|
หน่วยที่ 7
การจัดการความรู้ในชีวิตประจำวัน
ผศ.ดร.ไพโรจน์ ชลารักษ์
7.5 ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการความรู้
การจัดการความรู้เพื่อแก้ปัญหาไม่ว่าปัญหาเล็กหรือใหญ่ ปัญหาส่วนตัวหรือส่วนรวม ก็ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคในตัวของมันเองได้ เพราะการแก้ปัญหาหรือขจัดปัญหาต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง และไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวคงที่ในแต่ละประเภทของปัญหา หรือชนิดของปัญหา ความรู้เดิมประสบการณ์เดิมเป็นเพียงปัจจัยช่วยเหลือส่วนหนึ่งเท่านั้น ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะแก้ไขต้องใช้วิธีการจัดการความรู้เฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหานั้น โดยทั่วไปการจัดการความรู้เพื่อการแก้ปัญหาจะมีอุปสรรคหรือปัญหาสำคัญ ๆ ดังนี้
1)การไม่รู้ปัญหา หรือไม่ทราบว่าเป็นปัญหาหรืออาจรวมเรียกว่าไม่ตระหนักในปัญหาอาจเกิดเพราะความเคยชินที่พบเห็นหรืออยู่กับภาวะการณ์อย่างนั้นมานาน เช่น ปัญหาสุขภาพส่วนตัว บางคนไม่รู้ว่าสายตาตนเองผิดปกติทำให้เกิดอาการปวดศีรษะหรือคอเอียงจน บุคลิกภาพเสียไป หรือตัวอย่างปัญหาในองค์กร เช่น คนในองค์กรมาทำงานสาย เหมือนกันหมด ไม่มีใครรู้สึกเดือนร้อน แต่องค์กรได้ผลงานน้อยลงเพราะเวลาทำงานของคนในองค์กรหายไปบางส่วนหรือปัญหาสาธารณะ ได้แก่ การไม่ตระหนักในความปลอดภัย ของตนเองในการขับขี่ยานพาหนะจึงไม่ชอบป้องกันโดยการสวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ชอบหาโอกาสขับรถฝืนสัญญาณจราจร เป็นต้น
2)ไม่สามารถหาหรือระบุสาเหตุ และส่วนประกอบของปัญหาได้ถูกต้องแน่ชัดทำให้ วางแผนแก้ปัญหา หรือดำเนินการแก้ปัญหาไม่ได้หรือไม่สำเร็จ และหมายรวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องทำให้เป็นปัญหามีความสลับซับซ้อน ทำให้ผู้เผชิญปัญหาเข้าใจและคิดไปคนละทางไม่สามารถสรุปลงได้อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จึงแก้ปัญหาไม่ได้ความรู้ที่จะนำมาใช้จัดการกับปัญหาก็จะนำความรู้ที่ไม่ตรงไม่ถูกต้องกับภาวะปัญหามาใช้ ปัญหาหรืออุปสรรคข้อนี้เกิดจากการขาดความรู้หรือข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้องเพียงพอซึ่งจัดเป็นปัญหาหรืออุปสรรคข้อที่ 3
3)การขาดความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมและสมบูรณ์เพียงพอ จำเป็นต้องแสวงหาความรู้เพิ่มมาจัดการ แต่การหาความรู้มาเพิ่มเติมหากปัญหาข้อที่สองคือ การวินิจฉัยส่วนประกอบของปัญหาไม่ถูกต้อง ความรู้ที่หาเพิ่มมาแม้หาได้ก็ใช้ไม่ได้สำเร็จ ปัญหาข้อสองและสามจึงเป็นเหตุและผลหรือถ่วงดึงซึ่งกันและกันอยู่ในตัว
4)การตัดสินใจของผู้แก้ปัญหาหรือผู้เผชิญปัญหา มีความเป็นปัญหาอยู่สองลักษณะ คือ
(1)ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวผลที่ได้รับตามมาจะเป็นผลร้าย หรือไม่เป็นที่พอใจ
ทั้งตนเองและผู้ร่วมรับผลอื่น เมื่อปล่อยทิ้งไว้สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไขยังคงเป็นปัญหาอยู่
(2)ตัดสินใจผิดพลาด มักเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ การได้ข้อมูลความรู้มาไม่ครบถ้วนไม่ถูกต้อง ไม่ตรง หรือผู้เกี่ยวข้อมีหลายคนแล้วมีความเห็นไม่เป็นเอกภาพ คือขัดแย้งกันทำให้ต้องเลือกตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเสี่ยง (risk) โอกาสผิดพลาดจึงมีขึ้นได้
5)การถูกแทรกแซง หรือการไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้อง ทุกปัญหาแม้จะเป็นปัญหาส่วนตัวแต่การแก้ปัญหาโดยใช้ความรู้มาจัดการต้องอาศัยผู้อื่นให้ความร่วมมือด้วยเสมอและเมื่อมีบุคคลหลายคนเกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจและมีหน้าที่ ทัศนะต่อปัญหาและผลรับที่ได้ไม่เหมือนกันย่อมทำให้ความจริงจังจริงใจที่จะร่วมมือแก้ปัญหาไม่เท่ากัน ก็จะเกิดความไม่ราบรื่นกัน เท่ากับเป็นการถูกแทรกแซงกระบวนการแก้ปัญหาในตัวของมันเอง
6)ปัจจัยสนับสนุนไม่เพียงพอ แม้การวางแผนล่วงหน้าจะกระทำอย่างดีและรอบคอบแต่เมื่อการแก้ปัญหาทุกชนิดต้องใช้เวลา ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นเองในตัวปัญหาปัจจัยแวดล้อมและทรัพยากรที่เตรียมไว้อาจไม่เพียงพอ หรือไม่เหมาะสมตามที่คาดการณ์หรือวางแผนไว้ทำให้การแก้ปัญหาไม่สำเร็จ หรือไม่เรียบร้อยดังหวัง
7)ความตั้งใจและความมานะพยายามที่จะแก้ปัญหา ข้อนี้น่าจะเป็นข้อสำคัญที่สุดที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการจัดการความรู้เพื่อแก้ปัญหา เพราะปัญหาหลายอย่างต้องการความรู้หลายสาขา ลึกซึ้ง มากมายเกี่ยวข้องกับหลายคนหลายสิ่งทำให้ผู้เผชิญปัญหาต้องสัมผัสเรียนรู้จัดการกับความรู้หลายเรื่องหลายด้าน จนบางครั้งเป้าหมายของการจัดการความรู้เปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว เป้าหมายการแก้ปัญหาเปลี่ยนไป ผู้เผชิญปัญหาเกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย สิ้นหวัง มองไม่เห็นโอกาสสำเร็จ ซึ่งทำให้ไม่มีกำลังใจสู้ต่อไป เมื่อขาดความมุ่งมั่น หมดกำลังใจเสียแล้ว ก็ถือได้ว่าไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้เลย
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com
|
|