|
หน่วยที่ 7
การจัดการความรู้ในชีวิตประจำวัน
ผศ.ดร.ไพโรจน์ ชลารักษ์
7.3 สาเหตุของปัญหา
ปัญหาในชีวิตประจำวันของคนมีมากมายหลายลักษณะหลายแบบแต่สามารถสรุปสาเหตุหลัก ๆ ได้ 2 สาเหตุใหญ่ คือ
1) สาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ลม อากาศ หรืออุณหภูมิ และอื่น ๆ มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลามนุษย์ห้ามไม่ได้ อาจป้องกันและแก้ไขได้บ้าง หรือทำให้ความเป็นปัญหามีความรุนแรงหรือมีผลกระทบเสียหายน้อยลงได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ร้อน หนาว การเปลี่ยนแปลงทิศทางของลม การไหลของน้ำ เป็นต้น สาเหตุจากธรรมชาติส่งผลโดยตรงต่อมนุษย์ ได้แก่ ทำให้เดือนร้อนต้องหาเสื้อผ้ามากขึ้นเมื่ออากาศเปลี่ยนเป็นหนาว หรือถอดเสื้อผ้าหนาๆ ออกทิ้งหากอากาศร้อนเกินไป และส่งผลกระทบทางอ้อม เช่น ทำให้พืชผักที่มนุษย์ปลูกมีการเจริญเติบโตได้ช้าลง หรือเร็วขึ้นกว่าเดิมซึ่งเป็นเรื่องไม่ปกติ การทำงานของเครื่องยนต์กลไกติดขัด อาหารที่เก็บสะสมไว้เสียหาย เป็นต้น
2) สาเหตุจากการกระทำของมนุษย์ การกระทำของมนุษย์นั้นเพื่อแก้ปัญหาเดิมที่ตนเองเผชิญอยู่แต่ก็สร้างปัญหาใหม่หรือเป็นเงื่อนไขให้เกิดปัญหาใหม่ให้มนุษย์ต้องเผชิญต่อไปอีก เป็นภาวะการณ์อย่างที่จะดำเนินไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด บางเรื่องเป็นปัญหาเดิมหรือแบบเดิมกลับมาเกิดครั้งใหม่ หรือบางเรื่องก็เป็นปัญหาใหม่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน แต่มีสาเหตุมาจากปัญหาเดิม มนุษย์จึงต้องเผชิญปัญหาตลอดเวลา จึงเรียกได้ว่าเป็นปัญหาในชีวิตประจำวัน ตัวอย่าง เช่น มนุษย์ต้องกินอาหาร จึงต้องเตรียมอาหาร หรือผลิตวัตถุเพื่อเป็นอาหาร มีการก่อไฟใช้ความร้อน มีการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การก่อไฟก็ทำให้เกิดปัญหาอัคคีภัยหรืออันตรายจากการถูกหรือสัมผัสของร้อนให้เกิดการไหม้พองอวัยวะต่าง ๆ การปลูกพืชทำให้ต้องมีการใช้ที่ดิน แย่งชิง ครอบครองที่ดินต้องใช้น้ำ ต้องแสวงหาน้ำทำให้น้ำขาดแคลน การเลี้ยงสัตว์ทำให้เกิดโรคระบาดติดต่อเพราะความสกปรกจากสัตว์ ถูกสัตว์ทำร้ายต่าง ๆ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งอุบัติเหตุจากการใช้เครื่องจักรกล เครื่องยนต์ ไฟฟ้า และการก่ออาชญากรรมก็เป็นปัญหาที่มนุษย์สร้างทั้งสิ้น ผลกระทบที่เกิดจากการแก้ปัญหา เช่นเดินทางโดยใช้พาหนะที่เป็นรถยนต์ใช้เครื่องยนต์ ก็ก่อให้เกิดปัญหามลพิษอากาศเสียตามมา เป็นต้น
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com
|
|