1633405 ห้องสมุดประชาชน
Public Library

2 (2 - 0)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

มาตรฐานห้องสมุดประชาชนในต่างประเทศ

การดำเนินงานห้องสมุดประชาชนในต่างประเทศมักดำเนินงานไปด้วยดี ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เห็นความสำคัญของห้องสมุดประชาชน มีการออกกฏหมาย ห้องสมุดประชาชนสนับสนุนการดำเนินงานโดยเฉพาะ และสิ่งหนึ่งทำให้การดำเนินงาน ห้องสมุดประชาชนเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการปฏิบัติงาน คือ การมี มาตรฐานห้องสมุดประชาชนใช้บังคับในการพัฒนากิจการของห้องสมุด พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมาย ของคำว่า "มาตรฐาน" ว่า "สิ่งที่ถือเอาเป็นหลักสำหรับเทียบกำหนด (ราชบัณฑิตยสถาน 2525 : 830) ส่วนความหมาย ของคำว่า "Standard" มีผู้อธิบายคำแปลไว้ว่า "สิ่งที่เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบ" (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม 2526 : 1147) ดังนั้น คำว่า มาตรฐานห้องสมุดประชาชนจึงหมายความว่า สิ่งที่ถือเอาเป็นหลักสำหรับการเปรียบเทียบในการดำเนินงานห้องสมุดประชาชน ประเทศต่าง ๆ จึงต้องหันมาศึกษาสิ่งที่ถือเป็นหลักในการเปรียบเทียบดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัสดุ ครุภัณฑ์ อาคารสถานที่ เจ้าหน้าที่ห้องสมุด และอื่น ๆ สำหรับเป็น ประโยชน์ต่อการดำเนินงานกิจการห้องสมุดประชาชน และ ส่วนมากแล้วแต่ละประเทศจะกำหนด มาตรฐานห้องสมุดประชาชนขึ้นมาเอง ประเทศต่าง ๆ จึงมีมาตรฐานที่แตกต่างกันออกไป

มาตรฐานห้องสมุดประชาชนในต่างประเทศ

มาตรฐานห้องสมุดประชาชนที่นับว่าเด่นที่สุด ได้แก่ มาตรฐานห้องสมุดประชาชน ของประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะประชาชนได้รับสิทธิในการใช้บริการได้อย่างดีที่สุด และ ถือว่ามีมาตรฐานสูงเกินว่าประเทศอื่น ๆ จะนำไปปฎิบัติตามได้ สมาคมห้องสมุดนานาชาติที่สำคัญสมาคมหนึ่ง ได้แก่ สหพันธ์สากลแห่งสมาคมห้องสมุดและสถาบัน (International Federation of Library Associations and Institution - IFLA) จึงได้ กำหนดมาตรฐานห้องสมุดประชาชนโดยเชิญประเทศสมาชิกต่าง ๆ ช่วยกันพิจารณา จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับและใช้ปฎิบัติอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในขณะนี้

มาตรฐานห้องสมุดประชาชนของประเทศสหรัฐอเมริกา

สมาคมห้องสมุดอเมริกัน ได้กำหนดมาตรฐานห้องสมุดประชาชนชั้นต่ำสำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ไว้หลายเรื่องโดยในปี ค.ศ.1960 ได้กำหนดแนวนโยบายการให้บริการแก่ผู้ใหญ่ (Public Library Association 1960) กำหนดมาตรฐานเรื่องคุณภาพของ การให้บริการรถเคลื่อนที่ในปี ค.ศ.1963 (Public Library Association 1963) กำหนดมาตรฐานการให้บริการแก่เด็กในห้องสมุดประชาชน ในปี ค.ศ.1964 (Public Library Association 1964) กำหนดมาตรฐานสำหรับห้องสมุดประชาชนขนาดเล็กเมื่อ ปี ค.ศ. 1962 (Pubilc Library Association 1962) และมาตราฐานล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้แก่ มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับระบบห้องสมุดประชาชนเมื่อปี ค.ศ. 1966 (American Library Association 1967) ซึ่งได้กำหนดกฏเกณฑ์ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับห้องสมุดประชาชน รวมทั้งสิ้น 66 ข้อ แต่ละข้อจะกำหนดมาตรฐานสำคัญไว้ และยอมรับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสำหรับผู้บริหารงาน ห้องสมุดประชาชน มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับระบบห้องสมุดประชาชนได้วางกฏเกณฑ์การดำเนินงานห้องสมุดประชาชนเป็น 5 เรื่องใหญ่ ๆ คือ กฏเกณฑ์ว่าด้วยเรื่องโครงสร้างและรัฐบาลของการให้บริการห้องสมุด กฏเกณฑ์ว่าด้วยการบริการห้องสมุด กฏเกณฑ์ว่าด้วยวัสดุ ห้องสมุด กฏเกณฑ์ว่าด้วยวัสดุห้องสมุด กฏเกณฑ์ว่าด้วยบุคลากรในห้องสมุด และกฏเกณฑ์ว่าด้วยอาคารสถานที่ แต่ละกฏเกณฑ์ได้กำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องในแต่ละกฏเกณฑ์รวมทั้งสิ้น 66 ข้อ

มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับระบบห้องสมุดประชาชนในประเทศสหรัฐอเมริกา สรุปได้ ดังต่อไปนี้

กฏเกณฑ์ว่าด้วยเรื่องโครงสร้างและการให้บริการห้องสมุด

(Structure and Government of Library Service)

ข้อที่ 1. แต่ละบุคคลควรได้รับการให้บริการจากห้องสมุดประชาชนอย่างอิสระ เสรีในชุมชน

    1.2 ประชาชนควรมีห้องสมุดที่มีวัสดุอุปกรณ์ที่สะดวกสบายเพียงพอต่อการให้บริการ ซึ่งสนับสนุนโดยท้องถิ่นและรัฐบาล ในระดับต่าง ๆ

ข้อที่ 2. ห้องสมุดประชาชนเป็นแหล่งที่ประชาชนเข้าใช้บริการได้ง่าย สามารถ ทำให้ประชาชนทราบแหล่งสนเทศ ในท้องถิ่น มลรัฐและประเทศ

    2.1 ห้องสมุดประชาชนควรมีข้อสนเทศเพียงพอต่อการให้บริการ
    2.2 ห้องสมุดประชาชนควรเป็นสถานที่ที่สะดวกต่อการไปใช้บริการโดยใช้เวลา 15 นาที ในการเดินทางสำหรับห้องสมุดประชาชน ในเมืองใหญ่และ 30 นาทีสำหรับห้องสมุดประชาชนในชนบท
    2.3 ห้องสมุดประชาชนควรเป็นส่วนหนึ่งของระบบห้องสมุดซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างดี

ข้อที่ 3. สำนักงานใหญ่ของระบบห้องสมุดควรจัดหาข้อสนเทศที่จำเป็นและมี บุคลากรพอเพียงต่อการให้บริการห้องสมุดสมัยใหม่

ข้อที่ 4. สำนักงานใหญ่และห้องสมุดประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ควรมีความร่วม มือกันอย่างดีในการให้บริการห้องสมุด

ข้อที่ 5. ระบบห้องสมุดประชาชนควรมีการระบุตามกฏหมายถึงการจัดตั้งการจัดองค์การของทางราชการ และการได้รับการ สนับสนุนทางการเงิน

    5.1 การจัดตั้งและการดำเนินงานกิจกรห้องสมุดประชาชนควรมีผลใช้บัง คับทางกฏหมาย
    5.2 อำนาจความรับผิดชอบขจองห้องสมุดของรัฐควรมีระบุไว้ในกฏหมาย เกี่ยวกับวิธีการส่งเสริมแนะนำ การปรับปรุงสภาพห้องสมุด ตลอดจนแนวทางการให้บริการในท้องถิ่น
    5.3 กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดประชาชนควรระบุถึงการตั้งระบบห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวกันในระดับใด และควรมีวิธีการให้ความสนับสนุนทางการเงินเพียงพอต่อความร่วมมือนั้น

ข้อที่ 6. ห้องสมุดประชาชนในท้องถิ่นควรเป็นส่วนที่สำคัญของรัฐบาลท้องถิ่น

ข้อที่ 7. ห้องสมุดประชาชนควรอยู่ใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลกลางซึ่งเป็น คณะกรรมการที่มีความสามารถและสนใจในกิจการห้องสมุด

