4000111 ทักษะการจัดการความรู้
สาขาวิชาศึกษาทั่วไป
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
ถนนกาญจนบุรี-ไทรโยค ต.หนองบัว อ.เมือง กาญจนบุรี 71000

***ความรู้คืออำนาจ เรียนและค้นคว้าให้สนุกในโลกของสังคมข่าวสาร ไร้พรมแดน ไร้กาลเวลา***

ทักษะการจัดการความรู้

คำอธิบายรายวิชา/
แนวการสอน
(Course
Overview)

สารบัญเนื้อหาวิชา

กิจกรรมการเรียน
การสอน

สื่อการสอน

การประเมินผล
(Evaluation)

ตำราประกอบ
การสอน
(Texts and
Materials)

แหล่งทรัพยากร
สารสนเทศอื่นๆ
(Other Useful
Resources)

แหล่งทรัพยากร
เกี่ยวกับ
Internet
(Resources
about the
Internet and
Its Tools)

ตำราและวารสาร
อิเล็กทรอนิกส์
(On-Line
Journals and
Magazines)

แนะนำตัวผู้สอน

รายชื่อนักศึกษา

ผลงานของนักศึกษา

การสอบปลายภาค


Home

ความรู้กับมนุษย์

โดย ผศ.ดร.ไพโรจน์ ชลารักษ์

ความรู้ (Knowledge) กับมนุษย์ (Man) เป็นสิ่งที่อยู่ด้วยกันเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้ เพราะถ้ามนุษย์ไม่มีความรู้ คือมีแต่ความไม่รู้ (Ignorance) ก็ไม่มีความเป็นมนุษย์อีกต่อไปเพราะขาดลักษณะและคุณสมบัติที่สำคัญที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์ หรือหากจะพิจารณาว่า มีแต่ความรู้โดยไม่มีมนุษย์ได้หรือไม่ คำตอบที่ชัดเจนคือไม่ได้ เพราะสรรพสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ หรือมีกำเนิดมาก่อนการมีมนุษย์ก็จะเป็นเพียงความเป็นจริง (facts) หรือปรากฏการณ์ (phenomena) ตามธรรมชาติเท่านั้นเมื่อขาดผู้รับรู้ (perceiver) ถึงสภาวะเหล่านั้นความรู้จึงไม่ปรากฏ เมื่อเกิดมีมนุษย์ขึ้น มนุษย์มีลักษณะพิเศษที่รับรู้ (perceive) และเรียนรู้ (learn) ได้ที่ยังสะสมและพัฒนาสิ่งที่มนุษย์รับรู้ได้ จึงสามารถสั่งสมสิ่งที่เรียกว่าความรู้ไว้ใน ตัวมนุษย์เองตลอดเวลา ความรู้กับมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่แยกจากกันมิได้

