|
หน่วยที่ 4
ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
แหล่งบริการสารสนเทศ
ส่วนที่สำคัญของระบบสารสนเทศอีกประการหนึ่งคือ ผู้ให้บริการสารสนเทศแก่ผู้ต้องการ รับสารสนเทศ ซึ่งได้แก่ สถาบันบริการสารนิเทศ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง สถาบันเหล่านี้เป็นผู้ รวบรวมแหล่งสารสนเทศต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน มีความรู้ความสามารถในการจัดเก็บให้บริการ และเผยแพร่สารนิเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แหล่งให้บริการสารสนเทศที่สำคัญในอดีต คือ ห้องสมุดประชาชน แต่ในปัจจุบันแหล่งให้ บริการสารสนเทศมีหลายประเภท แตกต่างกันไปตาม วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งและการให้บริการสารสนเทศ กฤติยา อัตถากร และ ชุติมา สัจจานันท์ ได้แบ่งสถาบันบริการสารสนเทศที่สำคัญในปัจจุบัน เป็น 9 ประเภท ดังต่อไปนี้ คือ
1. ห้องสมุด (libraries) ห้องสมุดนับเป็นแหล่งที่ให้สารสนเทศที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต เป็นแหล่งสะสมสารนิเทศ เพื่อให้ความรู้ เพื่อการศึกษา เพื่อการค้นคว้าวิจัย เพื่อความจรรโลงใจ และเพื่อการพักผ่อน หย่อนใจ ห้องสมุดเป็นบ่อเกิดของพัฒนาการของสถาบันบริการสารสนเทศ ประเภทอื่น ๆ ในปัจจุบัน ห้องสมุดที่ให้บริการอยู่ทั่วประเทศในขณะนี้ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
1) ห้องสมุดโรงเรียน
2) ห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย
3) ห้องสมุดเฉพาะ
4) ห้องสมุดประชาชน
5) หอสมุดแห่งชาติ
การค้นหาสารสนเทศจากห้องสมุด เกี่ยวข้องกับพัฒนาการเรียนรู้ของคนในประเทศ ที่ขึ้นอยู่กับระบบการศึกษาภายในประเทศเป็นหลัก การจัดการศึกษาของชาติที่ให้เด็กได้รับ การศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมปีที่1- มัธยมปีที่6 ฝึกให้เด็กได้ใช้บริการค้นหาสารนิเทศจาก ห้องสมุดโรงเรียน หลังจากนั้นเมื่อเรียนจบระดับมัธยมศึกษาสามารถศึกษาค้นคว้าในระดับ สูงขึ้นจากห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือระดับอื่น ๆ ให้บริการค้นคว้าที่ลึกซึ้งจากห้องสมุดเฉพาะ ห้องสมุดประชาชน หรือหอสมุดแห่งชาติได้อีก ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ห้องสมุดประเภทต่าง ๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในสังคมข่าวสารที่ทำให้ประชาชน ได้ทราบสารสนเทศที่จำเป็นในแต่ละวัน สารนิเทศที่ได้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิต ประจำวันได้เป็นอย่างดี
2. ศูนย์เอกสารหรือศูนย์สารสนเทศ (documentation centers) หรือ information centers)
ศูนย์เอกสารหรือศูนย์สารสนเทศเป็นแหล่งที่ดำเนินการจัดเก็บรวบรวมสารนิเทศ เฉพาะเรื่อง เฉพาะสาขาต่าง ๆ แก่ผู้ใช้สารนิเทศเฉพาะกลุ่ม กลุ่มเอกสารหรือสารสนเทศ ส่วนใหญ่ใช้เพื่อการศึกษาค้นคว้าเพื่อการวิจัย และเพื่อ