    7.1 คณะกรรมการได้รับการคัดเลือกตามกฏหมายที่ระบุไว้
    7.2 วาระในการดำรงตำแหน่งระบุไว้อย่างชัดเจนในการแต่งตั้งคณะกรรมการห้องสมุด

ข้อที่ 8. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการห้องสมุด และผู้อำนวยกร ห้องสมุดควรระบุไว้อย่งชัดแจ้ง

ข้อที่ 9. ห้องสมุดประชาชน ควรมีคณะกรรมการห้องสมุดเป็นของตนเอง

ข้อที่ 10. ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดโรงเรียน และห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ควรทำงานร่วมกันในการให้บริการแก่นักเรียน

ข้อที่ 11. โครงการการให้บริการของห้องสมุดประชาชน ควรมีการวางแผนเพื่อสนับสนุนระบบห้องสมุด

ข้อที่ 12. โครงการของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการห้องสมุดประชาชนควรให้มีประโยชน์ต่อการใช้แหล่งสนเทศ และสารสนเทศต่าง ๆ

ข้อที่ 13. ควรมีการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ห้องสมุดซึ่งได้ให้บริการสารสนเทศในระบบห้องสมุดของรัฐบาล

ข้อที่ 14. รัฐบาลกลางควรสนับสนุนโครงการควรให้บริการของห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ

กฏเกณฑ์ว่าด้วยเรื่องการบริการ (Service)

ข้อที่ 15. ประชาชนทุกคนได้รับการให้บริการอย่างกว้างขวาง

ข้อที่ 16. โครงการของระบบห้องสมุดแต่ละแห่ง และห้องสมุดในระบบนั้นควรมีวัตถุประสงค์อย่างเด่นชัดในการให้บริการ

ข้อที่ 17. ห้องสมุดประชาชนในท้องถิ่นควรเป็นส่วนสำคัญในท้องถิ่นในการให้บริการ

ข้อที่ 18. ระบบห้องสมุดควรมีการให้บริการร่วมกับศูนย์สนเทศอื่น ๆ

ข้อที่ 19. ควรมีการรวมถึงเวลาในการให้บริการห้องสมุด

    19.1 ห้องสมุดควรให้บริการ 6 วันใน 1 สัปดาห์ แต่ละวันในบริการเต็ม เวลา การให้บริการในวันอาทิตย์นั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน ห้องสมุดประชาชนขนาดใหญ่ ควรมีเวลาให้บริการ 66 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ห้องสมุดประชานในท้องถิ่นซึ่งมีประชากรระหว่าง 10,000 - 25.000 คน ควรมีเวลาให้บริการ 45 - 66 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ห้องสมุดประชาชนในท้องถิ่นซึ่งมีประชากรมากกว่า 25,000 คน ควรมีเวลาให้บริการ 66-72 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
    19.2 ควรมีการให้บริการด้วยรถเคลื่อนที่ โดยการกำหนดตารางการให้บริการ

ข้อที่ 20. ห้องสมุดประชาชนควรให้บริการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรห้องสมุดให้เต็มที่

ข้อที่ 21. ห้องสมุดประชาชนแต่ละแห่งควรกำหนดรูปแบบในการให้บริการและ การยืมระหว่างห้องสมุดในเขตของการให้บริการ

ข้อที่ 22. การให้บริการห้งอสมุดประชาชนต้องการการใช้ประโยชน์จากข้อสนเทศทุกชนิด

ข้อที่ 23. ห้องสมุดประชาชนแต่ละแก่งควรจัดหาและให้บริการข่าวสารและการวิจัย

ข้อที่ 24. ห้องสมุดประชาชนมีหน้าที่ในการให้บริการเพื่อประโยชน์ ทางด้านการศึกษาการให้ข่าวสาร และการให้ความบันเทิง

ข้อที่ 25. ระบบห้องสมุดควรมีการจัดทำวัสดุอุปกรณ์ และการให้บริการแก่กลุ่ม คนและสถาบัน

ข้อที่ 26. ระบบห้องสมุดควรมีการให้บริการประชาชนทั้งสวนตัวและส่วนรวม ตามความต้องการในการขอรับบริการ

ข้อที่ 27. ห้องสมุประชาชนให้ความสนับสนุนการจัดกิจกรรมของกล่มุต่าง ๆทั้งในและนอกห้องสมุด

