***เรียนให้สนุกในโลกแห่งสังคมข่าวสาร ไร้ขอบเขต ไร้พรมแดน***


ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและการสืบค้น
รศ.จุมพจน์ วนิชกุล/ ผศ.ฟ้อน เปรมพันธ์/ ผศ.วิไลวรรณ สันถวะโกมล/
อาจารย์ราตรี แจ่มนิยม/ อาจารย์นงนุช ถ้วยทอง
โปรแกรมวิชาการศึกษาทั่วไป
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี


คำอธิบายรายวิชา/แนวการสอน
(Course Overview)

สารบัญเนื้อหาวิชา

กิจกรรมการเรียนการสอน

สื่อการสอน

การประเมินผล
(Evaluation)

ตำราประกอบการสอน
(Texts and Materials)

แหล่งทรัพยากรสารนิเทศอื่นๆ
(Other Useful Resources)

แหล่งทรัพยากรเกี่ยวกับ Internet
(Resources about the Internet and Its Tools)

ตำราและวารสารอิเล็กทรอนิกส์
(On-Line Journals and Magazines)

แบบฝึกหัด

เฉลยแบบฝึกหัด

บรรณานุกรม

โน้ตจากผู้สอน


Home

ความหมายของสารนิเทศ (Information)

คำในภาษาไทยที่มีความหมายว่า ข่าวสาร ข้อมูล วิชาการ แหล่งความรู้ เอกสาร ล้วนแล้วแต่แปลเกือบจะใกล้เคียงกัน บางคำอาจใช้แทนกันได้ บางครั้งก็อาจเกิดความสับสนว่า จะใช้คำไหนดี ในภาษาอังกฤษมีคำที่เรียกใช้อยู่คำหนึ่งซึ่งตรงกับสังคมยุคข่าวสาร คือ คำว่า Information และเรียกวิชาที่เกี่ยวข้องกับ Information ว่า Information Science

สมาคมห้องสมุดอเมริกันให้คำจำกัดความของคำว่า Information ว่า หมายถึง ความคิด ข้อเท็จจริง และผลงาน ที่เกิดขึ้นจากจิตใจทั้งหมด ซึ่งมีวิธีกาาติดต่อสื่อสาร มี การจดบันทึกรวบรวม มีการตีพิมพ์เผยแพร่ หรือมีวิธีการแจกจ่ายทั้งอย่างเป็นทางการ และ ไม่เป็นทางการในทุกรูปแบบ (Young 1983 : 117)

คำว่า "Information" ซึ่งบัญญัติความหมายโดย Prytherch (1987 : 381) สรุปได้ว่า คือ ข่าวสารข้อมูลที่ได้รับการบันทึกบนกระดาษหรือวัสดุอื่น ๆ และใช้ประโยชน์เพื่อการสื่อสาร และ Palmer (1987 : 6) ให้ความหมายที่สั้นกระทัดรัดว่า คือข้อมูลซึ่งใช้ในการตัดสินใจ

ส่วนคำในภาษาไทย แปลคำว่า Information คือ ข่าวสาร เรื่องราว ข้อความรู้ ข้อสนเทศ สารนิเทศ ความรู้ (อัมพร ทีขะระ 2528: 160) ราชบัญฑิตยสถาน (2524 :37) บัญญัติศัพท์ว่า สารนิเทศ แต่ก็มีการใช้คำว่า สนเทศ ซึ่งให้หมายถึง คำสั่ง ข่าวสาร ใบบอก (ราชบัณฑิตยสถาน 2525 : 768) ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว ยังมีความหมายไม่ครอบคลุมถึงคำว่า information ในภาษาอังกฤษ

เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า " information" ในภาษาอังกฤษ และ "สารนิเทศ" ในภาษาไทย แล้ว นงลักษณ์ ไม่หน่ายกิจ (2526 : 115) ได้สรุปว่า หมายถึง ข่าวข้อเท็จจริง ข้อมูล ตลอดจน ความรู้ซึ่งได้มีการบันทึกไว้ทั้งในรูปของสิ่งตีพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ วัสดุย่อส่วน เทปโทรทัศน์ เทปแม่เหล็ก และจานแม่เหล็ก เป็นต้น ข้อสนเทศ ซึ่งได้บันทึกไว้นี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่นำมาใช้เพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งการ การวางแผน การศึกษาวิจัย การพัฒนาอาชีพ และอื่น ๆ ของบุคคลในทุกวงการและทุกระดับห้องสมุดและ ศูนย์สารนิเทศอย่างถูกต้องสมบูรณ์และตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด และทันกับเวลาที่ต้องการด้วย

คำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำว่า information ได้แก่ คำว่า documentation และ documentalistics ซึ่งนิยม ใช้กันในศูนย์สารนิเทศประเทศตะวันตก แต่ก็ยังมีความหมายไม่ครอบคลุมไปถึงความหมายของคำว่า information เพราะคำทั้งสองเน้นหนักไปทางความหมายของ "เอกสาร" จึงมีผู้บัญญัติคำว่า information ซี่งเป็นคำใหม่ และ ก็ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป (นวนิตย์ อินทรามะ 2518 : 67) โดยสรุป ตามความหมายที่กล่าวมาแล้ว information จึงตรงกับคำว่า สารนิเทศ

ความสำคัญของสารนิเทศ

สังคมในปัจจุบันมีลักษณะเป็นสังคมข่าวสาร ทั้งนี้เป็นเพราะมีการพัฒนาประเทศ ทุกด้านอย่างกว้างขวาง มีการค้นคว้าทดลอง วิจัย ซึ่งก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทาง ด้านเทคโนโลยีและวิชาการต่าง ๆ มีความต้องการข้อมูลข่าวสารเพิ่มมากขึ้น และจำนวน ข้อมูลข่าวสารเองก็มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินกำลังที่ผู้ใช้ข้อมูลจะใช้ได้ทัน

ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานให้บริการข้อมูลข่าวสาร ห้องสมุด หน่วยงานทาง ราชการและสำนักงานธุรกิจต่างๆ ล้วนแล้วแต่ประสบปัญหาของจำนวนสารนิเทศที่เพิ่ม จำนวนอย่างไม่หยุดยั้ง ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านการจัดการทางเศรษฐศาสตร์ และปัญหา เทคนิควิธีการแก้ไขปัญหาการล้นหลามของสารนิเทศ นักวิจัยไม่สามารถอ่านสารนิเทศที่ เกี่ยวข้องได้หมด (Miski 1986 : 49) โดยเฉพาะสื่อสารนิเทศประเภทสิ่งพิมพ์ เช่น วารสาร มีจำนวนการผลิตมาก จำนวนวารสารทางวิทยาศาสตร์ จากเพียง 100 ชื่อเรื่อง ในตอนต้นศตวรรษที่ 19 ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 10,000 ชื่อเรื่อง ในตอนต้นศตวรรษนี้ และคาดว่าจะมีถึง 1,000,000 ชื่อเรื่อง ในราวปลายศตวรรษนี้ เป็นการเพิ่มถึง 10,000 เปอร์เซนต์เลยทีเดียว เป็นภาวะการณ์ที่เรียกว่า ตกอยู่ในสภาพของการทะลัก ทลายของข่าวสาร(information explosion) ภาวะสิ่งพิมพ์เฟ้อ (publication inflation)หรือมลภาวะของสื่อสิ่งพิมพ์ (publication pollution )

การให้บริการสารนิเทศต่าง ๆ เป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาหน่วยงานทุกหน่วยซึ่งมี ผลต่อการพัฒนาประเทศชาติ มีคำกล่าวที่ว่า "ความรู้คืออำนาจ" หรือ "สารนิเทศ คืออำนาจ" (Information is power) ใครมีข้อมูลมากผู้นั้นย่อมมีอำนาจมาก คำดังกล่าวสามารถพิสูจน์ได้ดีในวงการธุรกิจหรืออุตสาหกรรม บริษัทใดมีข้อมูลทางเทคโน โลยีใหม่ ๆ ย่อมได้เปรียบกว่าบริษัทที่ไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยี ศูนย์สารนิเทศต่าง ๆ จึงจำ เป็นต้องหาวิธีการที่จะได้ข้อสารนิเทศในทุกรูปแบบ โดยการจัดหามาให้บริการภายในศูนย์ สารนิเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