1.1 ความหมายของความรู้

หากตั้งคำถามว่า ความรู้คืออะไร หรือหมายถึงอะไร จะมีผู้ให้คำตอบแตกต่างกันไปมากมาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ความรู้คือ กรอบของการประสมประสานระหว่างประสบการณ์ ค่านิยม ความรอบรู้ในบริบท และความรู้แจ้งอย่างช่ำชอง เป็นการประสมประสานที่ให้กรอบสำหรับการประเมินค่า และการนำเอาประสบการณ์สารสนเทศใหม่ ๆ มารวบรวมเข้าด้วยกัน มันเกิดขึ้นและถูกนำไปประยุกต์ในใจของคนที่รู้ สำหรับในแง่ขององค์กรนั้น ความรู้มักจะสั่งสมอยู่ในรูปเอกสารหรือแฟ้มเอกสารต่าง ๆ รวมไปถึงสั่งสมอยู่ในการทำงานอยู่ในกระบวนการ อยู่ในการปฏิบัติงานและอยู่ในบรรทัดฐานขององค์กรนั้นเอง (นิทัศน์ วิเทศ, 2542, 8)
ความรู้คือสิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้าหรือประสบการณ์รวมทั้งความสามารถเชิงปฏิบัติและทักษะความเข้าใจ หรือสารสนเทศที่ได้รับมาจากประสบการณ์; สิ่งหนึ่งได้รับมาจากการได้ยิน ได้ฟัง การคิดหรือการปฏิบัติ; องค์ลงที่สาขาในแต่ละวิชา(ราชบัณฑิตยสถาน, 2542, 232)
ความรู้คือสารสนเทศที่ผ่านกระบวนการคิด เปรียบเทียบ เชื่อโยงกับความรู้อื่นจนเกิดเป็นความเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ในการสรุปและตัดสินใจในสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ไม่จำกัดช่วงเวลา(สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, 2547, 14)
ความรู้ คือ กรอบของการประสมประสานระหว่างสถานการณ์ ค่านิยม ความรู้ในบริบท และความรู้แจ้งอย่างชัดเจน ซึ่งโดยทั่วไปความรู้จะอยู่ใกล้ชิด กับ กิจกรรมมากกว่าข้อมูลและสารสนเทศ (ความรู้มีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง) สามารถดำรงอยู่ได้ทุกสถานที่ในเวลาเดียวกันและความรู้ไม่สามารถเปลี่ยนมือกันได้ ดังนั้นในสังคมสารสนเทศ เมื่อเราพูดถึงสินทรัพย์และสินค้าที่เป็นนามธรรมนั้น ข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศหรือความรู้ไม่มีการสูญสลายและสามารถรีไซเคิล ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ (ชัชวาล วงประเสริฐ, 2548, 17)
Knowledge is a fluid mix of framed experience, values, contextual information, and expert insight that provides a framework for evaluating and incorporating new experiences and information. It originates and is applied in the minds of knower. In organizations, it often becomes embedded not only in documents or repositories but also in organizational rocetines, processes, practices, and norms (Davenport and Prusak, 1998, 5)
ความรู้ (knowledge) เป็นกระบวนการของการขัดเกลา เลือกใช้และบูรณาการ การใช้ สารสนเทศเหล่านั้น จะเกิดเป็นความรู้ใหม่ (new knowledge) ความรู้ใหม่จึงเกิดขึ้นจากการ ผสมผสานความรู้และประสบการณ์เดิมผนวกกับความรู้ใหม่ที่ได้รับ ความรู้ดังกล่าวเป็นสิ่งที่อยู่ ภายในบุคคลเป็นความรู้ที่ไม่ปรากฏชัดแจ้ง (tacit knowledge) หากเมื่อความรู้เหล่านั้นได้ถูก ถ่ายทอดออกมาในรูปของการเรียนที่เป็นลายลักษณ์อักษร ความรู้นั้นก็จะกลายเป็นความรู้ที่ปรากฏชัดแจ้ง (explicit knowledge) ความรู้ดังกล่าวจะมีคุณค่าปรากฏเมื่อนำมาใช้ในกระบวนการตัดสินใจ (decision making)... (พรชิตา วิเชียรปัญญา, 2547, 21)

จากตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นสามารถทำให้เข้าใจได้ว่าความเข้าใจเรื่องความรู้ในแต่ละบุคคลยังไม่ตรงกันนักและยังไม่แจ่มชัดจนหายสงสัยได้ทั้งหมด ผู้รู้บางท่านให้คำนิยามจากการศึกษา ค้นคว้าทฤษฎี และนิยามสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความรู้ได้แก่ข้อมูลสารสนเทศ บางท่านอธิบายจากประสบการณ์และผลที่ได้จากการใช้ความรู้ในการปฏิบัติงาน ดังนั้นจากนิยามต่าง ๆ ที่กล่าวมาสามารถตั้งข้อสังเกตลักษณะของความรู้ได้ว่ามีลักษณะดังต่อไปนี้
1. เป็นนามธรรม
2. มีกำเนิดในคน และอยู่ในตัวคน
3. เกิดขึ้นได้โดยอาศัยกระบวนการและปัจจัยหลายอย่างทั้งภายนอกและภายใน ตัวคนผสมผสานกัน
4. แสดงออกให้ปรากฏแก่ผู้อื่นได้โดยผ่านพฤติกรรม
5. มีพลังและมีอิทธิพลต่อคน
6. นำมาใช้แล้วไม่หมดไป ไม่สูญสลายมีแต่จะเปลี่ยนแปลงและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
7. สามารถบันทึกและถ่ายทอดออกจากคนได้โดยอาศัย สื่อ และเครื่องมือต่าง ๆ อย่างไรก็ตามความรู้อาจนิยามได้ว่า คือ สภาวะในตัวคนที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานอย่าง ลงตัวระหว่างความจำ ความคิด ความเข้าใจ และความรู้สึก เมื่อคนได้ประสบหรือรับรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วสภาวะนี้จะไม่หายไปจากคนแต่อาจลืมไปได้บ้างบางส่วนและบางเวลา