ข้อที่ 28. การให้บริการห้องสมุดที่ดีจำเป็นต้องมีโครงการประชาสัมพันธ์ ห้องสมุดที่ดี

ข้อที่ 29. ระบบห้องสมุดควรจะต้องมีการบันทึก การรายงาน และการสรุปข้อมูลที่จำเป็นต่อการให้บริการห้องสมุด

ข้อที่ 30. การประเมินค่าการให้บริการห้องสมุดเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาระบบห้องสมุด

กฏเกณฑ์ว่าด้วยวัสดุห้องสมุด การคัดเลือก การจัด และการควบคุม

(Materials : Selection Organisation and Control)

ข้อที่ 31. วัสดุห้องสมุดทุกชนิดควรได้รับการคัดเลือก การจัดหาใหม่ตลอดจน การคัดทิ้ง โดยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ ระบบห้องสมุดแต่ละแห่ง

ข้อที่ 32. วัสดุห้องสมุดควรเป็นวัสดุที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ

ข้อที่ 33. ควรมีการให้บริการชุดข้อสนเทศต่าง ๆ จากวัสดุห้องสมุดที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพ

ข้อที่ 34. วัสดุห้องสมุดควรมีเนื้อหาทัศนะต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง

ข้อที่ 35. วัสดุห้องสมุดควรจัดหาอย่างกว้างขวางเพื่อการให้บริการโดยมีเนื้อหาตรงกับจุดประสงค์ของห้องสมุด โดยไม่คำนึงว่าจะมีรูปแบบเป็นวัสดุใด ๆ

ข้อที่ 36. การคัดทิ้งวัสดุห้องสมุดที่ล้าสมัย เป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพของสารสนเทศในการให้บริการ

ข้อที่ 37. ห้องสมุดประชาชนสนท้องถิ่นเป็นสถานที่แห่งแรกต่อการให้บริการแก่ประชาชนในการอ่าน

    37.1 ควรมีการจัดหาวัสดุห้องสมุดเพียงพอต่อการให้บริการ ถ้าประชาชน ในท้องถิ่นต้องการอ่านหนังสืออื่น ๆ ที่ไม่ใช่นวนิยาย ควรมีการจัดหารหนังสืออื่น ๆ ตามสัดส่วนของประชากรดังต่อไปนี้
      ขนาดของประชากร จำนวนหนังสืออื่น ๆ ที่ห้องสมุดควรมีให้บริการ
      ต่ำกว่า 10,000 คน 35% - 60%
      10,000-24,000 คน 50% - 65%
      25,000-49,999 คน 65% - 80%
      50,000-99,999 คน 80% - 95%

ข้อที่ 38. คุณลักษณะและจุดมุ่งหมายเฉพาะของการให้บริการวัสดุห้องสมุดในห้องสมุดประชาชนท้องถิ่นควรจัดหาให้เหมาะสม กับการปฏิบัติงาน

ข้อที่ 39. ระบบห้องสมุด ควรมีทรพัยากรห้องสมุดครอบคลุมความสนใจ ของกลุ่มคนหลาย ๆ กลุ่มในชุมชน และมีบริการให้เพียงพอ

    39.1 มาตรฐานวัสดุห้องสมุดต่อไปนี้กำหนดขึ้นสำหรับห้องสมุดประชาชนซึ่ง ให้บริการประชาชนในท้องถิ่นจำนวน 150,000 - 1,000,000 คน

    หนังสือ
    ห้องสมุดประชาชนสำนักงานใหญ่ ควรมีหนังสือทั่วไปขั้นต่ำอย่างน้อย 100,000 เล่ม และเพิ่มจำนวนหนังสือทั่วไปที่พิมพ์ ในสหรัฐอเมริกาอย่างน้อยอีกปีละ 50 เปอร์เซนต์ ห้องสมุดประชาชนท้องถิ่น ควรเพิ่มจำนวนหนังสือทั่วไปที่พิมพ์ในประเทศสหรัฐ อเมริกาแต่จะมีตามสัดส่วนดังต่อไปนี้
    จำนวนประชากร จำนวนหนังสือที่จัดซื้อเพิ่มเติม
    10,000-24,999 10%-15%
    25,000-49,999 15%-25%
    50,000-99,999 25%-35%

