บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
วิชา 1065106
มนุษยสัมพันธ์สำหรับผู้บริหาร
Human Relations for Administrators
ผู้สอน
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
***ความรู้คืออำนาจ เรียนให้สนุกในโลกแห่งสังคมข่าวสาร ไร้พรมแดน ไร้กาลเวลา***


แนวสังเขปรายวิชา

สารบัญ
เนื้อหาวิชา

กิจกรรม
การเรียนการสอน

สื่อการสอน

การประเมินผล

ตำราประกอบ
การสอน

แหล่งทรัพยากร
สารสนเทศ
ประกอบ
การเรียนการสอน

แหล่งทรัพยากร
เกี่ยวกับ Internet

ตำราและวารสาร
อิเล็กทรอนิกส์

แนะนำผู้สอน


Home

มนุษยสัมพันธ์กับหลักธรรมทางพุทธศาสนา

สภาพโครงสร้างของสังคมไทยมีลักษณะที่แตกต่างจากโครงสร้างสังคมในโลกตะวันตกอย่างมาก แม้ คนไทยในแต่ละภูมิภาคจะมีความแตกต่างในวัฒนธรรมและประเพณีแต่เอกลักษณ์ความเป็นไทยก็ ยังมีส่วนร่วมกันอยู่มาก เช่น คนไทยเชื่อว่า "ประเพณีไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้อง ต้อนรับ" ความเชื่อเช่นนี้ก็ตกทอดวัฒนธรรมของไทยมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ประเทศไทยยังมี วัฒนธรรมที่ตกทอดมาช้านานอื่นๆอีก เช่น วัฒนธรรมการอบรมเลี้ยงดู ที่บิดามารดาไทยทุกระดับ จะเน้นเหมือนกัน คือ การควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าวทางกายและวาจา ความกตัญญูและ ความจงรักภักดี และ ความเมตตา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความเสียสละ เป็นต้น ค่านิยมนี้ตกทอดใน ลักษณะคนไทยมาโดยตลอด

ลักษณะคนไทยนั้นอาจศึกษาได้จากวรรณกรรม หรือ ประเพณีโบราณ ภาษิตหรือสุภาษิต เพราะได้ถ่ายทอดความคิดความเชื่อของคนไทยในสมัยโบราณ เช่น

ใดใดในโลกล้วน..........................อนิจจัง
คงแต่บาปบุญยัง..........................เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรัง...........................ตรึงแน่ อยู่นา
ตามแต่บุญบาปแล้........................ก่อเกื้อรักษา

สุภาษิตนี้ชี้ให้เห็นว่า คนไทยเชื่อเรื่องบุญกรรม เชื่อเรื่องบาป หรือเชื่อว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" หรือจะสังเกตได้ว่า คนไทยชอบความเรียบร้อย ชอบความสงบเสงี่ยมโดยดูจากสุภาษิต ที่ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” หรือ “เดินหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด”

ผลการวิจัยเกี่ยวกับค่านิยม และ จริยธรรมในสมัยปัจจุบันนี้ พบว่าค่านิยมที่ได้รับการ ยึดถืออย่างสูงในสังคมไทย คือ การปฏิบัติต่อผู้อาวุโสในทางที่ดี การถ่อมตน การซื่อสัตย์ เพราะ คนไทยเชื่อว่าควรปฏิบัติต่อผู้อาวุโสในทางที่ดีนี้เอง จึงทำให้ค่านิยมความกตัญญูในสังคมมีสูง ค่านิยมดังกล่าวจึงมีความผูกพันกับหลักปฏิบัติทางศาสนา สามารถนำหลักการมนุษยสัมพันธ์ให้มีความสอดคล้องกับหลักธรรมทางพุทธศาสนาได้ในหลักธรรมต่างๆ

หลักการบริหารมนุษยสัมพันธ์ในพระพุทธศาสนา

โครงสร้างการบริหารจะเป็นแบบมีพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นศูนย์กลาง มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อประกาศพรหมจรรย์ โดยปราศจากโลภะ มีจุดมุ่งหมายแน่นอน คือ ประโยชน์สุขของประชาชน การบริหารจัดการคน หรือกำลังคน ได้แก่ พุทธบริษัท 4

