พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
Royal portraits - 005 02.jpg
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกในฉลองพระองค์เต็มยศตามโบราณราชประเพณี ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ใต้พระมหาเศตวฉัตรเก้าชั้นพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน
พระบรมนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา
ราชวงศ์ ราชวงศ์จักรี
ครองราชย์ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468
ระยะครองราชย์ 9 ปี
รัชกาลก่อนหน้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลถัดไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
วัดประจำรัชกาล วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (โดยอนุโลม) [1]
ข้อมูลส่วนพระองค์
พระราชสมภพ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436
กรุงเทพมหานคร ประเทศสยาม
สวรรคต 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 (47 ปี)
มณฑลเซอร์รีย์ สหราชอาณาจักร
พระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชมารดา สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง
พระบรมราชินี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
    

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ลำดับที่ 7 แห่งราชอาณาจักรสยาม พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง เวลา 12.25 นาฬิกา หรือตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2436 (ค.ศ. 1893) พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 76 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยาม ลำดับที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์) เป็นปีที่ 9 ในสมเด็จพระพันปีหลวง (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 (ค.ศ. 1925) และทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (นับศักราชแบบเก่า) (ค.ศ. 1935) รวมดำรงสิริราชสมบัติ 9 ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) รวมพระชนมพรรษา 47 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอภิเษกสมรสกับ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี (หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์) ไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา

เนื้อหา

[แก้] พระราชประวัติ

เจ้าฟ้าประชาธิปกและพระราชมารดา

[แก้] ขณะทรงพระเยาว์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ทรงพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436พระที่นั่งสุทธาศรีภิรมย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามเมื่อการสมโภชเดือนว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าปรชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณนารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธ์ มหามงกุฎราชพงษบริพรรต บรมขัตติยมหารชดาภิสิญจนพรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร"[2] พระนามทั่วไปเรียกว่า "ทูลกระหม่อมเอียดน้อย"[3]

พระองค์มีสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระเชษฐภคินีร่วมพระครรโภธร 7 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพนารีรัตน์, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง, สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์, สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย

เมื่อพระองค์เจริญวัยครบกำหนดที่จะตั้งการพิธีโสกันต์และพระราชทานพระสุพรรณบัฏตามขัตติยราชประเพณีแล้ว พร้อมกันนี้พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภชก็มีพระชนม์ครบกำหนดโสกันต์เช่นกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการโสกันต์และเฉลิมพระนามของทั้งสองพระองค์ขึ้นพร้อมกันบริเวณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2448[4] โดยพระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนศุโขไทยธรรมราชา มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณ์นารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธ์ มหามงกุฎราชพงษ์บริพัตร บรมขัตติยมหารัชฎาภิสิญจน์พรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา"[5]

[แก้] การศึกษา

เมื่อพระองค์เจริญพระชันษาพอสมควรทรงเข้ารับการศึกษาตามประเพณีขัตติยราชกุมาร และจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษ ต่อมา ครั้นทรงโสกันต์แล้วทรงเสด็จไปศึกษาวิชาการที่ประเทศอังกฤษ เมื่อกรกฎาคม พ.ศ. 2449 ในขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 13 พรรษา ทรงเริ่มรับการศึกษาในวิชาสามัญในวิทยาลัยอีตันซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมชั้นหนึ่งของประเทศอังกฤษ เมื่อสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอีตันแล้ว ทรงสอบเข้าศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยทหาร ณ เมืองวูลิช (Royal Military Academy Council) ทรงเลือกศึกษาวิชาทหารแผนกปืนใหญ่ม้า แต่ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ทรงเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2453 พระองค์จึงได้เสด็จกลับประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และได้ถวายงานครั้งสุดท้ายแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ ด้วยการประคองพระบรมโกศคู่กับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ขณะเชิญพระบรมศพเวียนพระเมรุมาศ [6] แล้วจึงเสด็จกลับไปศึกษาต่อเมื่อสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2456 ภายหลังทรงเข้าประจำการ ณ กรมทหารปืนใหญ่ม้าอังกฤษอยู่ที่เมืองอัลเดอร์ช้อต (Aldershot) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2457 ซึ่งเป็นช่วงเวลาการซ้อมรบ โดยรัฐบาลอังกฤษตามความเห็นชอบของที่ประชุมกองทหาร (Army Council) และได้รับอนุญาตให้ทรงเครื่องแบบนายทหารอังกฤษสังกัดใน “L” Battery Royal Horse Artillery ทรงได้รับสัญญาบัตรเป็นนายทหารยศร้อยตรีกิตติศักดิ์แห่งกองทัพอังกฤษ และในกาลที่พระองค์สำเร็จการศึกษาจากสถานที่นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งพระยศนายร้อยตรีนอกกอง สังกัดกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นนายร้อยโทและนายทหารนอกกอง สังกัดกรมทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์[7]

