หน่วยที่ 4
การแสวงหาความรู้ การค้นคืนความรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศ
รศ.อัญญาณี คล้ายสุบรรณ์
4.3 ขอบข่ายของการแสวงหาความรู้
การแสวงหาความรู้มีขอบข่ายกว้างขวางเพียงใดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และประโยชน์ของความรู้ที่ต้องการและแสวงหาได้ หมายความว่าต้องการความรู้มากน้อยเพียงใด และจะใช้ประโยชน์เพื่ออะไร ใช้แก้ปัญหาหรือพัฒนาอะไรบ้าง หากกล่าวโดยรวมแล้ว ขอบข่ายของการแสวงหาความรู้ จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และประโยชน์ของมนุษย์ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 มิติ ดังนี้
4.4 วัตถุประสงค์ของการแสวงหาความรู้
การแสวงหาความรู้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการหลัก คือ
1) เพื่อนำความรู้มาใช้ประโยชน์พิจารณาจากประโยชน์ได้ 2 ด้าน คือ
(1) การแสวงหาความรู้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว หมายถึง บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องการความรู้เรื่องใด เพื่อประโยชน์อะไร ก็จะแสวงหาความรู้ที่ต้องการนั้นจนกว่าจะถึงจุดแห่งความพอใจ ก็จะสิ้นสุดขอบข่ายการแสวงหาความรู้ของบุคคลนั้น โดยการละเลิกความใส่ใจ และความพยายามรู้เรื่องนั้นไปสู่เรื่องอื่น
ประเด็นนี้ไม่ได้หมายความถึงการแสวงหาความรู้ไม่ได้ หรือได้ยังไม่พอกับความต้องการเพราะบางครั้งบุคคลต้องการความรู้เพื่อตอบข้อสงสัยบางอย่าง หรือเพื่อไว้แก้ปัญหาบางอย่าง แต่ความรู้ที่แสวงยังไม่เพียงพอคือยังไม่สามารถตอบข้อสงสัยให้กระจ่างได้เป็นที่พอใจ หรือใช้แก้ปัญหาไม่ได้สำเร็จแต่ไม่สามารถหาได้ต่อไปแล้วกรณีนี้ถือว่ายังไม่สิ้นสุดขอบข่ายของการแสวงหาความรู้แม้จะต้องหยุดการแก้ปัญหาหรือการทำงานไว้ก่อน แต่การแสวงหาความรู้ต่อไปยังดำรงอยู่
(2) การแสวงหาความรู้เพื่อบุคคลอื่นหรือเพื่อสังคมส่วนรวม หมายถึง การทำหน้าที่มนุษย์อย่างหนึ่งในการแสวงหาหรือพัฒนาความรู้ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้บุคคลอื่นหรือสังคมส่วนรวมได้ใช้หรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม จึงเป็นหน้าที่การงานสำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ เช่น แพทย์ หรือนักวิทยาศาสตร์ พยายามทำงานด้วยความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ และวิธีรักษา ทั้ง ๆ ที่ตนเองมิได้เจ็บป่วยด้วยโรคนั้น ๆ แต่เพื่อให้ผู้อื่นที่เจ็บป่วยหรือได้รับทุกข์จากโรคภัยนั้นได้ใช้แก้ไขหรือบรรเทาปัญหาของเขาได้ กรณีนี้หมายรวมถึงการแสวงหาความรู้เพื่อรักษาและพัฒนาอาชีพของมนุษย์ด้วย
2) การแสวงหาความรู้เพื่อสนองความอยากรู้ อาจแสวงหาได้ 2 ทางเช่นกัน คือ
(1) การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับตัวเองเพื่อให้รู้และเข้าใจตัวเองมากขึ้น ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน
