สารสนเทศเพื่อการเรียนรู้
รศ.จุมพจน์ วนิชกุล
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
ถนนกาญจนบุรี-ไทรโยค ต.หนองบัว อ.เมือง กาญจนบุรี 71000

***ความรู้คืออำนาจ เรียนและค้นคว้าให้สนุกในโลกของสังคมข่าวสาร ไร้พรมแดน ไร้กาลเวลา***


คำนำ

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ
สังคมข่าวสาร

วัสดุสารสนเทศ

หนังสือและส่วนต่างๆ
ของหนังสือ

การจัดหมวดหมู่
สารสนเทศ

การค้นข้อมูลใน
สังคมสารสนเทศ

หนังสืออ้างอิง

การเขียนรายงาน
การศึกษา
และค้นคว้า

แบบฝึกหัด

เฉลยแบบฝึกหัด

บรรณานุกรม

โน้ตจากผู้สอน


Home

ความหมายของสารนิเทศและสารนิเทศศาสตร์

ความหมายของสารนิเทศ (Information)

คำในภาษาไทยที่มีความหมายว่า ข่าวสาร ข้อมูล วิชาการ แหล่งความรู้ เอกสาร ล้วนแล้วแต่แปลเกือบจะใกล้เคียงกัน บางคำอาจใช้แทนกันได้ บางครั้งก็อาจเกิดความสับสนว่า จะใช้คำไหนดี ในภาษาอังกฤษมีคำที่เรียกใช้อยู่คำหนึ่งซึ่งตรงกับสังคมยุคข่าวสาร คือ คำว่า Information และเรียกวิชาที่เกี่ยวข้องกับ Information ว่า Information Science

สมาคมห้องสมุดอเมริกันให้คำจำกัดความของคำว่า Information ว่า หมายถึง ความคิด ข้อเท็จจริง และผลงาน ที่เกิดขึ้นจากจิตใจทั้งหมด ซึ่งมีวิธีกาาติดต่อสื่อสาร มี การจดบันทึกรวบรวม มีการตีพิมพ์เผยแพร่ หรือมีวิธีการแจกจ่ายทั้งอย่างเป็นทางการ และ ไม่เป็นทางการ ในทุกรูปแบบ (Young, 1983, p. 117)

คำว่า "Information" ซึ่งบัญญัติความหมายโดย Prytherch (1987 : 381) สรุปได้ว่า คือ ข่าวสารข้อมูลที่ได้รับการบันทึกบนกระดาษ หรือวัสดุอื่น ๆ และใช้ประโยชน์เพื่อการสื่อสาร และ Palmer (1987, p. 6) ให้ความหมายที่สั้นกระทัดรัดว่า คือข้อมูลซึ่งใช้ในการตัดสินใจ

ส่วนคำในภาษาไทย แปลคำว่า Information คือ ข่าวสาร เรื่องราว ข้อความรู้ ข้อสนเทศ สารนิเทศ ความรู้ (อัมพร ทีขะระ, 2528, หน้า 160) ราชบัญฑิตยสถาน (2524, หน้า 37) บัญญัติศัพท์ว่า สารนิเทศ แต่ก็มีการใช้คำว่า สนเทศ ซึ่งให้หมายถึง คำสั่ง ข่าวสาร ใบบอก (ราชบัณฑิตยสถาน, 2525, หน้า 768) ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว ยังมีความหมายไม่ครอบคลุมถึงคำว่า information ในภาษาอังกฤษ

เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า " information" ในภาษาอังกฤษ และ "สารนิเทศ" ในภาษาไทย แล้ว นงลักษณ์ ไม่หน่ายกิจ (2526, หน้า 115) ได้สรุปว่า หมายถึง ข่าวข้อเท็จจริง ข้อมูล ตลอดจน ความรู้ซึ่งได้มีการบันทึกไว้ทั้งในรูปของสิ่งตีพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ วัสดุย่อส่วน เทปโทรทัศน์ เทปแม่เหล็ก และจานแม่เหล็ก เป็นต้น ข้อสนเทศ ซึ่งได้บันทึกไว้นี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่นำมาใช้เพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งการ การวางแผน การศึกษาวิจัย การพัฒนาอาชีพ และอื่น ๆ ของบุคคลในทุกวงการและทุกระดับห้องสมุดและ ศูนย์สารนิเทศอย่างถูกต้อง สมบูรณ์และตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด และทันกับเวลาที่ต้องการด้วย

คำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำว่า information ได้แก่ คำว่า documentation และ documentalistics ซึ่งนิยม ใช้กันในศูนย์สารนิเทศประเทศตะวันตก แต่ก็ยังมีความหมายไม่ครอบคลุมไปถึงความหมายของคำว่า information เพราะคำทั้งสองเน้นหนักไปทางความหมายของ "เอกสาร" จึงมีผู้บัญญัติคำว่า information ซี่งเป็นคำใหม่ และ ก็ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป (นวนิตย์ อินทรามะ, 2518, หน้า 67) โดยสรุป ตามความหมายที่กล่าวมาแล้ว information จึงตรงกับคำว่า สารนิเทศ

ความหมายของสารนิเทศศาสตร์ (Information Science)

สารนิเทศศาสตร์ เป็นวิชาใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมข่าวสาร เป็นวิชาที่พัฒนามาจาก หลายสาขาวิชาการ โดยเป็นสหวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับ กระบวนการถ่ายทอดสารนิเทศ มีรากฐานจากวิชาบรรณารักษศาสตร์มาตั้งแต่ 669-630 ก่อนคริสตกาล และมีบทบาทมากยิ่ง ขึ้นในช่วงหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (Davis and Rush, 1979, p. 3)

ความหมายของคำว่า information science ในระยะแรกเริ่ม มีขอบเขตอย่างกว้าง ๆ เช่น Horko (1968, p. 3) ให้ความหมายว่า คือวิชาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวม การจัดองค์การ การถ่ายทอด และการใช้ประโยชน์จากสารนิเทศ และเมื่อขอบเขตวิชา เกี่ยวข้องไปทางพัฒนาการเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ จึงมีการให้ความหมายให้เกี่ยวข้องกับสภาพการใช้สารนิเทศ จึงเป็นวิชา ที่ว่าด้วยการพัฒนาสารนิเทศ เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อสารนิเทศทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนศิลปวิทยาการต่าง ๆ (University of Chicago, 1970, p. 211)

คำจำกัดความที่สั้นของ information scicnce ได้แก่ "วิชาที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับการจัดหา และประมวลผลข้อสารนิเทศ (Stokes, 1986, p. 127) ซึ่งเน้นไปในทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่วิชานี้มีส่วนเข้าไป เกี่ยวข้อง และตรงกับความหมายที่ว่า เป็นวิชาการทางวิทยาศาสตร์ที่มีการเรียน การสอนพัฒนาไปไกล ในเรื่องระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ตลอดจนวิธีการศึกษาวิจัยและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการสืบค้นสารนิเทศ (Svenonius & Witthus, 1981, p. 301)

สหพันธ์สากลแห่งสมาคมห้องสมุด (International Federation of Library Association) (1976, p. 212) ได้ให้ความหมายและคำจำกัดความของ "information science" ค่อนข้างครอบคลุมเนื้อหาวิชาดังต่อไปนี้

"... สารนิเทศศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษา คุณสมบัติ และพฤติกรรมของ สารนิเทศ การจัดการให้สารนิเทศมีการเลื่อนไหล และการใช้ประโยชน์ในการประมวลผล สารนิเทศ สารนิเทศศาสตร์เกี่ยวข้องกับความรู้ที่สัมพันธ์กับสารนิเทศ ในเรื่องของการกำเนิด การรวบรวม การจัดองค์การ การจัดเก็บ การสืบค้น การแปล การถ่ายทอด และการใช้ ประโยชน์ วิธีการดังกล่าวรวมถึงการเป็นตัวแทน ของสารนิเทศ ทั้งในระบบธรรมชาติและ ระบบอื่น ๆ เช่น การใช้สัญญลักษณ์ในการสื่อสารนิเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และวิธีการใช้ คอมพิวเตอร์ ตลอดจนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้สารนิเทศศาสตร์ยังเป็น สหวิทยาการที่พัฒนามาจากวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ตรรกวิทยา การวิจัยเชิงปฏิบัติ บรรณารักษศาสตร์ การจัดการ และวิชาอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน ... "

ในภาษาไทย คำว่า "information science" ตรงกับคำว่า สารนิเทศศาสตร์ มีความหมายว่า เป็นวิชาที่มีขอบเขตเกี่ยวกับการจัดการ ทื่เกี่ยวข้องกับความรู้ ข่าวสาร ตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งให้ผู้ใช้ได้รับประโยชน์จากความรู้ หรือข่าวสารดังกล่าว ได้อย่างรวดเร็ว และเป็น ประโยชน์มากที่สุด (จารุวรรณ สินธุโสภณ, 2521, หน้า 71) คำว่าสารนิเทศศาสตร์ อาจใช้คำว่า สนเทศศาสตร์ แทน แต่ในขณะนี้ส่วนใหญ่เรียกวิชา information science ว่า สารนิเทศศาสตร์

 


Send comments to Chumpot@hotmail.com
Copyright © 2008
Revised:May 2008