ในปี พ.ศ. 2457 ได้เกิดสงครามโลกขึ้นในยุโรป แต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ยังทรงศึกษาวิชาการทหารได้เพียงครึ่งๆ กลางๆ หากจะกลับมาเมืองไทยก็ยังทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองยังไม่ได้เต็มที่ ดังนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤษดากร ทรงจัดหาครูเพื่อสอนวิชาการเพิ่มเติมโดยเน้นวิชาที่จะเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง ในวิชากฎหมายระหว่างประเทศ พงศาวดารศึก และยุทธศาสตร์การศึก

ครั้งสงครามได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก และการหาครูมาถวายพระอักษรก็ลำบาก เนื่องด้วยนายทหารที่มีความสามารถต้องออกรบในสงคราม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอพระราชดำเนินกลับประเทศไทย แต่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอมีความประสงค์ที่จะเสด็จร่วมรบกับพระสหายชาวอังกฤษ หากแต่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร ไม่สามารถทำตามพระราชประสงค์ เนื่องด้วยพระองค์เป็นคนไทยซึ่งเป็นประเทศเป็นกลางในสงคราม สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอจึงจำเป็นต้องเสด็จกลับประเทศไทยในเดือนเมษายน พ.ศ. 2458

[แก้] เข้ารับราชการ

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนศุโขไทยธรรมราชาและหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรชายา ในวันพระราชพิธีอภิเษกสมรส

ครั้นเมื่อเสด็จกลับประเทศไทย พระองค์เข้ารับราชการในตำแหน่งนายทหารคนสนิทพิเศษของจอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถซึ่งเป็นพระเชษฐาในพระองค์ ต่อมาพระองค์ได้เลื่อนเป็นผู้บังคับกองร้อยทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์และเป็นร้อยเอกต่อมาเสด็จเข้ารับราชการประจำกรมบัญชาการกองพันน้อยที่ 2 ในตำแหน่งนายทหารเสนาธิการและต่อมาเลื่อนเป็นนายพันตรี แล้วเป็นพันโทบังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอทรงปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งหน้าที่การงานต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยมาโดยตลอด ต่อมาทรงลาราชการเพื่อทรงผนวช ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปี พ.ศ. 2460 โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ (ต่อมา คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ แล้วเสร็จประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร[8] ทรงได้รับฉายาว่า "ปชาธิโป" ในระหว่างที่ทรงผนวชนั้น สมเด็จพระอุปัชฌาย์ทรงปรารภว่า พระองค์นั้นเป็นพระอนุชาพระองค์เล็ก ถึงอย่างไรก็คงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นแน่ ดังนั้น จึงทรงชวนให้พระองค์อยู่ในสมณเพศตลอดไป เพื่อจะได้ช่วยปกครองสังฆมณฑลสืบไป แต่พระองค์ได้ปฏิเสธ เนื่องจากในขณะนั้นพระองค์ทรงพอพระทัยที่จะอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์มากกว่า[9][10]

เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอลาผนวชและเสด็จเข้ารับราชการเป็นที่เรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณตรัสขอหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ ต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสพระราชทาน โดยมีพิธีขึ้นตำหนัก ณ วังศุโขทัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินให้และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักขึ้นพระราชทานเป็นเรือนหอ และมีพระราชพิธีอภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ซึ่งนับเป็นการอภิเษกสมรสครั้งแรกหลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ รวมทั้ง ยังเป็นการแต่งงานแบบตะวันตกอย่างแท้จริง กล่าวคือมีการถามความสมัครใจของคู่บ่าวสาวด้วย[11][12]

