4000111 ทักษะการจัดการความรู้
สาขาวิชาศึกษาทั่วไป
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
ถนนกาญจนบุรี-ไทรโยค ต.หนองบัว อ.เมือง กาญจนบุรี 71000

***ความรู้คืออำนาจ เรียนและค้นคว้าให้สนุกในโลกของสังคมข่าวสาร ไร้พรมแดน ไร้กาลเวลา***

ทักษะการจัดการความรู้

คำอธิบายรายวิชา/
แนวการสอน
(Course
Overview)

สารบัญเนื้อหาวิชา

กิจกรรมการเรียน
การสอน

สื่อการสอน

การประเมินผล
(Evaluation)

ตำราประกอบ
การสอน
(Texts and
Materials)

แหล่งทรัพยากร
สารสนเทศอื่นๆ
(Other Useful
Resources)

แหล่งทรัพยากร
เกี่ยวกับ
Internet
(Resources
about the
Internet and
Its Tools)

ตำราและวารสาร
อิเล็กทรอนิกส์
(On-Line
Journals and
Magazines)

แนะนำตัวผู้สอน

รายชื่อนักศึกษา

ผลงานของนักศึกษา

การสอบปลายภาค


Home

หน่วยที่ 3 แหล่งความรู้และระบบการจัดเก็บความรู้

ผศ.จินตนา เกษรบัวขาว

3.2 ระบบการจัดเก็บความรู้

ความรู้สามารถจัดเก็บไว้ได้ด้วยรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ หากพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บความรู้แล้วจะมีดังนี้
1) เพื่อรักษาความรู้ไว้มิให้สูญหาย หรือหลงลืมซึ่งถือได้ว่าความรู้เป็นสมบัติอันมีค่ายิ่งใน กรณีผู้รู้นั้นทำการบันทึก หรือถ่ายทอดออกมาจากตัวเขาเอง เมื่อใดต้องการใช้ก็สามารถนำกลับมาทบทวนใช้ได้
2) เพื่อเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รู้ด้วย หมายถึง สื่อหรือวัสดุบนทึกความรู้สามารถทำได้จำนวนมาก ส่งไปได้ไกล ๆ ทั่วไป และเก็บรักษาได้นานโดยไม่เปลี่ยนแปลง การทำให้มีจำนวนมากขึ้นไปปรากฏในที่ต่าง ๆ หลายแห่ง หลายเวลาทำให้มีผู้ได้พบเห็นเรียนรู้ได้ ความรู้ก็ขยายวงมีที่อยู่กว้างขวางขึ้น และถูกใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
การจัดเก็บความรู้สามารถทำได้ 2 ระบบใหญ่ ๆ คือ
1) ระบบที่จัดเก็บไว้ในตัวคน หมายถึง คนที่ได้รับความรู้มาจะโดยวิธีเรียนรู้ด้วยตนเองจากธรรมชาติ หรือได้รับการบอกหรือสอนจากผู้อื่น หรือจากการได้อ่าน ฟัง ดูจากสื่อใด ๆ ก็ตาม ความรู้จะถูกจัดเก็บคงอยู่ในตัวคนโดยตรงในรูปของความทรงจำ (memory) และทักษะ (skills) ดังตัวอย่างเช่น การทรงจำพระธรรมวินัยของพระภิกษุในพุทธศาสนาตั้งแต่โบราณและการฝึกหัดปฏิบัติตามธรรมวินัยที่ได้รับการบอกสอนมาจากพระศาสดา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งแท้จริง
2) ระบบที่จัดเก็บไว้นอกตัวคน หมายถึงการถ่ายทอดออกมาจากตัวคนแล้วบันทึกไว้ในสื่อบันทึกชนิดต่าง ๆ ซึ่งอาจจำแนกได้ดังนี้
(1) วัสดุบันทึกสำหรับอ่าน ได้แก่วัสดุที่บันทึกเป็นตัวอักษรและภาพหรือ สัญลักษณ์ต่าง ๆ ได้แก่หนังสือ (ตั้งแต่หนังสือที่เป็นตัวจารึก ตัวเขียนลายมือ และตัวพิมพ์) วารสาร สิ่งพิมพ์