การปฏิบัติงานในศูนย์สารสนเทศ โดยตรง การจัดตั้งศูนย์สารสนเทศเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นเพราะความขาดแคลนสารสนเทศและเพื่อสนองความต้องการ ของหน่วยงานหรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจ ศูนย์สารสนเทศมีหลายลักษณะตาม ประเภทของงาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ซึ่งอาจกำหนดขอบเขต ตามสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศูนย์สารสนเทศด้านวัสดุและเทคนิคการหีบห่อ เป็นต้น
3. ศูนย์ข้อมูล (data centers)
ศูนย์ข้อมูลคือ แหล่งที่ให้บริการในการผลิตหรือรวบรวมข้อมูลตัวเลข สถิติต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ในสถาบันการศึกษาในห้องสมุด ปฏิบัติการ หรือศูนย์วิจัยต่าง ๆ ข้อมูลต่าง ๆ นำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเผยแพร่แก่ผู้ต้องการได้อย่างมีระบบข้อมูลที่จัดเก็บส่วนใหญ่เป็นข้อมูลดิบ และเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญที่ใช้อยู่ในการดำเนินงาน ศูนย์ข้อมูลในประเทศไทยที่น่าสนใจได้แก่ ศูนย์ข้อมูล พลังงานแห่งประเทศไทย ของสำนักงานพลังงานแห่งชาติ ศูนย์ ข้อมูลธุรกิจหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ศูนย์ข้อมูลข่าวสารการตลาด ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กองข้อมูลการค้าของกรมพาณิชย์สัมพันธ์ เป็นต้น
4. หน่วยงานสถิติ (staistical offices)
ในสถาบันการศึกษาและศูนย์สารนิเทศบางแห่ง มีการดำเนินงานเก็บสถิติตัวเลข ซึ่งเป็นข้อมูลเฉพาะด้านเพื่อนำมาใช้ในการ บริหารงาน และนำตัวเลขสถิติเหล่านั้นมาศึกษา ค้นคว้า ทำการวิเคราะห์วิจัยเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริง หรือเป็นแหล่งเผยแพร่ตัวเลขสถิติต่าง ๆ หน่วยงานเหล่านี้จัดเป็นหน่วยงานสถิติ เป็นแหล่งให้บริการสารสนเทศทางสถิติตัวเลขเป็นสำคัญ ลักษณะหน่วยงานสถิติในประเทศไทย แบ่งได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่ หน่วยงานสถิติที่อยู่ใน กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ หน่วยงานสถิติเฉพาะเรื่องภายในกระทรวง ทบวง กรม หน่วย งานสถิติขนาดใหญ่จัดตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติงานสถิติโดยตรง หน่วยงานประมวลข้อมูลสถิติโดยใช้ เครื่องคอมพิวเตอร์ และหน่วยงานสถิติของสถาบันการศึกษาและวิชาการเฉพาะเรื่อง
ตัวอย่างของหน่วยงานสถิติที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ สถาบันประชากรศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
5. ศูนย์วิเคราะห์สารสนเทศ (information analysis centers)
ศูนย์วิเคราะห์สารสนเทศ เป็นสถาบันให้บริการสารสนเทศที่ทำหน้าที่เลือกสรรประเมินค่า จัดเก็บ และนำเสนอสารสนเทศเฉพาะวิชา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่หรือกำลังดำเนินการ ในรูปแบบที่สะดวก ประหยัดเวลาผู้ใช้ ศูนย์วิเคราะห์สารสนเทศส่วนใหญ่ จะตั้งอยู่หรือเป็นส่วนหนึ่ง ของศูนย์วิจัย ตัวอย่างของศูนย์วิเคราะห์สารสนเทศในประเทศ ได้แก่ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นต้น
6. ศูนย์แจกจ่ายสารสนเทศ (clearing houses)