พระองค์ทรงประสบปัญหากับพระโรคเรื้อรังจึงจำเป็นต้องลาราชการไปพักรักษาพระองค์ในสถานที่ที่มีอากาศเย็นตามความเห็นของคณะแพทย์ พระองค์จึงเสด็จไปรักษาพระองค์ที่ยุโรปในปี พ.ศ. 2463 ครั้นพระองค์ทรงหายจากอาการประชวรแล้ว ทรงเข้าศึกษาวิชาการในโรงเรียนนายทหารฝ่ายเสนาธิการฝรั่งเศสกรุงปารีส จนสำเร็จการศึกษาเสด็จกลับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2464 หลังจากนั้นอีก 4 ปี ทรงเข้ารับราชการอีกครั้ง โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในตำแหน่งปลัดกรมเสนาธิการทหารบก และเลื่อนพระยศขึ้นเป็นนายพันเอก ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 2 และเป็นผู้บังคับการพิเศษกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 ในคราวเดียวกัน

พระองค์ทรงปฏิบัติราชการโดยพระวิริยะอุตสาหะ ปรากฏพระเกียรติคุณและสติปัญญาจนสามารถรับราชการสำคัญสนองพระเดชพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้เลื่อนกรมขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468[7] ก่อนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคตเพียงไม่กี่วัน

[แก้] ขึ้นครองราชสมบัติ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกในฉลองพระองค์เต็มยศตามโบราณราชประเพณี ประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ แวดล้อมด้วยชาวพนักงานถือเบญจราชกกุธภัณฑ์และเครื่องยศเครื่องสูง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรและเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขานิติกรรมเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติไว้ ความตอนหนึ่งว่า

Cquote1.svg

...หากมีพระราชโอรส ก็ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์จนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงบรรลุนิติภาวะ แต่ถ้าไม่มีพระราชโอรสก็ใคร่ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงรับรัชทายาทสืบสันติวงศ์ตามราชประเพณี...

Cquote2.svg
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[13]

ในขณะนั้น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 มีพระประสูติกาลพระราชธิดา (สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในปัจจุบัน) ถึงแม้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาจะไม่ทรงเต็มพระทัยที่จะทรงรับราชสมบัติ ด้วยทรงเห็นว่าพระองค์ไม่แก่ราชการเพียงพอและเจ้านายที่มีอาวุโสพอจะรับราชสมบัติก็ยังน่าจะมี แต่ที่ประชุมได้ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้อัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อพระบรมเชษฐาธิราช[14] พระองค์ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 โดยมีพระนามอย่างย่อว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า[15]

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี เทพยปรียามหาราชรวิวงศ์ อสัมภินพงศพีระกษัตรบุรุษรัตนราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถจุฬาลงกรณราชวรางกูร มหมกุฏวงศวีรสูรชิษฐ ราชธรรมทศพิธ อุต์กฤษฎานิบุณย์อดุลยฤษฎาภินิหาร บูรพาธิการสุสาธิต ธันยลักษณ์วิจิตรเสาวภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคมานท สนธิมตสมันตสมาคม บรมราชสมภาร ทิพยเทพวตารไพศาลเกียรติคุณ อดุลยศักดิเดช สรรพเทเวศปริยานุรักษ์ มงคลลคนเนมาหวัยสุโขทัยธรรมราชา อภิเนาวศิลปศึกษาเดชาวุธ วิชัยยุทธศาสตร์โกศล วิมลนรรยพินิต สุจริตสมาจาร ภัทรภิชญาณประดิภานสุนทร ประวรศาสโนปสุดมภก มูลมุขมาตยวรนายกมหาเสนานี สราชนาวีพยูหโยธโพยมจร บรมเชษฏโสทรสมมต เอกราชยยศสธิคมบรมราชสมบัติ นพปฏลเศวตฉัตราดิฉัตร ศรีรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิศิกต์ สรรพทศทิศวิชิตเดโชไชย สกลมไหศวรยมหาสยามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาธิไตรรัตนวิศิษฎศักดิ์อัครนเรศวราธิบดี เมตตากรุณาศีตลหฤทัย อโนปไมยบุณยการ สกลไพศาลมหารัษฎราธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว"

ในการนี้พระองค์ได้สถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรชายา ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี[15][16] ซึ่งนับเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรกที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินีในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[17]

หลังจากนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะอภิรัฐมนตรี อันประกอบด้วย สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ซึ่งมีหน้าที่ถวายคำปรึกษาราชการแผ่นดินและราชการในพระองค์ระหว่างที่ยังทรงใหม่ต่อหน้าที่[18]

เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมั่นคงอยู่ในทศพิธราชธรรม ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองหลายด้านหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินพระราชหฤทัยครั้งสำคัญ เมื่อครั้งเกิดปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ทรงยินยอมที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตามการปกครองระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

[แก้] สละราชสมบัติ

หลังจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระองค์เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศในแถบยุโรป พร้อมทั้งเสด็จประทับที่ประเทศอังกฤษเพื่อทรงเข้ารับการผ่าตัดและรักษาพระเนตร ในการนี้ได้แต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[19] ในระหว่างนี้พระองค์ยังทรงติดต่อราชการกับรัฐบาลผ่านทางผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งยังคงปรากฏข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่ไม่สามารถหาข้อยุติกันได้ พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะสละราชสมบัติ รัฐบาลจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นหนึ่งคณะโดยมีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ณ ขณะนั้น เป็นประธานคณะกรรมการ พร้อมกับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) และนายดิเรก ชัยนาม เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และไกล่เกลี่ยเพื่อกราบบังคมทูลให้เสด็จกลับประเทศไทย แต่การเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ[20] พระองค์ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (นับศักราชแบบเก่า) ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัตินั้น ปรากฏข้อความที่ใช้อ้างอิงกันเสมอในเวลาต่อมาว่า

Cquote1.svg

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของ ข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดย สิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร

Cquote2.svg
ประชาธิปก ปร. [21][22]

หลังจากมีพระราชหัตเลขาสละราชสมบัติ พระองค์ไม่ทรงตั้งรัชทายาทเพื่อพระราชทานวโรกาสให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เอง คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันมหิดลซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (นับศักราชแบบเก่า) [23]

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย

[แก้] สวรรคต

หลังจากที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนื่อง ๆ อันเนื่องมาจากพระพลนามัยของพระองค์ไม่ทรงแข็งแรงมาตั้งแต่พระเยาว์ โดย พ.ศ. 2480 พระองค์ทรงพระประชวรมากด้วยโรคตัวบิดเข้าไปอยู่ในพระยกนะ (ตับ) แต่แพทย์ได้รักษาจนเป็นปกติ พระอาการประชวรของพระองค์กำเริบหนักขึ้นโดยลำดับตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2483 แต่ก็เริ่มทุเลาขึ้นเรื่อยมา จนกระทั่ง วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระองค์เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย ขณะที่มีพระชนมายุ 47 พรรษา

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงจัดการพระบรมศพเป็นการภายในโดยอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน โดยรัฐบาลอังกฤษได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษในการประดิษฐานพระบรมศพเป็นเวลา 4 วันซึ่งตามปกติจะอนุญาตเพียงวันเดียว เพื่อให้ประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลมาถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้าย การจัดการพระบรมศพนั้นเป็นไปอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีการบำเพ็ญพระราชกุศลทรงพระพุทธศาสนาเพราะไม่มีพระสงฆ์ รวมทั้ง ไม่มีการพระราชพิธีอื่น ๆ ตามราชประเพณีด้วย[24]

หลังจากตั้งพระบรมศพครบ 4 วันแล้ว พระบรมศพถูกอัญเชิญโดยรถบรรทุกไปยังสุสานโกลเดอร์ส กรีน (Golden green) อันเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพโดยใช้เตาแบบฝรั่ง ซึ่งการถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยมีเพียงการกล่าวสุนทรพจน์โดยนายอาร์.ดี.เครก พระสหายชาวอังกฤษของพระองค์และมีการบรรเลงเพลงเมนเดลโซน ไวโอลิน คอนแชร์โต (Mendelssohn Violin Concerto) ซึ่งเป็นเพลงที่พระองค์โปรดเป็นพิเศษ ถวายเป็นครั้งสุดท้ายเท่านั้น[25] หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้ว พระบรมอัฐิและพระบรมสรีรางคารถูกอัญเชิญกลับไปประดิษฐานยังพระตำหนักคอมพ์ตันอันเป็นที่ประทับของพระองค์

