หน่วยที่ 5
การประเมินคุณค่าและการใช้ประโยชน์จากความรู้
ผศ.ฑัณฑิกา ศรีโปฎก
5.3 วิธีการประเมินคุณค่าของความรู้
การประเมินเป็นวิธีการตรวจวัดโดยประมาณ ซึ่งผลที่ได้จะไม่เป็นค่าตัวเลขที่ตายตัวถูกต้องแน่นอน โดยเฉพาะการประเมินความรู้ซึ่งเป็นเรื่องนามธรรมยิ่งทำได้ยาก วิธีการประเมินความรู้จึงควรให้ผู้รู้ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นผู้ให้ความเห็น โดยอาจจะทำการสอบถามความเห็นจากผู้รู้หลาย ๆ คน หรือตรวจสอบหลักฐาน จากหลาย ๆ แหล่ง หากความรู้เรื่องใดผู้รู้ให้ความเห็นตรงกันมากว่ามีคุณค่าสูง มีความถูกต้องสูง มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากและทันสมัยจริง ก็สามารถอนุมานได้ว่าความรู้นั้นมีคุณค่าหากนำมาใช้ประโยชน์เพราะคุณค่าแท้จริงของสิ่งใดก็ตาม หมายถึงประโยชน์ที่เกิดจากการใช้สิ่งนั้นมากหรือน้อยเพียงใดนั่นเอง หากความรู้เรื่องใดนำมาใช้แล้วเกิดประโยชน์มากก็ย่อมมีคุณค่ามาก การประเมินคุณค่าความรู้อาจทำได้ 2 ทาง คือ
1) ประเมินโดยผู้รู้ หมายถึง แสดงความรู้นั้นออกมาให้ผู้รู้เป็นผู้ประเมินหลาย ๆ คน
หรือตรวจสอบกับแหล่งความรู้เฉพาะทางนั้น ๆ หลาย ๆ แหล่ง ก็จะได้รับคำตอบหรือการวินิจฉัยคุณค่าของความรู้ออกมาโดยตรง วิธีนี้อาจเรียกว่าเป็นการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้
2) ประเมินโดยทดลองปฏิบัติ หมายถึง ผู้ต้องการประเมินคุณค่าความรู้ได้นำเอา
ความรู้นั้นไปทดลองปฏิบัติใช้ แล้วได้ผลเป็นประการใด ก็สามารถสรุปว่ามีคุณค่ามากน้อยเพียงใด เช่น ต้องการประเมินความรู้เรื่องเทคนิควิธีการย้อมผ้า เมื่อนำความรู้เรื่องเทคนิควิธีย้อมผ้าหลาย ๆ วิธีมาทดลองทำแล้วเมื่อได้ผลออกมา แต่ละวิธีเป็นอย่างไรก็เปรียบเทียบกันดู ผลสรุปก็จะปรากฏได้เอง วิธีนี้เรียกว่าเป็นการประเมินผลจากการทดลองปฏิบัติ
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com
|