นกกระเรียนไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกกระเรียนไทย
Grus antigone antigone
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Gruiformes
วงศ์: Gruidae
สกุล: Grus
สปีชีส์: G. antigone
ชื่อวิทยาศาสตร์
Grus antigone
(Linnaeus, 1758)
สปีชีส์ย่อย
  • G. a. antigone (Linnaeus, 1758)
    (นกกระเรียนอินเดีย)
  • G. a. sharpii (=sharpei) Blanford, 1895[2]
    (นกกระเรียนอินโดจีน หรือ นกกระเรียนหัวแดง)
  • G. a. gilliae (=gillae) Schodde, 1988
    (นกกระเรียนออสเตรเลีย)
  • G. a. luzonica Hachisuka, 1941
    (นกกระเรียนเกาะลูซอน - สูญพันธุ์)
การกระจายพันธุ์ของนกกระเรียนไทยในปัจจุบัน (สีเขียว)
ชื่อพ้อง
  • Ardea antigone Linnaeus, 1758
  • Grus sharpei
  • Megalornis antigone

นกกระเรียนไทย หรือ นกกระเรียน (อังกฤษ: Sarus Crane) เป็นนกขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่นกอพยพ พบในบางพื้นที่ของอนุทวีปอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ประเทศออสเตรเลีย เป็นนกบินได้ที่สูงที่สุดในโลก เมื่อยืนจะสูงถึง 1.8 ม.[3] สังเกตเห็นได้ง่าย[4] ในพื้นที่ชุ่มน้ำเปิดโล่ง นกกระเรียนไทยแตกต่างจากนกกระเรียนอื่นในพื้นที่เพราะมีสีเทาทั้งตัวและมีสีแดงที่หัวและบริเวณคอด้านบน หากินในที่ลุ่มมีน้ำขังบริเวณน้ำตื้น กินราก หัว แมลง สัตว์น้ำ และ สัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร นกกระเรียนไทยเหมือนกับนกกระเรียนอื่นที่มักมีคู่ตัวเดียวตลอดชีวิต นกกระเรียนจะปกป้องอาณาเขตและเกี้ยวพาราสีโดยการกางปีก ส่งเสียงร้อง กระโดดซึ่งดูคล้ายกับการเต้นรำ ในประเทศอินเดียนกกระเรียนเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ในชีวิตแต่งงาน เชื่อกันว่าเมื่อคู่ตายนกอีกตัวจะเศร้าโศกจนตรอมใจตายตาม ฤดูผสมพันธุ์หลักอยู่ในฤดูฝน คู่นกจะสร้างรังเป็น"เกาะ"รูปวงกลมจากกก อ้อ และ พงหญ้า มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบสองเมตรและสูงเพียงพอที่จะอยู่เหนือจากน้ำรอบรัง นกกระเรียนไทยกำลังลดลงอย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ผ่านมา คาดกันว่าประชากรมีเพียง 10 หรือน้อยกว่า (ประมาณ 2.5%) ของจำนวนที่มีอยู่ในคริสต์ทศวรรษ 1850 ประเทศอินเดียคือแหล่งที่มั่นของนกชนิดนี้ ที่ซึ่งนกเป็นที่เคารพและอาศัยอยู่ในพื้นที่การเกษตรใกล้กับมนุษย์ นกกระเรียนนั้นสูญหายไปจากพื้นที่การกระจายพันธุ์ในหลายๆพื้นที่ในอดีต

เนื้อหา

[แก้] ลักษณะ

ขณะบิน นกกระเรียนจะเหยียดคอตรง (ภารตปุระ ประเทศอินเดีย)

นกกระเรียนไทยเป็นนกขนาดใหญ่ มีลำตัวและปีกสีเทา คอตอนบนและหัวเป็นหนังเปลือยสีแดงไม่มีขน ตรงกระหม่อมเป็นสีเทา คอยาวเวลาบินคอจะเหยียดตรงไม่เหมือนกับนกกระสาซึ่งจะงอพับไปด้านหลัง มีสีดำที่ขนปลายปีก ขายาวเป็นสีชมพู มีแผ่นขนหูสีเทา ม่านตาสีส้มแดง ปากแหลมสีดำแกมเทา นักวัยอ่อนมีปากสีค่อนข้างเหลืองที่ฐาน หัวสีน้ำตาลเทาปกคลุมด้วยขนนก[5]

หนังเปลือยสีแดงบริเวณหัวจะแดงสดใสในช่วงฤดูผสมพันธุ์ หนังบริเวณนี้จะหยาบเป็นตะปุ่มตะป่ำ มีขนสีดำตรงข้างแก้มและท้ายทอยบริเวณแคบๆ เพศผู้ใหญ่กว่าเพศเมียเล็กน้อย ไม่มีความแตกต่างทางเพศอื่นที่ชัดเจนอีก นกกระเรียนไทยเพศผู้ในอินเดียมีขนาดสูงที่สุด คือประมาณ 200 ซม. ช่วงปีกยาว 250 ซม. ทำให้นกกระเรียนไทยเป็นนกที่บินได้ที่สูงที่สุดในโลก ในชนิดย่อย antigone มีน้ำหนัก 6.8–7.8 กก. ขณะที่ sharpii มีน้ำหนักประมาณ 8.4 กก. โดยทั่วไปแล้วจะมีน้ำหนัก 5-12 กก. สูง 115-167 ซม.ช่วงปีกยาว 220-280 ซม.[6] นกจากประเทศออสเตรเลียจะมีขนาดเล็กกว่านกจากเขตทางเหนือ[7]

ในประเทศออสเตรเลีย นกกระเรียนไทยมักจะสับสนกับนกกระเรียนออสเตรเลีย สีแดงบนหัวของนกกระเรียนออสเตรเลียจะมีแค่บนหัวไม่แผ่ลงมาถึงคอ[6]

[แก้] การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย

ในอดีต นกกระเรียนไทยมีการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้างบนพื้นที่ราบลุ่มในประเทศอินเดียยาวตลอดแม่น้ำคงคา ทางใต้ไปถึงแม่น้ำโคทาวารี (Godavari) ทางตะวันตกไปถึงชายฝั่งรัฐคุชราต เขตธาร์พาร์คาร์ (Tharparkar) ของประเทศปากีสถาน[8] และทางตะวันออกถึงรัฐเบงกอลตะวันตกและรัฐอัสสัม ไม่พบการขยายพันธุ์ในแคว้นปัญจาบมานานแล้ว แม้ว่าจะพบบ้างประปรายในฝั่งอินเดียในฤดูหนาว นกกระเรียนหาพบได้ยากและมีจำนวนน้อยมากในรัฐเบงกอลตะวันตกและรัฐอัสสัม[9] และไม่พบมานานแล้วในรัฐพิหาร ในประเทศเนปาล การกระจายพันธุ์จำกัดอยู่เพียงที่ราบลุ่มฝั่งตะวันตก ประชากรส่วนมากอยู่ในเขตรูปันเทหี (Rupandehi) กบิลพัสดุ์ (Kapilvastu) และนวัลปราสี (Nawalparasi) [10][11]