[แก้] การอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับสู่ประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมมหาราชวัง ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีทักษิณานุปทานอุทิศถวายตามพระราชประเพณี หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิ ซึ่งอยู่ชั้นบนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท[26] ส่วนพระบรมสรีรางคารนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุไว้ที่พระพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสภายในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร[27]

[แก้] พระราชกรณียกิจ

[แก้] ด้านการทำนุบำรุงบ้านเมือง

เศรษฐกิจ สืบเนื่องจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศทั่วโลกประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ ตกต่ำ ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนมาสู่ประเทศไทย พระองค์ได้ทรงพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีต่างๆ เช่น การควบคุมงบประมาณ ตัดทอนรายจ่าย ลดอัตราเงินเดือนข้าราชการ รวมถึงการลดจำนวนข้าราชการ ปรับปรุงระบบภาษี การเก็บภาษีเพิ่มเติม ยุบรวมจังหวัด เลิกมาตรฐานทองคำเปลี่ยนไปผูกกับค่าเงินของอังกฤษ เป็นต้น

การสุขาภิบาลและสาธารณูปโภค โปรดให้ปรับปรุงงานสุขาภิบาลทั่วราชอาณาจักรให้ทัดเทียมอารยประเทศ ขยายการสื่อสารและการคมนาคม โปรดให้สร้างสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกใน ประเทศไทย ในส่วนกิจการรถไฟ ขยายเส้นทางรถทางทิศตะวันออกจากทางจังหวัดปราจีนบุรี จน กระทั่งถึงต่อเขตแดนเขมร

การส่งเสริมกิจการสหกรณ์ให้ประชาชนได้มีโอกาสร่วมกันประกอบกิจการทางเศรษฐกิจ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 ขึ้น

ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งนับเป็นโรงภาพยนตร์ทันสมัยในสมัยนั้น ติดเครื่องปรับอากาศ เพื่อเป็นสถานบันเทิงให้แก่ผู้คนในกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตหัวเมือง ทรงได้จัดตั้ง สภาจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตกขึ้น เพื่อทำนุบำรุงหัวหินและใกล้เคียงให้เป็นสถานที่ตากอากาศชายทะเล

ในปี พ.ศ. 2475 เป็นระยะเวลาที่กรุงเทพฯ มีอายุครบ 150 ปี ทรงจัดงานเฉลิมฉลองโดยทำนุบำรุง บูรณปฏิสังขรณ์สิ่งสำคัญอันเป็นหลักของกรุงเทพฯ หลายประการ คือ บูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง สร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ เพื่อเชื่อมกรุงเทพฯและธนบุรี เป็นการขยายเขต เมืองให้กว้างขวาง และสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

[แก้] ด้านการปกครอง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภจะพระราชทานรัฐธรรมนูญในโอกาสกรุงเทพฯ มีอายุครบ 150 ปี ในปี พ.ศ. 2475 แต่ถูกทักท้วงจากพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ จึงได้ระงับไปก่อน หลังจากนั้นเพียงกว่าสองเดือน ก็เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยพระองค์ทรงยินยอมสละพระราชอำนาจและเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทรงให้ตรวจตราตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะเป็นหลักในการปกครองอย่างถี่ถ้วน

ทรงแก้ไขกฎหมายองคมนตรี ด้วยการออกพระราชบัญญัติองคมนตรี พ.ศ. 2470 ให้ สภากรรมการองคมนตรี มีอำนาจหน้าที่ ในการให้คำปรึกษาในการร่างกฎหมาย โดยมีพระราชดำริให้สภาองคมนตรีเป็นที่ฝึกการประชุมแบบรัฐสภา กรรมการสภาองคมนตรีอยู่ในตำแหน่งวาระละ 3 ปี

ทรงตราพระราชบัญญัติควบคุมการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือความผาสุกแห่งสาธารณชน พ.ศ. 2471 เพื่อคุ้มครองสวัสดิการของปวงชนชาวไทย โดยมีขอบเขตครอบคลุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภคและการเงิน เช่น การประปา การไฟฟ้า การรถไฟ การเดินอากาศ การชลประทาน การออมสิน และการประกันภัย อันเป็นรากฐานของระเบียบปฏิบัติ ที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้

