|
ความรู้กับมนุษย์
โดย ผศ.ดร.ไพโรจน์ ชลารักษ์
1.11 ลักษณะและองค์ประกอบของ ข้อมูล สารสนเทศ ความรู้ ปัญญา
ข้อมูล มีลักษณะเป็นธรรมชาติปรากฏหรือเกิดขึ้นเองโดยทั่วไปแล้วได้มีการแจงนับเมื่อมีการตรวจพบ เช่น มีต้นไม้ขึ้นอยู่ในป่า มีปลาและสัตว์น้ำในแหล่งน้ำ มีฝุ่นละอองในอากาศเมื่อมีการตรวจพบก็จะมีการแจงนับออกมาส่วนมากจะเป็นตัวเลขแสดงออก เช่น มีต้นไม้กี่ต้น หรือ กี่ชนิดในป่า (จำนวน) มีปลาและสัตว์น้ำกี่ตัวหรือกี่ชนิด มีฝุ่นละอองปริมาณมากหรือน้อย (จัดได้เป็นหน่วยตัวเลข) เท่าใด เป็นต้น องค์ประกอบของความเป็นข้อมูลจึงมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่แสดงลักษณะ (ว่าเป็นอะไร) และส่วนที่แสดงจำนวน
สารสนเทศ มีลักษณะเป็นการจัดกระทำหรือธิบายเพิ่มเติมต่อข้อมูลเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่นต้องการบอกให้คนทั่วไปรู้ว่าอากาศมีสิ่งเจือปนไม่บริสุทธิ์ ก็นำเอาข้อมูลที่ตรวจพบว่าในอากาศมีฝุ่นละอองมากเท่าใด มีจุลินทรีย์อะไรบ้าง จำนวนหรือปริมาณเท่าใด เป็นต้น การนำเอาข้อมูลมาจัดกระทำเพิ่มตามวัตถุประสงค์แล้วบันทึกเก็บไว้ในแหล่งเก็บ หรือนำเสนอโดยวิธีการใด ๆก็ตาม สาระที่ถูกนำเสนอนั้นเป็นสารสนเทศ องค์ประกอบของสารสนเทศจึงต่างจากข้อมูลตรงที่มีส่วนของวัตถุประสงค์เฉพาะเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีการจัดกระทำเพิ่มขึ้นจากขั้นความเป็นข้อมูล
ความรู้ มีลักษณะเป็นนามธรรมและอยู่ในตัวคน เป็นลักษณะแฝงอยู่ถ้าไม่แสดงออกโดยพฤติกรรมจะไม่มีใครอื่นรู้ได้นอกจากตัวเอง ผู้รู้บางท่านเรียกความรู้ชนิดนี้ว่าความรู้แฝง (tacit knowledge) เมื่อเจ้าของความรู้แสดงความรู้ออกมาด้วยพฤติกรรมใด ๆ ก็ตาม ความรู้นั้นจะกลายเป็นความรู้แสดง (explicit knowledge) และมันสามารถจะไปสถิตอยู่ในสื่อหรือวัสดุบันทึก ใด ๆ ก็ได้รวมถึงเข้าไปอยู่ในตัวบุคคลอื่นทันที กลายเป็นความรู้แฝง (tacit knowledge) ในตัวคนอื่นอีกครั้งหนึ่งได้ด้วย ส่วนที่ถูกเก็บบันทึกในสื่อวัสดุหรือระบบรูปแบบใด ๆ ก็ตามจะเป็นลักษณะความรู้สถิต (static knowledge) ในรูปของสารสนเทศ (information) ซึ่งจะเปลี่ยนกลับมาเป็นความรู้ได้ใหม่อีกครั้งเมื่อมีบุคคลไปสัมผัสหรือเรียนรู้จากสื่ออื่นภายหลัง องค์ประกอบของความรู้จึงอาจอธิบายได้ว่ามีองค์ประกอบดังนี้
1. ตัวสาระความรู้
2. ที่สถิตหรือที่อยู่ของความรู้ ซึ่งหมายถึงคนหรือวัตถุบรรทุก
3. การปรากฏหรือแสดงออกของความรู้
4. ผู้รู้หรือผู้รับรู้
ปัญญา มีลักษณะเป็นความสว่าง สะอาด สวยในใจคนหลังจากความรู้ถูกทำให้บริสุทธิ์แท้แล้ว
(crystallized knowledge) แสดงออกหรือประยุกต์ให้ผู้อื่นทราบได้จากพฤติกรรมที่เรียกว่า ปฏิภาณ ไหวพริบ หรือการแก้ไขปัญหาได้สำเร็จลุล่วงด้วยดีอย่างฉับพลันทันที ลักษณะของปัญญาจึงเป็นลักษณะของการหยั่งรู้ (ญาณ) แล้วการบรรลุส่ง (enlight) ความบริสุทธิ์ของจิตใจมนุษย์ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการขจัดสิ่งไม่บริสุทธิ์ออกจากจิตใจได้หมดสิ้นแล้ว องค์ประกอบของปัญญาจึงเป็นความบริสุทธิ์ในความคิดและจิตใจของคนเพียงอย่างเดียว
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com
|
|