ระบบโครงสร้างการบริหารโดยองค์รวม จะใช้หลักธรรม 3 หมวดเป็นหลัก คือ

1.อธิปไตย 3

อธิปไตย หมายถึง ความเป็นใหญ่ ภาวะที่ถือเอาเป็นใหญ่ มี 3 ประเภท คือ คืออัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย และ ธรรมธิปไตย ใช้หลักธรรมาธิปไตย คือการถือธรรมเป็นหลักในการปกครองบริหาร
1.1 อัตตาธิปไตย (ความมีตนเป็นใหญ่, ถือตนเป็นใหญ่, กระทำการด้วยปรารภตนเป็นประมาณ — supremacy of self; self-dependence)
1.2 โลกาธิปไตย (ความมีโลกเป็นใหญ่, ถือโลกเป็นใหญ่, กระทำการด้วยปรารภ นิยมของโลกเป็นประมาณ — supremacy of the world or public opinion)
1.3 ธัมมาธิปไตย (ความมีธรรมเป็นใหญ่, ถือธรรมเป็นใหญ่, กระทำการด้วยปรารภความถูกต้อง เป็นจริง สมควรตามธรรม เป็นประมาณ — supremacy of the Dharma or righteousness) ผู้เป็นอัตตาธิปก พึงใช้สติให้มาก ผู้เป็นโลกาธิปก พึงมีปัญญาครองตนและรู้พินิจ ผู้เป็นธรรมาธิปก พึงประพฤติให้ถูกหลักธรรม ผู้เป็นหัวหน้าหมู่ เป็นนักปกครอง พึงถือธรรมาธิปไตย.

2. สังคหวัตถุ 4

สังคหวัตถุ 4 ได้แก่ ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว คือยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี โดยมีหลักการสงเคราะห์ (bases of sympathy; acts of doing favors; principles of service; virtues making for group integration and leadership) ดังต่อไปนี้
2.1 ทาน (การให้ คือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของตลอดถึงให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน (giving; generosity; charity)
2.2 ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจ หรือวาจาซาบซึ้งใจ คือกล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้นิยมยอมตาม (kindly speech; convincing speech)
2.3. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์ คือ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม (useful conduct; rendering services; life of service; doing good)
2.4. สมานัตตตา* (ความมีตนเสมอ** คือ ทำตนเสมอด้วยปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี (even and equal treatment; equality consisting in impartiality, participation and behaving oneself properly in all circumstances)

สังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน หรือ ราชสังคหวัตถุ 4 (สังคหวัตถุของพระราชา, ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชน, หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง (a ruler's bases of sympathy; royal acts of doing favors; virtues making for national integration) ได้แก่
1. สัสสเมธะ ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร (shrewdness in agricultural promotion)
2.ปุริสเมธะ ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ (shrewdness in the promotion and encouragement of government officials)
3. สัมมาปาสะ ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวในพาณิชยกรรม เป็นต้น (a bond to bind men's hearts'; act of doing a favor consisting in vocational promotion as in commercial investment)
4. วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ น้ำคำควรดื่ม คือ รู้จักพูด รู้จักปราศรัย ไพเราะ สุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าในอันดี และความนิยมเชื่อถือ (affability in address; kindly and convincing speech)

ราชสังคหวัตถุ 4 ประการนี้ เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา ส่วนที่แก้ไขปรับปรุงคำสอนในศาสนาพราหมณ์ โดยกล่าวถึงคำศัพท์เดียวกัน แต่ชี้ถึงความหมายอันชอบธรรมที่ต่างออกไป ธรรมหมวดนี้ ว่าโดยศัพท์ ตรงกับ มหายัญ 5 (the five great sacrifices) ของ พราหมณ์ คือ.-
1. อัสสเมธะ (การฆ่าม้าบูชายัญ - horse-sacrifice)
2. ปุริสเมธะ (การฆ่าคนบูชายัญ - human sacrifice)
3. สัมมาปาสะ (ยัญอันสร้างแท่นบูชาไว้ที่ขว้างไม้ลอดบ่วงไปหล่นลง - peg-thrown site sacrifice)
4. วาชเปยะ (การดื่มเพื่อพลังหรือเพื่อชัย - drinking of strength or of victory)
5. นิรัคคฬะ หรือ สรรพเมธะ (ยัญไม่มีลิ่มสลัก คือ ทั่วไปไม่มีขีดขั้นจำกัด, การฆ่าครบทุกอย่าง บูชายัญ - the bolts-withdrawn sacrifice; universal sacrifice)

มหายัญ 5 ที่พระราชาพึงบูชาตามหลักศาสนาพราหมณ์นี้ พระพุทธศาสนาสอนว่า เดิมทีเดียวเป็นหลักการสงเคราะห์ที่ดีงาม แต่พราหมณ์สมัยหนึ่งดัดแปลงเป็นการบูชายัญเพื่อผลประโยชน์ในทางลาภสักการะแก่ตน ความหมายที่พึงต้องการ ซึ่งพระพุทธศาสนาสั่งสอน 4 ข้อแรก มีดังกล่าวแล้วข้างต้น ส่วนข้อที่ 5 ตามหลักสังคหวัตถุ 4 นี้ ว่าเป็นผล แปลว่า ไม่มีลิ่มกลอน หมายความว่า บ้านเมืองจะสงบสุขปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่ต้องระแวงภัย บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน

