สารสนเทศเพื่อการเรียนรู้
รศ.จุมพจน์ วนิชกุล
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
ถนนกาญจนบุรี-ไทรโยค ต.หนองบัว อ.เมือง กาญจนบุรี 71000

***ความรู้คืออำนาจ เรียนและค้นคว้าให้สนุกในโลกของสังคมข่าวสาร ไร้พรมแดน ไร้กาลเวลา***


คำนำ

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ
สังคมข่าวสาร

วัสดุสารสนเทศ

หนังสือและส่วนต่างๆ
ของหนังสือ

การจัดหมวดหมู่
สารสนเทศ

การค้นข้อมูลใน
สังคมสารสนเทศ

หนังสืออ้างอิง

การเขียนรายงาน
การศึกษา
และค้นคว้า

แบบฝึกหัด

เฉลยแบบฝึกหัด

บรรณานุกรม

โน้ตจากผู้สอน


Home

การค้นสารนิเทศกับระบบอินเทอร์เน็ต

สารสนเทศมีมาพร้อมๆกับการเกิดสังคม ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน มีสภาพสังคมเกิดขึ้นตลอดเวลา มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคม เป็นสังคมข่าวสารในยุคปัจจุบัน ตัวสารสนเทศจึงมีความสำคัญต่อการนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในแต่ละวัน เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสื่อสารของคนในสังคม

ตัวสารสนเทศเริ่มต้นจากตัวอักษรที่มีการจารึก พัฒนามาเป็นตัวอักษรภาพ และ อักษรเขียน วัสดุที่รองรับการจารึก หรือการเขียน เริ่มต้นจากแผ่นดินเหนียว จนกระทั่งมาเป็นกระดาษ และจากสังคมที่ใช้กระดาษในการสื่อสาร เปลี่ยนมาเป็นสังคมที่ปราศจากกระดาษ และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสร้างสังคมข่าวสารให้เท่าเทียมกัน ขจัดปัญหาในเรื่องของขอบเขต เวลา และระยะทางให้หมดสิ้นไป เรารับทราบว่านี่คือสังคมข่าวสารยุคใหม่ที่ทุกคนต้องรับทราบ และเรียนรู้การอยู่ในสังคมนี้ สังคมดังกล่าวคือสังคมข่าวสารในระบบ อินเทอร์เน็ต

การเรียนรู้เรื่องอินเทอร์เน็ต ตลอดจนการรู้จักใช้โปรแกรมที่เกี่ยวข้องในการเข้าถึงข้อมูลมหาศาลจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นที่ผู้อยู่ในสังคมข่าวสารต้องฝึกปฏิบัติ การใช้ข้อมูลให้ทันท่วงทีต่อการเปลี่ยนแปลงไปของข้อมูล

พัฒนาการความเป็นมาของอินเทอร์เน็ต

อินเทอร์เน็ตมีจุดเริ่มต้นในช่วงปี ค.ศ. 1970 - 1980 จาก โครงการอาร์ปาเน็ต (ARPANET - Advanced Research Projects Administration Network)ของหน่วยงานโครงการวิจัยขั้นสูง ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (US Department of Defense--DOD) โดยมีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงข้อมูลทางการทหารของกระทรวงกลาโหม และห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทางทหารของมหาวิทยาลัย วัตถุประสงค์สำคัญของอาร์ปาเน็ต คือต้องการให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่แยกกันอยู่ และมีการเชื่อมโยงกันอย่างมากมายมหาศาล เข้าอยู่ใน ระบบเดียวกัน ให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันจากระยะทางที่ไกลออกไปได้ (Fuller, 1997, pp.125-126) และคาดหวังว่าระบบนี้ จะทำให้การส่งผ่านกรสื่อสารเป็นไปได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมีคนควบคุม เป้าหมายคือการควบคุมการส่งผ่านข้อมูลเกี่ยวกับสงคราม โดยเฉพาะทางด้านนิวเคลียร์

โครงการในระยะแรกๆของการทำงานของอาร์ปาเน็ต ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์เพียง 4 เครื่อง คือคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยยูทาห์, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาบาร์บารา, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแองเจลิส และสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด เมื่อมีการทดลองใช้งานอาร์ปาเน็ต จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้ว กระทรวงกลาโหมของสหรัฐก็ได้ขยายเครือข่ายของอาร์ปาเน็ตออกไป โดยเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่าง ๆ รวม 50 แห่งในปี พ.ศ. 2515 (ต้น ตัณฑ์สุทธิวงศ์ สุพจน์ ปุณณชัยยะ และ สุวัฒน์ ปุณณชัยยะ, 2539, หน้า 16-18)ซึ่งเครือข่ายของ อาร์ปาเน็ต จะมีมาตรฐานการรับส่งของมูลอันเดียวกัน เรียกว่า มาตรฐานการควบคุมระบบเครือข่าย (Network Control Protocol - NCP) เป็นส่วนควบคุมการรับส่งข้อมูล, การตรวจสอบความผิดพลาดในการส่งข้อมูล และเปรียบเสมือนตัวกลาง ที่เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตามมาตรฐาน NCP ที่ใช้ในขณะนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมีข้อจำกัดในด้าน จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต่อเข้ากับ อาร์ปาเน็ต ทำให้ขยายจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ออกไปมาก ๆ ไม่ได้ จึงได้เริ่มมีการพัฒนามาตรฐานการ รับส่งข้อมูลแบบใหม่ขึ้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 ได้มีมาตรฐานใหม่ออกมาเรียกว่า Transmission Control Protocol/Internet Protocol หรือ โปรโตคอลแบบ TCP/IP ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่อาร์ปาเน็ตได้วางรากฐานไว้ให้กับอินเตอร์เน็ต เพราะมาตรฐานการรับส่งข้อมูลแบบ TCP/IP นี้ ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ต่างชนิดกันสามารถรับส่งข้อมูลไปมาระหว่างกันได้และนับเป็นหัวใจของอินเตอร์เน็ตเลยทีเดียว โปรโตคอล TCP/IP ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในปีถัดมาคือปี 2526 และถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติการ UNIX เวอร์ชั่น 4.2 จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ ในเน็ตเวิร์คได้เพิ่มขึ้นจาก 235 เครื่องในปี 2525 มาเป็น 500 เครื่องในปี 2526 และเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 เครื่องในปี 2527

