|
ความรู้กับมนุษย์
โดย ผศ.ดร.ไพโรจน์ ชลารักษ์
1.9 ความหมายของข้อมูลสารสนเทศ ความรู้ และปัญญา
ข้อมูล (data) หมายถึง ข้อเท็จจริง (facts) หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติ (phenomena) หรือ เหตุการณ์ (events) ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่เป็นอยู่เองแล้วตามปกติและได้รับการตรวจพบและบันทึกหรือเก็บรวบรวมไว้ใช้ประโยชน์ หากข้อเท็จจริง หรือปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์เหล่านั้นไม่มีผู้ใดได้พบเห็นได้มีการบันทึกรวบรวมไว้ด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตาม ความเป็นข้อมูลก็ไม่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ทุก ๆ เช้า มีนักศึกษาหรือบทเรียน เดินทางไปเรียน คนทั้งหลายไปทำงาน มีลมพัดแรงบ้าง เบาบ้าง อากาศร้อนบ้าง เย็นบ้าง เป็นปกติแต่หากมีใครบางคนทำการสังเกตแล้วบันทึกว่าโรงเรียนใดมีนักเรียนไปเรียนกี่คนในแต่ละวัน มีผู้โดยสารรถไปทำงานวันละกี่คน มีรถวิ่งกี่เที่ยว ลมพัดด้วยความเร็วเท่าใด เวลาใด อุณหภูมิแต่ละวันสูง ต่ำ เพียงใด ซึ่งที่ตรวจพบและบันทึกไว้นี้เรียกว่าข้อมูล
สารสนเทศ (information) คือ สภาพของข้อมูลที่สูงนำเสนอหรือเปิดเผยเพื่อใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง สารสนเทศจึงเป็นข้อมูลที่ถูกจัดกระทำ (manage) แล้ว และมักจะอยู่รูปของการบันทึกในวัสดุต่าง ๆ ด้วยรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ มากมาย เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกัน และนำมาผสมผสานกันได้ ตัวอย่างเช่น เครื่องตรวจนับผู้เข้าใช้บริการของห้องสมุดแห่งหนึ่งบันทึกจำนวน ผู้เข้ามาใช้บริการห้องสมุดทุกครั้งที่มีคนเข้าออก สถิติหรือจำนวนที่ถูกบันทึกไว้นั้นเรียกว่าข้อมูล หรือข้อมูลดิบ (raw data) เมื่อครบระยะเวลาหนึ่ง เช่น 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน หรือ 1 ปี มีผู้มาตรวจนับสถิติผู้เข้าใช้ห้องสมุดนี้แล้วนำไปเปิดเผยหรือรายงานต่อผู้บังคับบัญชา หรือเปิดเผยต่อสาธารณะ ว่าในรอบสัปดาห์ หรือรอบเดือน หรือรอบปี ที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการห้องสมุดกี่คน ข้อมูลที่ถูกรวบรวม วิเคราะห์ แยกเป็นรอบสัปดาห์ หรือรอบเดือน หรือรอบปี แล้วถูกรายงานที่เรียกว่าข้อมูลจัดกระทำ (managed data) หรือสารสนเทศ (information)
ความรู้ (knowledge) คือสิ่งที่ตกค้างหลงเหลืออยู่ในใจคน หลังจากคนได้รับรู้หรือ มีประสบการณ์กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว เป็นความตระหนักว่าสิ่งที่ได้รับรู้หรือสัมผัสหรือ มีประสบการณ์มานั้นเป็นอย่างไรและตัวคนจะรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ หรือไม่อย่างไรต่อสิ่งนั้น ความรู้เป็นสภาวะนามธรรมในตัวคนที่เป็นสิ่งเฉพาะตนของใครของมันไม่เหมือนกัน แม้จะประสบกับสิ่งเดียวกันเพราะเมื่อสัมผัสแล้วจะเกิดการผสมผสานเชื่อมโยงกับประสบการณ์หรือความรู้เดิมของคนด้วยความรู้จึงเกิดและสะสมในตัวคนทุกครั้งที่มีประสบการณ์ หรือมีการรับรู้และเรียนรู้ การพิสูจน์หรือทำให้ทราบว่าคนมีความรู้หรือไม่เพียงใดต้องอาศัยการตรวจสอบพฤติกรรมที่แสดงออกของบุคคลผู้นั้นจึงจะทราบได้
ปัญญา (wisdom) เป็นพัฒนาการขั้นสูงสุดทางจิตใจของมนุษย์หรือสัตว์โลก เป็นสภาวะที่เกิดในตัวคนหลังจากคนได้ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ การฝึกฝนมาอย่างมากมายแล้วคล้าย ๆ เป็นภาวะตกผลึกของความรู้ที่สิ่งเจือปนหรือความรู้เทียม ความเข้าใจผิดได้ถูกกำจัดออไปหมดเหมือนน้ำสะอาดที่สิ่งเจือปนทุกชนิด ถูกกำจัดออกไปหมดแล้ว น้ำสะอาดบริสุทธิ์มีคุณค่ามีประโยชน์มากฉันใด ปัญญาบริสุทธิ์ยิ่งมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อผู้เป็นเจ้าของฉันนั้น
1.10 ความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล สารสนเทศ ความรู้ และปัญญา
ความสัมพันธ์ทั้ง 4 อย่างของข้อมูล สารสนเทศ ความรู้ และปัญญา ดังได้กล่าวมาแล้วมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาก เกี่ยวข้องกับระบบและเป็นลำดับดังแผนภูมิ ที่แสดงนี้
หน้าสารบัญ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com
|
|