มีประชากรสองกลุ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แตกต่างกันคือ ประชากรตอนเหนืออยู่ในประเทศจีนและพม่า และประชากรตอนใต้อยู่ในกัมพูชาและเวียดนาม[12] นอกจากนั้นยังเคยพบในประเทศไทยและทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์แต่ในทั้งสองประเทศสูญพันธุ์ไปแล้ว ในประเทศออสเตรเลียพบในบริเวณด้านเหนือของประเทศ และมีการอพยพไปยังบางพื้นที่[13] พิสัยการกระจายพันธุ์ของนกกระเรียนไทยกำลังลดลงและพื้นที่ๆเกิดมากที่สุดคือประเทศอินเดียซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ถูกทำลาย นกเหล่านี้จึงต้องอาศัยในนาข้าวในการเพิ่มจำนวน แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วจะพบนกกระเรียนในที่ราบลุ่ม แต่ก็มีรายงานว่าพบบนที่ราบสูงทางเหนือใน ฮาร์กิต ซาร์ (Harkit Sar) และ คาฮัง (Kahag) ในรัฐแคชเมียร์[14] นอกการนี้นกกระเรียนยังขยายพันธุ์ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากๆ เช่น ใกล้กับ พงดัม (Pong Dam) ในรัฐหิมาจัลประเทศ (Himachal Pradesh) ที่ซึ่งประชากรนกกระเรียนอาจจะเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของการเพาะปลูกข้าวตามแหล่งกักเก็บน้ำ[10][11]

นกกระเรียนมักอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ [15] หรือนาข้าวที่ไม่ได้เพราะปลูกที่มีน้ำท่วมขัง (ในพื้นที่เรียกว่า khet-taavadi[16]) สำหรับสร้างรัง การจับคู่ผสมพันธุ์มักจะเกิดในพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติมากกว่าแต่ก็ยังมีในนาข้าวหรือข้าวสาลีบ่อยๆ[10][11][17]

[แก้] อนุกรมวิธานและชนิดย่อย

นกกระเรียนทุกชนิดมีเท้าหลังลดรูปและยกสูงขึ้น

นกกระเรียนชนิดนี้จำแนกโดยลินเนียสในปี ค.ศ. 1758 และจัดอยู่ในสกุล Ardea ร่วมกับนกกระสาขนาดใหญ่[18] เอ็ดเวิร์ด ไบร์ท (Edward Blyth) ตีพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับนกกระเรียนในปี ค.ศ. 1881 ซึ่งเขาพิจารณานกกระเรียนไทยในประเทศอินเดียเป็นสองชนิดคือ Grus collaris และ Grus antigone[19] ปัจจุบันจำแนกออกเป็นหนึ่งชนิด สามชนิดย่อย ส่วนชนิดย่อยซึ่งมีประชากรอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์และสูญพันธุ์ไปแล้วยังคงเป็นที่กังขา

  • G. a. antigone หรือ นกกระเรียนอินเดีย เป็นนกกระเรียนที่พบในตอนเหนือและตอนกลางของประเทศอินเดีย เหลือประมาณ 10000 ตัว[20] เป็นชนิดย่อยมีขนาดใหญ่ที่สุด ที่มีลักษณะต่างไปจากชนิดย่อยอื่นคือมีปลอกคอสีขาวระหว่างหัวและคอ และตำแหน่งขนโคนปีกสีขาว
  • G. a. sharpii หรือ นกกระเรียนอินโดจีน หรือ นกกระเรียนหัวแดง กระจายพันธุ์ทางตะวันออกของพม่าแผ่ไปถึงเกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงในประเทศกัมพูชา เวียดนาม และ ลาว เหลือประมาณ 1000 ตัว[20] ชนิดย่อยนี้มีสีขนเข้มกว่า antigone ผู้แต่งบางคนพิจารณาว่า antigone และ sharpii เป็นตัวแทนของประชากรที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของลักษณะที่แตกต่างแบบค่อยเป็นค่อยไป[7]
  • G. a. gilliae หรือ นกกระเรียนออสเตรเลีย พบในทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย เหลือประมาณ 4000 ตัว[20] เดิมจัดเป็น sharpii (บางครั้งสะกดเป็น sharpei แต่แก้ไขให้เป็นไปตามกฎของไวยากรณ์ของภาษาละติน[5]) ต่อมาจึงแยกออกมาและตั้งชื่อเป็น gilliae (บางครั้งสะกดว่า gillae หรือ gilli) ในปี ค.ศ. 1988 พบครั้งแรกในประเทศออสเตรเลียเมื่อปี ค.ศ. 1969 และถือเป็นนกอพยพ ในนกท้องถิ่นออสเตรเลีย นกกระเรียนไทยและนกกระเรียนออสเตรเลียคล้ายกันมากแต่ก็ยังมีความแตกต่างกัน มีการเรียกนกกระเรียนไทยว่า "นกกระเรียนที่จุ่มหัวลงไปในเลือด" ชนิดย่อยนี้มีขนสีเข้มกว่าอย่างเห็นได้ชัดและแผ่นขนหูสีเทาใหญ่กว่า[note 1] มีขนาดเล็กที่สุด
  • G. a. luzonica หรือ นกกระเรียนเกาะลูซอน คาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว อาศัยอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ มันอาจเป็นชื่อพ้อง กับ gilliae หรือ sharpii[21]

[แก้] วิวัฒนาการ

นกกระเรียนกำลังกางปีก (อินเดีย)