ประโยชน์ของสังคหวัตถุ 4

สังคหวัตถุ 4 ประการดังกล่าวมาแล้ว อำนวยประโยชน์ที่มองเห็นได้เป็นรูปธรรมดังต่อไปดังนี้
1. ช่วยให้บุคคลดำรงตนอยู่ได้ในสังคมด้วยความสุข
2. เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ สมานไมตรีระหว่างกัน
3. เป็นเครื่องส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ให้มีความเคารพนับถือกันตามสมควรแก่ฐานะ
4. เป็นเครื่องประสานองค์ประกอบต่างๆ ของสังคมให้คงรูปอยู่และดำเนินไปได้ด้วยดี
5. ช่วยส่งเสริมศีลธรรมและป้องกันความประพฤติเสื่อมเสียในสังคม

3. อคติ 4

อคติ แปลว่า ไม่ใช่ทางไป ไม่ใช่ทางเดิน ไม่ควรไป ไม่ควรเดิน ในภาษาไทยหมายความถึง ความลำเอียง ความไม่ยุติธรรม ความไม่เป็นธรรม
อคติเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ยังมีกิเลส ซึ่งจะต้องมีอยู่ด้วยกันทุกคน เพราะปกติคนเราจะทำอะไรก็ตาม มักจะคิดถึงประโยชน์ของตนเอง ญาติพี่น้อง หรือพวกพ้องก่อนเสมอ ซึ่งการกระทำในลักษณะเช่นนี้ เป็นสาเหตุให้ความถูกใจอยู่เหนือความถูกต้อง ความผิดอยู่เหนือความถูก หรือผิดเป็นชอบ

ประเภทของอคติ 4

อคติ 4 มีความหมายถึงฐานะอันไม่พึงถึง, ทางความประพฤติที่ผิด, ความไม่เที่ยงธรรม, ความลำเอียง - wrong course of behavior; prejudice) ดังต่อไปนี้
1. ฉันทาคติ ความละเอียงเพราะความรักใคร่ หมายถึง การทำให้เสียความยุติธรรม เพราะอ้างเอาความรักใคร่หรือความชอบพอกัน ซึ่งมักเกิดกับตนเอง ญาติพี่น้อง และคนสนิทสนม การแก้ฉันทาคติ ต้องทำใจให้เป็นกลาง โดยการปฏิบัติต่อทุกคนให้เหมาะสมเหมือนๆกัน
2. โทสาคติ ความละเอียงเพราะความไม่ชอบ เกลียดชัง หรือโกรธแค้น หมายถึง การทำให้เสียความยุติธรรม เพราะความโกรธ หรือลุอำนาจโทสะ การแก้ไขโทสาคติ ทำได้ด้วยการทำใจให้หนักแน่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และพยายามแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานออกจากกัน
3. โมหาคติ ความละเอียงเพราะความไม่รู้ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หมายถึง การทำให้เสียความรู้สึกธรรมเพราะความสะเพร่า ความไม่ละเอียดถี่ถ้วน รีบตัดสินใจก่อนพิจารณาให้ดี วิธีแก้ไข ทำด้วยการเปิดใจให้กว้าง ทำใจให้สงบ มองโลกในแง่ดี และยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
4. ภยาคติ ความละเอียงเพราะความกลัว หมายถึง การทำให้เสียความยุติธรรม เพราะมีความหวาดกลัว หรือเกรงกลัวภยันตราย วิธีแก้ทำได้ด้วยการพยายามฝึกให้เกิดความกล้าหาญ โดยเฉพาะความกล้าหาญทางจริยธรรม คือ กล้าคิด กล้าพูดในสิ่งที่ดีงาม

แนวทางปฏิบัติเพื่อชีวิตและสังคม

อคติเป็นทางที่ไม่ควรปฏิบัติ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยง โดยการพิจารณาถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา หากพิจารณาว่าเรากำลังมีจิตใจลำเอียง ก็ให้ปรับปรุงพฤติกรรมของตนเองใหม่ให้ตรงกันข้าม คือความไม่ลำเอียง
โดยปกติคนเราชอบความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และเกลียดความลำเอียง ตาการที่เราจะสร้างความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และหลีกเลี่ยงความลำเอียงได้นั้น ค่อนข้างยาก วิธีเดียวที่ทำได้ คือ ฝึกฝนจิตใจ โดยถือหลัก เอาใจเขามาใส่ใจเรา เราเกลียดความอยุติธรรม ความไม่ชอบทำอย่างไร คนอื่นก็เช่นเดียวกับเรา เกลียดความลำเอียงชอบความยุติธรรมเหมือนกัน

