2553310 ระบบสารสนเทศสำหรับการบริหาร
Management Information System
ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2545

ผู้สอน
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ.เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

พัฒนาการความเป็นมาของอินเทอร์เน็ต

อินเทอร์เน็ตมีจุดเริ่มต้นในช่วงปี ค.ศ. 1970 - 1980 จาก โครงการอาร์ปาเน็ต (ARPANET - Advanced Research Projects Administration Network)ของหน่วยงานโครงการวิจัยขั้นสูง ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (US Department of Defense--DOD) โดยมีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงข้อมูลทางการทหารของกระทรวงกลาโหม และห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทางทหารของมหาวิทยาลัย วัตถุประสงค์สำคัญของอาร์ปาเน็ต คือต้องการให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่แยกกันอยู่ และมีการเชื่อมโยงกันอย่างมากมายมหาศาล เข้าอยู่ในระบบเดียวกัน ให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันจากระยะทางที่ไกลออกไปได้ (Fuller, 1997, pp.125-126) และคาดหวังว่าระบบนี้ จะทำให้การส่งผ่านกรสื่อสารเป็นไปได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมีคนควบคุม เป้าหมายคือการควบคุมการส่งผ่านข้อมูลเกี่ยวกับสงคราม โดยเฉพาะทางด้านนิวเคลียร์

โครงการในระยะแรกๆของการทำงานของอาร์ปาเน็ต ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์เพียง 4 เครื่อง คือคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยยูทาห์, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาบาร์บารา, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแองเจลิส และสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อมีการทดลองใช้งานอาร์ปาเน็ต จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้ว กระทรวงกลาโหมของสหรัฐก็ได้ขยายเครือข่ายของอาร์ปาเน็ตออกไปโดยเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่าง ๆ รวม 50 แห่งในปี พ.ศ. 2515 (ต้น ตัณฑ์สุทธิวงศ์ สุพจน์ ปุณณชัยยะ และ สุวัฒน์ ปุณณชัยยะ, 2539, 16-18)ซึ่งเครือข่ายของ อาร์ปาเน็ต จะมีมาตรฐานการรับส่งของมูลอันเดียวกัน เรียกว่า มาตรฐานการควบคุมระบบเครือข่าย (Network Control Protocol - NCP) เป็นส่วนควบคุมการรับส่งข้อมูล, การตรวจสอบความผิดพลาดในการส่งข้อมูล และเปรียบเสมือนตัวกลางที่เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตามมาตรฐาน NCP ที่ใช้ในขณะนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมีข้อจำกัดในด้านจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต่อเข้ากับ อาร์ปาเน็ต ทำให้ขยายจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ออกไปมาก ๆ ไม่ได้ จึงได้เริ่มมีการพัฒนามาตรฐานการรับส่งข้อมูลแบบใหม่ขึ้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 ได้มีมาตรฐานใหม่ออกมาเรียกว่า Transmission Control Protocol/Internet Protocol หรือโปรโตคอลแบบ TCP/IP ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่อาร์ปาเน็ตได้วางรากฐานไว้ให้กับอินเตอร์เน็ต เพราะมาตรฐานการรับส่งข้อมูลแบบ TCP/IP นี้ ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ต่างชนิดกันสามารถรับส่งข้อมูลไปมาระหว่างกันได้และนับเป็นหัวใจของอินเตอร์เน็ตเลยทีเดียว โปรโตคอล TCP/IP ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในปีถัดมาคือปี 2526 และถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติการ UNIX เวอร์ชั่น 4.2 จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ในเน็ตเวิร์คได้เพิ่มขึ้นจาก 235 เครื่องในปี 2525 มาเป็น 500 เครื่องในปี 2526 และเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 เครื่องในปี 2527

ต่อมาในปี 2529 มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ National Science Foundation (NSF) ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้วางระบบเครือข่ายขึ้นมาอีกระบบหนึ่งเรียกว่า NSFNET ซึ่งประกอบด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์จำนวน 5 เครื่องใน 5 รัฐ เชื่อมต่อเข้าด้วยกันเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา และค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ และได้ใช้โปรโตคอล TCP/IP เป็นมาตรฐานในการรับส่งข้อมูลเช่นกัน ทำให้การขยายตัวของเน็ตเวิร์คเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากวิทยาลัยและสถาบันการศึกษามีความต้องการที่จะเชื่อมต่อเข้ากับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เพื่อให้การใช้งานซูเปอร์คอมพิวเตอร์คุ้มค่าที่สุด และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ ประกอบกับการรับส่งข้อมูลก็ใช้มาตรฐานเดียวกัน จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายจึงเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 เครื่อง นอกจาก ARPANET และ NSFNET แล้ว ยังมีเครือข่ายอื่น ๆ อีกหลายเครือข่าย เช่น UUNET, UUCP, BITNET, CSNET ฯลฯ ซึ่งต่อมาก็ได้เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน โดยมี NSFNET เป็นเครือข่ายหลัก เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังหรือ backbone ของระบบจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายจึงได้เพิ่มเป็นกว่า 20,000 เครื่องในปี 2530 และก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วเป็น 100,000 เครื่องในปี 2532 (ต้น ตัณฑ์สุทธิวงศ์ สุพจน์ ปุณณชัยยะ และ สุวัฒน์ ปุณณชัยยะ, 2539, หน้า 16-18)

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 6 เมษายน 2546

chumpot@hotmail.com