|
ความรู้กับมนุษย์
โดย ผศ.ดร.ไพโรจน์ ชลารักษ์
1.14 การคิดและธรรมชาติของการคิด
มีผู้กล่าวว่า การคิด คือการสำรวจตรวจสอบประสบการณ์เพื่อความมุ่งหมาย หรือจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง (สำนักงานศึกษาธิการเขต เขตการศึกษา 5 2530, 5) อาจอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า ผู้ใดสำรวจตรวจสอบประสบการณ์ ผู้นั้นคือผู้คิด และตรวจสอบประสบการณ์ของตนเองหรือผู้อื่นก็เรียกว่าเป็นการคิดได้ทั้งสองอย่าง และการตรวจสอบนั้นก็ต้องมีวัตถุประสงค์กำกับด้วย ที่สำคัญการสำรวจตรวจสอบประสบการณ์นี้มิได้ใช้เครื่องมือนอกตัวตนอย่างใด แต่ใช้สมองของคน ๆ นั้น นั่นเอง สมองเปรียบเสมือนโกดังที่รองรับหรือเก็บสิ่งต่าง ๆ ที่ไหลเข้ามาโดยอ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย แต่มีอะไรบางอย่างนำสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาจำแนกเปรียบเทียบ สรุป แล้วเก็บในที่แห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่าความทรงจำ ธรรมชาติของการคิดจึงอาศัยวิธีการ 2 วิธี ได้แก่ การสังเกต และการเปรียบเทียบ เป็นกิจกรรมหลัก การคิดจึงเป็นกระบวนการมีกิจกรรมแรกคือ การรับสัมผัส รับรู้แล้วสังเกต เปรียบเทียบ แล้ววินิจฉัย ตัดสิน สรุป เป็นผล ขั้นสุดท้าย ตัวที่รับรู้กระบวนการนี้ คือจิตของคน ดังนั้นกล่าวได้ว่า
การคิด (thinking) คือภาวะที่จิตแปรเปลี่ยนหรือเคลื่อนไหว เพราะถูกกระทบจากสิ่งต่าง ๆ ทั้งจากภายในตัวคนและภายนอกตัวคน และการแปรเปลี่ยนนี้เกิดขึ้นในอวัยวะส่วนที่เรียกว่า สมอง (brain) เป็นการพยายามจะรับรู้เพิ่มขึ้นจากเดิม ภาวะจิตที่สถิตอยู่ในอวัยวะภายในร่างกายคือสมองนี้เปรียบเสมือนน้ำที่มีอยู่ในหม้อ หากหม้อถูกกระทบกระเทือนหรือถูกความร้อนทำให้น้ำเคลื่อนไหวและร้อนขึ้นจนถึงขั้นเดือดและระเหยเป็นไอไปได้ ภาวะจิตที่สถิตในสมองและถูกกระทบผ่านอวัยวะอื่นที่ส่งมาทาง ตา หู จมูก ลิ้น และกายภายนอกส่วนอื่น จะสัมผัสหรือปะทะกันผสมผสานกันเป็นอาการที่ถือได้ว่าเป็นการคิด หากการคิด มุ่งเป้าหมายไปเพื่อจะกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างการคิดนั้นจะเรียกว่า เจตนา (will) ที่สุดของเจตนาจะเป็นการตัดสินใจ (decision) และเมื่อมีการตัดสินใจแล้วก็แสดงออกหรือสะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรม (actions or behaviors)
การคิดจะเกิดขึ้นและเป็นไปตลอดเวลาต่อเนื่องกันโดยไม่มีหยุดจนผู้คิดหรือตัวคนคิดอาจไม่รู้ตัวสิ่งที่เป็นความคิดก็จะแปรเปลี่ยนเรื่อย ๆ ต่อเนื่องกันเป็นกระแส (stream) เมื่อความคิดเปลี่ยนแปลงและดำเนินไปยาวนานสิ่งที่เคยได้คิดไว้ก็ห่างไกล และลืมได้
สิ่งที่จะช่วยให้การคิดมีความเข้มและดำรงอยู่หรือดำเนินไปอย่างมีเป้าหมายแน่ชัด ได้แก่ สติ (mindfulness) และสัมปชัญญะ (awareness)
ลักษณะความคิด อาจแบ่งได้เป็น 2 แบบ ได้แก่
1) คิดแบบมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์(purposeful thinking ) คือคิดเพื่อหาข้อสรุปหรือ ตอบคำถาม หาทางแก้ปัญหาหรือตอบข้อสงสัย
2) คิดแบบไร้เป้าหมาย (unpurposeful ) คือการคิดปล่อยไปตามอารมณ์เรื่อยๆ ไม่ต้องการแก้ปัญหาหรือตอบข้อสงสัยใดๆ การคิดแบบนี้เป็นการผ่อนคลายจากการคิดแบบแรก(relaxation) อาจเรียกอีกหนึ่งว่าจิตนาการ (imagination)
1.15 องค์ประกอบของการคิด
การคิดของมนุษย์จะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบดังนี้
1) เรื่องหรือสาระที่ใช้เป็นแกนให้คิด ความจริงก็คือเรื่องที่มนุษย์ได้รับสัมผัส หรือรับรู้แล้วนั่นเอง อาจเป็นเรื่องที่เพิ่งรับรู้หรือเพิ่งสัมผัสเป็นครั้งแรก หรือ เรื่องที่เคยรับรู้รับสัมผัสมาแล้วในอดีตก็ได้ ซึ่งเป็นการย้อนรำลึก(recall or remind)ประสบการณ์ในอดีตมาใช้ในการคิด
2) ลักษณะหรือวิธีการคิด หมายถึง การมุ่งประเด็นหรือเรื่องที่คิดไปแนวใด ซึ่งอาจสรุปเป็นวิธีคิดได้หลายวิธีดังต่อไปนี้
(1) คิดถามหรือคิดสงสัย ( surprising) เป็นการคิดเมื่อรับสัมผัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งทันทีที่รู้สึกถึงสัมผัส จากนั้นก็จะเปลี่ยนไปเป็นความคิดแบบอื่นต่อไปก่อนที่จะสิ้นสุดหรือยุติว่า เป็นเรื่องหรือสาระใดให้คิดต่อ
