|
หน่วยที่ 4
การแสวงหาความรู้ การค้นคืนความรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศ
รศ.อัญญาณี คล้ายสุบรรณ์
มนุษย์ทุกคนต้องแสวงหาความรู้อยู่เสมอจะหยุดมิได้เพราะความรู้ช่วยทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิต
อยู่ได้ หากมนุษย์คนใดสามารถแสวงหาความรู้ได้มากได้ความรู้อย่างรวดเร็ว และได้ความรู้ที่ถูกต้องเพียงพอ
ก็จะสามารถใช้ความรู้พัฒนาชีวิตตนเองให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการดำรงชีวิตอยู่ได้
การมีความรู้และใช้ความรู้ทำให้ชีวิตดีขึ้นเป็นการจัดการความรู้และการจัดการชีวิตที่ดีเป็นการจัดการความรู้
และการจัดการชีวิตที่ประสบความสำเร็จ คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นโดยลำดับ
4.1 วงจรความรู้
ความรู้มีวงจร คือ เปลี่ยนที่อยู่และ เปลี่ยนสภาพหรือลักษณะได้จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งแล้ว
กลับมาอยู่ในที่เดิมหรือเปลี่ยนไปที่อื่น ๆ ได้อีก โดยไม่มีวันสิ้นสุด วงจรของความรู้จึงมีลักษณะคล้ายเกลียวสปริง
เรียกว่าเป็นเกลียวความรู้ ( knowledge spiral) ดังรูป ลักษณะดังกล่าว หมายความว่า
ความรู้เกิดขึ้นครั้งแรกในตัวคน จากนั้นความรู้นั้น จะถูกคนแสดงออกหรือใช้งานให้ปรากฏเห็นและ
เปลี่ยนสภาพและสถานที่ไปอยู่ในสื่อบันทึกต่าง ๆ (records) ซึ่งจะมีลักษณะเป็นสารสนเทศ
(information) หรือ ข้อมูล (data) หรืออาจไปอยู่ในความทรงจำหรือความรู้ของคนอื่น
ที่ได้รับรู้หรือสังเกตการณ์ ความรู้นั้นจะเป็นความรู้ที่แสดงออกมาแล้ว (explicit
knowledge) จากนั้นความรู้ที่จะถูกเก็บค้างหรือรักษาไว้ในรูปของสารสนเทศ
หรือข้อมูลในสื่อบันทึกรูปแบบต่าง ๆ ก็จะรอเวลาที่จะมีคนอื่นที่มิใช่เจ้าของความรู้เดิมมารับรู้หรือสัมผัส
จึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสารสนเทศหรือข้อมูลในเรื่องนั้นเป็นความรู้ในตัวคนคนใหม่ต่อไป
คนใหม่ที่รับข้อมูลหรือสารสนเทศจะผสมผสานความรู้ใหม่นี้เข้ากับความรู้เดิม จากสื่อทำให้เกิดเป็นความรู้ใหม่
ที่แปลกใหม่ไปจากเดิม ไม่เหมือนเดิมและเป็นการทำให้ความรู้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นการแบ่งขยายความรู้
ให้กว้างขว้างและพัฒนาความรู้ให้ลึกซึ้งละเอียดยิ่งขึ้น ดัง
ภาพแสดงการเปลี่ยนที่อยู่และเปลี่ยนสภาพกลับไปกลับมาของความรู้จากคนสู่คนหรือจากคนสู่สื่อบันทึก และจากสื่อบันทึกสู่คนอีกครั้งหนึ่งต่อ ๆ ไปนี้
หมายความว่าคนใหม่และสื่อใหม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ความรู้จึงถูกถ่ายทอดพัฒนาต่อ ๆ ไป
ในลักษณะดังกล่าวไม่มีที่สิ้นสุด
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com
|
|