ศูนย์แจกจ่ายสารสนเทศ เป็นสถาบันบริการสารสนเทศที่ทำหน้าที่ในการรวบรวมจัด เก็บหลักฐานของสารสนเทศต่าง ๆ ตลอดจนให้บริการไปยังผู้ที่ต้องการสารสนเทศนั้น ๆ ศูนย์แจกจ่ายสารสนเทศอาจดำเนินงานเป็นอิสระ หรือเป็นหน่วยงานเฉพาะ ของหน่วยงานสารนิเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมเอกสารที่มีแหล่ง
ผลิตต่าง ๆ กันซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเอกสารได้จากแหล่งเดียว ผู้ผลิตเอกสารจะส่งข่าวสารให้ศูนย์แจกจ่ายสารสนเทศได้ ทราบว่ามีการผลิตเอกสารอะไรบ้าง เมื่อศูนย์แจกจ่ายสารสนเทศได้รับข่าวสารแล้วแจ้งสารนิ เทศต่อไปในรูปของการจัดทำบรรณานุกรม ดรรชนี ตลอดจนวิธีการอื่น ๆ
หน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์แจกจ่ายสารสนเทศที่สำคัญในประเทศไทย คือ หอสมุดแห่งชาติ และห้องสมุดยูเนสโก เป็นต้น
7 ศูนย์แนะแหล่งสารสนเทศ (referral centers)
ศูนย์แนะแหล่งสารสนเทศทำหน้าที่เป็นสถาบันบริการสารสนเทศในการให้บริการตอบคำถามของผู้ใช้ โดยการแนะผู้ใช้ ไปยังแหล่งสารนิเทศต่าง ๆ เช่น สิ่งพิมพ์ สถาบันบริการ สารสนเทศต่าง ๆ สมาคมวิชาชีพ สถาบันวิจัย ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ ศูนย์ และสารสนเทศจะมีนามานุกรมและรายชื่อแหล่งสารนิเทศต่าง ๆ ซึ่งจัดทำขึ้นและปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่ เสมอ
ศูนย์แนะแหล่งสารสนเทศที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
8. หอจดหมายเหตุ (archives)
สถาบันบริการสารสนเทศที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ หอจดหมายเหตุเป็นแหล่ง ที่จัดเก็บและให้บริการสารสนเทศจดหมายเหตุ ที่สำคัญซึ่งได้แก่ เอกสารราชการและเอกสารทางประวัติศาสตร์ซึ่งเกิดจากการบันทึก รายงาน แบบพิมพ์ แผนที่ แผนผัง ภาพถ่าย เป็นต้น เอกสารเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในการใช้ประโยชน์ต่อไปแก่ผู้ต้องการใช้ทั้งสิ้น
ตัวอย่างของหอจดหมายเหตุที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หอบรรณสารของห้องสมุด และศูนย์สารสนเทศธนาคารแห่งประเทศไทย กองบรรณสารและห้องสมุด กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น
9. สถาบันบริการสารสนเทศเชิงพาณิชย์ (commercial information service centers)
สถาบันบริการสารสนเทศเชิงพาณิชย์ เป็นสถาบันที่จัดให้บริการสารสนเทศโดยคิดค่า บริการ เป็นวิวัฒนาการของสังคมสารนิเทศ ที่มีอุตสาหกรรมสารสนเทศเกิดขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะผู้ใช้บริการต้องการสารสนเทศที่ต้องการได้สะดวกและรวดเร็วแต่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จากสถาบัน ซึ่งให้สารนิเทศสถาบันบริการสารสนเทศเชิงพาณิชย์มีการดำเนินงานในลักษณะที่เป็นธุรกิจ และจัดให้บริการสารสนเทศตามความต้องการของผู้ใช้
ในประเทศไทย บริษัทสยามบรรณ จำกัด นับว่าเป็นตัวอย่างของสถาบันบริการสารสนเทศเชิงพาณิชย์ได้ เพราะจัดพิมพ์ สยามจดหมายเหตุ บันทึกข่าวสารและเหตุการณ์ จำหน่ายเผยแพร่เป็นรายสัปดาห์เพื่อบริการสารสนเทศเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทย และเรื่องน่ารู้ในต่างประเทศ
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com
|
|