บันทึกซากดึกดำบรรพ์ของนกกระเรียนนั้นมีไม่มากพอ วงศ์ย่อยที่สามารถระบุบได้ว่าเป็นนกกระเรียนนั้นพบในตอนปลายของยุคแรกเริ่มที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถือกำเนิดขึ้นมา (Eocene) หรือยุคเอโอซีน (ประมาณ 35 ล้านปีมาแล้ว) ส่วนสกุลนกกระเรียนในปัจจุบันปรากฏขึ้นเมื่อ 20 ล้านปีมาแล้ว[6] จากการศึกษาทางชีวภูมิศาสตร์ (Biogeography) ของซากดึกดำบรรพ์ที่รู้จักและอยู่ในอนุกรมวิธานของนกกระเรียนแสดงว่ากลุ่มอาจมีต้นกำเนิดมาจากโลกเก่า[6] ความหลากหลายเท่าที่มีอยู่ในระดับสกุลมีศูนย์กลางอยู่ที่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกาแต่เป็นที่เศร้าใจมากที่ไม่มีบันทึกซากดึกดำบรรพ์ในสภาพดีจากที่นั่นเลย ในทางตรงกันข้ามกลับมีซากดึกดำบรรพ์ของนกกระยางเป็นจำนวนมากที่ได้รับการบันทึกไว้จากที่นั้น ซึ่งคาดกันว่ามันใช้ถิ่นอาศัยร่วมกับนกกระเรียน

จากบันทึกซากดึกดำบรรพ์ สกุล Grus สามารถสืบสาวย้อนไปได้ถึง 12 ล้านปีหรือมากกว่านั้น ด้วยการวิเคราะห์ไมโตคอนเดรียดีเอ็นเอ (Mitochondrial DNA) จากตัวอย่างนกกระเรียนไทยที่มีอยู่อย่างจำกัดแสดงว่ามีการถ่ายเทเคลื่อนย้ายยีน (Gene Flow) ในประชากรแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชียจนกระทั่งมีพิสัยลดลงในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และในประเทศออสเตรเลียเป็นเพียงอาณานิคมเดียวเท่านั้นในตอนปลายของยุคไพลสโตซีน (Pleistocene) ประมาณ 3000 ช่วงอายุหรือ 35000 ปีมาแล้ว[3] มีการวิเคราะห์ nDNA microsatellite ยืนยัน 4 ครั้งจากกลุ่มตัวอย่าง[7] แสดงว่าประชากรในออสเตรเลียเป็นสัตว์ท้องถิ่นดั้งเดิมโดยแท้จริง และอาจเป็นไปได้ที่มีลูกผสมซึ่งเกิดกับนกกระเรียนออสเตรเลียซึ่งมีพันธุกรรมที่แตกต่าง นกกระเรียนไทยในออสเตรเลียคาดกันว่าสปีชีส์เริ่มแรก[7]

[แก้] ศัพท์มูลวิทยา

ชื่อสามัญ sarus มาจากชื่อในภาษาฮินดี ("sāras") ของนกกระเรียนชนิดนี้ คำในภาษาฮินดีมาจากคำในภาษาสันสกฤต sarasa แปลว่า "นกทะเลสาบ" (บางครั้งกร่อนเป็น sārhans) ขณะที่คนอินเดียให้ความนับถือในนกชนิดนี้[22] แต่ทหารอังกฤษในอาณานิคมอินเดียกลับล่านก ทหารเรียกนกว่า Serious[23] หรือ cyrus[24] ชื่อวิทยาศาสตร์ antigone—ตั้งตามชื่อลูกสาวของเอดิปุสผู้แขวนคอตนเอง อาจเกี่ยวข้องกับผิวหนังเปลือยตรงศีรษะและลำคอ[6][note 2]

[แก้] นิเวศวิทยาและพฤติกรรม

นกกระเรียนไทยไม่ใช่นกอพยพทางไกลเหมือนนกกระเรียนชนิดอื่นๆ แต่ก็มีการอพยพเป็นระยะทางช่วงสั้นๆในฤดูแล้งและฤดูฝน ประชากรนกกระเรียนที่มีการอพยพนั้นพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น[12] นกกระเรียนที่จับคู่จะปกป้องอาณาเขตจากนกกระเรียนอื่นด้วยเสียงร้องกู่ร้องและการกางปีก นกที่ยังไม่จับคู่จะอยู่รวมกันเป็นฝูงหลากหลายขนาดจำนวนตั้งแต่ 1–430 ตัว[11][25][26] ในพื้นที่กึ่งแห้งแล้ง คู่นกและลูกนกที่บินได้แล้วจะละทิ้งอาณาเขตในฤดูแล้งไปรวมฝูงกับนกที่ยังไม่ได้จับคู่ ในพื้นที่ชุ่มน้ำตลอดปี อย่างในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) คู่นกจะไม่ทิ้งอาณาเขต ฝูงนกกระเรียนที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในพื้นที่ 29 กม2. ของอุทยานแห่งชาติเคียวลาเดียว (Keoladeo)[27] ซึ่งมีนกถึง 430 ตัว และจากพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตอีทาวา (Etawah) และ มาอินปูริ (Mainpuri) ในรัฐอุตตรประเทศ มีนกจำนวน 245–412 ตัว ฝูกนกที่มีสามาชิกเกิน 100 ตัวนั้นมีรายงานจากรัฐกุจราช (Gujarat)[28]และประเทศออสเตรเลียเป็นประจำ ในระหว่างฤดูผสมพันธุ์ นกที่จับคู่จะขับไล่นกกระเรียนที่ยังไม่จับคู่ออกจากพื้นที่ชุ่มน้ำบางแห่งและประชากรนกท้องถิ่นสามารถลดลงได้ ประชากรนกกระเรียนในอุทยานแห่งชาติเคียวลาเดียวเคยมีบันทึกว่าจากนกมากกว่า 400 ตัวในฤดูร้อนลดลงเหลือเพียง 20 ในระหว่างมรสุม[27]

นกกระเรียนจะนอนในน้ำตื้นๆอาจเป็นเพราะจะได้ปลอดภัยจากสัตว์นักล่าบนพื้นดิน[6] นกที่โตเต็มที่จะไม่ผลัดขนทุกปี แต่จะผลัดทุกสองถึงสามปี[29]

[แก้] การกินอาหาร

นกกระเรียนกำลังหากินอยู่ริมบึงที่ภารตปุระ อินเดีย

นกกระเรียนไทยหากินในน้ำตื้น (ปกติน้ำลึกน้อยกว่า 30 ซม.) หรือในทุ่งหญ้า บ่อยครั้งพบนกกระเรียนแหย่ปากหากินในปลักโคลน มันเป็นสัตว์กินได้ทั้งพืชและสัตว์ เช่น แมลง (โดยเฉพาะตั๊กแตน) พืชน้ำ ปลา (อาจแค่เฉพาะในกรงเลี้ยง[30]) กบ สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง และเมล็ดพืช บางครั้งก็เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ เช่น งูน้ำ (Xenochrophis piscator)[6] มีบางกรณีที่พบได้ยากที่นกกระเรียนไทยกินไข่ของนกอื่น[31] และเต่า[32] ส่วนพืชก็อย่างเช่น พืชมีหัว หัวของพืชน้ำ หน่อหญ้า เมล็ดพืช และเมล็ดจากพืชที่เพาะปลูกเช่นถั่วลิสงและธัญพืชเช่นข้าว[6]

