|
หน่วยที่ 6
การนำเสนอและการเผยแพร่ความรู้
6.3เทคนิควิธีและเครื่องมือในการนำเสนอความรู้
การนำเสนอความรู้เป็นกระบวนการ จึงมีลำดับขั้นตอนและเทคนิควิธีเป็นไปโดยลำดับ
กระบวนการดังกล่าวมีขั้นตอนดังนี้
1)ตั้งวัตถุประสงค์ของการนำเสนอความรู้ คือการกำหนดว่านำเสนอความรู้เพื่ออะไร เช่น นำเสนอความรู้เรื่องการป้องกันโรคเอดส์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์อย่างครบถ้วนรอบด้านและเชื่อมั่นได้ว่าหากปฏิบัติตามความรู้ที่เสนอให้แล้วจะปลอดภัยจากการเป็นโรคเอดส์ เป็นต้น
2)เตรียมสาระความรู้เพื่อการนำเสนอให้ครบถ้วนและเพียงพอดังรายละเอียด ในหัวข้อ 6.2 แล้ว
3)กำหนดวิธีการนำเสนอ ในขั้นนี้ต้องพิจารณาถึงลำดับสาระต่าง ๆ ทั้งสาระหลัก
และสาระประกอบ ความมากน้อยของข้อมูลรายละเอียดเทคนิควิธีการนำเสนอที่เหมาะสม การผสมผสานเทคนิควิธีและการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมซึ่งการนำเสนอจะใช้วิธีพูดปากเปล่าหรือใช้สื่อชนิดต่าง ๆ ชนิดใดบ้าง และอาจใช้กิจกรรมเป็นสื่อการนำเสนอด้วยก็ได้ ส่วนจะเป็นกิจกรรมอะไรบ้าง ต้องพิจารณาให้เหมาะสมแล้วกำหนดไว้ล่วงหน้า รวมทั้งกำหนดเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้เพื่อการนำเสนอด้วย
4)ทดลองนำเสนอ เป็นการทดสอบให้เกิดความมั่นใจได้ว่ากระบวนวิธีและเครื่องมือรวมทั้งสาระที่เตรียมนั้นจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นเรียบร้อยตามแผนที่วางไว้ไม่มีอะไรติดขัดหรือบกพร่อง รวมทั้งเมื่อทดลองนำเสนอเสร็จแล้วบังเกิดผลตามเป้าหมายหรือไม่ด้วย
(5)ประเมินผลการนำเสนอ และการปรับปรุงแก้ไขหลังจากทดลองนำเสนอแล้วจะสามารถประเมินได้ว่าบรรลุวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายหรือไม่ แต่มิใช่เป็นการนำเสนอจริง การประเมินผลขั้นนี้เป็นขั้นตรวจสอบหาความบกพร่อง หรืออุปสรรคหรือปัญหาอันจะเกิดขึ้นระหว่างการนำเสนอ เช่นสื่อหรือเครื่องมือทางเทคโนโลยีไม่ทำงาน ภาพไม่ชัดเจน เสียงไม่ชัด มีความเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป เป็นต้น ซึ่งเมื่อพบในขั้นทดลองแล้วต้องปรับปรุงแก้ไขและ ทดลองใหม่จนกว่าจะได้ผลที่แน่ใจ
6)การนำเสนอจริง หมายถึงการนำเสนอต่อกลุ่มบุคคลเป้าหมายจริงตามลำดับขั้นตอนที่เตรียมไว้ และทดลองไว้แล้วใน ข้อ 5 ซึ่งเป็นกลุ่มทดลองเท่านั้น
เทคนิควิธีการนำเสนอความรู้ มีวิธีหลายวิธีและมีเทคนิคมากมาย แต่โดยสรุปแล้ว
อาจทำได้ด้วย เทคนิควิธี ดังนี้
1)นำเสนอด้วยวาจา (verbal presentation) หมายถึงการพูดอธิบายหรือบรรยายให้ผู้ฟังได้ฟังในสาระทั้งหมดของเรื่องหรือประเด็นความรู้
2)นำเสนอด้วยสื่อ และเครื่องมือชนิดต่าง ๆ (media presentation) เช่นเป็นข้อเขียน
หรือบทความหรือหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นรูปภาพชนิดต่าง ๆ เป็นแผนภูมิ เป็นสถิติหรือภาพกราฟฟิกต่าง ๆ ซึ่งทำได้ทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหว
3)นำเสนอด้วยระบบผสม (mixed presentation) หมายถึงการใช้ระบบที่ 1 และ 2 ผสมกัน คือมีนำเสนอด้วยสื่อในรูปแบบต่าง ๆ และมีคำพูดและคำอธิบายประกอบไปด้วย หากการนำเสนอด้วย melti media มีการบันทึกเสียงบรรยายประกอบไปด้วยแล้ว ในการนำเสนอจริง ผู้นำเสนอก็สามารถพูดเพิ่มเติมหรืออธิบายเพิ่มเติมได้อีก
4)การนำเสนอด้วยวิธีการสาธิต หรือทดลองทำให้ดู หรือนำชมสถานที่จริงหรือให้ผู้รับการเสนอได้ศึกษาสังเกตจากการปฏิบัติงานหรือพฤติกรรมจริงของผู้ปฏิบัติ วิธีนี้จะใช้ประกอบการบรรยายหรือการนำเสนอด้วยวาจาเป็นส่วนมาก เช่นการนำเสนอความรู้เรื่องเทคนิคการก่อสร้างสมัยโบราณ โดยการนำชมและอธิบายโบราณสถานต่าง ๆ เป็นต้น
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com
|
|