(2) วัสดุบันทึกสำหรับดู หมายถึง วัสดุบันทึกที่เป็นรูปภาพ และเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ที่ไม่มีตัวหนังสือ หรือบางครั้งอาจมีตัวหนังสือกำกับอธิบายด้วยก็ได้ การดูภาพทำให้เกิดความรู้ได้ บางกรณีดีกว่าอ่านจากตัวหนังสือ แต่หากมีทั้งภาพ (ทั้งภาพวาด ภาพถ่ายหรือ ภาพจำลองเลียนแบบใด ๆ ก็ตาม) และตัวหนังสือจะทำให้ได้ความรู้ความเข้าใจชัดเจนลึกซึ้งยิ่งขึ้น
(3) วัสดุบันทึกสำหรับฟัง หมายถึง วัสดุที่บันทึกเสียงต่าง ๆ ทั้งเสียงธรรมชาติและเสียงประดิษฐ์จากเครื่องมือต่าง ๆ
(4) วัสดุบันทึกสำหรับหลายสัมผัส หมายถึง วัสดุที่บันทึกทั้งอักษรภาษา ภาพ เสียง รวมทั้งการเคลื่อนไหวของภาพผสมไว้ด้วยกันเหมือนจริง ซึ่งการบันทึกไว้จะเป็นระบบแผ่นฟิล์ม หรือแถบสัญญาณวิดีทัศน์ หรือสัญญาณดิจิตอลยุคใหม่ก็ได้ วัสดุบันทึกประเภทนี้ช่วย ให้เกิดความรู้ความเข้าใจแก่คนได้มาก สะดวกและรวดเร็วเป็นที่นิยมในยุคปัจจุบัน
(5) วัสดุตัวอย่างของจริงเพื่อการสัมผัสและของจำลอง หมายถึง ของจริงบางอย่างที่เลือกมาไว้ใช้เพื่อให้ความรู้แก่คนโดยเลือกเอามาจากของจริง บางส่วน เช่น ตัวอย่างไม้ ตัวอย่างหิน แร่ ตัวอย่างพืช เป็นต้น และบางโอกาสไม่สามารถใช้หรือหาของจริงมาแสวงให้ดูได้ เนื่องจากมีลักษณะปกติไม่เหมาะสม ก็ใช้ทำเป็นของจำลองขึ้น เช่น ลูกโลก หุ่นจำลอง อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของคน เป็นต้น
หากพิจารณาจากวิธีการค้นคืนความรู้แล้วจะพบว่าระบบการจัดเก็บมี 2 ระบบ คือ
1) ระบบการจัดเก็บที่ไม่ต้องอาศัยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ช่วยจัดการ ระบบหรือวิธีนี้คือ การเขียน หรือวาดหรือพิมพ์ ให้เป็นอักษรภาพต่าง ๆ สัญลักษณ์ หรือรูปรอยใด ๆ ที่มีความหมายเมื่อมนุษย์ได้มองเห็นแล้วสามารถอ่านหรือเข้าใจความหมายได้โดยตรง เพียงต้องการทักษะการเรียนอ่านหรือการรู้ภาษา หรือความหมายของสัญลักษณ์ หรือตัวอักษรภาษาเท่านั้น ก็เพียงพอที่จะทำให้ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจออกมาได้
2) ระบบการจัดเก็บที่ต้องอาศัยเครื่องมือช่วยจัดการคือ ระบบที่ต้องอาศัยเครื่องมือ หรืออุปกรณ์เฉพาะทางทำการจัดเก็บ (record) และเมื่อเวลาจะค้นคืนความรู้หรือข้อมูลเหล่านั้นต้องใช้เครื่องมือค้นคืน (retrieve) ออกมา ซึ่งจะได้แก่พวกโสตทัศนวัสดุ เช่น เทปบันทึกเสียง สไลด์ วิดีทัศน์ รวมทั้งเครื่องมือสมัยใหม่ คือคอมพิวเตอร์ที่ใช้ร่วมกับอุปกรณ์อื่นทำการบันทึก และแสดงคืนในรูปต่าง ๆ มากมายด้วย