[แก้] การเกี้ยวพาราสีและการผสมพันธุ์

นกกระเรียนไทยมีเสียงร้องดังเหมือนแตร ที่สร้างมาจากหลอดลมที่ยาวม้วนพันกันอยู่ในบริเวณสันอกซึ่งคล้ายกันกับนกกระเรียนชนิดอื่น[33] การเกี้ยวพาราสีของนกกระเรียน จะแสดงออกโดยคู่นกอาจแสดงการกางปีก กระพือปีก ส่งเสียงร้องด้วยท่าทางที่สวยงามและพร้อมเพียงกันไปรอบๆพื้นที่ รวมถึงการ"เต้นระบำ"ที่กระทำทั้งในและนอกฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งประกอบไปด้วยการกระโดดช่วงสั้นๆ กระดกศีรษะขึ้นลง ตบเท้า ไปรอบๆคู่ของมัน[34] นอกจากนี้การเต้นระบำยังเป็นการข่มขู่ขับไล่เมื่อรังหรือลูกนกตกอยู่ในอันตรายอีกด้วย[6] นกกระเรียนไทยส่วนใหญ่ผสมพันธุ์ในฤดูมรสุมในประเทศอินเดีย (กรกฎาคมถึงตุลาคม) แม้ว่าอาจมีการวางไข่ครั้งที่ 2[27] และมีบันทึกว่านกกระเรียนผสมพันธุ์ได้ทั้งปี[11] และในตอนต้นฤดูฝนในประเทศออสเตรเลีย

หลอดลมยาวม้วนพันกันที่ใช้สร้างเสียงเรียกดังคล้ายแตร

นกกระเรียนสร้างรังขนาดใหญ่มีรูปร่างกลมแบนจากต้นไม้จำพวกอ้อหรือกกและพืชต่างๆในหนองบึงหรือนาข้าว[16] รังจะสร้างในน้ำตื้นโดยซ้อนทับไปบนกอกก กอข้าว หรือ กอหญ้า เพื่อที่รังจะได้อยู่สูงจากระดับน้ำคล้ายกับเป็นเกาะเล็กๆ รังไม่มีสิ่งปกปิดมองเห็นได้ชัดเจนจากระยะไกล[35] รังอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2 เมตรสูงเกือบ 1 เมตร[36] คู่นกจะหวงแหนแหล่งทำรังมาก บ่อยครั้งที่จะกับมาซ่อมแซมและใช้รังเดิมถึง 5 ฤดูผสมพันธุ์[37] ในหนึ่งครอกจะมีไข่ 1-2 ใบ (น้อยครั้งที่จะเป็น 3[37] หรือ 4[38] ใบ) พ่อแม่นกจะผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ฟักไข่[38] ใช้เวลาฟักไข่ราว 31 วัน (ราว 27–35 วัน[11][39]) ไข่นกกระเรียนไทยมีสีขาวหนักประมาณ 240 กรัม[6] พ่อแม่นกจะย้ายเปลือกไข่ออกจากรังหรือจะกลืนเปลือกไข่เข้าไปหลังลูกนกฟักเป็นตัว[40] ลูกนกระเรียนจะมีขนอุยปกคลุมทั่วตัว ขนบริเวณหัวและคอมีสีน้ำตาลอมเหลือง ขนข้างอกและหลังด้านบนเป็นสีน้ำตาลเข้ม บริเวณอกและท้องเป็นสีขาว[41] ลูกนกจะกินอาหารจากที่พ่อและแม่ป้อนในสองสามวันแรกและจะหากินเองหลังจากนั้นและจะตามพ่อแม่ไปหาอาหาร เมื่อเตือนภัย พ่อแม่นกจะร้อง "แคร่ร-รร" เสียงต่ำเพื่อส่งสัญญาณให้ลูกนกหยุดและนอนลง[42] นกวัยอ่อนจะอยู่กับพ่อแม่มากกว่า 3 เดือน[6] เชื่อกันว่านกกระเรียนจับคู่อยู่ด้วยกันตลอดชีวิต ถ้ามีตัวใดตัวหนึ่งตายลงนกที่เหลืออาจจับคู่กับนกตัวใหม่ได้ แต่นกกระเรียนเป็นนกที่จับคู่ยากมาก มันจะไม่ยอมจับคู่ใหม่จนกว่าจะพบคู่ที่พอใจ[43] นอกจากนี้ยังมีรายงานการเปลี่ยนคู่บันทึกไว้[44]

[แก้] ปัจจัยคุกคาม

บ่อยครั้งไข่ของนกกระเรียนไทยในรังโดนทำลายโดยอีกา[40] ในประเทศออสเตรเลีย สัตว์นักล่านกวัยอ่อนนั้นรวมถึงดิงโกและหมาจิ้งจอกแดง ขณะที่เหยี่ยวแดงมักจะกินไข่[6] การนำไข่ไปจากรังโดยเกษตรกร (เพื่อลดความเสียหายของพืชผล) หรือเด็กๆ (นำไปเล่น)[45] หรือคนงานเร่ร่อนเพื่อนำไปทำอาหาร[46] เป็นปัจจัยคุกคามต่อไข่นกกระเรียนที่สำคัญ ประมาณ 31-42% ของไข่ในรังจะไม่สามารถฟักเป็นตัวได้จากเหตุผลข้างต้น ลูกนกจะเป็นเหยื่อของสัตว์นักล่าประมาณ 8% แต่มากกว่า 30% ของลูกนกที่ตายนั้นไม่ทราบสาเหตุ[47][48] อัตราการรอดตายตั้งแต่เป็นไข่จนถึงนกวัยอ่อนจะอยู่ประมาณ 20%[49] ในบริเวณที่เกษตรกรยินยอมให้นกอาศัยโดยไม่ได้ทำอันตรายต่อนกนั้น มีอัตราการรอดเท่าๆกันกับในพื้นที่ชุ่มน้ำ คู่นกที่ทำรังช้าในฤดูกาลมีโอกาสการเลี้ยงลูกนกให้รอดตายต่ำกว่าปกติ แต่ถ้าในอาณาเขตมีพื้นที่ชุ่มน้ำมากอัตราการรอดจะดีขึ้น[45]

