1631303 บริการอ้างอิงและสารสนเทศ
Reference and Information Services

ฐานข้อมูลที่สำคัญที่ให้บริการในระบบเครือข่าย

ฐานข้อมูลซิลเวอร์แพลตเตอร์

ฐานข้อมูลของบริษัทสารนิเทศซิลเวอร์แพลตเตอร์ (Silver Platter Information, Inc) เป็นฐานข้อมูลบริษัทเอกชนที่รวบรวมสารนิเทศ ทางด้านการศึกษาที่สำคัญ ได้รวบรวมสารนิเทศจากศูนย์ทรัพยากรสารนิเทศการศึกษา (The Education Resoures Information Center - ERIC) ซึ่งเป็นข้อมูลบรรณานุกรมแห่งชาติอเมริกัน ที่ครอบคลุมวรรณกรรมการศึกษาทั้งหมด นับว่าเป็นข้อมูลที่ใช้สืบค้นอย่างกว้างขวางที่สุดในโลก เกี่ยวกับการศึกษา ให้บริการบรรณานุกรมกว่า 200 เรื่อง จาก 55 ฐานข้อมูล(Maher,1998) บริษัทซิลเวอร์ แพลตเตอร์ จึงเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญ โดยการผลิตแผ่นสารนิเทศซิลเวอร์แพลตเตอร์ให้บริการโดยมีสารนิเทศที่สำคัญ 3 ประเภทคือ
    1. ข้อมูลทางด้านการศึกษา (Resources in Education - RIE)
    2. ดรรชนีค้นสารนิเทศจากวารสารทางการศึกษากว่า 775 ชื่อเรื่อง

แผ่นซีดีรอมของบริษัทซิลเวอร์แพลตเตอร์ แยกเป็นช่วงปี พ.ศ. 2509-2518 และ พ.ศ. 2519-2525 ช่วงละแผ่น แต่หลังจากปี พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา ได้จัดทำแยก เป็นแผ่นละปีและมีการเพิ่มเติมสารนิเทศทุกๆ4เดือน นับว่าได้มีการปรับปรุงการจัดทำ แผ่นสารนิเทศเพื่อให้สะดวกต่อการค้นหาสารนิเทศ ได้อย่างรวดเร็ว ในระบบอินเทอร์เน็ตติดต่อใช้บริการได้ที่ http://www.silver platter.com

ฐานข้อมูลยูเอ็มไอ

บริษัทยูเอ็มไอ (University Microfilms International-UMI) เป็นบริษัทที่จัดทำแผ่นสารนิเทศ เพื่อให้บริการสารนิเทศเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ทั้งใน ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก บริษัทได้ผลิตแผ่นสารนิเทศวิทยานิพนธ์ (Dissertation Abstracts Ondisc) ครอบคลุมเนื้อหาของวิทยานิพนธ์กว่า 900,000 เรื่อง และมีการจัดทำเพิ่มขึ้น กว่า 30,000 เรื่องในแต่ละปี วิทยานิพนธ์เหล่านี้รวบรวมมาจากวิทยานิพนธ์ในมหาวิทยาลัยทั่วโลกกว่า 475 แห่ง จึงนับว่าเป็นสารนิเทศที่สำคัญทางด้านการสืบค้นข้อมูลวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่สำคัญของโลก ปัจจุบันบริษัทยูเอ็มไอ เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เบล แอนด์โฮเวล จำกัด และให้บริการในระบบอินเทอร์เน็ตที่ http ://www.umi.com

ฐานข้อมูลไดอะลอก (DIALOG)