ระบบการบันทึกความรู้ด้วยวิธีการเก็บลงวัสดุบันทึกนอกตัวคนนี้ ความรู้จะถูก บันทึกไว้หลากหลาย และกระจัดกระจายมาก เกิดปัญหาหรือความไม่สะดวกในการสืบค้นกลับมาใช้ภายหลัง จึงมีการเก็บรวบรวมวัสดุบันทึกหรือทรัพยากรสารสนเทศเหล่านี้ มาไว้ในสถานที่เดียวกันให้มาก ๆ และมีหลากหลายแบบเพื่อสะดวกในการค้นหาและนำมาใช้ แต่การมีวัสดุจำนวนมากและหลากหลายประเภทต้องการกรรมวิธีในการใช้หรือการค้นคืน (retrieving) หลายอย่างแตกต่างกันทั้งยังต้องใช้เครื่องมือแตกต่างกันอีกด้วย จึงทำให้เกิดการคิดค้นและพัฒนาระบบการจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศเหล่านี้ขึ้นใช้ในแหล่งรวบรวมสารสนเทศต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นและมีพัฒนาการ มานานแล้วทั่วโลก จนถึงปัจจุบันจึงมีระบบการจัดเก็บและการค้นคืนสารสนเทศเพื่อความรู้มากมายหลายระบบ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
1) ระบบที่มีการคิดขึ้นและนิยมใช้ในห้องสมุดต่าง ๆ มีระบบใหญ่เป็นที่รู้จักทั่วโลกดังนี้
(1) ระบบรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress หรือ L.C) เป็นระบบที่ บรรณารักษ์ห้องสมุดชาวอเมริกัน ชื่อ Herbert Putnum คิดริเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1899 โดยใช้เพื่อการจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศ ณ ห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน ระบบนี้ใช้ตัวอักษร A-Z เป็นเครื่องหมายหลักและใช้ตัวเลขเข้ามาผสม แบ่งหมวดหมู่หนังสือตามเนื้อหาในเล่มออกเป็นหมวดต่าง ๆ ชั้นแรกจะแบ่งเป็นหมวดใหญ่และแต่ละหมวดใหญ่ จะแบ่งเป็นความรู้หมวดย่อย ๆ ลงไปอีกโดยลำดับหลักเกณฑ์และวิธีการเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนมาก เพราะต้องใช้กับการจัดหมวดหมู่หนังสือและทรัพยากรสารสนเทศต่าง ๆ หลายล้านชิ้น มีเอกสารเป็นคู่มือกำหนดสัญลักษณ์หลักเกณฑ์และวิธีการไว้อย่างชัดเจน ผู้ที่จะนำเอาระบบนี้มาใช้จัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศได้ต้องผ่านการเรียนและฝึกอบรมอย่างมากก่อน
(2) ระบบทศนิยม (Dewey Decimal Classification หรือ D.C) เป็นระบบการจัดเก็บ และค้นคืนสารสนเทศที่คิดริเริ่มโดยบรรณารักษ์ห้องสมุดชาวอเมริกัน ชื่อ Melvil Dewey ในปี ค.ศ.1876 โดยได้คิดขึ้นใช้ที่ห้องสมุดวิทยาลัยแอมเฮิร์สก่อน ระบบนี้ใช้ตัวเลขอารบิค 0-9 และจุดทศนิยมเป็นสัญลักษณ์หลักให้การกำหนดหมวดหมู่โดยได้แบ่งความรู้ต่าง ๆ ของมนุษย์ออกเป็น 10 หมวด ใหญ่ ๆ ก่อน และกำหนดให้เลขหลัก 3 ตัว (000-900) เป็นสัญลักษณ์หมวดหลักและแต่ละหมวดหลักได้ถูกแบ่งแยกเป็นหมู่ย่อย ๆ ลงไปในหมวดละ 10 หมู่ เท่า ๆ กันมีหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเลขประจำหมวดหมู่เป็นการเฉพาะ ซึ่งสามารถแบ่งหมวดหมู่ความรู้หรือทรัพยากรสารสนเทศได้โดยไม่มีข้อจำกัด จึงมีเอกสารคู่มือเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการในรายละเอียดมากเช่นกัน ผู้ที่จะใช้ระบบการจัดหมวดหมู่ระบบนี้มาใช้ต้องผ่านการศึกษาและฝึกอบรมมากเช่นกัน