เรื่องโรคและปรสิตของนกกระเรียนไทยเป็นที่รู้น้อยมาก รวมถึงผลกระทบที่มีต่อนกป่า จากการศึกษาที่สวนสัตว์โรมระบุบว่านกทนต่อโรคระบาด[50] ปรสิตภายในที่มีการระบุบก็มี พยาธิตัวแบน Opisthorhis dendriticus จากตับของนกในกรงเลี้ยงที่สวนสัตว์ลอนดอน[51] และปรสิตหนอนตัวแบน (Allopyge antigones) จากนกในประเทศออสเตรเลีย[52] นกกระเรียนไทยมีแมลงปรสิตเหมือนกับนกทั่วๆไป ชนิดที่มีการบันทึกไว้ก็มี Heleonomus laveryi และ Esthiopterum indicum[53]

ในกรงเลี้ยงนกกระเรียนไทยมีอายุยาวถึง 42 ปี[note 3][54][55] การตายของนกกระเรียนที่ยังไม่โตเต็มที่บ่อยครั้งเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ มีอุบัติเหตุกับนกกระเรียนที่เกิดจากสารพิษอย่าง โมโนโครโตฟอส (monocrotophos) และ ดีลดริน (dieldrin) ในพื้นที่เกษตรกรรมบันทึกไว้[56][57] เท่าที่ทราบ มีนกที่โตเต็มที่บินชนสายไฟและโดนไฟดูดตาย ซึ่งมีอัตราการตายจากสาเหตุนี้ประมาณ 1% ของประชากรนกในพื้นที่ต่อปี[58]

[แก้] การอนุรักษ์

นกกระเรียนปกติจะอยู่เป็นคู่หรือฝูงขนาดเล็ก

มีนกกระเรียนไทยเหลืออยู่ในธรรมชาติประมาณ 15,000-20,000 ตัวจากการประเมินในปี ค.ศ. 2009[1] ประชากรชนิดย่อย นกกระเรียนอินเดีย เหลือน้อยกว่า 10,000 ตัวแต่ก็ถือว่ายังดีกว่าอีก 2 ชนิดย่อยที่เหลือ อาจเป็นเพราะได้รับความเคารพและธรรมเนียมที่สืบทอดกันมาทำให้นกไม่ได้รับอันตราย[59] และในหลายๆพื้นที่ นกกระเรียนไม่เกรงกลัวมนุษย์ นกกระเรียนไทยเคยพบในประเทศปากีสถานแต่ยังไม่พบอีกเลยตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ประชากรนกกระเรียนในอินเดียมีการลดจำนวนลง[1] จากการประมาณประชากรโดยรวมบนพื้นฐานของหลักฐานที่สะสมมาแสดงว่าประชากรในปี ค.ศ. 2000 ดีที่สุดคือ 10% และเลวร้ายที่สุดคือ 2.5% ของจำนวนทั้งหมดในปี ค.ศ. 1850[60] เกษตรกรหลายคนในอินเดียเชื่อว่านกกระเรียนนั้นเป็นตัวทำลายพืชผล[10] โดยเฉพาะข้าว แม้ว่าจากการศึกษาแสดงว่าการจิกกินเมล็กข้าวโดยตรงนั้นมีการสูญเสียจำนวนน้อยกว่าร้อยละหนึ่งและการเหยียบย่ำทำให้สูญเสียเมล็ดประมาณ 0.4-15 กก.[61] ทัศนคติของเกษตรกรมีแนวโน้มเป็นบวกในเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น และนี่เองเป็นการช่วยอนุรักษ์นกกระเรียนภายในพื้นที่เกษตรกรรม และการชดเชยความเสียหายความเสียหายแก่เกษตรกรตามความเป็นจริงอาจจะช่วยได้[47] ทุ่งนาอาจมีบทบาทที่สำหรับสำคัญในการช่วยอนุรักษ์นกชนิดนี้ เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาตินั้นถูกคุกคามมากขึ้นด้วยกิจกรรมต่างๆของมนุษย์[62] ประชากรนกกระเรียนในประเทศออสเตรเลียมีประมาณ 5,000 ตัวและอาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ[7] อย่างไรก็ตาม นกกระเรียนอินโดจีนกลับลดลงเป็นจำนวนมากจากสงครามและการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย (เช่นการเกษตรแบบเร่งรัดและการระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุ่มน้ำ) และเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 นกกระเรียนอินโดจีนได้หายไปจากพื้นที่การจายพันธุ์ส่วนใหญ่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยแผ่ไปถึงตอนใต้ของประเทศจีน มีประชากรเหลือประมาณ 1500-2000 ตัวกระจายตัวเป็นกลุ่มประชากรเล็กๆ ประชากรในประเทศฟิลิปปินส์นั้นรู้น้อยมากและสูญพันธุ์ไปในตอนปลายของคริสต์ทศวรรษ 1960[1]

ฝูงนกกระเรียน ประกอบไปด้วยนกโตเต็มที่ 2 ตัวและนกวัยอ่อน 1 ตัว

นกกระเรียนไทยจัดอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ[1] และไซเตสจัดอยู่ในบัญชีอนุรักษ์ที่ 2[63] การคุกคามประกอบไปด้วย ภัยคุกคามทำลายถิ่นที่อยู่หรือทำให้เสื่อมลง การล่าและดักจับ เช่นเดียวกับ สิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษ โรค และการแข่งขันในสปีชีส์ ผลของการผสมพันธุ์กันในเชื้อสายที่ใกล้เคียงกันมากในประชากรของประเทศออสเตรเลียยังต้องศึกษาต่อไป[7]

นกกระเรียนไทยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ ไทย มีโครงการนำนกกระเรียนกลับสู่ธรรมชาติในประเทศไทยโดยนำนกมาจากประเทศกัมพูชา[64]

[แก้] ประเทศไทย

นกกระเรียนไทยเป็นสัตว์ป่าสงวนหนึ่งใน 15 ชนิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 สถานะภาพปัจจุบันจัดเป็นสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วในประเทศไทย[65] ซึ่งพบนกกระเรียนครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2511 ที่บริเวณชายแดนติดกับกัมพูชา[66]

ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและมูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากล (ICF) ได้ร่วมกันจัดทำโครงการนำนกกระเรียนคืนถิ่น (G. a. sharpii) โดยเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2525 ในปี พ.ศ. 2527 ICF ได้ส่งลูกนกกระเรียนมาจำนวน 6 ตัว แต่ตายไป 1 ตัว ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2532 ICF ได้ส่งลูกนกมาให้อีก 6 ตัว นกทั้งหมดนำมาเลี้ยงดูอยู่ที่ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าบางพระ และเนื่องจากพ่อแม่พันธุ์มีน้อยเกินไปทางโครงการต้องจัดหาเพิ่มจากแหล่งอื่นอีก[67] ต่อมาสวนสัตว์โคราชได้ลูกนกมาจากการได้รับบริจาคจากประชาชนในบริเวณชายแดนไทย-ลาว กัมพูชา ระหว่างปี พ.ศ. 2532-2540 จำนวนหลายตัว ทางโครงการจึงได้มีการติดต่อกับสวนสัตว์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน[68]

สวนสัตว์โคราชจัดเป็นสถานที่เพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยได้เริ่มขยายพันธุ์ทั้งแบบธรรมชาติและการผสมเทียม มาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน จากประชากรเริ่มต้นจำนวน 26 ตัว จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 มีลูกนกที่เกิดมารวม 100 ตัว ขณะที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ สามารถขยายพันธุ์ได้อีกไม่ต่ำกว่า 50 ตัว[69] ทางสวนสัตว์จึงมีโครงการปล่อยนกกระเรียนกลับคืนสู่ธรรมชาติใน 6 แหล่งด้วยกันคือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบงคาย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยตลาดและห้วยจระเข้มาก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว[70] ซึ่งในอดีต ประเทศไทยเคยปล่อยนกกระเรียนสามตัวกลับสู่ธรรมชาติที่ทุ่งกะมังในปี พ.ศ. 2540 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ[66]

ปี พ.ศ. 2554 ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม คณะทำงานโครงการทดลองปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่พื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ (ประเทศไทย) และสวนสัตว์นครราชสีมาได้มีการทดลองปล่อยนกกระเรียนไทย อายุ 5 - 8 เดือน จำนวน 10 ตัว กลับคืนสู่ธรรมชาติที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ จากการติดตามพบว่านกกระเรียนดังกล่าวสามารถดำรงชีวิตอยู่ในธรรมชาติได้ตามปกติ ในปีถัดมา ได้ปล่อยนกกระเรียนไทยกลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง จำนวน 9 ตัว ที่อ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์[71]

[แก้] นกกระเรียนในวัฒนธรรม

The Floating Feather : วาดโดยเมลคัวร์ โดนเดอเคอเทอร์ (Melchior d'Hondecoeter) (ราวปี ค.ศ. 1680) นกในโรงเลี้ยงสัตว์ของสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษที่พระราชวังเฮทลู (Het Loo Palace) มีนกกระเรียนไทยอยู่ในฉากหลัง

นกกระเรียนไทยเป็นที่เคารพในประเทศอินเดียและมีตำนานที่ว่ามหาฤๅษีวาลมีกิ (Valmiki) ได้สาปแช่งผู้ที่ฆ่านกกระเรียนและได้แรงบันดาลใจจากนกกระเรียนในการเขียนมหากาพย์รามายณะ[72][73] นกกระเรียนยังเป็นคู่แข่งของนกยูงอินเดียในการคัดเลือกนกที่จะเป็นนกประจำชาติอินเดีย[74] ในชนเผ่าโคนที (Gondi) ซึ่งสักการะพระเจ้า 5 พระองค์ถือว่านกกระเรียนเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์[75] เนื้อนกกระเรียนถือว่าเป็นอาหารต้องห้ามในคัมภีร์ฮินดูโบราณ[76] เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่านกกระเรียนจะมีคู่เพียงตัวเดียวตลอดชีวิต ถ้าเกิดตัวใดตัวหนึ่งตายลง อีกตัวหนึ่งจะตรอมใจตายตาม นกกระเรียนเป็นสัญลักษณ์คุณงามความดีศีลธรรมในชีวิตแต่งงานและในรัฐคุชราตมีประเพณีให้คู่แต่งงานใหม่ดูคู่นกกระเรียนเป็นตัวอย่าง[77] ในที่ราบน้ำท่วมขังของแม่น้ำคงคา ได้มีการสังเกตการทางชีววิทยาของนกกระเรียนโดยจักรพรรดิโมกุล จาฮันกีร์ (Jahangir) ประมาณช่วงปี ค.ศ. 1607 เขาบันทึกว่านกกระเรียนวางไข่สองใบห่างกัน 48 ชั่วโมงและใช้เวลาฟัก 34 วัน[6]

ภาพวาดโดย โจฮานน์ มิเชล ซีลิกมันน์ (Johann Michael Seligmann) ตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ. 1749-1776 ในงานของ จอร์จ เอ็ดวาร์ดส์ (George Edwards)

แม้ว่านกจะเป็นที่เคารพและได้รับการปกป้องจากชาวอินเดีย แต่นกกระเรียนยังคงถูกล่าในช่วงที่อินเดียเป็นอาณานิคม มีบันทึกว่าการฆ่านกจะทำให้คู่ของมันแผดเสียงไปหลายวัน และเชื่อกันว่าหลังจากนั้นมันจะตรอมใจตายตามคู่ไป แม้แต่ในคู่มือการล่านกเพื่อการกีฬายังไม่เห็นด้วยที่จะยิงนกชนิดนี้[78] ตามที่นักสัตววิทยาชาวอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โทมัส ซี. เจอร์ดอน (Thomas C. Jerdon) กล่าวไว้ว่า นกวัยอ่อนกินอร่อย ขณะที่นกโตเต็มที่"ไร้ค่าที่จะวางบนโต๊ะ"[79] ไข่ของนกกระเรียนไทยใช้ในการรักษาแบบพื้นบ้านในบางส่วนของประเทศอินเดีย[77][80]

ในสมัยก่อน บ่อยครั้งที่นกวัยอ่อนจะโดนจับและนำไปเลี้ยงไว้ในโรงเลี้ยงสัตว์ทั้งในประเทศอินเดียและทวีปยุโรป มีการขยายพันธุ์สำเร็จในกรงเลี้ยงในช่วงตอนต้นของคริสต์ทศวรรษ 1600 โดยจักรพรรดิจาฮันกีร์[81] และในยุโรปและในสหรัฐอเมริกาในตอนต้นของคริสต์ทศวรรษ 1930[82][36]