บริษัท DIALOG Information Services ที่พาโล อัลโต มลรัฐคาลิฟอร์เนียในอเมริกาเป็นบริษัทเอกชน ดำเนินธุรกิจในการเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย ฐานข้อมูลด้านบรรณานุกรมในระบบออนไลน์ โดยบริษัทหรือสำนักพิมพ์ที่ผลิตสิ่งพิมพ์ทุติยภูมิที่เป็นคู่มือช่วยค้นต่างๆ เช่น Chemical Abstracts Service ซึ่งจัดพิมพ์ Chemical Abstracts จะผลิตฐาน ข้อมูลในรูปเทปแม่เหล็กส่งให้บริษัท DIALOG ซึ่งจะนำข้อมูลมาถ่ายทอดบันทึกลงบนจานแม่เหล็ก เพื่อสร้างฐานข้อมูลใหม่สำหรับให้บริการในระบบออนไลน์ DIALOG เรียกระบบฐานข้อมูลและบริการค้นข้อสนเทศของตนว่าDIALOG SERVICE ฐานข้อมูลของ DIALOG แบ่งเป็น 2 ประเภท (วิภาวรรณ มนุญปิจุ, 2531, หน้า 6-7) คือ
    1. ฐานข้อมูลให้แหล่งอ้างอิง (Reference Databases) ฐานข้อมูลส่วนใหญ่เป็นประเภทนี้คือ เป็นฐานข้อมูลจาก Science Citation Index จาก Linguistics and Languages Behavior Abstracts
    2. ฐานข้อมูลให้บริการข้อมูล (Source Databases) เป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมเอกสารทั้งเล่ม เช่น ฐานข้อมูล Academic American Encyclopedia บรรจุข้อมูลทั้งเล่มจากสารานุกรมนั้นเป็นต้น

การติดต่อระบบ DLALOG ใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ โดยติดต่อผ่านบริการติดต่อศูนย์รวมข้อมูลและศูนย์ประมวลระหว่างประเทศ (IDAR) ซึ่งเป็นบริการสื่อสารข้อมูลสาธารณะที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยจัดขึ้น และผ่านบริการข่ายงานโทรคมนาคม TELENET ไปยังสหรัฐอเมริกา อัตราค่าใช้จ่ายมี 2 ส่วน
    1. จ่ายให้การสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็นค่าโทรคมนาคม ซึ่งคิดตามเวลาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร
    2. จ่ายค่าฐานข้อมูลที่ใช้ ซึ่งจะมีจำนวนเงินแจ้งให้ทราบบนจอคอมพิวเตอร์เมื่อเสร็จสิ้นการใช้แต่ละครั้ง

ฐานข้อมูลโอซีแอลซี (OCLC)

ฐานข้อมูลโอซีแอลซี เป็นฐานข้อมูลของศูนย์คอมพิวเตอร์ ห้องสมุดออนไลน์ (online Computer Library Center) เริ่มให้บริการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2510 มีสมาชิกใช้บริการสารนิเทศกว่า 6,000 ราย ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฟินแลนด์ เม็กซิโก สวีเดน อังกฤษ เยอรมัน และออสเตรเลีย เป็นศูนย์กลางเครือข่ายคอมพิวเตอร์นานาชาติที่จัดหาหมวดหมู่และทำบัตรรายการหนังสือ บริการการยืมระหว่างห้องสมุด และการเป็นศูนย์กลาง บรรณานุกรม (Brown, 1985, p. 294)

ฐานข้อมูลโอซีแอลซี ตั้งอยู่ที่เมืองดับลิน มลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีฐานข้อมูลทางบรรณานุกรมกว่า 12 ล้านรายการจากสมาชิก และ รวบรวมบรรณานุกรมจากหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน และหอสมุดแพทย์แห่งชาติอเมริกันอีกด้วย (Katz 1987 : 157) ฐานข้อมูลโอซีแอลซีเป็นฐานข้อมูลที่ให้ บริการทางด้านบรรณานุกรมของสื่อสารนิเทศเกือบทุกชนิดอำนวยความสะดวกอย่างมากต่อการได้สารนิเทศอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ฐานข้อมูลระบบสารนิเทศทางเกษตรนานาชาติ (AGRIS)

AGRIS มีชื่อเต็มว่า International Agricultural Information System เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1975 โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งประชาชาติ (Food Agriculture Organization - FAO) มีนโยบายที่จะให้ผู้ใช้สารนิเทศทุกระดับ เช่น นักวิจัย นักวิชาการ นักบริหาร เกษตรกรและผู้สนใจทั่วโลก สามารถใช้ข่าวสารทันสมัย (Current Awareness ) ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพียงพอกับความต้องการของประชากรทั่วโลก นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้แต่ละประเทศจัดทำดรรชนีเอกสารด้านการเกษตรที่จัดพิมพ์ขึ้นในประเทศนั้น ๆ

