สนุก! ค้นหาตรวจหวยข่าว อีเมล์ หาเพื่อนคิวคิว ฟังเพลง คลาสสิฟายด์ ริงโทน เล่นเกมส์ ดูทั้งหมด »
 
  เว็บไซต์    สารบัญเว็บไทย    หางาน   วิดีโอ    เพลง    ข่าว     ความรู้    ถามตอบ    ไฟล์ข้อมูล  
 
 
หาแบบละเอียด
ช่วยเหลือ


สนุก!ความรู้ > ห้องสมุดความรู้ > สารานุกรม > สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 17 > ลักษณะของข้าวสาลี
ลักษณะของข้าวสาลี  
 

 
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 17
 
ลักษณะของข้าวสาลี โดย นายพัธกุล จันทนมัฏฐะ

[ดูภาพทั้งหมดในเรื่องนี้]

หัวข้อ

ลักษณะที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต
          ลักษณะที่มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของข้าวสาลี ได้แก่ ราก ลำต้น และใบ
          ราก ข้าวสาลีไม่มีรากแก้วเช่นเดียวกับธัญพืชชนิดอื่น ๆ แต่มีระบบรากฝอยแทน รากของข้าวสาลีนี้แบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือ ราก ดั้งเดิมที่ถือกำเนิดจากเนื้อเยื่อของเชื้อชีวิต  (embryo)  เรียกว่า  รากจากเมล็ด และรากจากข้อซึ่งถือกำเนิดจากข้อของเหง้าอันเป็นส่วนโคนของลำต้น     อยู่ใต้ผิวดินประมาณ  ๑  นิ้ว เหง้ามีข้อหลายข้ออยู่ติด ๆ กัน เนื่องจากความยาวของปล้องบริเวณนี้สั้นมาก
          ลำต้น  ลำต้นของข้าวสาลีแบ่งออกเป็นปล้อง ๆ โดยมีข้อกั้นระหว่างปล้อง  จำนวนข้อของลำต้นที่อยู่เหนือดินมี  ๕-๗  ข้อ ลำต้นของข้าวสาลีส่วนมากมีปล้องกลวงและข้อตันต้นข้าวสาลีจะล้มง่ายในระยะแรก    แต่ต้นจะตั้งตรงขึ้นในระยะหลัง นอกจากต้นแม่ซึ่งเป็นส่วนที่เจริญเติบโตโดยตรงจากเนื้อเยื่อของเชื้อชีวิตแล้ว   ต้นข้าวสาลียังมีการแตกหน่อ  คือการสร้างลำต้นอันดับสองจากข้อต่าง ๆ ที่อยู่ติดดิน  เราเรียกลำต้นอันดับสองนี้ว่า ต้นแขนง ข้าวสาลีพันธุ์ปลูกรุ่นเก่ามีความสูงของลำต้น ๑๒๐-๑๔๐ เซนติเมตร ปัจจุบันมีการปลูกข้าวสาลีพันธุ์เตี้ยปานกลาง ซึ่งสูง ๙๐-๑๒๐ เซนติเมตร และพันธุ์เตี้ย  ซึ่งสูง  ๖๐-๙๐ เซนติเมตร ข้าวสาลีพันธุ์เตี้ยปานกลางและพันธุ์เตี้ยมีการตอบสนองต่อปุ๋ยสูง เพราะต้นล้มยาก ฟางน้อย และแข็ง
          ใบ ใบของข้าวสาลีประกอบด้วยส่วนสำคัญสองส่วนคือ กาบใบ และตัวใบ ที่ข้อต่อระหว่างกาบใบและตัวใบด้านที่อยู่ติดกับลำต้นมีเยื่อบาง ๆ ชนิดหนึ่งยื่นออกมาเรียกว่า  ลิ้นใบ นอกจากนี้ ยังมี หูใบ โผล่ออกมาที่ข้อต่อใบทั้ง ๒ ข้าง  บนหูใบจะมีขนอ่อน ๆ ขึ้นอยู่ โดยปรกติข้าวสาลีจะมีใบ ๗-๙ ใบบนต้นแม่ ใบสุดท้ายเหนือสุดเรียกว่า ใบธง
[กลับหัวข้อหลัก]