มีพระราชดำริให้จัดระเบียบการปกครองรูปแบบเทศบาลขึ้น เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารและจัดการงานต่างๆ ของชุมชน โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเทศบาล ขึ้นแต่มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

[แก้] ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรม

ภาพขณะทรงซออู้

ทรงส่งเสริมการศึกษาของชาติทั้งส่วนรวมและส่วนพระองค์ โปรดให้สร้างหอพระสมุดสำหรับพระนคร เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าศึกษาได้อย่างเสรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา เพื่อมีหน้าที่บริหารและเผยแพร่วิชาการด้านวรรณคดี โบราณคดี และศิลปกรรม ในด้านวรรณกรรม โปรด ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมใน พ.ศ. 2475 พระราชทานเงินส่วนพระองค์ เป็นรางวัลแก่ผู้แต่งหนังสือยอดเยี่ยม และให้ทุนนักเรียนไปศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศ การศาสนา ทรงปลูกฝังเยาวชนให้มีคุณธรรมดีงาม โดยยึดหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา โปรดให้ราชบัณฑิตยสร้างหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก ซึ่งนับว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงสร้างหนังสือสำหรับเด็ก ส่วนการศึกษาในเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนานั้น ทรงโปรดให้สร้างหนังสือพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ เรียกว่าฉบับสยามรัฐ ชุดหนึ่ง จำนวน 42 เล่ม ซึ่งใช้สืบมาจนทุกวันนี้

ในด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติได้ทรงวางรากฐานเป็นอย่างดีกล่าวคือ ได้ทรงสถาปนาราชบัณฑิตยสถานสภาขึ้น เพื่อจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนครและสอบสวนพิจารณาวิชาอักษรศาสตร์ เพื่อจัดการพิพิธภัณฑสถานตรวจรักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุ และเพื่อจัดการบำรุงรักษาวิชาช่างผลงานของราชบัณฑิตสภาเป็นผลดีต่อการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชาติเป็นอย่างมาก เช่นการตรวจสอบต้นฉบับเอกสารโบราณออกตีพิมพ์เผยแพร่ มีการส่งเสริมสร้างสรรค์วรรณกรรมรุ่นใหม่ด้วยการประกวดเรียบเรียงบทประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง

ทรงอนุรักษ์ดนตรีไทยไว้ด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้เพราะได้ทรงสนพระราชหฤทัยในวิชาดนตรีไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงประดิษฐ์ไพเราะ เข้าถวายการฝึกสอนจนสามารถ พระราชนิพนธ์ทำนองเพลงไทยได้ ถึง 3 เพลง คือเพลง ราตรีประดับดาวเถา เพลงเขมรลออองค์เถา และเพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง

ทางด้านวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์ปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดอยุธยา โปรดฯให้เขียนภาพพงศาวดาร สมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ที่ผนังพระวิหาร

ทรงพยายามสร้างค่านิยมให้มีสามีภรรยาเพียงคนเดียว ทรงโปรดให้ตรา พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 2471 ริเริ่มให้มีการจดทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนรับรองบุตร อันเป็นการปลูกฝังค่านิยมแบบใหม่ทีละน้อยตามความสมัครใจ นอกจากนี้ยังทรงปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างโดยทรงมีแต่พระบรมราชินีเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีพระสนมนางในใดๆทั้งสิ้น

พระองค์และพระบรมราชินี ขณะเสด็จเยือนประเทศเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1934

นอกจากนี้แล้ว เมื่อทรงว่างจากพระราชภารกิจ ทรงโปรดในการถ่ายภาพนิ่งและถ่ายภาพยนตร์ ทรงทดลองใช้เอง กล้องถ่ายภาพและภาพยนตร์จำนวนมากที่ทรงสะสมไว้ สะท้อนให้เห็นพระอุปนิสัยโปรดการถ่ายภาพและภาพยนตร์ ภาพยนตร์ทรงถ่ายมีเนื้อหาทั้งที่เป็นสารคดีและที่ให้ความบันเทิง ในจำนวนภาพยนตร์เหล่านี้ เรื่องที่เป็นเกียรติประวัติของวงการภาพยนตร์ไทยและแสดงพระราชอัจฉริยภาพดีเยี่ยมในการสร้างโครงเรื่อง กำกับภาพ ลำดับฉาก และอำนวยการแสดง คือ เรื่องแหวนวิเศษ นับได้ว่าพระองค์เป็นหนึ่งในบุคคลที่บุกเบิกวงการภาพยนตร์ไทยอีกพระองค์หนึ่ง

