิดอย่างไร เอกภาพและสมานฉันท์ในชาติจะเกิดมี. ค้นเมื่อ กันยายน 22, 2553,
จาก http://webcache.googleusercontent.com/
search?q=cache:xEgwVGBKrQIJ:dllibrary.spu.ac.th:8080/
dspace/bitstream/123456789/903/1/%E0%B8%99%E0%B8%B1%
E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%8A%E0%B8%B2%2520%E0%
B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%96%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B2%
E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%
9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%2520%E0%B8%
AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%
B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B8%
E0%B8%94%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82.doc+%
E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%96%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%
B2%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%
B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%
B2&cd=1&hl=en&ct=clnk&gl=th
|
|