(3) ระบบโคลอน (Colon Classification) เป็นระบบการจัดหมวดหมู่ทรัพยากร สารสนเทศที่คิดริเริ่มขึ้นใช้โดย Dr. R.S. Rangnathan ชาวอินเดียตั้งแต่ ค.ศ.1924 ระบบนี้ใช้สัญลักษณ์และเครื่องหมายต่าง ๆ หลายอย่างผสมกันเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ประจำหมวดหมู่ทรัพยากรสารสนเทศแต่เป็นระบบที่มีความยุ่งยากและต้องทำความเข้าใจเครื่องหมายต่าง ๆ มาก ระบบนี้จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยม และเป็นที่รู้จักทั่วโลกมากนักมีใช้อยู่แต่ในประเทศอินเดียเป็น ส่วนใหญ่
(4) ระบบ U. D.C. (Universal Decimal Classification) เป็นระบบที่นำเอาระบบ D.C. มาพัฒนาต่อให้มีความเป็นสากลมากขึ้นเนื่องจากระบบ D.C. ใช้ตัวเลขอารบิคเป็นหลักในการกำหนดสัญลักษณ์ประจำหมวดหมู่ ซึ่งประเทศทั่วโลกเข้าใจง่าย แต่การแบ่งเนื้อหาความรู้ยังไม่เกิดความสมดุลและครอบคลุมสาระความรู้ในโลกจึงมีการพัฒนาระบบนี้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก
นอกจากระบบใหญ่ ๆ ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายและนิยมใช้ในห้องสมุดทั่วโลกดังได้ กล่าวมาแล้วยังมีระบบการจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศที่ห้องสมุดต่าง ๆ คิดสร้างขึ้นใช้เอง โดยเฉพาะก็มีอีกมากซึ่งจะสามารถสนองวัตถุประสงค์การจัดเก็บได้ดีกว่าการทำระบบใหญ่แบบกลาง ๆ นี้ไปใช้ โดยเฉพาะปัจจุบันใช้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปช่วยจัดการทำให้เกิดเป็นฐานข้อมูลมากมาย ทั้งยังเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย (network) กว้างขวางอีกด้วย
2) ระบบที่คิดขึ้นและใช้จัดเก็บความรู้ในพิพิธภัณฑ์ (museums)
ในพิพิธภัณฑ์ทั่วไปจะจัดเก็บสิ่งที่เป็นวัตถุ (objects) ที่เป็นของจริงเท่า ๆ ที่อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์โดยตรงแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ อาจเป็นชิ้นส่วนซาก หรือเศษ ไม่สมบูรณ์ของวัตถุก็ได้แต่เป็นหลักฐานยืนยันถึงความเป็นผลงานจากความรู้และความสามารถของมนุษย์ในอดีต จึงเป็นหลักฐานที่มีคุณค่าต่อการเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้รู้จากและเรียนรู้ต่อเติมเพิ่มขึ้นทั้งยังสามารถทำให้เข้าใจคนในอดีตได้ดีขึ้นอีกด้วย ระบบและวิธีการจัดเก็บเพื่อรักษาวัตถุของพิพิธภัณฑ์จึงมีสถานที่จัดเก็บ 2 แบบ ดังนี้
(1) จัดเก็บโดยดูแลรักษาไว้ในสถานที่จริงที่ค้นพบ เพื่อรักษาร่องรอยและสภาพไว้ให้ สมบูรณ์ที่สุดคอยดูแลรักษามิให้มีการชำรุด บุบสลาย หรือสูญหายเสื่อมสภาพไปจากเดิม ตัวอย่างเช่นการรักษาหลุม ขุดค้นโครงกระดูกสมัยโบราณ การรักษาภาพแกะสลัก หรือจิตรกรรมฝาผนัง เป็นต้น
