บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
วิชา 1065106
มนุษยสัมพันธ์สำหรับผู้บริหาร
Human Relations for Administrators
ผู้สอน
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
***ความรู้คืออำนาจ เรียนให้สนุกในโลกแห่งสังคมข่าวสาร ไร้พรมแดน ไร้กาลเวลา***


แนวสังเขปรายวิชา

สารบัญ
เนื้อหาวิชา

กิจกรรม
การเรียนการสอน

สื่อการสอน

การประเมินผล

ตำราประกอบ
การสอน

แหล่งทรัพยากร
สารสนเทศ
ประกอบ
การเรียนการสอน

แหล่งทรัพยากร
เกี่ยวกับ Internet

ตำราและวารสาร
อิเล็กทรอนิกส์

แนะนำผู้สอน


Home

เคล็ดลับการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน

ปัจจัยใดบ้างที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน หลายองค์กรพยายามที่จะหาวิธีการที่จะเสริมสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานของตน เพื่อให้เขามีพลังในการสร้างสรรค์ผลงานให้กับองค์กร แต่ในทางปฏิบัตินั้นการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานนั้น จะต้องเริ่มจากหัวหน้างาน และบรรดาผู้จัดการทั้งหลาย ซึ่งฝรั่งเขาชอบใช้คำว่า People Manager ซึ่งไม่ใช่ฝ่ายบุคคลนะครับ คนที่เป็น People Manager ก็คือ ผู้บังคับบัญชาทุกระดับที่ต้องดูแลลูกน้องของตนนั่นเอง

ผมได้อ่านนิตยสาร HR Magazine เล่มพิเศษชื่อ Guide to managing people ได้เขียนถึงเรื่องของการจูงใจพนักงานไว้ค่อนข้างชัดเจนมาก ผมก็เลยขออ้างอิงหลักการและยกตัวอย่างจากที่ผมประสบมาได้อ่านกันครับ คนเขียนบทความนี้ชื่อ R. Brayton Bowen ได้เขียนบทความชื่อว่า Practice the Five R’s to Motivate Workers เขาบอกว่าให้ทำ 5R เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ

Responsibility

R ตัวแรกที่พูดถึงก็คือ Responsibility แปลเป็นไทยแบบง่ายๆ ว่า ความรับผิดชอบ แล้วความรับผิดชอบที่ว่านี้มันสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานได้อย่างไร ลองคิดถึงงานที่ตนเองทำอยู่ก็ได้นะครับ ถ้าทำงานแบบเดิมๆ ไปเรื่อยๆ เราจะรู้สึกอย่างไร คนส่วนใหญ่จะรู้สึกเบื่อ เพราะมันเหมือนเดิมทุกวัน พอเบื่อก็เริ่มหมดแรงจูงใจในการทำงาน ดังนั้นการที่จะเพิ่มแรงจูงใจให้กับพนักงานทางแรกก็คือ การเพิ่มความรับผิดชอบของงานให้กับพนักงาน (ไม่ใช่การเพิ่มปริมาณงานนะครับ) อาจจะเป็นการให้พนักงานคิดหาวิธีการที่จะทำงานให้เร็วขึ้น ดีขึ้น หรือ ใช้ต้นทุนที่น้อยลง ฯลฯ และการที่หัวหน้างานมอบหมายให้พนักงานทำงานที่ท้าทายมากขึ้นนั้น มันเป็นสัญญานอย่างหนึ่งที่บอกกับพนักงานว่า เขามีความสามารถที่จะทำงานยากขึ้นได้ พอพนักงานได้รับสัญญานนี้จากหัวหน้างาน เขาจะรู้สึกว่าหัวหน้าไว้ใจเขาให้เขาทำงานที่ยากขึ้น เมื่อเขารู้สึกอย่างนั้น เขาก็จะยิ่งอยากทำให้มันดี เพื่อให้หัวหน้าเห็นว่าเขาทำได้จริงๆ แต่แค่ Responsibility นั้นไม่พอ ต้องต่อด้วย

Respect

R ตัวที่สองก็คือ การยอมรับนับถือและการให้เกียรติพนักงานที่เราดูแลอยู่ ดูแลเขาในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกับเรา เมื่อพนักงานทำงานได้ดี ก็ยินดีไปกับเขา ไม่ใช่ไปอิจฉา และพยายามจะหาทางเอาผลงานของเขามาเป็นของเรา หรือในทางตรงกันข้าม ถ้าพนักงานทำงานผลงานออกมาไม่ดี ก็ไม่ควรจะด่า หรือต่อว่าอย่างรุนแรง โดยเฉพาะตำหนิหรือต่อว่าต่อหน้าเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การให้เกียรติพนักงานทุกคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ชอบใครก็ให้เกียรติคนนั้น ไม่ชอบใครก็ไม่สนใจ ตัดหางปล่อยวัด หัวหน้างานที่จะได้ใจลูกน้องนั้นจะต้องปฏิบัติต่อลูกน้องทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยปราศจากความลำเอียง

Relationships

R ตัวที่สามก็คือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทีมงาน และพนักงานแต่ละคน การพูดคุยกัน การมีปฏิสัมพันธ์อันดีต่อกัน เช้ามาหัวหน้าสามารถที่จะทักทายลูกน้องก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องวางตัวเจ้ายศเจ้าอย่าง ถ้าลูกน้องไม่ทัก เราก็ไม่สนใจ หัวหน้าทุกคนจะต้องสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ทำให้ทีมงานมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน นอกจากนั้นถ้าคนในทีมมีปัญหากัน หัวหน้างานก็ต้องช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงๆใจ และอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกันด้วย เพื่อให้ปัญหานั้นหมดไป และได้ทีมงานที่แข็งแกร่งขึ้นมา

