|
หน่วยที่ 2 กระบวนการจัดการความรู้ (knowledge management procedure)
ผศ.พิมพา สุวรรณฤทธิ์
2.4 เทคนิควิธีการจัดการความรู้
เพื่อให้การจัดการความรู้บรรลุเป้าหมายได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังแม้กระบวนการจัดการความรู้จะมีกิจกรรมและขั้นตอนที่ชัดเจนแล้วก็ตามแต่เพื่อได้ผลแน่นอนยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องอาศัยเทคนิควิธีการจัดการที่ดีและมีความชัดเจนในทางปฏิบัติ จึงควรจำแนก การจัดการความรู้ออกเป็น 3 แบบ คือ
1) การจัดการความรู้ของแต่ละบุคคล
2) การจัดการความรู้ขององค์กร
3) การจัดการความรู้สาธารณะ
การจัดการความรู้ของแต่ละบุคคล หมายถึงการจัดการความรู้เพื่อตนเองของคนใดคนหนึ่ง
ซึ่งต้องทำในสิ่งต่อไปนี้
(1) การแสวงหาความรู้ (knowledge seeking) ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามคนทุกคนต้อง
แสวงหาความรู้และต้องหาเพิ่มอยู่ตลอดเวลาเพียงแต่ต้องจัดลำดับความจำเป็นว่าความรู้เรื่องใดต้องการก่อนหรือหลังเท่านั้น และวิธีการแสวงหาความรู้ก็ต้องใช้วิธีหลากหลาย บางวิธีอาจเป็นเทคนิคเฉพาะตัวของคนก็ได้
(2) การพิจารณาตรวจสอบและเลือกสรรความรู้ (knowledge verifying and selecting)
การจัดการกับปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องอาศัยความรู้หลายด้านหลายอย่างมากน้อยแตกต่างกัน และความรู้แต่ละด้านแต่ละอย่าง เมื่อนำมาใช้จัดการกับปัญหาแล้วจะได้ผลลัพธ์ออกมา ไม่เหมือนกัน จึงต้องมีการตรวจพิจารณาเสียก่อน แล้วจึงพิจารณาเลือกสรรความรู้ที่มีอยู่ว่าจะใช้ความรู้ด้านใดมากน้อย ลึกซึ้งเพียงใด ตัวอย่าง เช่น หากจะจัดการกับปัญหาส่วนตัวเรื่องเล็ก ๆ เรื่องหนึ่ง คือ อาการปวดศีรษะ คนที่จะแก้ปัญหาก็คือตัวผู้ปวดศีรษะเอง จะต้องกำหนดเป้าหมายว่าจะทำให้อาการปวดศีรษะจะหายไปให้ได้ แต่จะใช้วิธีการอย่างไรจึงจะดีที่สุด ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะมีวิธีทำได้หลายวิธีที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลจริง เช่น รับประทานยาแก้ปวดศีรษะ หรือหยุดการทำกิจกรรม ทุกอย่างแล้วพักผ่อน ความรู้ที่ต้องการใช้ในการจัดการกับปัญหา ก็จะได้แก่ความรู้เรื่องสาเหตุของอาการปวดศีรษะ วิธีแก้ไขให้อาการปวดศีรษะหายไปโดยแก้ไขที่สาเหตุหรือระงับอาการ เป็นต้น หากจะรับประทานยาเพื่อระงับอาการก็ต้องมีความรู้เรื่องยาที่จะรับประทานด้วยจึงจะปฏิบัติแล้ว บังเกิดผลสมความมุ่งหมาย การเลือกรับความรู้มาใช้หลังจากตรวจพิสูจน์ความรู้แล้วจึงเป็นเทคนิควิธีที่สำคัญและจำเป็น
(3) การผสมผสานความรู้ (knowledge integration) เมื่อต้องใช้ความรู้หลายด้านหลายเรื่อง
มีความมากน้อยหรือลึกซึ้งในแต่ละด้านแต่ละเรื่องต่างกัน หลังจากพิจารณาเลือกสรรแล้วก็ต้องนำมาใช้ร่วมกันอย่างมีความเหมาะสมลงตัว สอดคล้องหรือไปด้วยกันได้มิให้ขัดแย้งกัน ความพอดีของการผสมผสานความรู้มาใช้จะแสดงผลที่ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จในการแก้ปัญหานั่นเอง ตัวอย่างเช่นการแก้ปัญหาการป่วยไข้ จะใช้วิธีรับประทานยา ก็ต้องผสมผสานความรู้ทั้งเรื่องยา ในแง่ของสรรพคุณของยาที่ใช้ ปริมาณที่จะใช้ในแต่ละครั้ง วิธีใด และจนไปถึงการเก็บรักษายาด้วย
(4) พัฒนาความรู้ให้เพิ่มขึ้น (knowledge increasing and developing) ความรู้ที่ใช้ในการ
แก้ปัญหาที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอต่อการจัดการกับปัญหา จึงจำเป็นต้องแสวงหาความรู้หรือพัฒนาความรู้เพิ่มขึ้น การพัฒนาหรือเพิ่มพูนความรู้นี้ต้องทำอยู่ตลอดเวลาและความรู้ก็จะเพิ่มหรือพัฒนาได้อย่างไม่มี สิ้นสุดเป็นเกลียวแห่งความรู้ (knowledge spiral) ไปเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น อาหารต่าง ๆ ที่ใช้รับประทานทุกอย่างเน่าเสียได้เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เมื่อต้องการรักษาอาหารให้คงสภาพต่อไปนานขึ้นโดยไม่เน่าเสียจาก 1 วันเป็น 3 วัน หรือ 7 วัน หรือนานกว่านี้ก็ต้องใช้ความรู้เรื่องการถนอมอาหารเข้ามาช่วยจัดการเป็นต้น
(5) การเปิดเผยและบันทึกความรู้ (knowledge presentation and storage) เมื่อคนที่มีความรู้
อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็เปิดเผยความรู้ของตนเองนั้น (tacit knowledge) ออกมาให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย (explicit knowledge) และจากนั้นความรู้ที่ถูกเปิดเผยก็จะได้ไม่ไป แม้เจ้าของจะไม่มีแล้วเพราะความรู้ที่ถูกเปิดเผยนี้จะถูกเก็บหรือบันทึกไว้แล้วในทางใดทางหนึ่งตกทอดและพัฒนาต่อไป
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com
|
|