ชุมนุมศิษย์เก่า
โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร
ปีการศึกษา 2501 - 2508


คำนำ

โรงเรียนของเรา

อดีตของเรา

ครูของเรา

กิจกรรมของเรา

ติดต่อถึงเรา

Home

โรงเรียนของเรา

โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานครในเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ 42 ตารางวา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชกำเนิดเมื่อ ร.ศ.119 (พ.ศ. 2443) ในชั้นต้นที่อาคารชั่วคราวหลังมุงจากใช้เสื่อลำแพนกั้นเป็นประตูและหน้าต่าง เพียงหลังเดียว พระองค์ทรงกำหนดหลักสูตรแนวการสอนด้วยพระองค์เอง และเปิดสอนตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2446 มีนักเรียน 40 คน เป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์โดยตรง ไม่ขึ้นตรงต่อกระทรวงธรรมการสมัยนั้น หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ ชั้นผู้ใหญ่และเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ร่วมกันวางแผนปรับปรุงโรงเรียนมัธยม วัดเบญจมบพิตร ที่สำคัญยิ่งก็คือ พระองค์ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างอาคารถาวร เป็นตึกทรงยุโรป ทรงเป็นห่วงใยในเรื่องการก่อสร้างเป็นอย่างยิ่ง แม้ในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องได้รับพระราชทาน บรมราชานุญาตทุกอย่าง ขณะที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรปได้โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถเสด็จมาทรงควบคุมแทนพระองค์ ตึกหลังนี้ได้รับพระราชทานนามว่า “โรงเรียนเบญจมบพิตร” เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน รัตนโกสินทรศก 121(พ.ศ. 2445)

หลังที่ 1 (พุทธเจ้าหลวง ตึกสีชมพู)

สร้างเสร็จเมื่อพ.ศ. 2445 เป็นแบบพิเศษ 2 ชั้น 16 ห้องเรียน ทรงยุโรป ราคาก่อสร้าง 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อาคารหลังนี้ได้รับการซ่อมแซมหลายครั้ง ครั้งหลังสุด กรมสามัญศึกษาได้ทำการซ่อมแซมเมื่อ พ.ศ. 2525 ใช้งบประมาณ 2.4 ล้านบาท อาคารเรียนหลังนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็น อาคารสถานที่ราชการอนุรักษ์ดีเด่นของสถาปนิกสมาคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานโล่รางวัล และประกาศนียบัตร แก่โรงเรียนเมื่อพ.ศ. 2528 ปัจจุบันอาคารเรียนหลังนี้ยังมั่นคง แข็งแรง และสง่างาม โรงเรียนใช้เป็นสำนักงานของฝ่ายบริหารโรงเรียน ห้องเกียรติยศ

หลังที่ 2 (เทพศึกษา)

สร้างเมื่อพ.ศ. 2507 เป็นอาคารเรียน 3 ชั้น ขนาด 15 ห้องเรียน ราคาก่อสร้าง 1.5 ล้านบาท ใช้เป็นห้องคอมพิวเตอร์ 2 ห้อง ห้องกลุ่มบริหารกิจการนักเรียน 1 ห้อง
ห้อง Resource Center 1 ห้อง ห้องสมุด 5 ห้อง ห้องเรียนวิชาภาษาไทย 4 ห้องและห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย 1 ห้อง

หลังที่ 3 (พุทธิศึกษา)

สร้างเมื่อพ.ศ. 2517 เป็นอาคารเรียน 4 ชั้น ขนาด 20 ห้องเรียน ราคาก่อสร้าง 2.4 ล้านบาท ใช้เป็นห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา 1 ห้อง ห้องกลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาต่างประเทศ 1 ห้อง และห้องกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม 1 ห้อง ห้องเรียนเกษตร 1 ห้อง ห้องเรียน ICP 2 ห้อง ห้องร้านค้าสหกรณ์โรงเรียน 1 ห้อง ห้องพระพุทธศาสนา 1 ห้อง

หลังที่ 4 (ธรรมศึกษา)

