บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
1635303 บริการสารสนเทศเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม
Information Service for Business and Industry
(3-0)
ภาคต้น ปีการศึกษา 2549

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

chumpot@hotmail.com

สถาบันการเงิน

ความหมายของสถาบันการเงิน

สถาบันการเงิน (Financial Institutions) คือ ตัวกลางในการที่จะอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนไหวของเงินการซื้อขายหลักทรัพย์ การให้กู้ยืม การรวบรวมเงินออมจากผู้ออมไปยังลงทุน ได้ง่ายขึ้น สถาบันการเงินนี้มักจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และพัฒนาไปตามสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เปลี่ยนแปลงนั่นเอง

บทบาทและความสำคัญของสถาบันการเงิน

จากความจริงที่ว่า เงินทุนเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากอย่างหนึ่งสำหรับการประกอบการใด ๆ เพราะถ้าการประกอบการนั้นขาดปัจจัยเรื่องเงินทุนแล้ว ก็ไม่สามารถดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้นั่นคือ ถ้าเงินทุนมีอยู่อย่างไม่จำกัดแล้ว ก็จะสามารถเอื้ออำนวยให้การประกอบการนั้น ๆ บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติจำนวนเงินของเงินทุนมีอยู่อย่างจำกัด แต่ความต้องการในเงินทุนนั้นไม่มีขอบเขตจำกัด ดังนั้นสถาบันการเงินจึงเข้ามามีบทบาทและความสำคัญ โดยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางและเป็นแหล่งของเงินทุนที่สำคัญในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสนองความต้องการเงินทุนที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดนั้น ๆ ได้ เมื่อความต้องการเงินทุนได้รับการตอบสนองแล้ว ก็จะทำให้การประกอบการหรือการผลิตเกิดขึ้น ผลผลิตของประเทศมากขึ้นเพียงพอกับการอุปโภคและบริโภคและอาจนำออกจำหน่ายต่อต่างประเทศได้อีกด้วย จึงทำให้ประชากรมีงานทำ มีรายได้เพิ่มมากขึ้นและรายได้ประชาชาติก็จะเพิ่มมากขึ้น ในที่สุดก็จะทำให้เงินทุนจำนวนนั้นไหลกลับเข้ามาในสถาบันการเงินอีกได้ จึงอาจกล่าวได้ว่าสถาบันการเงินเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญ เพราะถ้าไม่มีสถาบันการเงินแล้วความสะดวกและความคล่องตัวในการจัดหาเงินทุนเพื่อการประกอบใด ๆ ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

หน้าที่ของสถาบันการเงิน

    1. เป็นแหล่งกลางทางการเงินที่ผู้กู้และผู้ให้กู้สามารถสนองความต้องการซึ่งก้นและกันได้ ผู้กู้สามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องรู้จักผู้ออมมาก่อน และผู้กู้สามารถกู้ยืมเงินเป็นจำนวนมากกว่าที่ผู้ออมแต่ละรายจะให้กู้ได้ ทั้งนี้เพราะสถาบันการเงินสามารถรวบรวมเงินออมรายย่อย ๆ เป็นเงินกู้จำนวนมากได้
    2. ให้ความปลอดภัยแก่เงินของผู้ออม การที่เจ้าของเงินให้กู้โดยตรงแก่ผู้กู้จะเสี่ยงภัยมากกว่าการให้กู้โดยผ่านสถาบันการเงิน เพราะสถาบันการเงินทำธุรกิจด้านนี้โดยเฉพาะ จึงย่อมมีประสบการณ์และความชำนาญงานมากกว่าบุคคลธรรมดา อีกทั้งสถาบันมีเงินทุนและขนาดของงานมากพอที่จะจ้างผู้มีความรู้พิเศษทางด้านนี้มาเป็นผู้บริหาร ตลอดจนสถาบันสามารถกระจายเงินกู้ได้มากมายหลายทาง ซึ่งลดความเสี่ยงได้มาก
    3. จัดให้มีการกู้เงินระดับต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้ให้กู้ สถาบันการเงินสามารถทำเช่นนี้ได้ เพราะมีเงินทุนไหลเข้าออกตลอดเวลาไม่ขาดตอน รวมไปถึงรูปแบบต่าง ๆ ของการให้บริการมีหลากหลาย เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้ประโยชน์สูงสุด
    4. เคลื่อนย้ายเงินทุนไปยังที่ต่าง ๆ โดยวิธีนำเงินออกจากที่หนึ่งไปให้กู้ยังอีกที่หนึ่ง การทำหน้าที่นี้จะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยในท้องถิ่นต่าง ๆ ไม่แตกต่างกันมากรวมไปถึงธุรกิจต่าง ๆ สามารถโอนเงินไปยังจังหวัดอื่น ๆ รวมทั้งสาขาภายในเวลาไม่กี่นาทีเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
    5. จัดหาสภาพคล่องให้แก่เครื่องมือเครดิตโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น เป็นผู้ค้ำประกันการขายหุ้นต่าง ๆ เป็นผู้ซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นนายหน้าค่าหลักทรัพย์ เป็นตัวแทนในการเรียกชำระเงินระหว่างผู้ซื้อผู้ขายที่อยู่คนละประเทศกัน เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาต่าง ๆ รวมทั้งการค้ำประกันการประกวดราคา ประมูลงานจากส่วนราชการ ซึ่งแล้วแต่ต้องอาศัยเอกสารจากสถาบันการเงินเป็นหลักประกันในการบังคับเมื่อคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามสัญญา

การทำหน้าที่ดังกล่าวของสถาบันการเงินย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจดังต่อไปนี้