ลักษณะของข้าวสาลี หรือ ส่วนต่าง ๆ ของข้าวสาลี

[ดูภาพทั้งหมดในเรื่องนี้]
ลักษณะที่เกี่ยวกับการขยายพันธุ์
          รวง   ต้นแม่และต้นแขนงที่สมบูรณ์จะผลิตรวงออกมาที่ยอดต้น  รวงมีลักษณะเป็นแท่งมีกลุ่มดอกติดอยู่ที่ข้อของแกนรวง    กลุ่มดอกนี้จะเกิดขึ้นสลับกันบนแกนรวงทั้งสองข้าง หากมองด้านข้างจะเห็นปล้องของแกนรวงมีลักษณะยักไปยักมา
          รวงข้าวสาลีมีลักษณะต่าง ๆ กัน แล้วแต่รูปร่าง ความสั้นยาวของรวง  สีและลักษณะของดอก  สีและความสั้นยาวของหาง ความถี่ห่างของกลุ่มดอกที่เกิดขึ้นบนแกนรวง
          ดอก ดอกข้าวสาลีที่เรียกว่ากลุ่มดอกนั้น ประกอบด้วยกลีบเปล่าจำนวน ๒ อัน อยู่ล่าง สุดติดกับแกนรวง ภายในกลุ่มดอกจะมีดอก จำนวน ๒-๕ ดอกติดอยู่ ซ้อนกันขึ้นไปเหนือ กลีบเปล่า ดอกแรกภายในกลุ่มดอกอยู่ล่างสุด จะสมบูรณ์ที่สุด ดอกที่สองจะอยู่สลับไปอีกข้าง สมบูรณ์รองลงมา ฯลฯ โดยปรกติแล้ว สอง หรือสามดอกล่างในแต่ละกลุ่มดอกจะติดเมล็ด ดอกจิ๋ว ๆ ที่อยู่ทางปลายภายในกลุ่มดอกจะ ลีบหมด
          ดอกประกอบด้วยกลีบ ๒ อันประกอบกัน คือ กลีบใหญ่ และกลีบเล็ก ที่ปลายสุดของกลีบใหญ่   จะมีลักษณะเป็นปลายแหลมยื่นออกมา  เรียกว่า  หาง  ข้าวสาลีบางพันธุ์อาจไม่มีหางก็ได้
          ส่วนที่อยู่ภายในกลีบใหญ่และกลีบเล็ก ได้แก่ เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย เกสรตัวผู้ประกอบด้วยอับเรณู ซึ่งภายในมีเรณูหรือละอองเกสรขนาดเล็กจำนวนมาก  ในดอกที่สมบูรณ์แต่ละดอกจะมีอับเรณูจำนวน  ๓ อัน ส่วนเกสรตัวเมียนั้น  ประกอบด้วยยอดเกสรตัวเมีย ซึ่งมีลักษณะคล้ายหางกระรอกจำนวน  ๒ อัน แต่ละอันมีก้านเชื่อมติดอยู่กับรังไข่
          เมล็ด  เมื่อเรานวดรวงข้าวสาลีที่สุกแล้ว  เราจะได้เมล็ดอยู่ข้างในกลีบใหญ่และกลีบเล็ก ซึ่งกลายเป็นเปลือกใหญ่และเปลือกเล็กเมื่อเมล็ดสุกแก่  เมล็ดที่ได้มีอยู่สองประเภทแล้วแต่ชนิดของข้าวสาลี ประเภทแรกเป็นพวกเมล็ดไม่ติดเปลือก   เปลือกใหญ่และเปลือกเล็กจะร่อนหลุดออกขณะที่เรานวดรวง ได้เมล็ดเปล่า ๆ ประเภทที่สองเป็นพวกเมล็ดติดเปลือก ในข้าวสาลีประเภทหลังนี้ เมื่อนวดครั้งแรก กลุ่มเมล็ด(จาก ๑ กลุ่มดอก) จะหักหลุดออกจากรวงโดยที่เปลือกใหญ่  เปลือกเล็ก และกลีบเปล่ายังเกาะติดกัน และหุ้มเนื้อเมล็ดอยู่ เมื่อนำไปนวดอีกครั้งแกลบจะหลุดออกจากกัน ได้เมล็ดเปล่า ๆ ออกมา
          ลักษณะภายนอกของเมล็ดข้าวสาลีที่ไม่มีเปลือกแข็งติดอยู่ แบ่งออกเป็นสองส่วน  คือ ด้านสันหลังซึ่งเป็นด้านที่ติดอยู่กับเปลือกใหญ่กับด้านท้องซึ่งเป็นด้านที่อยู่ติดกับเปลือกเล็กด้านสันหลังจะมีลักษณะโก่งเป็นสัน ส่วนด้านท้องจะมีลักษณะเป็นร่อง  เชื้อชีวิต  (embryo) จะอยู่ที่ปลายทางโคนของเมล็ดทางด้านสันหลัง ส่วนปลายเมล็ดทางยอดนั้น จะมีขนสั้น ๆ ติดอยู่
          เมื่อดูลักษณะเมล็ดภายนอกด้วยตาเปล่าอาจแบ่งได้เป็น  ๒  พวก คือ เมล็ดแข็งใสและเมล็ดขุ่น ข้าวสาลีที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนสูงมักเป็นพวกมีเมล็ดแข็งใส  เมื่อเอาไปทำขนมปังจะมีลักษณะขึ้นดีและเนื้อแน่น ส่วนพวกที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนต่ำมักเป็นพวกมีเมล็ดขุ่น  เหมาะสำหรับทำขนมเค้ก บิสกิต และ พาย
          สีของเมล็ดข้าวสาลีแบ่งออกเป็น  ๒  พวกใหญ่คือ ขาว และแดง ซึ่งแต่ละพวกก็มีสีอ่อนแก่หลายระดับด้วยกัน    พวกสีขาวนั้นรวมพวกสีครีมและสีเหลืองด้วย พวกสีแดงนั้นไล่ตั้งแต่ออกสีน้ำตาลอ่อนจนถึงแดงเข้ม