ต่อมาในปี 2529 มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ National Science Foundation (NSF) ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้วางระบบเครือข่าย ขึ้นมาอีกระบบหนึ่งเรียกว่า NSFNET ซึ่งประกอบด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์จำนวน 5 เครื่องใน 5 รัฐ เชื่อมต่อเข้าด้วยกันเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา และค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ และได้ใช้โปรโตคอล TCP/IP เป็นมาตรฐานในการรับส่งข้อมูลเช่นกัน ทำให้การขยายตัวของเน็ตเวิร์คเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากวิทยาลัยและสถาบันการศึกษามีความต้องการที่จะเชื่อมต่อเข้ากับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เพื่อให้การใช้งานซูเปอร์คอมพิวเตอร์คุ้มค่าที่สุด และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ ประกอบกับการรับส่งข้อมูลก็ใช้มาตรฐานเดียวกัน จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายจึงเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 เครื่อง นอกจาก ARPANET และ NSFNET แล้ว ยังมีเครือข่ายอื่น ๆ อีกหลายเครือข่าย เช่น UUNET, UUCP, BITNET, CSNET ฯลฯ ซึ่งต่อมาก็ได้เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน โดยมี NSFNET เป็นเครือข่ายหลัก เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังหรือ backbone ของระบบจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ ในเครือข่ายจึงได้เพิ่มเป็นกว่า 20,000 เครื่องในปี 2530 และก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วเป็น 100,000 เครื่องในปี 2532 (ต้น ตัณฑ์สุทธิวงศ์ สุพจน์ ปุณณชัยยะ และ สุวัฒน์ ปุณณชัยยะ, 2539, หน้า 16-18)

จากจุดเริ่มต้นของอาร์ปาเน็ต ต่อมาได้ขยายขอบเขตวัตถุประสงค์โดยเข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อมูลด้านอื่นนอกเหนือจากที่เป็นอยู่เดิม มีสถาบันการศึกษา บริษัทห้างร้าน หน่วยงานทางธุรกิจ องค์กรที่ไม่มุ่งหวังกำไร และบุคคลต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งในฐานะผู้จัดทำและผู้ใช้ ลากหลายมากมาย ต่อมา อาร์ปาเน็ต ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ดาร์ปาอินเทอร์เน็ต (DARPA INTERNET) แล้วกลายมาเป็นอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน

เมื่อเดือนสิงหาคม 2537 มีระบบเครือข่ายบนอินเทอร์เน็ต มากกว่า 20,000 ระบบ จากทั่วโลก ประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่า 3,000,000 เครื่อง เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน และจะเพิ่มขึ้นด้วยอัตรา 1,000 ระบบ (โดยมีเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน100,000เครื่อง) ต่อเดือน

ระบบการทำงานของอินเทอร์เน็ต

เครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องบนระบบอินเทอร์เน็ต ส่งและรับข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ เครื่องอื่นๆ ในลักษณะ ชิ้นส่วนขาดเล็กหลายๆ กลุ่ม เรียกว่า แพ็กเกจ (Packets) แต่ละแพ็กเกจจะมีที่อยู่ของผู้ส่งและผู้รับ ขนาดสูงสุดของแพ็กเกจจะเปลี่ยนไปตามเครือข่าย แต่โดยปกติ จะอนุญาตให้มีขนาด ระหว่าง 200-2,000 octets (1 octet บน INTERNET คิอ 1 bite หรือ 1 ตัวอักษร) ขนาดทั่วไปที่ใช้กันอยู่คือ 1,536 octets ข้อมูลใด ที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 แพ็กเกจ จะต้องแยกส่งไปเป็นหลายแพ็กเกจ ข้อมูลจะถูกส่งไปหลายเส้นทาง ผ่านเครือข่ายจำนวน มหาศาลซึ่งประกอบกันขึ้นเป็น INTERNET แพ็กเกจแต่ละตัว ไม่ได้เดินทาง ไปในเส้นทางเดียวกัน แต่มันก็ไปถึงจุดหมายปลายทางเดียวกัน แล้วมันจะไปรวมตัวกันอีกครั้ง โดยอัตโนมัติที่ปลายทาง เส้นทางมิใช่อุปสรรคตราบเท่าที่ข้อมูลสามารถไปถึงปลายทางได้โดยปลอดภัย

ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการดูแลแพ็กเกจเหล่านี้คือ เกณฑ์วิธีการควบคุมการขนส่งข้อมูล/อินเทอร์เน็ต โปรโตคอล--ทีซีพี/ไอพี หรือ Transmission Control Protocol/Internet Protocol--TCP/IP โดย TCP ทำหน้าที่แยกกลุ่มข้อมูลที่ต้นทาง และ รวมข้อมูลที่ปลายทาง ส่วน IP เป็นส่วนที่กำหนด และ คอยดูให้แพ็กเกจ เหล่านี้ผ่านเส้นทางบนคอมพิวเตอร์จำนวนมาก

 


Send comments to Chumpot@hotmail.com
Copyright © 2008
Revised:May 2008