|
หน่วยที่ 4
ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
4.14 ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีองค์ประกอบที่สำคัญที่สามารถพัฒนาการดำเนินงานทางด้านสารสนเทศให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา ประเทศ องค์ประกอบเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาและ ทรัพยากรจำนวนมากในการพัฒนาให้เป็นระบบเดียวกัน จนสามารถกำหนด ให้เป็นระบบ สารนิเทศของชาติได้ในภายหลัง องค์ประกอบที่สำคัญของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศประเภทต่างๆ แหล่งผลิตสารสนเทศ แหล่งบริการสารสนเทศ แหล่งผลิตและฝึกอบรมบุคลากรสารสนเทศ ผู้ใช้สารสนเทศ และงบประมาณในการดำเนินงานสารสนเทศ
ประเภทของเทคโนโลยีสารสนเทศ
ในโลกของสังคมโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ เทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการผลิต การสร้าง
การแสวงหาความรู้ การรวบรวม การค้นหาและการเข้าถึงความรู้ อาจสรุปเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับ
กระบวนการจัดการความรู้มีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท (ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ,2548,หน้า 180-198)
คือ
1.1 เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการรวบรวมและการจัดการความรู้ที่ปรากฏ
การใช้เทคโนโลยีเพื่อการรวบรวมและการจัดการความรู้ที่ปรากฏเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใน
การจัดการฐานข้อมูล ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการใช้โปรแกรมที่ช่วยในการควบคุมและจัดการเก็บข้อมูล
ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับ การจัดเก็บเอกสาร โปรแกรมสำคัญทางด้าน
การจัดการเอกสารได้แก่ โปรแกรมประมวลผลคำ เช่น โปรแกรม MS Word เป็นต้น
1.2 เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเข้าถึงความรู้ที่ปรากฏ
ความรู้ที่มีการเผยแพร่และปรากฏอยู่ทั่วไป มีเป็นจำนวนมหาศาลในสังคมการเรียนรู้ การจะเข้าถึงความรู้
เหล่านี้จะต้องใช้เวลานานมากกว่าจะได้ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการประมวล ความรู้เข้าด้วยกัน การใช้โปรแกรม
เพื่อเข้าถึงความรู้เหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น นักจัดการความรู้จึงควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้ของ
โปรแกรมในการเข้าถึง ระบบอินเทอร์เน็ต เข้าใจการใช้โปรแกรมค้นหาข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ต
(web browsers) เป็นต้น
ในการเข้าถึงความรู้ที่ให้บริการในแหล่งความรู้ต่างๆ มีการพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อใช้ในการจัดการข้อมูล สารสนเทศ และความรู้หลากหลายไปด้วย ดังตัวอย่างโปรแกรมต่อไปนี้
1) โปรแกรม Alice for Window เป็นโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ ชิ้นที่ผู้ผลิตได้พัฒนาสมรรถนะอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 15 ปีแล้ว สามารถจัดการข้อมูลสารสนเทศ จำนวนมากและหลายระบบย่อย ๆ ในห้องสมุดได้ดีเป็นที่นิยมใช้ในห้องสมุดหลายแห่ง
2) โปรแกรม ซีดีเอส/ไอซีส (CDS/ISIS) เป็นโปรแกรมสำหรับงานจัดการข้อมูลสารสนเทศ สำหรับห้องสมุดอีกโปรแกรมหนึ่งที่องค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์ และกิจกรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) พัฒนาขึ้นมาใช้ตั้งแต่ปี 2518 และได้มีการพัฒนาสมรรถนะเพิ่มขึ้นเรื่อง ๆ ผู้ต้องการใช้สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่คิดมูลค่า และมีห้องสมุดบางแห่งนำไปพัฒนาเพิ่มเติมให้ใช้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
3) โปรแกรมอินโนแพค (INNOPAC) บริษัท Innovative Interfaces ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้พัฒนาขึ้น เริ่มต้นใช้กับห้องสมุดเครือข่ายทางวิชาการของรัฐโอไฮโอ
4) โปรแกรมวีทีแอลเอส (VTLS) สร้างและพัฒนาในอเมริกา โดย Verginia Polytechnic Institute and State University เพื่อใช้กับงานห้องสมุด โดยใช้ระบบปฏิบัติการ UNIX
5) โปรแกรมไดนิกส์ (Dynix Scholar) หรือไดนิกซ์สักอลาร์ สร้างและพัฒนาขึ้นในอเมริกาเช่นกัน ตั้งแต่มีปี พ.ศ.2526 และใช้กับงานห้องสมุดเป็นหลัก
1.3 เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการประยุกต์ใช้ความรู้
ในการค้นข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตเกี่ยวข้องกับเทคนิคต่างๆเพื่อนำมาจัดการความรู้และเพื่อประโยชน์
ในการเผยแพร่ต่อ นักจัดการความรู้ควรมีความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องมือที่เชื่อมระหว่างผู้ใช้กับสารสนเทศ
เช่น สามารถเข้าใช้ข้อมูลในระบบอินทราเน็ต เข้าถึงเครือข่ายทั้งภายในและภายนอก ประเทศได้
สามารถจัดหมวดหมู่สารสนเทศเพื่อแยกประเด็นของข้อมูลได้อย่างง่ายๆ โดยเลียนแบบการจัดหมวดหมู่หนังสือ
เช่น ระบบทศนิยมของดิวอี้ ระบบรัฐสภาอเมริกัน เป็นต้น
1.4 เทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการจัดการความรู้โดยนัย
เทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการจัดการความรู้โดยนัยเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
เพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างบุคคล เป็นการจัดการความรู้ระหว่างบุคคลที่สำคัญ เช่น
การรู้จักใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Mail) การรู้จักใช้ช่องทางในการประชุมผ่านวีดิโอ
(video conference) การใช้กระดานอภิปรายในระบบอินเทอร์เน็ต
(discussion boards) เป็นต้น
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com
|
|