AGRIS ดำเนินงาน 3 ระดับ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ วัตถุประสงค์ของข่ายงานนี้ มีดังนี้ (อุทัย ทุติยะโพธิ์, 2531, หน้า 14-15) คือ
    1. เพื่อให้เป็นศูนย์รวมสารนิเทศทางสาขาเกษตรและที่เกี่ยวข้องให้สมบูรณ์ที่สุด เอกสารที่รวบรวมได้แก่ หนังสือ เอกสารสิ่งพิพม์ รายงานประจำปี การสัมมนา วิทยานิพนธ์ มาตรฐาน สิทธิบัตร เทป ฟิล์ม แผ่นภาพ แผนที่ ไมโครฟิลม์ ไมโครฟิช
    2. เพื่อเผยแพร่สารนิเทศไปสู่ผู้ใช้โดยจัดพิมพ์ดรรชนีวารสาร บรรณานุกรม ทางการเกษตรในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับนานาชาติ ให้บริการ SDI และบริการสารนิเทศย้อนหลังเฉพาะเรื่อง
    3. เพื่อเน้นถึงเอกสารประเภทที่ไม่พิมพ์เผยแพร่( Non-conventional literature) รายงานการค้นคว้าวิจัย รายการการสัมมนา และวิทยานิพนธ์
    4.เพื่อสนับสนุนการใช้สารนิเทศของประเทศกำลังพัฒนาให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดในการปรับปรุงผลผลติทางการเกษตร

สำนักงานระดับนานาชาติอยู่ที่ สำนักงานระบบห้องสมุดและสารนิเทศซึ่งเป็นหน่วยงาน ขององค์การ FAO (Food agriculture organization) กรุงโรม ประเทศอิตาลี ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน

สำนักงานระดับภูมิภาคมีอยู่ 4 ศูนย์

AIBA (Agricultural Information Bank for Asia) ประเทศฟิลิปปินส์ CEC (European Community through the Commission of the European Community) ประเทศลักเซมเบอร์ก

CIDIA (Centro Interamericano de Documentacion Informacion Communicacion Agricola) ประเทศคอสตาริกา

OMUS (Center de documentation de I'Organization pour Ia mise en valeur du fieuve Senega) ประเทศเซเนกัล

สำนักงานระดับชาติของไทยอยู่ที่ศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติ (Thai National AGRIS Center) สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ฐานข้อมูลทางกระบือนานาชาติ (IBIC)

IBIC มีชื่อเต็มว่า International Buffalo Information Center หรือ มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า ศูนย์สนเทศทางกระบือนานาชาติโดยมีที่ทำการอยู่ที่ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การปรับปรุงและพัฒนากระบือสำหรับใช้งาน หรือกระบือปลัก (Swamp buffalo) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้เพิ่งเริ่มมาได้ประมาณ 10 ปี เป็นผลให้มีการค้นคว้าวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกระบือกันมาก แต่ยังไม่มีการรวบรวมเอกสารข้อมูล ซึ่งมีความสำคัญในการปรับปรุงและพัฒนาการเลี้ยงกระบือสำหรับใช้งานไว้ในแหล่งเดียวกัน ซึ่งเป็นผลเสียหายอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าในการพัฒนา การผลิตและการวิจัยในอนาคตของประเทศต่าง ๆ ที่มีการเลี้ยงกระบือจึงได้มีการติดตั้งศูนย์บริการเอกสารทางกระบือนานาชาติขึ้น โดย IDRC ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน และเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2524 โดยมีคณะกรรมการดำเนินงานจากสำนักสัตวบาลจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา

ฐานข้อมูลเอไอที (AIT)

AIT มีชื่อเต็มว่า ASIAN Institute of Technology ชื่อไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย

วัตถุประสงค์ของห้องสมุดแห่งนี้ก็เพื่อให้บริการหนังสือเอกสารสิ่งพิมพ์ในสาขาทางวิศวกรรมศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้อง AIT เป็นสถาบันที่นำเอาระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานห้องสมุด ขั้นแรกได้ใช้คอมพิวเตอร์ในงานด้านจัดหา AIT ได้จัดทำ Union List of Serials เสร็จไปแล้ว 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 พิมพ์รายชื่อเป็น Abstract และ Index ให้ชื่อเรื่อง Union List of Serials in Thailand ; Automated Union List of Serials Stage 1 : Abstract and Index Journals ครั้งที่ 2 พิมพ์รายชื่อวารสารทั้งหมด ให้ชื่อว่า Union List of Serials in Thailand