(2) คิดแบบวิเคราะห์(analytical thinking ) คือ คิดจำแนกแยกแยะว่า เรื่องที่คิด มีอะไรเป็นส่วนประกอบหรือเกี่ยวข้องผสมกับอะไรอยู่บ้าง
(3) คิดแบบสังเคราะห์(synthetical thinking) คือคิดหาส่วนสาระที่ต้องการออกมาจากเรื่องทั้งหมด
(4) คิดแบบเชื่อมโยงหรือหาความสัมพันธ์(matter related thinking) คือคิดในประเด็นที่ว่า มีสาระที่ต่างกัน อะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกันอย่างไร ซึ่งจะได้แก่การคิดความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน
(5) คิดแบบย้อนรำลึก (remind หรือ recall ) เป็นการย้อนกลับไปทบทวนหรือเรียงลำดับ หรือทำความกระจ่างชัดเจน ให้เกิดขึ้นในใจหรือในความคิด ซึ่งเดิมยังไม่ชัดเจน หรือเคยรับรู้หรือประสบมานานแล้ว เกิดการเลือนหรือลืมไปบ้าง มักจะใช้คำง่าย ๆ ว่านึก
(6) คิดทบทวนไตร่ตรองหรือใคร่ครวญ(rethink) เป็นการคิดให้รอบคอบเพื่อหาความแตกต่างไปจากความคิดเดิมว่ามีอีกหรือไม่ เป็นการคิดอย่างช้าๆด้วยวิธีคิดหลายวิธีผสมผสานกัน
(7) คิดตามหรือคิดย้อน (following or converting thinking) เป็นการคิดเมื่อคนได้ฟังหรืออ่าน หรือดู เรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน การคิดแบบนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องได้ชัดเจน
3)ตัวกระตุ้นหรือเร้าให้คิด (arousal) เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ความคิดคงอยู่และพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปจนถึงที่สุดคือ มนุษย์ได้ผลสรุปจากการคิด บางอย่างเมื่อมนุษย์รับรู้หรือสัมผัสแล้วเพียงแต่รับรู้เท่านั้น ไม่มีการคิดต่อไป แต่ถ้ามีสิ่งใดมาช่วยหรือกระตุ้นจะทำให้เกิดการคิดต่อเนื่อง ตัวกระตุ้นหรือสิ่งเร้า มี 2 ประเภท ได้แก่
(1) สิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นภายในมนุษย์เอง (intrinsic) ได้แก่ ความอยาก (desire) หรือความต้องการ (needs) ที่เกิดเองได้โดยอัตโนมัติเมื่อถึงเวลา เช่น ความหิว ความต้องการทางเพศ สิ่งเร้าประเภทนี้เป็นประสบการณ์เดิมที่มีมาก่อนแล้วและเกิดความคิดแบบย้อนรำลึกหรือนึกขึ้นมาหรืออาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะฮอร์โมนในร่างกายกระตุ้นก็ได้
(2) สิ่งเร้าภายนอก (extrinsic) เป็นสิ่งที่อยู่นอกตัวมนุษย์แต่มนุษย์สามารถรับ สัมผัสได้ด้วยประสาทรับสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การได้เห็น ได้ยิน ได้ดม ได้ชิม และได้สัมผัสถูกต้องทำให้ได้รับรู้แล้วทำให้เกิดการคิดตามมา
4) เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการคิด (purposes and ends of thinking) การคิดจะมีที่สิ้นสุดหรือยุติเมื่อได้คิดเรื่องหนึ่งเรื่องใด จนกระทั่งประเด็นหรือเรื่องที่คิดเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เมื่อคนได้เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ก็จะคิดว่ามันคืออะไร ซึ่งเป็นคำถามที่เป็นวัตถุประสงค์การคิดซึ่งเกิดโดยอัตโนมัติได้หากเป็นสิ่งที่เคยประสบมาแล้วก็จะเปลี่ยนการคิดเป็นการย้อนรำลึก หรือคิดเชื่อมโยงกับสิ่งที่ใกล้เคียงหรือคล้ายกัน หากเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยประสบมาก่อนก็จะคิดแบบวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อหาความเข้าใจหรือสาระเพิ่มขึ้นจนในที่สุดก็จะยุติลงด้วยภาวะหนึ่ง เช่น นึกได้ว่าเคยเห็นแล้วเคยรู้จักแล้วจำได้ หรือสรุปว่าเป็นสิ่งใหม่ยังไม่เคยประสบมาก่อน
ข้อยุติดังกล่าวเป็นเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่มีเป้าหมายและ วัตถุประสงค์ของการคิดบางอย่างสามารถกำหนดขึ้นได้โดยผู้คิดเอง ซึ่งจะจัดเป็นลักษณะการคิดอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 แบบ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
ntelligence) เป็นการลอกเรียนแบบปัญญามนุษย์ไปสร้างในสิ่งที่ไม่ใช้มนุษย์ให้ได้เหมือนมนุษย์
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com
|
|