(2) เก็บรวบรวมวัตถุมารักษาและจัดแสดง ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งเป็นการเก็บรักษาอย่างถาวร หรือค่อนข้างถาวร โดยไม่ได้อยู่ในที่เดิมที่ถูกค้นพบ ทั้งนี้ เนื่องจากได้พิจารณาเห็นว่าปล่อยหรือ ให้อยู่ในที่เดิมจะไม่สามารถรักษาไว้ได้หรือได้ประโยชน์จากการศึกษาหาความรู้ได้คุ้มค่าและ ไม่สะดวก จึงนำมารวมไว้ในอาคารหรือที่ใดที่หนึ่ง แล้วจัดแสดงพร้อมทั้งดูแลรักษาไว้ไม่ให้เสียหายด้วย เช่นการรักษาเครื่องมือเครื่องใช้โบราณ ได้แก่ ขวานหิน กำไล สำริด หม้อดินเผา หรือรูปเคารพต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูป เทวรูปต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนระบบการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศในพิพิธภัณฑ์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนได้เข้าถึง ข้อมูลสารสนเทศ เพื่อความรู้จากโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์แล้วระบบการจัดเก็บจะทำเป็น 2 แบบ คือ
(1) การจัดทำข้อมูลสารสนเทศไว้กับตัววัตถุที่แสดง คือการนำวัตถุโบราณมาจัดตั้ง หรือแสดง ณ ที่ใดที่หนึ่งเหมาะสมตามขนาดและชนิดหรือประเภทของวัตถุที่จำแนกแล้ว และ ณ ที่นั้นก็จัดทำข้อมูลสารสนเทศเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นเสียงอธิยายให้ความรู้ความเข้าใจตามข้อเท็จจริงเป็นรายละเอียดอยู่ ณ ที่จัดแสดงวัตถุนั้นด้วย ซึ่งอาจมีข้อมูลสารสนเทศสั้น ๆ หรือละเอียดยาว ๆ ก็ได้
(2) การจัดทำข้อมูลสารสนเทศไว้ต่างหาก หมายถึง จัดทำข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับ วัตถุโบราณนั้น ๆ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นภาพ เป็นเสียงบันทึกไว้ในสื่อต่างหาก แยกไปจากตัววัตถุจริงโดยอาจพิมพ์รวมเป็นเล่มหนังสือ เป็นภาพวิดีทัศน์ หรือในแผ่นซีดี ซึ่งสามารถให้คนทั่วไปนำติดตัว หรือนำไปอ่าน ไปดู หรือศึกษาที่อื่นได้โดยไม่ต้องอยู่ในที่ ๆ วัตถุนั้นตั้งแสดง โดยปกติแล้วพิพิธภัณฑ์ทั่ว ๆ ไปก็จะจัดทำระบบการจัดเก็บ และเผยแพร่ข้อมูล สารสนเทศเพื่อความรู้ทั้งสองแบบรวมทั้งอาจจัดทำในลักษณะสื่อผสมเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งเข้าถึงในความรู้ยิ่งขึ้นด้วยก็ได้
สำหรับระบบการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศของวัตถุโบราณนั้นโดยทั่วไปจะมีระบบการ จัดเก็บและจัดทำเป็น 5 ระบบ ใหญ่ ๆ คือ
(1) จัดระบบจำแนกตามชนิดและประเภทของวัตถุ หมายถึงการนำเอาวัตถุมาจัดกลุ่ม จัดประเภท ตามลักษณะความแตกต่างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น จำแนกตามความแตกต่างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น จำแนกตามความแตกต่างของวัสดุ ได้แก่ ไม้ หิน แร่ โลหะ ดิน ผ้า เส้นใย เป็นต้น