หน้าที่สำคัญของ AIT คือ พยายามปรับปรุงและพัฒนาการเข้าถึงสารนิเทศภายในภูมิภาค ตลอดจนประสานงานในการดำเนินงานกับศูนย์ข้อมูล เฉพาะวิชาที่มีขนาดเล็ก นอกจากนี้ AIT ยังได้ชี้ให้เห็นว่าห้องสมุดขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ก็สามารถที่จะนำเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กมาใช้ได้โดย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ห้องสมุดอื่น ๆ เริ่มกิจกรรมทางด้านคอมพิวเตอร์ขึ้นบ้าง (อุทัย ทุติยะโพธิ์ , 2531, หน้า 20-21)

ห้องสมุด AIT ได้นำคอมพิวเตอร์ใช้ในงานเทคนิคห้องสมุด 2 ประการคือ การจัดซื้อและการวิเคระาห์เลขหมู่และบัตรรายการ และเพื่อให้การ ดำเนินงานเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วได้ขอใช้ MARC Records ของหอสมุดแห่งชาติออสเตรเลีย โดยติดต่อผ่านกองหอสมุดแห่งชาติ สถาบันแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์ภูมิภาคสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย(The Regional Documentation Center at Asian Institute of Technology) สถาบันได้จัดตั้งศูนย์สนเทศขึ้น 4 แห่ง เพื่อรวมรวบข้อมูลเผยแพร่โดยการแจกจ่ายสิ่งพิมพ์บริการสารนิเทศ การถ่ายเอกสาร ศูนย์ทั้ง 4นี้คือ
    1. The International Center for Geotechnical Engineering (AGE)
    2. The International Ferrocement Information Center (IFIC)
    3. The Renewable Energy Resources Information Center (RERIC)
    4. The Environmental Sanitation Information Center (ENSIC)

ฐานข้อมูลประชากรศึกษา (POPIN)

POPIN มีชื่อเต็มว่า Population Information Network ข่ายงานนี้ มีสำงานอยู่ที่องค์การสหประชาชาตินครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มดำเนินการเมื่อปี ค.ศ. 1477 โดยได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากกองทุนประชากรสหประชาชาติ (United Nations Funds for Population Activities - UNFPA ) ข่ายงาน POPIN ดำเนิงาน 3 ระดับ คือ ระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค และ ระดับชาติ ศูนย์ประมวลข่าวสารการอนามัยครอบครัว กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่ในระดับชาติสำหรับประเทศไทย

ฐานข้อมูลสาธารณสุข (HELLIS)

HELLIS จัดตั้งโดยองค์การอนามัยโลกภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อเต็มว่า Health Literature, Library and Information Services ข่ายงานทางแพทย์และสาธารณสุขประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก 11 ประเทศ คือ บังคลาเทศ พม่า เกาหลี อินเดีย อินโดนีเซีย มัลติฟ มองโกเลีย เนปาล ศรีลังกา ภูฐาน และไทย มีการประชุมร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกเกี่ยวกับข่ายงานนี้เป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 27-31 สิงหาคม 2522 (1979)

การที่ต้องมีข่ายงานห้องสมุด
    1.เอกสารทางสาขาแพทย์และสาธารณสุขในปัจจุบันนี้มีผลิตออกมามากแม้แต่ห้องสมุดใหญ่ ๆ กํไม่สามารถที่จะจัดหามาให้ครบถ้วนได้
    2. การใช้ทรัพยากรร่วมกันจึงเป็นวิธีที่ดีสุด
    3.การมีบริการค้นเรื่องทางแพทย์และสาธารสุขอย่างรวดเร็วด้วยวิธี MEDLARS/ MEDLINE (Medical Literature Analysis and Retrieval System) บริการนี้ เป็นการอำนวยความสะดวกต่อการได้รับการอ้างอิงจากบทความทางการแพทย์ สาธารณสุข และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำลังตีพิมพ์เผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว
    4.การจัดทำบรรณานุกรมที่จำเป็นแก่ผู้ใช้ เพื่อค้นหาเอกสารอ้างอิง เป็นต้นว่า ดรรชนีวารสาร สาระสังเขป สหบัตรรายการ และสหบัตรหนังสือ

ฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมนานาชาติ (INFOTERRA)