    จุลสาร
    ควรมีการจัดทำจุลสารที่มีเนื้อหาทันสมัย และมึคุณภาพเพียงพอต่อการให้บริการ

    วารสาร
    ควรมีวารสารอย่างน้อย 1 ชื่อเรื่องต่อประชากร 250 คน ให้บริการดรรชนีวารสาร ห้องสมุดประชาชนสำนักงานใหญ่ควรจัดหาดรรชนีวารสารทั่ว ๆ ไป และดรรชนีวารสารเฉพาะวิชาให้บริการแแก่ ประชาชนด้วย เช่น Short Story Index to Plays in Collections, the Essay and General Literature Index, Psychological Abstracts, Education Index, Schwann's Record Catalog และ Vertical File Index เป็นต้น

    โสตทัศนวัสดุ

    ภาพยนตร์
    ควรจะมีภาพยนตร์อย่างน้อย 1 ชื่อเรื่องต่อประชากร 1,000 คน จำ นวนภาพยนตร์ทั้งหมดมีอย่างต่ำ 1,000 ชื่อเรื่อง และควรมีการจัดหาเพิ่มเติมอย่างน้อย 10 -15 เปอร์เซนต์ต่อปี

    แผ่นเสียง
    ควรมีแผ่นเสียง 1 แผ่น ต่อประชากร 50 คน หรืออย่างน้อย มีแผ่นเสียงรวม กันไม่ต่ำว่า 5,000 แผ่น และควรมีการจัดหาเพิ่มเติมอย่างน้อย 10-15 เปอร์เซนต์ต่อปี

    วัสดุโสตทัศนวัสดุอื่น ๆ
    ควรจัดหาวัสดุโสตทัศนวัสดุอื่น ๆ เพื่อการให้บริการ คือ เครื่องมือช่วยสอนและอุปกรณ์ โทรทัศน์วงจรปิด โทรทัศน์เพื่อการศึกษา

    สไลด์

    ภาพเลื่อน

ข้อที่ 40. แต่ละมลรัฐหรือกลุ่มมลรัฐจะให้ความช่วยเหลือในการจัดหาวัสดุ ห้องสมุดของระห้องสมุด

ข้อที่ 41. การจัดดำเนินงานการบริหารงานวัสดุห้องสมุด จะทำให้ใช้ทรัพยากร ห้องสมุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อที่ 42. การจัดหาวัสดุ และการสั่งซื้อวัสดุห้องสมุด จะต้องมีระเบียบวิธีการ และการประสานงานร่วมมือกัน

ข้อที่ 43. การจัดหาวัสดุห้องสมุดกระทำได้โดยอาศัยความร่วมมือจากตัวแทนของห้องสมุดในระบบห้องสมุด

ข้อที่ 44. การจัดหา การทำบัตรรายการ และการจัดเตรียมวัสดุห้องสมุดควรจัดทำร่วมกัน

ข้อที่ 45. การควบคุมวัะสดุห้องสมุดในระบบห้องสมุดควรเป็นแบบเดียวกัน

ข้อที่ 46. การจัดดำเนินงาน การบริหารงานวัสดุห้องสมุด และการควรควบคุมวัสดุห้องสมุดควรสนองความต้องการในการดำเนินงาน ของห้องสมุดทุกแห่ง ในระบบ

ข้อที่ 47. การจัดเก็บวัสุห้องสมุด ควรมีสภาพเก็บเหมาะสมและง่ายต่อการใช้บริการ

ข้อที่ 48. ควรมีการบันทึกข้อมูลการให้บริการตามที่กฏหมายระบุ และเพื่อการรายงานของห้องสมุด

กฏเกณฑ์ว่าด้วยบุคลากรห้องสมุด (Personnel)

ข้อที่ 49. ตำแหน่งบุคคลาการทั้งหมดในห้งอสมุด ควรมีการระบุและแบ่งงานใน ฐานะที่เป็นการให้บริการอาชีพ

ข้อที่ 50. ตำแหน่งหน้าที่ในห้องสมุด ควววรมีการระบุอย่างเด่นชัดในเรื่อง ของความต้องการ กำหนดหน้าที่ และความรับผิดชอบ

