|
หน่วยที่ 3 แหล่งความรู้และระบบการจัดเก็บความรู้
ผศ.จินตนา เกษรบัวขาว
3.3 ชนิดและประเภทของแหล่งความรู้
แหล่งความรู้อาจจำแนกตามลักษณะที่ดำรงอยู่ของความรู้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงหรือสารสนเทศได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1) แหล่งบุคคล หมายถึง ตัวบุคคลที่มีความรู้ ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ
(scholars and experts) ไปจนถึงผู้ให้ข้อมูล (informants) ธรรมดาซึ่งสามารถทำให้เกิดความรู้แก่ ผู้ต้องการเรียนรู้ได้
แหล่งบุคคลนี้อาจจำแนกย่อยออกตามลักษณะความรู้ที่มีให้เรียนรู้ได้ดังนี้
(1) บุคคลผู้รู้เฉพาะทาง คือผู้ที่รู้และเชี่ยวชาญสาขาวิชาหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่ง
จะมีทั้งประเภท ผู้ศึกษาเล่าเรียนสาขาวิชานั้นมาโดยตรง หรือเป็นผู้มีประสบการณ์ปฏิบัติงานหรือทำงานที่ใช้ความรู้ในสาขาวิชานั้นโดยตรง
(2) ผู้รู้ทั่วไป (learned man) หมายถึงผู้อาวุโสที่ผ่านการทำงานการดำรงชีวิต
มายาวนานทำให้รู้เรื่องราวหลายเรื่องเกี่ยวเนื่องกันในทางประวัติศาสตร์แต่อาจมิได้รู้หรือเชี่ยวชาญเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ
2) แหล่งทรัพยากรความรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้น หมายถึง แหล่งต่าง ๆ ที่มนุษย์ทำขึ้น
เพื่อใช้เก็บสะสมรวบรวมความรู้ไว้ สำหรับแหล่งประเภทนี้มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ
(1) ทรัพยากรสารนิเทศ หมายถึง วัสดุบันทึกต่าง ๆ ที่มนุษย์ตั้งใจทำขึ้นอาจเขียน
ด้วยลายมือเพื่อบันทึกหรือรวบรวมความรู้ไว้ ได้แก่ วัสดุประเภทสิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุชนิดต่าง ๆ ต้นฉบับ ภาพวาด เป็นต้น
(2) สถานที่เก็บรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศต่าง ๆ ที่ให้ความรู้ซึ่งเป็นที่รวบรวม
และจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบเป็นแห่ง ๆ แน่นอนเรียกชื่อต่าง ๆ กัน ได้แก่ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ ศูนย์การเรียน ศูนย์สื่อ อุทยานการศึกษา เป็นต้น
(3) แหล่งหรือสถานที่ที่เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่มนุษย์เคยสร้าง
ใช้ประโยชน์แล้วตกทอดมาจนถึงคนรุ่นหลัง ๆ ให้ได้รู้จักเรียนรู้หรือใช้ประโยชน์ต่อมาถึงปัจจุบัน
3) แหล่งธรรมชาติ หมายถึง สิ่งที่มิใช่มนุษย์สร้างแต่เกิดเองเป็นเองตามธรรมชาติ
แล้วมนุษย์ได้ใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ได้ เช่น แม่น้ำ ภูเขา ถ้ำ ทะเล ลำธาร ดิน หิน แร่ต่าง ๆ รวมสัตว์ พืช สิ่งมีชีวิตนานาชนิด
หากพิจารณาแหล่งความรู้ตามลักษณะการจัดตั้งทางสังคมจะพบว่าแหล่งความรู้มี 3 แบบ คือ
(1) แหล่งความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพ เป็นหน่วยงานหรือองค์กรจัดตั้งเพื่อ ทำหน้าที่สอนหรือฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพแก่คน ซึ่งจะมีชื่อเรียก เป็นการเฉพาะลงไป เช่น โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถาบัน เป็นต้น หน่วยงานเหล่านี้จะเป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการเป็นหลักหากเป็นแหล่งความรู้ทางวิชาชีพจะได้แก่บริษัท ห้างร้าน สถานประกอบการต่าง ๆ
(2) แหล่งความรู้ทางคุณธรรมจริยธรรม เป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ หลักทางด้านการเผยแพร่ความรู้ ฝึกอบรม แนะนำทางด้านศีลธรรม จริยธรรม ความคิด ปรัชญา แนวทางการปฏิบัติ หรือตัดสินการกระทำหรือพฤติกรรมทั่วไปว่าดีหรือไม่ดี สมควรหรือไม่สมควร ได้แก่ วัด และศาสนสถานต่าง ๆ
(3) แหล่งความรู้พื้นฐานอย่างบูรณาการ หมายถึง แหล่งที่ทำหน้าที่สอนฝึกอบรม
และชี้วัดตัดสินความคิดความประพฤติแก่คนในวัยเด็กก่อนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบตนเองได้เต็มที่ แหล่งนี้ใช้การบูรณาการทั้งความรู้ทางวิชาการ ความรู้ทางอาชีพ และเกณฑ์ทางคุณธรรมจริยธรรมมาใช้ถ่ายทอดให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ตลอดเวลา คือบ้าน หรือครอบครัวนั่นเอง
ในอีกด้านหนึ่งหากพิจารณาแหล่งความรู้ตามลำดับชั้นที่ได้รับการส่งผ่าน หรือถ่ายทอดกันต่อ ๆ มาแล้ว แหล่งข้อมูลอาจแบ่งได้ ดังนี้
(1) แหล่งปฐมภูมิ (primary sources) หมายถึง แหล่งที่เป็นต้นกำเนิดของความรู้แท้จริง ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นข้อมูล (data) หรือข้อเท็จจริง (facts) หรือปรากฏการณ์ (phenomena) หรือหากเป็นแหล่งบุคคลก็จะได้แก่บุคคลต้นบัญญัติ เป็นผู้พูดเอง คิดเอง ปฏิบัติเอง เขียนเอง หลักฐานที่ปรากฏก็จะเป็นต้นฉบับ ตัวเขียน เป็นต้น
(2) แหล่งทุติยภูมิ (secondary souirces) เป็นแหล่งรองลงมาจากแหล่งปฐมภูมิ หมายความว่ามีผู้นำเอาความรู้ข้อมูล หรือสารสนเทศจากแหล่งปฐมภูมิมาแสดงกล่าวอ้างกล่าวถึงอีกขั้นหนึ่งภายหลัง
(3) แหล่งตติยภูมิ (tertiary sources) เป็นแหล่งความรู้ชนิดที่ผ่านการส่งต่อมาอย่างน้อยสองชั้นแล้ว ทำให้มีความผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนไปจากแหล่งเดิมมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ว่าในช่วงชั้นก่อนหน้านี้มีทำให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างมากหรือน้อยเพียงใดบ้าง
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com
|
|