1.2 บ่อเกิดของความรู้

แหล่งหรือต้นกำเนิดของความรู้ อยู่ที่ใดหรือเกิดได้อย่างไรอธิบายได้ยากแต่ขออ้างถึง พระราชวรมุนี (ประยูร ธมมจิตโต), (2544, 13-14) ได้สรุปความคิดของนักปรัชญาตะวันตกว่า ที่มาหรือบ่อเกิดของความรู้มี 3 ทาง ได้แก่
1. สัมผัสกาย (sensation) คือ ความรู้ที่เกิดจากประสามสัมผัสทั้งห้า คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การู้รส และการสัมผัส
2. เหตุผล (reason) คือ ความรู้ที่เกิดจาการติดตาม หลักเหตุผลในใจ
3. อัชฌัตติกญาณ (intuition) คือ ความรู้ที่ผุดขึ้นในใจโดยตรง ถ้าเป็นความรู้จากญาณวิเศษ เรียกว่า การตรัสรู้ (enlightenment) ถ้าเป็นความรู้ที่ได้จากการดลใจของพระเจ้าก็เรียกว่า วิวรณ์ (revelation) ทั้งสามทางเป็นทางที่เกิดในตัวมนุษย์ จึงกล่าวได้ว่าบ่อเกิดความรู้ คือ ตัวมนุษย์นี้เองที่เป็นที่ ที่รวมหรือไหลเข้าของสิ่งต่าง ๆ แล้วเกิดปฏิบัติสัมพันธ์เป็นความรู้ขึ้น

1.3 ปัจจัยหรือองค์ประกอบของความรู้ (Factors of knowledge)

ดังได้กล่าวแล้ว่าความรู้ในคนเกิดได้ต้องอาศัยปัจจัยทั้งภายในและภายนอกตัวคน หลายอย่าง ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
1) ปัจจัยภายนอก หมายถึงสิ่งที่คนสามารถรับรู้ (perceive) หรือสัมผัส (touch or feel) แล้วทำให้เกิดความรู้ขึ้นในตัวคน ได้แก่
1.1 ) ข้อเท็จจริง (facts) หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติ (phenomena) สิ่งเหล่านี้มีอยู่ เป็นอยู่ ดำรงอยู่ (being) เป็นปกติมาก่อนกำเนิดของมนุษย์แล้วไม่ว่าจะมีมนุษย์ เกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม และเมื่อมีมนุษย์ถือกำเนินขึ้นแล้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่เป็นอยู่ หรือดำรงอยู่เช่นเดิม มนุษย์มีศักยภาพในการรับรู้ หรือสัมผัส สิ่งเหล่านี้ได้ทันทีที่มนุษย์ถือกำเนิด
1.2 ) ข้อมูล (data) เป็นสิ่งมนุษย์บัญญัติ (name) ขึ้นจากการได้รับรู้หรือ สัมผัสปรากฏการณ์ธรรมชาติแล้ว และทำการบันทึก (recording) และแจงนับ (numbering) ไว้เมื่อมนุษย์รับรู้หรือสัมผัสข้อมูลด้วยวิธีใดก็ตามก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาได้อีก
1.3 ) สารสนเทศ (information) หมายถึงข้อมูลที่ได้รับการจัดกระทำโดย มนุษย์เพื่อให้มีความหมายสำหรับใช้สื่อสารกับมนุษย์ด้วยกันให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เมื่อมนุษย์รับ สารสนเทศแล้วก็จะนำไปผสมผสานกับข้อมูล หรือความรู้เดิม ทำให้เกิดความรู้ใหม่กว้างขวางลึกซึ้งซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก
1.4 ) เหตุการณ์ (events) หรือสถานการณ์ (situations) หมายถึง ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วดำเนินไปหรือดำรงอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งซึ่งไม่นานนักแล้วก็สิ้นสูญหรือหยุดไป แต่มนุษย์มีโอกาสรับรู้หรือประสบ (experiences) ได้จึงทำให้มนุษย์เกิดความรู้ขึ้น
ปัจจัยภายนอกเหล่านี้มนุษย์จะมีโอกาสได้รับรู้หรือสัมผัสได้ทั้งโดยตรง และโดยผ่านสื่อต่าง ๆ มากมาย

