|
หน่วยที่ 5
การประเมินคุณค่าและการใช้ประโยชน์จากความรู้
ผศ.ฑัณฑิกา ศรีโปฎก
5.6 การประยุกต์ความรู้
การประยุกต์ความรู้ หมายถึง การนำความรู้เรื่องหนึ่งไปปรับให้ใช้ได้กับอีกเรื่อง
หนึ่งที่มิใช่เรื่องเดิม แล้วได้ผลออกมาตามวัตถุประสงค์ และตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ตัวอย่างการประยุกต์ความรู้ ตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ การทำอาหารมังสวิรัติ หมายความว่าบางคนไม่รับประทานเนื้อสัตว์ซึ่งมีสารอาหารโปรตีนที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่คนมีความรู้ว่าสารอาหารโปรตีนชดเชยได้ด้วยการรับประทานพืช คือ ถั่วเหลืองแทนได้ การประยุกต์ความรู้เกิดขึ้นเมื่อคนสามารถนำ ถั่วเหลืองมานึ่งแล้วบดละเอียด ปั้นคลุกจนเป็นก้อนเหนียว มีคุณสมบัติคล้ายลูกชิ้นที่ทำขึ้นจากเนื้อสัตว์ เมื่อเวลารับประทานลูกชิ้นที่ทำจากถั่วเหลืองจะมีรสชาติเหมือนรับประทานลูกชิ้นเนื้อสัตว์ และได้สารอาหารโปรตีนครบถ้วน จึงทำให้ไม่ต้องรับประทานเนื้อสัตว์ตามที่ตั้งใจแต่ยังรักษาความเป็นผู้ได้รับรสชาติและสารอาหารโปรตีนอันจำเป็นได้ครบถ้วนดังนี้ เป็นต้น
สิ่งที่ต้องพิจารณาในการประยุกต์ใช้ความรู้ มีดังนี้
1) วัตถุประสงค์ของการประยุกต์ความรู้ ผู้มีความรู้ต้องกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายก่อนว่าจะประยุกต์ความรู้อะไรเพื่อให้ได้ประโยชน์อะไร จากนั้นจึงลงมือทำการประยุกต์ ตัวอย่างเช่น ผู้มีความรู้เรื่องดนตรี ต้องการใช้วัสดุเหลือใช้ หรือเศษวัสดุทิ้งแล้วมาทำเครื่องดนตรี แทนวัสดุที่หายาก วัตถุประสงค์ คือ ต้องการสร้างเครื่องดนตรีชนิดใหม่ และราคาถูกจึงนำวัสดุเหลือใช้มาทำให้เป็นประโยชน์ เป็นต้น
2) ความรู้ที่นำมาประยุกต์ ส่วนมากจะไม่ใช่ความรู้เดี่ยวๆ เรื่องเดียว แต่จะต้องใช้
ความรู้หลายๆ ส่วนมาผสมผสานกันเข้าภายในสาขาความรู้หลักอันเดียวกัน ตัวอย่าง เช่น ความรู้ทางด้านดนตรี ผู้ต้องการประยุกต์ใช้วัสดุสร้างเครื่องดนตรี ก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับวัสดุหลักของเดิมที่ใช้ทำเครื่องดนตรีและเสียงที่ได้จากเครื่องดนตรีที่ผลิตโดยวัสดุหลักนั้นก่อน ต่อจากนั้นจึงใช้ความรู้อื่นเกี่ยวกับวัสดุที่สามารถใช้แทนกันได้ ซึ่งจะมีหลายอย่าง จำเป็นต้องเลือกบางอย่างที่พิจารณาหรือมีความรู้ความเข้าใจคุณสมบัติเฉพาะดีแล้วว่าสามารถใช้ได้มาใช้แทน แล้วทดลองทำดูก็จะทราบผลการประยุกต์ได้ เช่น การทำกะโหลกซอด้วง อาจทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เจาะกลึง หรือทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ หรือทำด้วยท่อโลหะ ท่อวัสดุสังเคราะห์ กระป๋องสังกะสี เหล่านี้เป็นต้น แต่เมื่อประยุกต์ใช้แทนกันแล้วผลลัพธ์ที่ออกมาจะมีความแตกต่างกันปรากฏชัด เช่น คุณภาพเสียง ความสวยงาม ความคงทน น้ำหนักหรืออื่น ๆ เป็นต้น เท่ากับเป็นการได้ความรู้เพิ่มเติมจากการประยุกต์ใช้ความรู้ไปด้วย
3) วิธีการประยุกต์ การประยุกต์ความรู้จะใช้วิธีใดนั้นจะขึ้นอยู่กับผู้ต้องการประยุกต์มีความรู้เดิมอยู่มากหรือน้อย ผู้มีความรู้มากหรือกว้างขวางลึกซึ้ง จะสามารถประยุกต์ความรู้ได้มากกว่าผู้มีความรู้น้อย แต่การที่จะประยุกต์ได้หรือไม่จะขึ้นอยู่กับบุคคลผู้นั้นว่ามีความสามารถในการประยุกต์เพียงใด ความสามารถในการประยุกต์ความรู้ หมายถึงความฉลาดของคนที่จะนำเอาความรู้เรื่องหนึ่งไปเชื่อมโยงใช้ผสมกับอีกเรื่องหนึ่ง เป็นการคิดโดยมีจินตนาการสูงประกอบ และมองความสัมพันธ์ของความรู้ 2 อย่าง ในมิติที่ไม่เหมือนเดิมดังตัวอย่างเรื่องการทำลูกชิ้นจากถั่วเหลืองเป็นอาหารมังสะวิรัติ เป็นต้น ผู้ที่จะประยุกต์ความรู้ได้ดีจะต้องเป็นผู้ฉลาด มีความคิดสร้างสรรค์ (creative thinking) สูง
4) โอกาสในการประยุกต์ใช้ความรู้ การสร้างหรือทำอะไรอย่างหนึ่งเพื่อใช้ทดแทนของเดิมเรียกว่าเป็นการประยุกต์ใช้เช่นกัน เช่น เมื่อมีความจำเป็นต้องในขั้นสูงโดยใช้บันไดแต่เวลานั้น และที่นั้นไม่มีบันไดให้ใช้ แต่มีเชือกเส้นใหญ่ยาวอยู่หากคนสามารถใช้ความรู้ประยุกต์โดยการผูกเชือกให้เป็นบันไดขึ้นมาใช้แทนบันไดไม้หรือโลหะใช้ได้ การประยุกต์ใช้
ความรู้จึงเกี่ยวข้องกับโอกาสอยู่มาก ในยามจำเป็นบ่อยครั้งผู้มีความรู้มากหลายสาขาและมีความคิดสร้างสรรค์สูงจะแก้ปัญหาได้ดี โดยการประยุกต์ใช้ความรู้ได้เหมาะสมกับโอกาสดังตัวอย่างที่กล่าวนี้
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com
|
|