    50.1 ห้องสมุดประชาชนแต่ละแห่ง ควรมีโครงการความต้องการบุคลากรตำแหน่งบุคลากรในการทำงานต่าง ๆ
    50.2 ตำแหน่งบุคลากรในห้องสมุด ควรระบุถึงตำแหน่งทางวิชาชีพ ตำแหน่งกี่งวิชาชีพ ตำแหน่งเสมียนห้องสมุด

ข้อที่ 51. บุคลากรห้องสมุด ควรมีคุณสมบัติตามลักษณะงานที่ทำ บรรณารักษ์ ควรมีวุฒิทางวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์จากสถาบันที่ สมาคมห้องสมุดอเมริกันรับรอง

ข้อที่ 52. ห้องสมุดประชาชนควรสนับสนุนความก้าวหน้าในการทำงานของ บุคลากรห้องสมุด

ข้อที่ 53. บุคลากรห้องสมุดควรได้รับความสนับสนุนการทำงานในงวานที่พึงพอใจ และมีความรับผิดชอบ

ข้อที่ 54. การบริหารงานบุคลากรในห้องสมุด ควรดำเนินไปด้วยดี ระหว่างฝ่ายบริหาร และเจ้าหน้าที่ห้องสมุด

ข้อที่ 55. ควรมีการกำหนดเงินเดือนที่ดีเพียงพอสำหรับการจัดหาบุคลากรห้องสมุด ที่มีคุณสมบัติการทำงานในห้องสมุด

ข้อที่ 56. จำนวนบุคลากรในห้องสมุด ควรมีเพียงพอต่อการปฎิบัติงานในห้องสมุด

    56.1 ควรมีเจ้าหน้าที่ 1 คน ต่อประชากร 2,000 คน ในเขต ห้องสมุดรับผิดชอบ ทุก ๆ 6,000 คน ควรมีเจ้าหน้าที่ระดับวิชาชีพ 1 คน และ เสมียนห้องสมุด 2 คน
    56.2 เจ้าหน้าที่ระดับวิชาชีพต่อการให้บริการทางวิชาชีพควรมีเพียงพอต่องานในหน้าที่ที่ให้บริการในห้องสมุด

ข้อที่ 57. จำนวนบุคลากรในห้องสมุด ควรรวมถึงเจ้าหน้าที่ทางวิชาชีพที่ได้รับการอบรมเป็นการเฉพาะสำหรับการให้ บริการพิเศษอื่น ๆ ตามที่ต้องการ

ข้อที่ 58. ห้องสมุดประชาชนของรัฐ ควรมีบุคลาเพียงพอต่อการบริหารงานของรัฐ

ข้อที่ 59. คณะรัฐบาลควรจัดเกณฑ์ประกาศคุณสมบัติของตำแหน่งเจ้าหน้าที่ทางวิชาชีพในห้องสมุด

กฏเกณฑ์ว่าด้วยเรื่องอาคารสถานที่ (Physical Facilities)

ข้อที่ 60. การวางผังห้องสมุดควรเน้นการให้บริการของห้องสมุด

ข้อที่ 61. อาคารห้องสมุดประชาชนต้องสะดวกต่อการเข้าไปใช้บริการและเป็นสิ่ง ดึงดูดใจอยากเข้าไปใช้บริการ

ข้อที่ 62. อาคารห้องสมุดสร้างขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่นได้และสามารถ ขยายเพิ่มเติมได้

ข้อที่ 63. ควรมีการติดตั้งแสงสว่าง และเครื่องมืออำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่เหมาะสมและเพียงพอในอาคารห้องสมุดประชาชน

ข้อที่ 64. ครุภัณฑ์ห้องสมุด ควรมีความกลมกลืนกับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของอาคารห้องสมุดประชาชนเอื้ออำนวนต่อการ ให้บริการในห้องสมุด และอยู่ในสถานที่น่าใช้

ข้อที่ 65. อาคารห้องสมุดประชาชนสำนักงานใหญ่ ควรมีการระบุเนื้อที่ของอาคารห้องสมุดในการให้บริการห้องสมุด

ข้อที่ 66. อาคารห้องสมุดประชาชนควรจัดตั้งในสภาพที่ที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นเตือนให้ผู้ใช้ห้องสมุดเข้ามา ใช้บริการ มีเนื้อที่เพียงพอ และมีอุปกรณ์ อำนวยความสะดวกอื่น ๆ ครบครัน (American Library Association 1967:15-68)

หน้าสารบัญ
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com