2) ปัจจัยภายใน หมายถึงภาวะในตัวมนุษย์เอง ณ เวลาที่ได้รับรู้หรือสัมผัสปัจจัย ภายนอกว่าพร้อมที่จะรู้ได้เพียงใด หากอยู่ในภาวะไม่พร้อมก็อาจไม่เกิดความรู้ได้หรืออาจไม่รับรู้เอาเลยเช่นในภาวะที่คนนอนหลับสนิท หรือสลบไร้สติ ปัจจัยภายในเหล่านี้ได้แก่
2.1) จิต (mind) เป็นธาตุ (element) นามธรรม (abstract) ที่เป็นตัวรู้ สรรพสิ่ง ในคำสอนทางพุทธศาสนาอธิบายว่าจิตเปลี่ยนแปลงง่ายและเร็วมากเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่อยู่นิ่งจึงสามารถสัมผัสและรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เร็วและมาก แต่ถ้าเมื่อใดที่คนสามารถทำให้จิตของตนหยุดนิ่ง (เป็นสมาธิ) อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วจะเกิดความสว่าง (ปัญญา) ได้และจะไม่รับรู้สิ่งภายนอก อื่นเลย
2.2) อารมณ์ (emotion) หรือภาวะจิตหรือกระแสจิต (state of mind) หมายถึงภาวะจิตที่นิ่งหรือมุ่งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นกระแสติดต่อกันยาวนานโดยสิ่งอื่นไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าแทนได้ เช่นเวลาที่คนกำลังสนใจ ดูกีฬาจนไม่ได้ยินเสียงเรียกชื่อ หรือเวลาที่คนตกใจหรือตกตลึงเมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงไม่สามารถจำหรือบอกรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ได้
2.3) ปัญญา (wisdom) คือภาวะที่สามารถวินิจฉัยตัดสิน สรุปภาวการณ์รับรู้จากประสาทสัมผัส และการพิจารณาภายในของจิตจนเกิดความชัดแจ้งในใจ

1.4 โครงสร้างของความรู้ (structure of knowledge) อาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นโครงสร้างของความรู้ (structure of knowledge) หมายถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวก่อให้เกิดความรู้ว่ามีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกันอย่างไร เนื่องจากเป็น ที่ทราบแล้วว่าความรู้เป็นนามธรรมจึงเป็นการยากที่จะทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้ปรากฏลักษณะหรือโครงสร้างให้เห็นชัดเจนได้จึงต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมผสมเข้าด้วยกันซึ่งอธิยายได้ดังนี้
1) ผู้รู้ (knower) คือตัวคนนั่นเอง หากไม่มีตัวคน (ที่มีชีวิต) ก็ไม่มีผู้รู้ ความรู้ก็เกิดขึ้น ไม่ได้และไม่มีที่อยู่สำหรับความรู้
2) สิ่งที่รู้ได้ (being) หมายถึง สะสาร (matter) หรือ พลังงาน (energy) หรือทั้งรูปธรรม (concrete) และนามธรรม (abstract) ต่าง ๆ ที่คนสามารถสัมผัสหรือรู้ได้
3) ภาวการณ์ดำรงอยู่ของสิ่งใดรู้แล้วในผู้รู้ (existing or prevailing of being known) ภาวะนี้ปรากฏในรูปหรือลักษณะของความจำ (memory) ความเชื่อ (believe) หรือข้อสรุป (concept)ในคนหรือในผู้รู้นั้น