Recognition

R ตัวที่สี่ก็คือ การให้การชื่นชม และยอมรับในผลงานที่ออกมาของพนักงานแต่ละคน เมื่อไรที่พนักงานทำงานได้ดี หัวหน้าก็ต้องชมเชย และทำให้พนักงานรู้ว่า หัวหน้าเห็นฝีมือของเขานะ ให้พยายามทำดีต่อไป หรือการที่พนักงานทำผลงานได้ไม่ดีนัก หัวหน้างานก็ต้องให้ความสำคัญโดยการสอนงาน และพัฒนาพนักงานให้เขาสามารถปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น แรงจูงใจก็จะเกิดขึ้น ไม่ใช่ทำไม่ดี ก็ด่ากันอย่างเดียว โดยไม่สนใจที่จะสอนงานลูกน้อง ถ้าเป็นแบบนี้ เมื่อเกิดปัญขึ้นอีกในอนาคต พนักงานก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะไม่รู้วิธีแก้ไข รู้เพียงแต่ว่า ถ้าทำผิดอีกต้องรีบหลบซ่อนไม่ให้นายรู้ เพราะถ้านายรู้ก็โดนด่าแน่นอน ปัญหาก็จะถูกซุกไว้ จากปัญหาเล็กๆ ที่แก้ง่าย ก็จะสะสมจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ และแก้ไขยาก

Reward

R ตัวที่ห้า ก็คือ การให้รางวัลตอบแทนผลงาน และพฤติกรรมที่ดีของพนักงาน นอกจากคำชมเชย และการตระหนักถึงความสำคัญของพนักงานแล้ว สิ่งที่ยังคงสามารถสร้างแรงจูงใจพนักงานได้ก็คือการให้รางวัลตอบแทนผลงาน รางวัลตอบแทนผลงานนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเงินนะครับ เขาแยกรางวัลไว้สองลักษณะก็คือ รางวัลที่จับต้องได้ และรางวัลที่จับต้องไม่ได้ รางวัลที่จับต้องได้ ก็แน่นอนว่า เช่น การขึ้นเงินเดือน การให้โบนัสตามผลงาน การให้เงินจูงใจผลงาน ฯลฯ ส่วนรางวัลที่จับต้องไม่ได้ ก็คือ คำชมเชยที่จริงใจ การสนับสนุนให้พนักงานมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การส่งพนักงานไปฝึกอบรม ดูงาน เพื่อพัฒนาฝีมือการทำงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

5 R ที่ผู้เขียนได้เขียนมานั้น เขาบอกว่าถ้าทำให้ดี จะสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งผมเองมองว่าโดยหลักการนั้น มันก็ใช่ แต่ในทางปฏิบัตินั้นอาจจะต้องอาศัยความพยายามและความตั้งใจจริงของหัวหน้างานแต่ละคน เพราะทั้ง 5 R นั้นไม่ใช่แค่กำหนดออกมาเป็นนโยบายอย่างเดียว สิ่งสำคัญก็คือหัวหน้างานทุกคนจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีการทำงาน และต้องมีความตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติตนเพื่อการเป็นหัวหน้างานที่ดี

หัวหน้างานคนหนึ่งเขามองตัวเองว่าเป็นหัวหน้างานที่ดี ลูกน้องรัก แต่พอให้พนักงานคนอื่นประเมินหัวหน้างานคนนี้ (ประเมินแบบ 360 องศา) กลับกลายเป็นว่า หัวหน้างานคนนี้ได้รับการประเมินโดยได้คะแนนต่ำมากๆ ถามว่าเป็นเพราะอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ความลำเอียงของหัวหน้างานคนนั้น ลูกน้องคนสนิท ลูกน้องที่ถูกชะตา จะได้รับการปฏิบัติอย่างดี พาไปเลี้ยงข้าว ตอนเช้าก็ซื้อข้าว ซื้อขนมมาฝาก ไปเที่ยวมาก็ซื้อขนมติดไม้ติดมือมาฝาก โดยที่ลูกน้องที่นั่งอยู่ข้างๆ อีกคนกลับไม่ได้อะไรเลย แถมยังยื่นของฝากให้ลูกน้องต่อหน้าลูกน้องคนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับของฝากด้วยซ้ำ ในทางตรงข้าม ลูกน้องคนที่ไม่ถูกชะตานั้น จะไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีเลย มีแต่การพยายามจับผิด พูดจากระแนะกระแหน ประชดประชันเวลาลูกน้องคนสนิทมาทำงานสาย ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น บางครั้งยังช่วยแก้ตัวแทนให้อีก แต่ถ้าลูกน้องที่ไม่ถูกชะตามาสายเพียง 1 นาที ก็จะตำหนิอย่างรุนแรง และพยายามซักถาม และสอบสวนอย่างละเอียดทีเดียว

แต่เชื่อมั้ยครับว่า เขาไม่เคยรู้ตัวเลยว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกน้องลาออกเป็นขบวน

ที่มา

ประคัลภ์ บัณฑพลังกูร. (2554). เคล็ดลับการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน.

ค้นเมื่อ กันยายน 25, 2554, จาก http://prakal.wordpress.com/
2010/01/19/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%
E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%
B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%
AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%
E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%
B8%B9%E0%B8%87/

 


Send comments to chumpot@hotmail.com
Copyright © 2011
Revised: July 2011