ดาวยูเรนัส

เขียนเมื่อวันที่ 15/01/2012 - 22:10

ภาพถ่ายของดาวยูเรนัสโดยกล้องฮับเบิลใช้ฟิลเตอร์อินฟราเรด

ดาวยูเรนัสเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 7 และใหญ่เป็นอันดับ 3 แต่มีมวลน้อยกว่าดาวเนปจูน ยูเรนัสเป็นชื่อของเทพเจ้ากรีก เป็นลูกและสามีของจีอา(Gaea) และเป็นพ่อของโครนัส(Cronus) หรือดาวเสาร์(Saturn),ไซคลอปส์(Cyclopes)และไททัน(Titans)ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งเขาโอลิมปัสในยุคแรก
ยูเรนัสเป็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่ค้นพบในสมัยใหม่โดยวิลเลียม เฮอร์เชล(William Herschel) ขณะที่กำลังสำรวจท้องฟ้าในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ 1978
ความจริงแล้วมีคนเห็นมันหลายครั้งแล้วแต่ไม่มีใครสนใจเพราะคิดว่าเป็นดาวฤกษ์ธรรมดา ที่มีการบันทึกครั้งแรกคือในปี ค.ศ 1690 โดยจอห์น เฟลมสตีค(John Flamsteed) เขาบันทึกว่าเป็นดาวฤกษ์ชื่อ 34 Tauri ตอนแรก เฮอร์เชลตั้งชื่อว่า จอเจียม ไซดัส(Georgiaum Sidus) แปลว่าดาวเคราะห์แห่งยอร์ช(Georgian Planet) เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่สนับสนุนเขาคือพระเจ้ายอร์ชที่ 3(George III) แห่งอังกฤษ แต่คนอื่นก็เรียกมันว่าเฮอร์เชล ชื่อยูเรนัสนั้นเสนอโดยโบด(Bode) เพื่อให้เหมือนกันชื่อดาวเคราะห์ดวงอื่นที่เป็นชื่อเทพเจ้าแต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายจนกระทั่งปี ค.ศ.1850 

การสำรวจดาวยูเรนัสนั้นมีเพียงดาววอยเอเจอร์ 2 เท่านั้นที่เคยบินผ่านในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ.1986 ทำให้เราได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับดาวเคราะห์ดวงนี้ 

ภาพวาดการโคจรของดาวยูเรนัสรอบดวงอาทิตย์จะเห็นว่าแกนหมุนนั้นเอียงมากเกือบจะขนานกับวงโคจร

ดาวเคราะห์ส่วนมากจะหมุนตั้งฉากกับระนาบวงโคจร แต่ดาวยูเรนัสหมุนเกือบจะขนานกับระนาบวงโคจร ขณะที่ดาววอยเอเจอร์ 2 บินผ่านดาวยูเรนัสหันขั้วใต้เข้าหาดวงอาทิตย์ คือบริเวณขั้วจะได้รับพลังงานมากกว่าบริเวณศูนย์สูตร แต่บริเวณศูนย์สูตรกลับร้อนกว่าบริเวณขั้ว ซึ่งเรายังไม่ทราบกลไกที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ 

ความจริงยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่าขั้วไหนเป็นขั้วเหนือของดาวยูเรนัส ถ้าคิดว่าแกนเอียงมากกว่า 90 องศา ดาวยูเรนัสจะหมุนไปข้างหน้าแต่ถ้าคิดว่าแกนเอียงน้อยกว่า 90 องศาก็จะเป็นการหมุนย้อนกลับ(Retrograde)เหมือนดาวศุกร์
องค์ประกอบส่วนมากจะเป็นหินและน้ำแข็ง มีไฮโดรเจนเพียง 15 % และฮีเลียมเพียงเล็กน้อย ซึ่งต่างกับดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ที่ส่วนมากเป็นไฮโดรเจน แกนกลางของดาวยูเรนัสเป็นของแข็งถัดออกมาเป็นของเหลวที่ประกอบด้วยน้ำ แอมโมเนียและมีเทน บรรยากาศประกอบด้วยไฮโดรเจน 83% ฮีเลียม 15% และมีเทน 2 % 
ดาวยูเรนัสมีแถบเมฆเหมือนดาวเคราะห์ที่เป็นแก๊สดวงอื่นๆ แถบเมฆนี้หมุนเร็วมากแต่ก็ไม่ชัดเหมือนแถบเมฆของดาวพฤหัสบดี
เมื่อใช้กล้องฮับเบิลส่องจะเห็นวงแหวนชัดเจนกว่ากล้องบนโลก นอกจากนี้ยังเห็นปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดจากฤดูบนดาวยูเรนัส เนื่องจากตอนที่ดวงอาทิตย์ส่องที่ซีกใต้ของดาวทำให้เกิดอากาศที่ต่างกันของกลางวันและกลางคืนก่อนปี ค.ศ.2007 ดวงอาทิตย์จะส่องบริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวยูเรนัส เราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอีกก็ได้
สีน้ำเงินของดาวยูเรนัสที่เราเห็นเกิดจากก๊าซมีเทนที่อยู่ในบรรยากาศด้านบนดูดกลืนแสงสีแดงเอาไว้ แต่ก็อาจมีแถบสีเหมือนดาวพฤหัสบดีก็ได้ ซึ่งเราไม่สามารถมองผ่านชั้นเมฆมีเทนลงไปได้ 

ภาพถ่ายจากยานวอยเอเจอร์ 2 แสดงวงแหวนต่างๆ

ดาวยูเรนัสมีวงแหวนเหมือนดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ดวงอื่นแต่มืดมาก ส่วนประกอบของวงแหวนมีตั้งแต่ฝุ่นจนถึงมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร เท่าที่รู้ตอนนี้ดาวยูเรนัสมีวงแหวน 11 วง วงที่สว่างที่สุดคือวงเอบไซลอน(Epsilon) วงแหวนของดาวยูเรนัสค้นพบหลังจากพบวงแหวนของดาวเสาร์ทำให้เรารู้ว่า การมีวงแหวนเป็นเรื่องปกติไม่ได้แปลกแต่อย่างใด

ดาวยูเรนัสมีดวงจันทร์ที่มีชื่อตอนนี้มีเพียง 20 ดวง อีกหนึ่งดวงที่เพิ่งพบล่าสุดยังไม่มีชื่อ ชื่อดวงจันทร์ของดาวยูเรนัสจะไม่เหมือนกับดวงจันทร์ของดาวเคราะห์อื่นที่มาจากเทพนิยาย แต่จะมาจากบทประพันธ์ของเชกเปียร์ (Shakespeare) และพระสันตปาปา (Pope) 
สนามแม่เหล็กของดาวยูเรนัสนั้นแปลกมาก ศูนย์กลางของมันไม่ได้อยู่กลางดวงและเอียงเกือบ 60 องศากับแกนหมุน ซึ่งอาจจะเกิดจากการหมุนที่ต่างกันที่ความลึกต่างๆภายในดาวยูเรนัส สนามแม่เหล็กนี้เกิดจากการเคลื่อนที่ของของเหลวที่เป็นสารตัวนำภายในดาว และต้องมีแหล่งพลังงานภายในด้วย
ดาวยูเรนัสบางครั้งอาจจะมองเห็นด้วยตาเปล่าในคืนที่ฟ้าใส ถ้าใช้กล้องสองตาก็จะเห็นได้ง่ายขึ้นถ้ารู้ตำแหน่งของมัน ถ้าเป็นกล้องดูดาวขนาดเล็กจะเห็นเป็นแผ่นกลมเล็กๆ ในอินเตอร์เน็ตมีหลายเวปไซต์ที่มีรูปแสดงตำแหน่งของดาวยูเรนัสและดาวเคราะห์ดวงอื่น หรืออาจใช้โปรแกรมแผนที่ดาวเช่น Skychart III , HnSky เป็นต้น

ภาพถ่ายดวงจันทร์ขนาดใหญ่ทั้ง 5 ดวง คือ มิรันดา, เอเรียล, อุมเบรียล, ไททาเนียและโอเบรอน