INFOTERRA มีชื่อเต็มว่า International Referral System for Sources of Environmental Information และชื่อไทยว่า ระบบศูนย์รวมแหล่ง ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งโดยนักวิชาการสาขาต่าง ๆ จากหลายประเทศที่เข้าร่วมปฎิบัติงานกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2515 ในครั้งที่มีการประชุมเรื่อง "สิ่งแวดล้อมมนุษย์" ที่กรุงสต๊อคโฮล์ม ซึ่งจัดโดยโครงการสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัยและเชื่อถือได้มาใช้เป็นพื้นฐานในการกำหนดนโยบาย การวางแผน และการตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ตรงตามเป้าหมาย

โครงการ INFOTERRA เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับการรวบรวมแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และเผยแพร่ข้อมูล เหล่านี้โดยมีข่ายงานในระดับโลก

ข่ายงาน INFOTERRA ประกอบด้วยหน่วยงานกลาง ซึ่งมีที่ทำการอยู่ ณ สำนักงานใหญ่ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2518 หน่วยงานกลางนี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมรายชื่อหน่วยงานที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ด้านต่าง ๆ ทั่วโลก และจดทะเบียนเข้าร่วมเป็นแหล่งข้อมูลโดยจัดพิมพ์ในนามานุกรม (International Directory of Sources) เผยแพร่ไปยัง ศูนย์ประสานงานแห่งชาติในประเทศต่าง ๆ ที่เป็นตัวแทนของ INFOTERRA ปัจจุบันแหล่งกลางได้รวบรวมแหล่งข้อมูลสิ่งแวดล้อมไว้ได้ประมาณ 8,500 แหล่ง จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกประมาณ 100 กว่าประเทศ ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ได้รับมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานแห่งชาติ (Thailand National Focal Point) ดำเนินการเชิญชวนหน่วยงานต่าง ๆ ภายในประเทศที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้จดทะเบียนเป็นแหล่งข้อมูลในประเทศไทย เมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะส่งรายชื่อ แหล่งข้อมูลเหล่านี้ไปยังหน่วยกลางที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ซึ่งจะบันทึกข้อมูลที่ได้รับเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อความสะดวกในการเก็บรักษาและ การดึงข้อมูลมาใช้ และทำหน้าที่ประสานงานกับศูนย์ประสานงานแห่งชาติอื่น ๆ ด้วย

สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในฐานะตัวแทน INFOTERRA ยังทำหน้าที่ให้บริการสารนิเทศเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยไม่คิดค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น (อุทัย ทุติยะโพธิ์, 2531, หน้า 23-24)

ฐานข้อมูลแอสตินโฟ (ASTINFO)

ASTINFO มีชื่อเต็มว่า The Regional Network for the Exchange of Information and Experience in Science and Technology in Asia and the Pacific ชื่อภาษาไทย ข่ายงานระบบสารนิเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ก่อตั้งโดยองค์การศึกษาและ วัฒนธรรมสหประชาชาติ(UNESCO) ตามคำแนะนำของ United Nations Confernce on Science and Technology for Development (UNCSTD) เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1979 เพื่อพัฒนาให้เข้าถึงสารนิเทศทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการแลกเปลี่ยนสารนิเทศในระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนา

ในปี พ.ศ. 2523 องค์การศึกษาและวัฒนธรรมสหประชาชาติได้ศึกษาถึงเรื่องสารนิเทศและการใช้สารนิเทศในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตามมีโครงการหลายโครงการที่อยู่ในข่ายงานของแอสตินโฟ ได้ดำเนินการอยู่แล้วในภูมิภาคนี้ เป็นต้นว่า การฝึกอบรมการพัฒนาการศึกษา โครงการงานทางด้านเทคนิค (อุทัย ทุติยะโพธิ์, 2531, หน้า 38-39)

วัตถุประสงค์ของแอสตินโฟ ก็เพื่อที่จะพัฒนางานด้านสารนิเทศทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานแห่งชาติในประเทศไทย โดยทำงานร่วมกับศูนย์สารนิเทศจากห้องสมุดมหาวิทยาลัย และศูนย์สารนิเทศเฉพาะวิชาอีก 6 แห่ง คือ สถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองห้องสมุดมหาวิทยาลัยมหิดล กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์บริการเอกสารวิจัยแห่งประเทศไทย และสำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

หน้าสารบัญ