(2) จัดระบบจำแนกตามชนิดของวัตถุที่ทำขึ้นตามวัตถุประสงค์ใช้งานหรือใช้ประโยชน์ เช่น วัตถุประเภท เคารพ บูชา หรือใช้เป็นนิติกรรม ได้แก่ พระพุทธรูป เทวรูป ตุ๊กตา เป็นต้น วัตถุประเภท เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า หม้อ เครื่องมือทำงานอาชีพ อาวุธ ยานพาหนะ เป็นต้น
(3) จัดระบบจำแนกตามระยะเวลาหรือสมัยอารุ เช่น วัตถุ หิน ขุดโลหะ ซึ่งเป็นยุคก่อน ประวัติศาสตร์ ยุคประวัติศาสตร์สมัยต่าง ๆ จนถึงยุคปัจจุบัน
(4) จัดระบบจำแนกตามสถานที่หรือท้องถิ่นที่เป็นที่กำเนิดหรือที่พบ เป็นวัตถุโบราณ ในเอเชียวัตถุโบราณในตะวันออกกลาง ในอินเดีย หรือในยุโรป เป็นต้น
(5) จัดระบบจำแนกตามระบบสาขาวิชาหรือศาสตร์ คือการสรุปวิเคราะห์วัตถุโบราณนั้น ๆ ว่าสามารถชี้ให้เห็นหรือให้ความรู้ในศาสตร์สาขาใด ก็จัดระบบและแสดงไว้ในสาขาของศาสตร์นั้น ๆ เช่น เครื่องมืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์สมัยโบราณต่าง ๆ ผลงานศิลปะของคนโบราณยุคต่าง ๆ เป็นต้น
3) ระบบการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศเพื่อความรู้ในหอจุดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุ (archives) เป็นแหล่งเก็บสะสมรวบรวมวัสดุที่มีข้อมูลสารสนเทศ เพื่อความรู้ที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งที่ประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลกมีคนทั่วไปเห็นความสำคัญของการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่โบราณ เมื่อนำมาศึกษาทำความเข้าใจทำให้เกิดความรู้มากมายเช่นกัน และนำมาใช้ประโยชน์ในปัจจุบันหรือในอนาคตได้วัสดุบันทึกเพื่อการใช้งานใน สมัยโบราณจึงถูกเก็บรวบรวมมาไว้เพื่อการศึกษาหาความรู้ความเข้าใจในสถานที่ดังกล่าวนี้เรียกว่า หอจดหมายเหตุ
เนื่องจากวัสดุหรือวัตถุนี้เก็บมาไว้ในหอจดหมายเหตุ มักจะเป็นบันทึก (records) เก่า ๆ ซึ่งจะได้แก่ แท่งหินหรือแผ่นหิน ผ้า หนังสัตว์ แผ่นดินเหนียว กระดาษโบราณ ใบพืชเป็นใบตาลหรือใบลานและกระดาษ หรือแผ่นฟิล์มถ่ายภาพหรือภาพถ่ายอัดจากฟิล์ม วัสดุเหล่านี้ให้เรื่องราวมากมาย การจัดเก็บจึงมีระบบการจัดเก็บ 2 แบบใหญ่ ๆ คือ
(1) จัดเก็บแยกตามชนิดของวัตถุ คือการจำแนกวัตถุออกตามความแตกต่างว่า เป็นด้าย เป็นผ้า เป็นกระดาษ แผ่นฟิล์ม หรือวัตถุชนิดใดใด แล้วก็จัดเก็บตามชนิดของวัตถุนั้น ๆ วิธีจัดเก็บนี้จะช่วยให้การเก็บรักษาวัตถุไม่ให้ชำรุดเสียหายง่ายโดยเฉพาะจากการเสื่อมสภาพโดยธรรมชาติของวัตถุเอง แต่จะเป็นปัญหาในด้านการศึกษาเรื่องราวซึ่งจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องเป็นเรื่องราวเดียวกัน