    1. ช่วยให้เงินออมถูกนำไปลงทุนมากยิ่งขึ้น
    2. ทำให้มีการใช้เงินทุนอยางมีประสิทธิภาพได้มากกว่า
    3. เกิดการแข่งขันมากขึ้นในตลาดการเงิน

ประเภทของสถาบันการเงินเพื่อประโยชน์เฉพาะ

ในที่นี้จะกล่าวถึงประเภทตามลักษณะของการดำเนินงานของแต่ละสถาบันต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    1. สถาบันที่เกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Monetary Financial Institutions) เป็นสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่ควบคุมตามนโยบายการเงินของประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับไม่ว่าจะเป็นตัวเงินหรือเครดิต และจะต้องคำนึงถึงเงินทุนด้วย ได้แก่ ธนาคารกลาง (ของประเทศไทยเรียกธนาคารแห่งประเทศไทย) และธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

    2. สถาบันเพื่อการออมทรัพย์ (Savings Institutions) สถาบันการออมทรัพย์เป็นจำนวนมากทำหน้าที่เฉพาะในการเก็บรวบรวมเงินออมโดยการรับฝากเงินหรือขายหลักทรัพย์ ซึ่งได้แก่ ธนาคารออมสิน แผนกออมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและบริษัทลงทุน เป็นต้น

    3. สถาบันที่ทำหน้าที่ให้บริการความสะดวกในการติดต่อทางการเงิน (Market Institutions for Finance) "ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย" (Securities Exchange of Thailand) หรืออาจจะมีสถาบันอื่น ๆ ที่ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนของธุรกิจ ซึ่งรวมถึง Broker และ Dealers ในการซื้อขายหลักทรัพย์ต่าง ๆ ด้วย

    4. สถาบันการประกันภัยและบำเหน็จบำนาญ (Insurance and Pension Intermediaries as Financial Institutions) หลักสำคัญในการประกันภัยก็คือ การเปลี่ยนสภาพการเสี่ยงภัยให้มีการกระจายการเสี่ยงภัยออกไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดกับบุคคลใดบุคคลาหนึ่งโดยเฉพาะให้ได้รับชดใช้ค่าเสียหายบางส่วนโดยเสียเบี้ยประกันไว้ หากไม่มีภัยเกิดขึ้นค่าดอกเบี้ยประกันเหล่านี้ก็จะถูกจัดสรรหาผลประโยชน์เตรียมสำรองไว้ สำหรับเรื่องของบำเหน็จบำนาญก็เช่นกันเป็นการสะสมเงินออมไว้จนครบกำหนดเวลาก้จะได้รับเงินที่ออมไว้นั้นกลับคืนมาพร้อมผลตอบแทน

    5. สถาบันที่ทำการให้กู้ยืม (Lending Institutions) คือ สถาบันการเงินที่ให้เครดิตที่ไดเเงินทุนส่วนใหญ่มาจากเงินทุนของเจ้าของ จากการขายหุ้น และการกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศเช่น โรงรับจำนำ

    6. สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Institutions) เป็นสถาบันการเงินซึ่งทำหน้าที่ที่ให้บริการทางการเงินระหว่างประเทศในลักษณะต่าง ๆ เช่น ซื้อขายเงินตราต่างประเทศสกุลต่าง ๆ เพื่อให้ตลาดการเงินของโลกมีความสมดุล ให้กู้ยืมเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อการค้าระหว่างประเทศหรือเพื่อการพัฒนาประเทศ เช่น ธนาคารโลก (Word Bank) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Deveiopment Bank - ADB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยเราอาจแบ่งประเภทของสถาบันการเงินได้ดังนี้

1. สถาบันการเงินประเภทธนาคาร ได้แก่

    1.1 ธนาคารแห่งประเทศไทย
    1.2 ธนาคารพาณิชย์ของรัฐบาลและของเอกชน
    1.3 ธนาคารออมสิน
    1.4 ธนาคารอาคารสงเคราะห์
    1.5 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
    1.6 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

2. สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ได้แก่

    2.1 บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์
    2.2 บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
    2.3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
    2.4 บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
    2.5 บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม
    2.6 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
    2.7 กิจการประกันภัย
    2.8 สหกรณ์ออมทรัพย์
    2.9 โรงรับจำนำ
    2.10 กองทุนรวม
    2.11 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
    2.12 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
    2.13 ตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้า
    2.14 เอกชนผู้ให้กู้
    2.15 การให้กู้แบบหมุนเวียน (แชร์)
    2.16 การเคหะแห่งชาติ

การกำกับและควบคุมสถาบันการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำกับควบคุมธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แต่ทั้งนี้โดยความเห็นชอบของ รมต.ว่าการกระทรวงการคลัง อำนาจหน้าที่ในการกำกับควบคุมการเงินของ รมต.ว่าการกระทรวงการคลังโดยตรงยังมีอีกหลายแห่งได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทสไทย บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม ฯ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์

กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้กำกับควบคุมสหกรณ์ออมทรัพย์

กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้กำกับควบคุมบริษัทประกันภัย

กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้กำกับควบคุมบรรษัทอุตสาหกรรมขนาย่อม

กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้กำกับควบคุมกิจการโรงรับจำนำ

รายชื่อสถาบันการเงินในประเทศไทย

ผู้จัดทำรายงาน

    1. นายมนต์เทพ เหลืองประพันธ์
    2. น.ส.อัจฉรา เทวาฤทธิ์
    3. น.ส.มนนุกูล ทิมอ่ำ
    4. น.ส.บานเย็น อ่อนจันทร์


หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 9 ธันวาคม 2549
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com