นอกจากหลักธรรม 3 หมวดดังกล่าวข้างต้นแล้ว พุทธบริษัท4 ยังมีหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและการสร้างความเป็นมนุษยสัมพันธ์ที่เป็นหลักปฏิบัติโดยทั่วๆ คือ การมีสาราณียธรรม 6 ประการ หมายถึงธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน ถือว่าเป็นธรรมที่เป็นพลังในการสร้างความสามัคคี มีอยู่ 6 ข้อ คือ
1. กายกรรมอันประกอบด้วยเมตตา คือ การกระทำทางกายที่ประกอบด้วยเมตตา เช่นการให้การอนุเคราะห์ ช่วยเหลือและเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น ไม่รังแกทำร้ายผู้อื่น
2. วจีกรรมอันประกอบด้วยเมตตา คือ การมีวาจาที่ดี สุภาพ อ่อนหวาน พูดมีเหตุผล ไม่พูดให้ร้ายผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
3. มโนกรรมอันประกอบด้วยเมตตา คือ ความคิดที่ประกอบด้วยเมตตาทั้งต่อหน้าและลับหลัง เป็นการคิดดีต่อกันไม่คิดอิจฉาริษยาหรือไม่คิดมุ่งร้ายพยาบาท หากทุกคนคิดแล้วปฏิบัติเหมือนกันความสามัคคีก็จะเกิดขึ้นในสังคม
4. สาธารณโภคี คือ การรู้จักแบ่งสิ่งของให้กันและกันตามโอกาสอันควร เพื่อแสดงความรักความหวังดีของผู้ที่อยู่ในสังคมเดียวกัน
5. สีลสามัญญตา คือ ความรักใคร่สามัคคี รักษาศีลอย่างเคร่งครัดเหมาะสมตามสถานะของตน มีความประพฤติสุจริตปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของหมู่คณะ ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
6. ทิฏฐิสามัญญตา คือ การมีความเห็นร่วมกัน ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักเคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ร่วมมือร่วมใจในการสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสงบ

ธรรม 6 ประการ ที่ผู้ใดได้ประพฤติจะเกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เกื้อกูลกันไม่ทะเลาะวิวาทกัน อันจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีกันตลอดไป

ธรรม 6 ประการนี้ มีคุณคือ เป็น สารณียะ (ทำให้เป็นที่ระลึกถึง — making others to keep one in mind) เป็น ปิยกรณ์ (ทำให้เป็นที่รัก — endearing) เป็น ครุกรณ์ (ทำให้เป็นที่เคารพ — bringing respect) เป็นไปเพื่อ ความสงเคราะห์ (ความกลมกลืนเข้าหากัน — conducing to sympathy or solidarity) เพื่อ ความไม่วิวาท (to non—quarrel) เพื่อ ความสามัคคี (to concord; harmony) และ เอกีภาพ (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน — to unity)

บรรณานุกรม

ความหมายและธรรมชาติของอคติ 4. (2554). ค้นเมื่อ กันยายน 5, 2554, จาก

http://www.thaieditorial.com/tag/%E0%
B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%B4-4/

ทรงวิทย์ แก้วศรี. (2550). การศึกษาวิเคราะห์ยุทธวิธีในการประกาศ

ศาสนาของพระพุทธเจ้า.วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต
สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2542). พจนานุกรมพุทธศาสตร์

ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระสมชัย อนุตตโร (ดาวศรี). (2551). ศึกษาหลักมนุษยสัมพันธ์

เชิงพุทธตามแนวทางของหลักธรรมเรื่องทิศหก ในพระพุทธศาสนา
(A STUDY OF HUMAN RELATION IN THE SIX
DIRECTIONS IN BUDDHISM). วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญา
พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลกรณราชวิทยาลัย.

สาราณียธรรม 6. (2554). ค้นเมื่อ กันยายน 5, 2554, จาก

http://learning.eduzones.com/67410/%
E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%8A%
E0%B8%8D%E0%B8%B2%20%E0%B8%A8%E0%
B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2/
%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2
%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%
B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%206

 


Send comments to chumpot@hotmail.com
Copyright © 2011
Revised: July 2011