(2) จัดเก็บตามเรื่องหรือสาระสำคัญในวัตถุนั้น คือ จดหมายเหตุนั้นเป็นการบันทึกเรื่องอะไรถ้าเป็นเรื่องเดียวกันหรือต่อเนื่องกันก็จัดเก็บไว้ด้วยกัน ซึ่งสะดวกและให้ประโยชน์ในการนำกลับมาศึกษาค้นคว้า แต่อาจไม่สะดวกในการจัดเก็บเพราะอาจมีวัตถุต่างชนิดกันแต่เรื่องเดียวกัน เช่นเป็นแผ่นกระดาษ แผ่นฟิล์มเรื่องเดียวกัน เป็นต้น
4) ระบบการจัดเก็บความรู้ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ
เทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology) เป็นเครื่องมือยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงที่ใช้ในการจัดกระทำกับสารสนเทศเพื่อให้คนสามารถใช้สารสนเทศได้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ หรือมากกว่าที่เคยได้มา การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้นใช้จึงทำให้เกิดระบบการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศ เพื่อความรู้และความบันเทิงใหม่ที่ได้เหมือนเดิมซึ่งมีลักษณะดังนี้
(1) การจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศเป็นการจัดเก็บด้วยระบบสัญญาณใช้กระบวนการแม่เหล็กและไฟฟ้าจัดเก็บข้อมูลซึ่งในแผนวัตถุซึ่งอาจเป็นโลหะหรือวัสดุสังเคราะห์ เรียกว่าเก็บด้วยภาษาเครื่องมือ (machine language) ข้อมูลสารสนเทศจึงอยู่ในแหล่งเก็บเล็ก ๆ หรือแหล่งรวมซึ่งจะทำหน้าที่จัดกระทำข้อมูลได้ด้วยมากมาย
(2) ระบบที่ใช้จัดกระทำข้อมูลต้องใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีสารสนเทศนี้ซึ่งเรียกว่าคอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือหลักในการจัดเก็บและการแสดงกลับคืนให้มาอยู่ในรูปเดิม
(3) ข้อมูลสารสนเทศที่ถูกจัดเก็บไว้แล้วแยกส่วนออกมาเป็นอิสระหรือใส่กลับ เข้าระบบได้อีกเมื่อต้องการ และสามารถส่งผ่าน ต่อเชื่อม หรือผสมผสานกันได้ด้วยเป็นระบบเรียกว่าระบบเครือข่าย (information network)
(4) การเผยแพร่ส่งผ่านข้อมูลสารสนเทศด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศนี้ จะใช้ระบบเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกล (telecommunication) เข้ามามีส่วนร่วมทำให้ส่งผ่านสื่อสาร ถ่ายทอดจนแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและมากมายและทำได้ตลอดเวลาในทุกสถานที่ที่มีเครื่องเทคโนโลยีสารสนเทศนี้ทำงานหรือติดตั้งอยู่
(5) ชื่อระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอิทธิพลมากเป็นที่รู้จักและนำมาแพร่หลายปัจจุบันซึ่งครอบคลุมเป็นเครือข่ายทั่วโลก เรียกว่าระบบอินเทอร์เน็ต (internet)


หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com

 


Send comments to Chumpot@hotmail.com
Copyright © 2008
Revised:May 2008