Cquote1.svg

... นกวัยอ่อนเลี้ยงง่ายด้วยการป้อนอาหารด้วยมือ นกจะเชื่องและติดคนป้อนอาหารมากโดยเดินตามอย่างกับสุนัข มันเป็นนกที่ตลกมากด้วยท่าเต้นที่พิสดารและแสดงท่าทางน่าตลกขบขัน ซึ่งคุ้มค่าที่จะเลี้ยงไว้ นกกระเรียนตัวหนึ่งที่ฉันเลี้ยง เมื่อให้ขนมปังกับนมแก่มัน มันจะนำขนมปังออกจากนมและล้างในอ่างน้ำของมันก่อนจะกินเข้าไป นกตัวนี้นำมาจากพระราชวังที่ลัคเนา (Lucknow) ซึ่งมันจะดุร้ายกับคนแปลกหน้าและสุนัขมาก โดยเฉพาะถ้าพวกเขามีท่าทีกลัวมัน มันส่งเสียงดังหนวกหูมากซึ่งเป็นข้อเสียเพียงข้อเดียวของมัน

Cquote2.svg
Irby, 1861[83]

เครื่องบินใบพัด 14 ที่นั่งของอินเดียได้รับการตั้งชื่อตามนกกระเรียนนี้ว่า Saras[84][85]

ในประเทศไทย เรื่องของนกกระเรียนปรากฏอยู่ใน"เล่าเรื่องกรุงสยาม"ของสังฆราชปาเลอกัวซ์ และ "ลานนกกระเรียน " ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นอกจากนั้นยังปรากฏอยู่ในกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ดังนี้[43]

นกกระเรียนเวียนว่ายน้ำ เลงแล
ลงย่องร้องแกร๋แกร๋ แจ่มจ้า
ริมทุ่งกระทุงลอยแพ ลงล่อง
บินกลาดกลุ้มท้องฟ้าร่อนร้อง เหลือหลาย

[แก้] เชิงอรรถ

  1. ^ Meine & Archibald (1996) p. 126
  2. ^ Johnsgard (1983) p. 239
  3. ^ Flower (1938) บันทึกเพียงแค่ 26 ปีสำหรับนกเลี้ยง