[แก้] ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

ในต้นรัชสมัย ได้ทรงดำเนินกิจการสำคัญที่ทรงเกี่ยวข้องกับต่างประเทศที่ค้างมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้สำเร็จลุล่วงไป เช่น การให้สัตยาบันสนธิสัญญาต่าง ๆ นอกจากนี้ยังทรงทำสัญญาใหม่ ๆ กับประเทศเยอรมนีหลังสถาปนาความสัมพันธ์ขั้นปกติ เมื่อ พ.ศ. 2471 และทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเกี่ยวกับดินแดนในลุ่มแม่น้ำโขงเรียกว่า สนธิสัญญาอินโดจีน พ.ศ. 2469 ที่ กำหนดให้ มีเขตปลอดทหาร 25 กิโลเมตร ทั้ง สองฝั่งน้ำโขง แทนที่ จะมีเฉพาะฝั่งสยามแต่เพียงฝ่ายเดียว

[แก้] พระบรมราชานุสรณ์

ถนนประชาธิปก

ถนนประชาธิปก เป็นถนนที่เริ่มตั้งแต่สะพานพระพุทธยอดฟ้าถึงวงเวียนใหญ่ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งชื่อถนนถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ถนนพระปกเกล้า" หรือ "ถนนประชาธิปก" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าและถนนเพื่อเชื่อมฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี โดยพระองค์ทรงพระราชทานนามถนนนี้ว่า "ถนนประชาธิปก"[28]

สถาบันพระปกเกล้า

สถาบันพระปกเกล้า เป็นสถาบันพัฒนาประชาธิปไตยที่จัดตั้งขึ้นในวโรกาสครบรอบ 100 ปี วันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนชาวไทย โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชให้เชิญพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นชื่อของสถาบัน[29]

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นมหาวิทยาลัยเปิดโดยใช้ระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยตามพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศที่ "กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา" นอกจากนี้ ยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 7 นำมาประกอบกับเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงสุโขทัยเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยด้วย[30]