1.5 ความหมายของการเรียนรู้ (learning) การเรียนรู้เป็นกระบวนการ หมายถึง ความตั้งใจหรือใส่ใจที่จะรู้บางสิ่งบางอย่างแล้ว จึงกำหนดวิธีการให้ได้รู้และลงมือทำจนเห็นผลจากการกระทำนั้น หมายความความตั้งใจ (intending) เป็นสิ่งแรกที่ถูกกำหนดในใจคนและเมื่อลงมือปฏิบัติการสัมผัสหรือทำอย่างมีจุดประสงค์แน่นอนและชัดแจนแล้วได้ผลอย่างไรออกมาเป็นอันจบกระบวนการ ซึ่งสรุปได้ 4 ขั้นตอน คือ
(1) ตั้งใจจะรู้ อยากจะรู้ หรือกำหนดในปัจจัยต้องการรู้
(2) กำหนดวิธีปฏิบัติเพื่อให้รู้
(3) ลงมือปฏิบัติหรือทำตามที่คิดไว้
(4) ได้รับผลหรือประจักษ์ผลจากการทำ
เมื่อสิ้นสุดกระบวนนี้แล้วเรียกว่า เสร็จสิ้นกระบวนการเรียนรู้ ช่วยเหลืออยู่เป็นประสบการณ์ (experiences) และความรู้ (knowledge) อยู่ในตัวของคนผู้นั้น
อาจมีคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่คนจะเรียนรู้โดยไม่ตั้งใจ คำตอบคือเป็นไปได้แต่ควรเรียกว่าเป็นการรับรู้ (perception) เพราะไม่มีเจตนาหรือความตั้งใจมาก่อนแต่มีการกระทำหรือเหตุการณ์เกิดขึ้นและกรทบประสาทสัมผัสของคน การรับรู้จึงเกิดขึ้น และเมื่อจบลงแล้วสิ่ง ที่เหลืออยู่ก็เป็นประสบการณ์และความรู้อยู่ในตัวคนเช่นกัน โดยสรุปการรับรู้กับการเรียนรู้ต่างกันตรงความตั้งใจเรื่องแรกที่จะรู้เท่านั้นว่ามีหรือไม่มีตัวอย่างเช่น คนที่อยากรู้ว่า น้ำที่คั้นจากใบบัวบกมีรสชาติอย่างไร ก็ต้องทดลองคั้นเอาน้ำใบบัวบกมาดื่มก็จะได้ความรู้และประสบการณ์เมื่อดื่มน้ำบัวบกแทน อย่างนี้เรียกว่าการเรียนรู้ แต่หากมีคนหนึ่งหิวน้ำ และเห็นน้ำใสแก้วหนึ่งมั่นใจว่าดื่ม แก้กระหายได้จึงดื่มเพื่อดับกระหาย แต่รสชาติน้ำนั้นหวาน เพราะมีน้ำตาลอยู่ด้วยโดยมองไม่เห็นสี ผู้ดื่มน้ำนั้นก็จะเรียนรู้โดยไม่ได้ตั้งใจแต่แรกว่าน้ำหวานคือเป็นการรับรู้สภาพน้ำจากการดื่มนั่นเอง

1.6 วิธีการเรียนรู้ คนทั่วไปมีวิธีการเรียนรู้ที่เป็นหลักใหญ่ ๆ 2 วิธี คือ
(1) เรียนรู้โดยตรง หรือเรียนรู้ด้วยตนเอง (direct experiences) หมายถึงการได้ประสบเหตุการณ์ สถานการณ์ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นการสัมผัสด้วยประสาทสัมผัส อย่างน้อย 1 อย่างด้วยตนเอง เช่น ได้เห็นเอง ได้ยินเอง ได้จับหรือสัมผัสเอง ได้ดมเอง ได้ชิมเอง เป็นต้น
(2) เรียนรู้โดยอ้อม หรือเรียนรู้โดยผู้อื่นบอกสอนหรือถ่ายทอด (indirect experiences) หมายถึงได้เรียนรู้หรือรับรู้โดยผ่านสื่อหรือตัวกลางมาชั้นหนึ่งแล้ว มิได้สัมผัสด้วยตนเอง เช่น เห็นจากภาพได้ยินจากเทปบันทึกเสียง มีคนอธิบายหรือพูดให้ฟัง หรือดูจากภาพยนตร์ หุ่นจำลอง เป็นต้น ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้วิธีนี้จะมีความชัดเจนน้อยกว่าวิธีเรียนรู้ด้วยตนเองโดยตรง อย่างไรก็ตามในกระบวนการเรียนรู้ของคนโดยเฉพาะในสถาบันให้การศึกษาหรือสถาบันวิชาชีพมีจำกัด กระบวยการเรียนรู้ทั้งสองแบบผสมผสานไปด้วยกันได้