สารนิเทศมีความสำคัญและจำเป็นต่อมนุษย์ในสังคมสารนิเทศ วัตถุประสงค์ของ การจัดตั้งห้องสมุดหรือศูนย์สารนิเทศ ล้วนแล้วแต่เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของสารนิเทศใน การใช้ประโยชน์รวม 5 ประการ (สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ 2515 : 2-3) คือ
1. เพื่อการศึกษา (Education) สารนิเทศที่จัดเก็บและให้บริการในห้องสมุด และศูนย์สารนิเทศทั่ว ๆ ไป ล้วนแล้วแต่ให้ประโยชน์ในการเก็บข้อมูลเบื้องต้นต่อการศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน ความหมายของคำว่าการศึกษามีความหมายกว้าง ไม่เน้นถึงความหมายเพื่อการศึกษาอยู่แต่ในโรงเรียน และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ เท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึง การศึกษาด้วยตนเองอีกด้วย สารนิเทศเพื่อการศึกษาได้แก่ หนังสือ แบบเรียน ตำราเรียน คู่มือครู หนังสือประกอบการเรียนการสอน และจากสภาพสารนิเทศที่เปลี่ยนไป มีสื่อสารนิเทศประเภทโสตทัศนวัสดุ เข้ามามีบทบาทต่อการเรียนการสอน เช่นการใช้วีดีทัศน์ ประกอบการเรียน การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือช่วยสอนเป็นต้น สารนิเทศเพื่อการศึกษา จึงเป็นสื่อสำคัญเพื่อการพัฒนาคนทางด้านการศึกษา
2. เพื่อให้ความรู้ (Information) คนในสังคมมีความจำเป็นต้องทราบความ เปลี่ยนแปลงไปในสังคม ต้องทราบข่าวในสังคม ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน การติดต่อสื่อสารในสังคม แต่ละวันจะได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สารนิเทศทุกประเภทล้วนแล้วแต่ให้ข่าวสาร ที่เกิดขึ้น ในสังคม โดยเฉพาะสารนิเทศประเภทวารสาร หนังสือพิมพ์ ตลอดจนสื่อสารนิเทศ ประเภทวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ล้วนแล้วแต่มีบทบาทอย่างสูงต่อการติดตามข่าวใน สังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน สารนิเทศต่าง ๆจึงมีความสำคัญ ต่อการขจัดความสงสัยในเรื่อง ใคร่รู้ของเหตุการณ์ในสังคมให้หมดสิ้นไป
3.เพื่อการค้นคว้า (Research) ในยุคสังคมข่าวสารปัจจุบัน สารนิเทศที่ ตอบสนองในเรื่องการค้นคว้า วิจัย มีบทบาทอย่างสูงต่อการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศใน แต่ละประเทศต่างพยายามสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัย และการค้นคว้าทางเทคโนโลยี ต่างๆ สารนิเทศทางด้านการศึกษาค้นคว้า ไม่ว่าจะจัดทำให้บริการอยู่ในรูปใด เช่น บัตร สาระสังเขป สมุดสถิติ วิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในการก่อให้เกิดสารนิเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้าที่ทันสมัยและ นำไปใช้ในการพัฒนาประเทศทุก ๆ ด้านได้ ต่อไป
4. เพื่อความจรรโลงใจ (Inspiration) สารนิเทศต่าง ๆ นอกจากผู้ใช้จะ ได้ประโยชน์ทางด้านการได้สารนิเทศ เพื่อการศึกษาได้รับความรู้แล้ว สารนิเทศบางประเภท และบางชนิดยังอำนวยประโยชน์ก่อให้เกิดความจรรโลงใจ ทำให้เกิดความสุขทางจิตใจ เช่น การอ่านหนังสือวรรณกรรมที่สำคัญ ช่วยก่อให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้งในความดีงามใน ความคิดของผู้อื่น
5.เพื่อความบันเทิง (Recreation) สังคมสารนิเทศในปัจจุบัน มีสื่อสาร นิเทศเพื่อความบันเทิงในการพักผ่อนหย่อนใจมากๆ แต่ละชนิดล้วนแล้วแต่ตอบสนองสาร นิเทศเพื่อความบันเทิงส่วนตัวหรือครอบครัว เช่น การอ่านหนังสือที่ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว หรือการเพลิดเพลินชมรายการจากโทรทัศน์ หรือ ฟังเพลงที่ชื่นชอบจากวิทยุ สื่อสารนิเทศเพื่อการบันเทิงมีการผลิตมากมาย เพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้สารนิเทศประเภทนี้อย่างทั่วถึง และอำนวยความสะดวกสบายต่อการใช้เพื่อความบันเทิง ได้อย่างเต็มที่

ความสำคัญของสารนิเทศในสังคม เป็นความจำเป็นของคนในสังคมที่ต้องใช้ สารนิเทศเพื่อพัฒนาตนเอง และใช้ สารนิเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาประเทศโดยส่วนรวม สารนิเทศจึงมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพของสังคม ให้ก้าวหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 


Send comments to Chumpot@hotmail.com
Copyright © 2004
Revised:Junr 2004