[แก้] ราชตระกูล

[แก้] เหตุการณ์สำคัญ

[แก้] ดูเพิ่ม

Commons:Category
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่น ๆ เกี่ยวกับ:
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ไม่มีวัดประจำราชกาลตามประกาศพระบรมราชโองการ แต่ถือกันว่า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นวัดประจำรัชกาลโดยอนุโลม เพราะเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร
  2. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสมโภชเดือนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ, เล่ม ๑๐, ตอน ๔๘, ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๑๘๙๓, หน้า ๕๑๕
  3. ^ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468 - 2477) (ย่อความจาก “พระราชประวัติพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์” โดย ม.ร.ว. แสงสูรย์ ลดาวัลย์), เข้าถึงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554
  4. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชพิธีมหามลคลการโสกันต์ และพระราชทานพระสุพรรณบัฏ เฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์และโสกันต์ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช, เล่ม ๒๒, ตอน ๕๐, ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๘, หน้า ๑๑๔๐
  5. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระนาม, เล่ม ๒๒, ตอน ๕๐, ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๘, หน้า ๑๑๔๘
  6. ^ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2550
  7. ^ 7.0 7.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาเลื่อนกรมตั้งกรม และตั้งเจ้าพระยา, เล่ม ๔๒, ตอน ๐ ก, ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘, หน้า ๒๑๖
  8. ^ ราชกิจจานุเบกษา, การทรงผนวช สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสุโขไทยธรรมราชา พระพุทธศักราช ๒๔๖๐, เล่ม ๓๔, ตอน ง, ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐, หน้า ๑๐๕๖
  9. ^ ส. พลายน้อย, หน้า 27
  10. ^ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, หน้า 117
  11. ^ สำนักพระราชวัง, พระราชวังบางปะอิน, พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2548
  12. ^ พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, หน้า 7-8
  13. ^ ส.พลายน้อย, หน้า 43
  14. ^ พระยาประกาศอักษรกิจ (เสงี่ยม รามนันทน์), หน้า ช
  15. ^ 15.0 15.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชพิธี บรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร ปีฉลูสัปตศก พุทธศักราช ๒๔๖๘, เล่ม ๔๒, ตอนพิเศษ ๐ ก, ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘, หน้า ๐
  16. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี, เล่ม ๔๒, ตอน ๐ ก, ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘, หน้า ๓๕๕
  17. ^ พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, หน้า 15
  18. ^ พระยาประกาศอักษรกิจ (เสงี่ยม รามนันทน์), หน้า ญ
  19. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พุทธศักราช ๒๔๗๖, เล่ม ๕๐, ตอน ๐ ก, ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖, หน้า ๘๓๘
  20. ^ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, หน้า 214
  21. ^ พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปกเปล้าเจ้าอยู่หัว
  22. ^ ธงทอง จันทรางศุ, แผ่นดินพระปกเกล้า , สถาบันพระปกเกล้า, เข้าถึงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554
  23. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ สภาผู้แทนราษฎรรับทราบในการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติและลงมติเห็นชอบในการอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1330
  24. ^ ส.พลายน้อย, หน้า 210
  25. ^ ส.พลายน้อย, หน้า 211-213
  26. ^ ราชกิจจานุเบกษา, กำหนดการ ที่ ๖/๒๔๙๒ รับพระบรมอัฎฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ๒๔๙๒, เล่ม ๖๖, ตอน ๒๙ ง, ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒, หน้า ๒๒๖๒
  27. ^ ราชกิจจานุเบกษา, กำหนดการ ที่ ๙/๒๔๙๒ บรรจุพระบรมราชสริรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๔๙๒, เล่ม ๖๖, ตอน๓๔ ง, ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒, หน้า ๒๙๓๑
  28. ^ พจนานุกรมวิสามานยนามไทย วัด วัง ถนน, ราชบัณฑิตสถาน, หน้า 250
  29. ^ สถาบันพระปกเกล้า : ประวัติความเป็นมา, เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า, เข้าถึงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554
  30. ^ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช : ความเป็นมา, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, เข้าถึงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

[แก้] บรรณานุกรม

  • ส.พลายน้อย, ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ : มติชน, 2550 (ISBN 974-02-0044-4)
  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เกิดวังปารุสก์ : สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์-สมัยประชาธิปไตย, พิมพ์ครั้งที่ 13, กรุงเทพ : ริเวอร์ บุ๊คส์, 2552 (ISBN 978-974-9863-71-8)
  • พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, หนังสืออนุสรณ์งานพระบรมศพทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานประชาชนในงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528
  • พระยาประกาศอักษรกิจ (เสงี่ยม รามนันทน์), จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๖๘, สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เป็นที่ระลึกในการเชิญพระบรมอัฐิเสด็จคืนเข้าสู่พระนคร พุทธศักราช ๒๔๙๒
  • สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, เจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์, ซิลค์เวอร์ม บุคส์, พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2549, 450 หน้า, (ISBN 974-7047-55-1)
  • หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น (ภาคต้น), สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2543
  • วิโรจน์ ไตรเพียร, 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี, สำนักพิมพ์ คลังศึกษา,2543,หน้า 90-105
  • ศิลปชัย ชาญเฉลิม, เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ, กรุงเทพ, 2530
  • โพยม โรจนวิภาต (อ.ก. รุ่งแสง), พ. 27 สายลับพระปกเกล้า พระปกเกล้าฯ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2547

[แก้] เอกสารชั้นต้น

  • รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2470 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
  • รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2472 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
  • รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2473 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
  • รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2474 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
  • รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2475 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
  • รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2476 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
  • รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2477 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
  • จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ภาคต้น พิมพ์โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, กรุงเทพ 2537
  • จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ภาคปลาย พิมพ์โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, กรุงเทพ 2537
สมัยก่อนหน้า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยถัดไป
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 2leftarrow.png Emblem of the House of Chakri.svg
พระมหากษัตริย์สยาม
(26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 - 2 มีนาคม พ.ศ. 2477)
2rightarrow.png พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร


เครื่องมือส่วนตัว

สิ่งที่แตกต่าง
การกระทำ
ป้ายบอกทาง
มีส่วนร่วม
พิมพ์/ส่งออก
เครื่องมือ
ภาษาอื่น