สร้างเมื่อพ.ศ. 2520 เป็นอาคารเรียน 4 ชั้น ขนาด 20 ห้องเรียน ราคาก่อสร้าง 3.9 ล้านบาท ใช้เป็นห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิศาสตร์ 1 ห้อง ห้องเรียนศิลปะ 3 ห้อง ห้องเรียน คณิตศาสตร์ 4 ห้อง ชั้นล่างเป็นห้องประชุม และห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ 1 ห้อง

หลังที่ 5 (รัตนโกสินทร 200)

สร้างเมื่อพ.ศ. 2522 แบบพิเศษ 4 ชั้น ราคาก่อสร้าง 3.3 ล้านบาท ใช้เป็นโรงฝึกงาน โรงอาหาร และห้องปฏิบัติการทางภาษา 1 ห้อง และห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ และเทคโนโลยี จำนวน 4 ห้อง

หลังที่ 6 (อาคารพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก)

สร้างเมื่อ พ.ศ.2528 แบบพิเศษ 3 ชั้น ขนาด 12 ห้องเรียน ราคาก่อสร้าง 5 ล้านบาท พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก สร้างให้ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว ใช้เป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ 12 ห้อง และ ห้องกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ 1 ห้อง

หลังที่ 7 (เรือนพยาบาลพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก)

เป็นอาคารเรือนทรงไทย พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และคุรุภัณฑ์ขนาด 4 เตียง สร้างด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวของพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ราคาก่อสร้าง 250,000 บาท

เครื่องหมายประจำโรงเรียน

เครื่องหมายประจำโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ประกอบด้วย 1. พระเกี้ยวน้อยเปล่งรัศมี มีเลข ๕ อยู่ข้างล่าง ซึ่งเป็นเครื่องหมายประจำพระองค์ รัชกาลที่ 5 ผู้พระราชทาน กำเนิดโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร 2. อักษร “บ.บ.” อยู่ใต้ตัวเลข ๕ เป็นอักษรย่อของโรงเรียน 3. คติธรรมประจำโรงเรียน คือ “อุฎฐาดา วินทฺเต ธนํ”

ปูชนียวัตถุเป็นที่เคารพสักการะบูชาอย่างสูงของชาวเบญจมบพิตร
1. สมเด็จพระพุทธชินราช พระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
2. พระสรีรังคารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานอยู่ใต้รัตนบัลลังก์ขององค์สมเด็จพระพุทธชินราช ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร
3. พระบรมรูปประทับยืนขนาดใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ศาลาร้อยปี ปิยมหาราชานุสรณ์

คติธรรมประจำโรงเรียน

“อุฎฐาดา วินทฺเต ธนํ” หมายความว่า ผู้หมั่นย่อมหาทรัพย์ได้

คำขวัญของโรงเรียน

“ขยัน อดทน เป็นคนดี สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา”

สีประจำโรงเรียน

ชมพู - เหลือง

ชมพู เป็นสีประจำวันอังคาร ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสัญลักษณ์เตือนใจนักเรียนและครู - อาจารย์ของโรงเรียน ให้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

เหลือง เป็นสีของพระพุทธศาสนา หมายถึง โรงเรียนตั้งอยู่ในวัดเบญจมบพิตร เป็นสัญลักษณ์เตือนใจอของครู นักเรียนของโรงเรียนให้กระทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ประกอบในสิ่งที่ผิด ฝึกชำระจิตใจ ให้บริสุทธิ์สะอาด ใช้ความสามารถคุ้มครองตนและเป็นคนมีธรรมะ คุ้มครองทุกเมื่อ

องค์ผู้อุปการะโรงเรียน

องค์ผู้อุปการะโรงเรียน คือ เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อดีต สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ กิตติโสภณมหาเถระสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคุณพรหมจริยาจารย์

ลำดับที่ พ.ศ. นามผู้บริหารโรงเรียน ชั้นเรียน
1. 2443 - 2447 พระยาบรรหารวรอรรถ (ฉัตร ยุกติรัตน)
2. 2447 - 2450 หลวงประศาสน์อักษรการ (โหมด เทวะผลิน) มูล - ม.3
3. 2450 - 2452 พระประกอบวุฒิสาท (ทิพย์ เปรมกมล) มูล - ม.2
4. 2452 - 2455 หลวงพิเพทย์นิติสรรค์ (ฮวดหลี หุตะโกวิท) มูล - ม.2
5. 2455 - 2458 พระชำนาญอนุสาสน์ (ทองคำ โคปาลสุต) มูล - ม.2
6. 2458 - 2465 พระสันธิวิทยาพัฒน์ (ไล่เฮียง ศิริสิงห์) ม.1 - ม.7
7. 2465 - 2468 พระพณิชยสารวิเทศ (ผาด มนธาตุผลิต) ม.1 - ม.8
8. 2468 - 2472 หลวงสันธานวิทยาสิทธิ์ (กำจาย พลางกูร) ม.1 - ม.8
9. 2472 - 2473 หลวงแจ่มวิชาสอน (แจ่ม นิยมเหตุ) ม.3 - ม.6
10. 2473 - 2475 พระยาประมวลวอชาพูล (วงษ์ บุญ-หลง) ม.3 - ม.8
11. 2475 - 2476 นายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา ม.3 - ม.8
12. 2476 - 2476 หลวงชุมวิชากิจ (ชุม โปตรนันท์) ม.3 - ม.8
13. 2476 - 2477 หลวงปราโมทย์จรรยาวิภาช (ปราโมทย์ จันทวิมล) -
14. 2477 - 2478 หลวงลือล้ำศาสตร์ (เลื่อน ศรีวรรธนะ) ม.4 - ม.8
15. 2478 - 2479 พระดรุณพยุหรักษ์ (บุญเย็น ธนโกเศศ) ม.4 - ม.6
16.2479 - 2481 หลวงทรงวิทยาศาสตร์ (ทรง ประนิช) ม.1 - ม.6
17. 2481 - 2485 นายถวิล ดารากร ณ อยุธยา ม.1 - ม.6
18. 2485 - 2489 นายเทือก กุสุมา ณ อยุธยา ม.1 - ม.6
19. 2489 - 2491 นายพร ทองพูนศักดิ์ ม.1 - ม.6
20. 2491 - 2493 นายสุดใด เหล่าสุนทร ม.1 - ม.6
21. 2493 - 2498 นายร่นเดช เดชกุญชร ม.1 - ม.6
22. 2498 - 2505 ขุนศิลปพิศิษฏ์ (ประเสริฐ จุลฤกษ์) ม.1 - ตร.1
23. 2505 - 2507 นายบุญอวบ บูรณะบุตร ม.3 - ต.2
24.2507 - 2511 นายทองสุก เกตุโรจน์ ม.ศ.1 - ม.ศ.5
25. 2511 - 2516 นายแก้ว อุปพงศ์ ม.ศ.1 - ม.ศ.5
26. 2516 - 2526 นายลพ ชูแข ม.ศ.1 - ม.ศ.5
27. 2526 - 2533 นายวิสิทธิ์ คำปันศักดิ์ ม.1 - ม.6
28. 2533 - 2539 นายวิกรม ชุมสาย ณ อยุธยา ม.1 - ม.6
29. 2539 - 2544 นายสมชัย เชาว์พานิช ม.1 - ม.6
30. 2544 - 2545 นายสุนทร วิไลลักษณ์ ม.1 - ม.6
31. 2545 - 2547 นายจีระศักดิ์ จันทุดม ม.1 - ม.6
32. 2547 - 2549 นายบุญธรรม พิมพาภรณ์ ม.1 - ม.6
33. 2549 - 2550 นายสุรพล การบุญ ม.1 - ม.6
34. 2550 - ....... นายนาวี ยั่งยืน ม.1 - ม.6

 


Send comments to Chumpot@hotmail.com
Copyright © 2011
Revised:April 2002