1.7 ธรรมชาติของการเรียนรู้
คนทั่วไปมีธรรมชาติของการเรียนรู้ ดังนี้
(1) เรียนรู้โดยตรงจะเรียนได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเรียนรู้โดยอ้อม
(2) เรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวได้ก่อนสิ่งที่อยู่ไกลตัว
(3) เรียนรู้จากสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้ก่อนนามธรรม
(4) เรียนรู้เรื่องง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนได้ก่อนสิ่งที่ยากหรือซับซ้อน
(5) เรื่องใดที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสมากอย่างจะเรียนรู้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าเรียนรู้จากประสาทสัมผัสน้อยอย่าง
(6) เรียนรู้อย่างตั้งใจหรือจากสิ่งที่สนใจจะมีประสิทธิภาพมากกว่าเรียนรู้ หรือรับรู้อย่าง ไม่ตั้งใจหรือสิ่งที่ไม่ได้สนใจ
(7) เรียนรู้เพราะตนเองต้องการหรือสนใจเรียนจะมีประสิทธิภาพมากกว่าถูกบังคับให้เรียนหรือฝืนใจเรียน
(8) การมีโอกาสสัมผัสซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จะรู้และเข้าใจลึกซึ้งกว่ามีโอกาสสัมผัสน้อยครั้ง
(9) ผู้มีวุฒิภาวะสูง (high waturation) หรือมีความพร้อมสูงจะเรียนรู้ได้มีประสิทธิภาพ กว่าผู้มีวุฒิภาวะหรือความพร้อมต่ำ
(10) การเรียนรู้ของคนเกิดขึ้นในทุกที่และทุกเหตุการณ์

1.8 เทคนิคการเรียนรู้ที่ดี
หากคนมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้แล้วจะฝึกฝนให้มีเป็นผู้มีความชำนาญสูงในทักษะบางประการจะทำให้สามารถเรียนรู้ได้ดีมีประสิทธิภาพ คือ เรียนรู้ได้เร็ว เรียนรู้ได้มากกว้างขวางลึกซึ้งเป็นความรู้คงอยู่ในตัวตนได้นานไม่ลืมเลือน ทั้งยังประยุกต์ไปใช้และพัฒนาได้ดีอีกด้วยทักษะสำคัญที่ถือเป็นเทคนิคการเรียนรู้ที่ดีมี 4 ประการ ได้แก่
(1) ทักษะการรับรู้ (sensitivity skill) หมายถึง ฝึกให้เป็นผู้ว่องไวต่อการรับรู้ได้ว่าจะโดยประสาทสัมผัสใดก็ตาม ทันทีที่สัมผัสต้องตัวดังมุ่งความสนใจไร้สิ่งพันทันที เรียกว่าเป็นความรวดเร็วในการรับรู้
(2) ทักษะการสังเกต (observation skill) ฝึกให้เป็นคนช่างสังเกตคือรับรู้อย่างละเอียด ถี่ถ้วนรอบคอบ
(3) ทักษะการจดจำ (memorization skill) สิ่งที่มากระทบประสาทสัมผัสแล้วให้พยายาม ฝึกจำ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ด้วยเทควิธีการจำใด ๆ ก็ตาม
(4) ทักษะการเปรียบเทียบ (comparative skill) เพื่อให้การสังเกตและจำมีประสิทธิภาพการเปรียบเทียบจะทำให้เห็นความเหมือนหรือความแตกต่างหรือความคล้ายคลึงทำให้รับรู้และเรียนรู้ได้ละเอียด
(5) ทักษะการเชื่อมโยง (connecting skill) สิ่งที่ได้รับรู้และเรียนรู้มีสิ่งใดเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เคยได้รับรู้เรียนรู้แล้วบ้าง ทำการเชื่อมโยงสิ่งใหม่กับสิ่งที่เป็นความรู้หรือประสบการณ์เดิมให้ได้มากที่สุด


หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com

 


Send comments to Chumpot@hotmail.com
Copyright © 2008
Revised:May 2008