          เราอาจแบ่งส่วนต่าง ๆ ของเมล็ดข้าวสาลีที่ไม่มีเปลือกแข็งหุ้มอยู่  ออกเป็น ๓ ส่วนคือ
          ๑) รำ (Wheat bran) เป็นเยื่อบาง ๆ หุ้มผิวด้านนอกของเมล็ด รำเป็นส่วนที่มีเยื่อใยหรือเรียกว่า เซลลูโลส มาก รำที่อบจนสุกแล้วคนกินได้ มีประโยชน์ในการช่วยให้ลำไส้ใหญ่ขับถ่ายกากอาหารได้ดี
          ๒) เชื้อชีวิต (Wheat germ) หรือคัพภะ คือ ส่วนที่จะเกิดเป็นลำต้นหรือชีวิตใหม่เมื่อเมล็ดงอก เชื้อชีวิตหรือบางทีเรียกว่าจมูกข้าวสาลี มีโปรตีน ไขมัน และเกลือแร่ ในปริมาณสูง เมื่ออบจนสุกแล้ว คนกินได้ เป็นอาหารบำรุงสุขภาพชั้นดี
          ๓) เนื้อเมล็ด (Wheat endosperm) คือส่วนเนื้อในของเมล็ดที่รำหุ้มอยู่  แต่ไม่รวมเชื้อชีวิต เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของเมล็ด ซึ่งเมื่อนำส่วนนี้มาบดเป็นแป้ง จะได้แป้งสาลี (Wheat flour) หรือแป้งหมี่ แป้งสาลีมีคุณค่าทางอาหารสูง มีโปรตีนประมาณ ๘-๑๓ เปอร์เซ็นต์ คาร์โบไฮเดรตประมาณ ๖๕-๗๐ เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นไขมัน เกลือแร่ และเซลลูโลส
          ถ้าเอาเนื้อเมล็ดล้วน ๆ มาโม่โดยขัดเอารำและแยกส่วนที่เป็นเชื้อชีวิตออกก่อน เราจะได้แป้งสาลีสีขาว  แต่ถ้าเราโม่ข้าวสาลีทั้งเมล็ดโดยไม่แยกรำและเชื้อชีวิตออก เราจะได้แป้งสาลีสีน้ำตาล (Whole wheat flour) ซึ่งมีคุณค่า ทางอาหารสูงกว่าแป้งสาลีสีขาว
          ถ้านำเมล็ดข้าวสาลีมาขัดเอารำออกเสียก่อน แต่ไม่ได้โม่เมล็ด รำจะหลุดไปประมาณ ๒๗% เหลือเป็นเนื้อเมล็ด ๗๓% (โดยน้ำหนัก) เรียกเมล็ดที่ได้ว่าข้าวสาลีขัดขาว (pearled wheat) ข้าวสาลีขัดขาวนี้ยังมีส่วนของรำและเชื้อชีวิตติดอยู่เป็นบางส่วน เมื่อนำไปหุงจะนิ่มและอร่อยเหมือนกินข้าว
[กลับหัวข้อหลัก]

เปรียบเทียบรวงข้าวสาลีเมล็ดถี่ และรวงข้าวสาลีเมล็ดห่าง


กลุ่มดอกของข้าวสาลี


ลักษณะภายในของเมล็ดข้าวสาลี

[ดูภาพทั้งหมดในเรื่องนี้]

บรรณานุกรม
• นายพัธกุล จันทนมัฏฐะ

[กลับหัวข้อหลัก]
 

บทความอื่น ๆ ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ  
 
บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 17 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มอื่น
การกำจัดวัชพืช
การเก็บเกี่ยวข้าวสาลี
การเจริญเติบโตของข้าวสาลี
การเตรียมเมล็ดพันธุ์
งิ้ว (semal tree)
ชั้นและชื่อช้างเผือก
ฐานะของช้างเผือก
ประวัติความสำคัญของปอประเทศไทย
พืชที่ใช้ทำแปรงและเสื่อ
ส่วนของพืชที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืช
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 7
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 9
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 12
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 15
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 19
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 21
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 22
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 23
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 26
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 27
   

ผู้สนับสนุน
สนใจลงโฆษณา คลิก!

สนุก!ความรู้ > ห้องสมุดความรู้ > สารานุกรม > สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 17 > ลักษณะของข้าวสาลี