(2) การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งอื่นนอกจากตัวเอง ซึ่งจะได้แก่สิ่งแวดล้อมตัวคนทั้งในวงแคบใกล้ตัว และวงกว้างระดับโลกและจักรวาลก็ได้
ในอีกมิติหนึ่งขอบข่ายของการแสวงหาความรู้อาจมองจากลักษณะความรู้ที่แสวงหาได้เป็น 2 อย่างได้แก่
(1) การแสวงหาความรู้โดยไม่กำหนดขอบเขตหรือจำเพาะเจาะจง หมายถึง การที่มนุษย์มีโอกาสได้รับรู้เรียนรู้สิ่งรอบตัวใด ๆ ก็ได้ แล้วเก็บสะสมความรู้นั้นไว้ หรือบันทึกไว้ ตามโอกาสที่มี มิได้ขวนขวายเป็นการเฉพาะต่อไป การสะสมความรู้ประเภทนี้ ทำให้มนุษย์มีความสง่างามและมั่นคงในตัวเองมีความรู้มากมายหลากหลายกว้างขวาง บุคคลที่สะสมหรือแสวงหาความรู้ประเภทนี้จะกลายเป็นบุคคลประเภทนักปราชญ์ (scholar)
(2) การแสวงหาความรู้โดยจำเพาะเจาะจง เพียงด้านหนึ่งด้านใดหรือบางด้าน หมายถึง บางคนที่ทำการศึกษาค้นคว้าทดลอง หาความรู้ หรือประสบการณ์ให้รู้มาก ๆ หรือลึกซึ้งในความรู้เรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ อาจจะเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัวที่อยากรู้ หรือเพื่อหน้าที่การงาน หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก็ตาม ก็จะสั่งสมความรู้ เฉพาะทางนั้นไว้อย่างมากมายขึ้นเรื่อย ๆ บุคคลประเภทนี้จะกลายเป็นบุคคลประเภท ผู้เชี่ยวชาญ (expert)
ในมิติที่ 3 ของการแสวงหาความรู้เฉพาะทาง ซึ่งบ่งบอกถึงขอบข่ายของความรู้ที่แสวงหาได้ด้วย ก็คือการเอาตัวคนเป็นศูนย์กลางในการแสวงหาความรู้และที่ได้จะมาจากการแสวงหา 3 ทาง คือ
(1) การแสวงหาความรู้จากภายนอกตัวคน หมายถึง บุคคลแสวงหาความรู้จากการสัมผัส รับรู้ จากสิ่งที่อยู่ภายนอกตนด้วยอาการและวิธีการต่าง ๆ นานา ซึ่งจะได้แก่การใช้อวัยวะสัมผัสรับรู้ และนำสิ่งที่รับรู้ หรือสัมผัสนั้นมาสัมพันธ์กับความรู้เดิมในตนให้เกิดเป็นความรู้ใหม่หรือความรู้เดิมเพิ่มขึ้น
(2) การแสวงหาความรู้จากภายในตัวคน เป็นการใช้สมองคิดพิจารณาเชื่อมโยงความรู้ที่มีอยู่แล้วในตัวเอง หรืออาจรับมาใหม่จากภายนอกด้วยบางส่วน แล้วใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ เชื่อมโยง ให้เกิดข้อสรุปใหม่ขึ้นมา เรียกว่า เป็นความเข้าใจ (understanding) และอาจรู้ลึกซึ้งถึงขั้นเป็นการหยั่งรู้ หรือสำนึกรู้ (intuition) ขึ้นมาได้ ความรู้ประเภทนี้มักเกิดอย่างฉับพลันทันทีทันใด หลังจากขบคิด ใคร่ครวญ ไตร่ตรองมานานแล้วถือว่าเป็นการคิดแบบความรู้ใหม่แท้จริง ตัวอย่างเช่นการค้นพบแรงโน้มถ่วงของโลกโดยนักวิทยาศาสตร์ (เซอร์ ไอแซค นิวตัน) เป็นต้น
(3) การแสวงหาความรู้ขั้นสูงสุดของมนุษย์ โดยใช้วิธีการตามคำสอนทางศาสนา ซึ่งจะหมายถึงการปฏิบัติสมาธิภาวนาอย่างเข้มงวดใช้เวลายาวนานและต่อเนื่องเป็นการแสวงหาความรู้เพื่อความหลุดพ้นจากภาวะทุกข์ตามคำสอนทางศาสนา ผู้ยึดถือแนวทางนี้มักจะเป็นนักบวช
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com
|