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 BirdLife International (2009). "Species factsheet: Grus antigone". http://www.birdlife.org/datazone/species/index.html?action=SpcHTMDetails.asp&sid=2787&m=0. เรียกข้อมูลเมื่อ 2009-05-23. 
  2. ^ Blanford, W.T (1896). "A note on the two sarus cranes of the Indian region". Ibis 2 (ฉบับที่): 135–136. 
  3. ^ 3.0 3.1 Wood, T.C. & Krajewsky, C. (1996). "Mitochondrial DNA sequence variation among the subspecies of Sarus Crane (Grus antigone)" (PDF). The Auk 113 (ฉบับที่ 3): 655–663. http://elibrary.unm.edu/sora/Auk/v113n03/p0655-p0663.pdf. 
  4. ^ Vyas, Rakesh (2002). "Status of Sarus Crane Grus antigone antigone in Rajasthan and its ecological requirements". Zoos' Print Journal 17 (ฉบับที่ 2): 691–695. http://www.zoosprint.org/ZooPrintJournal/2002/February/691-695.pdf. 
  5. ^ 5.0 5.1 Rasmussen, PC & JC Anderton (2005). Birds of South Asia: The Ripley Guide. 2. Smithsonian Institution and Lynx Edicions. pp. 138–139. 
  6. ^ 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 Johnsgard, Paul A. (1983). Cranes of the world. Indiana University Press, Bloomington. ISBN 0-253-11255-9.
  7. ^ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 Jones, Kenneth L.; Barzen, Jeb A. & Ashley, Mary V. (2005). "Geographical partitioning of microsatellite variation in the sarus crane". Animal Conservation 8 (ฉบับที่ 1): 1–8. doi:10.1017/S1367943004001842. 
  8. ^ Azam, Mirza Mohammad & Chaudhry M. Shafique (2005). "Birdlife in Nagarparkar, district Tharparkar, Sindh". Rec. Zool. Surv. Pakistan 16 (ฉบับที่): 26–32. http://www.zsd.gov.pk/images/records/2005/ZSD%28XVI%29--26-32%282005%29.pdf. 
  9. ^ Choudhury, A. (1998). "Mammals, birds and reptiles of Dibru-Saikhowa Sanctuary, Assam, India". Oryx 32 (ฉบับที่ 3): 192–200. doi:10.1017/S0030605300029951. 
  10. ^ 10.0 10.1 10.2 10.3 Sundar, KSG; Kaur, J; Choudhury, BC (2000). "Distribution, demography and conservation status of the Indian Sarus Crane (Grus antigone antigone) in India". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 97 (ฉบับที่ 3): 319–339. 
  11. ^ 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 Sundar, KSG; Choudhury, BC (2003). "The Indian Sarus Crane Grus a. antigone: a literature review". J. Ecol. Soc. 16 (ฉบับที่): 16–41. 
  12. ^ 12.0 12.1 Archibald, G.W.; Sundar, KSG; Barzen, J. (2003). "A review of the three subspecies of Sarus Cranes Grus antigone". J. Ecol. Soc. 16 (ฉบับที่): 5–15. 
  13. ^ Marchant, S.; Higgins, P.J. (1993). Handbook of Australian, New Zealand & Antarctic birds. Oxford University Press, Melbourne.. 
  14. ^ Vigne, GT (1842). Travels in Kashmir, Ladak, Iskardo. Vol. 2. Henry Colburn,London. http://www.archive.org/stream/travelsinkashmir02vign#page/18/mode/2up. 
  15. ^ Sundar, KSG (2009). "Are rice paddies suboptimal breeding habitat for Sarus Cranes in Uttar Pradesh, India?". The Condor 111 (ฉบับที่ 4): 611–623. doi:10.1525/cond.2009.080032. 
  16. ^ 16.0 16.1 Borad, CK; Parasharya, Aeshita Mukherjee & B. M (2001). "Nest site selection by the Indian sarus crane in the paddy crop agroecosystem". Biological Conservation 98 (ฉบับที่ 1): 89–96. doi:10.1016/S0006-3207 (00) 00145-2. 
  17. ^ Sundar, KSG; Choudhury, BC (2006). "Conservation of the Sarus Crane Grus antigone in Uttar Pradesh, India". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 103 (ฉบับที่ 2–3): 182–190. 
  18. ^ Gmelin, JF (1788). Systema Naturae. 1 (13 ed.). p. 622.
  19. ^ Blyth, Edward (1881). The natural history of the cranes. R H Porter. pp. 45–51.
  20. ^ 20.0 20.1 20.2 Sarus Crane Birding in India and South Asia
  21. ^ Meine, Curt D. and George W. Archibald (Eds) (1996). The cranes: Status survey and conservation action plan. IUCN, Gland, Switzerland, and Cambridge, U.K.. ISBN 2831703263. 
  22. ^ หนังสือธรรมชาตินานาสัตว์ เล่ม 2 นายแพทย์ บุญส่ง เลขะกุล
  23. ^ Yule, Henry, Sir. (1903). Hobson-Jobson: A glossary of colloquial Anglo-Indian words and phrases, and of kindred terms, etymological, historical, geographical and discursive. New ed. edited by William Crooke, B.A.. J. Murray, London.
  24. ^ Stocqueler, JH (1848). The Oriental Interpreter. C. Cox, London.
  25. ^ Livesey,TR (1937). "Sarus flocks". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 39 (ฉบับที่ 2): 420–421. 
  26. ^ Prasad, SN; NK Ramachandran; HS Das & DF Singh (1993). "Sarus congregation in Uttar Pradesh". Newsletter for Birdwatchers 33 (ฉบับที่ 4): 68. http://www.archive.org/stream/NLBW33_4#page/n9/mode/1up. 
  27. ^ 27.0 27.1 27.2 Ramachandran, NK; Vijayan, VS (1994). "Distribution and general ecology of the Sarus Crane (Grus antigone) in Keoladeo National Park, Bharatpur, Rajasthan.". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 91 (ฉบับที่ 2): 211–223. 
  28. ^ Acharya,Hari Narayan G (1936). "Sarus flocks". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 38 (ฉบับที่ 4): 831. 
  29. ^ Hartert, Ernst & F Young (1928). "Some observations on a pair of Sarus Cranes at Tring". Novitates Zoologicae 34 (ฉบับที่): 75–76. http://www.archive.org/stream/novitateszoologi34lond#page/74/mode/2up. 
  30. ^ Law,SC (1930). "Fish-eating habit of the Sarus Crane (Antigone antigone)". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 34 (ฉบับที่ 2): 582–583. 
  31. ^ Sundar, KSG (2000). "Eggs in the diet of the Sarus Crane Grus antigone (Linn.)". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 97 (ฉบับที่ 3): 428–429. 
  32. ^ Chauhan, R; Andrews, Harry (2006). "Black-necked Stork Ephippiorhynchus asiaticus and Sarus Crane Grus antigone depredating eggs of the three-striped roofed turtle Kachuga dhongoka". Forktail 22 (ฉบับที่): 174–175. 
  33. ^ Fitch, WT (1999). "Acoustic exaggeration of size in birds via tracheal elongation: comparative and theoretical analyses" (PDF). J. Zool., Lond. 248 (ฉบับที่): 31–48. doi:10.1111/j.1469-7998.1999.tb01020.x. http://www.st-andrews.ac.uk/~wtsf/downloads/Fitch1999Trachea.pdf. 
  34. ^ Mukherjee, A. (2002). "Observations on the mating behaviour of the Indian Sarus Crane Grus antigone in the wild". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 99 (ฉบับที่ 1): 108–113. 
  35. ^ Whistler, Hugh (1949). Popular Handbook Of Indian Birds. 4th edition. Gurney and Jackson, London. หน้า 446–447.
  36. ^ 36.0 36.1 Walkinshaw, Lawrence H. (1947). "Some nesting records of the sarus crane in North American zoological parks". The Auk 64 (ฉบับที่ 4): 602–615. http://elibrary.unm.edu/sora/Auk/v064n04/p0602-p0615.pdf. 
  37. ^ 37.0 37.1 Mukherjee, A; Soni, V.C.; Parasharya, C.K. Borad B.M. (12). "Nest and eggs of Sarus Crane (Grus antigone antigone Linn.)" (PDF). Zoos' Print Journal 15 (ฉบับที่): 375–385. http://www.zoosprint.org/ZooPrintJournal/2000/December/375-385.pdf. 
  38. ^ 38.0 38.1 Sundar, KSG & BC Choudhury (2005). "Effect of incubating adult sex and clutch size on egg orientation in Sarus Cranes Grus antigone". Forktail 21 (ฉบับที่): 179–181. http://www.orientalbirdclub.org/publications/forktail/21pdf/Sundar-Sarus.pdf. 
  39. ^ Ricklefs RE, DF Bruning * G W Archibald. "Growth rates of cranes reared in captivity". The Auk 103 (ฉบับที่ 1): 125–134. http://elibrary.unm.edu/sora/Auk/v103n01/p0125-p0134.pdf. 
  40. ^ 40.0 40.1 Sundar, KSG & BC Choudhury (2003). "Nest sanitation in Sarus Cranes Grus antigone in Uttar Pradesh, India". Forktail 19 (ฉบับที่). http://www.orientalbirdclub.org/publications/forktail/19pdfs/Sundar-Sarus.pdf. 
  41. ^ นกกระเรียนในประเทศไทย สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ อ.ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้, bknowledge.org
  42. ^ Ali, S (1957). "Notes on the Sarus Crane". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 55 (ฉบับที่ 1): 166–168. 
  43. ^ 43.0 43.1 นกกระเรียน สัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  44. ^ Sundar, KSG (2005). "Observations of mate change and other aspects of pair-bond in the Sarus Crane Grus antigone". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 102 (ฉบับที่ 1): 109–112. 
  45. ^ 45.0 45.1 Sundar, KSG (2009). "Are rice paddies suboptimal breeding habitat for Sarus Cranes in Uttar Pradesh, India?". The Condor 111 (ฉบับที่ 4): 611–623. 
  46. ^ Kaur, J.; Choudhury, B.C. (2008). "Conservation of the vulnerable Sarus Crane Grus antigone antigone in Kota, Rajasthan, India: a case study of community involvement". Oryx 42 (ฉบับที่ 3): 452–255. doi:10.1017/S0030605308000215. 
  47. ^ 47.0 47.1 Mukherjee, A; C. K. Borad and B. M. Parasharya (2002). "Breeding performance of the Indian sarus crane in the agricultural landscape of western India". Biological Conservation 105 (ฉบับที่ 2): 263–269. doi:10.1016/S0006-3207 (01) 00186-0. 
  48. ^ Kaur J & BC Choudhury (2005). "Predation by Marsh Harrier Circus aeruginosus on chick of Sarus Crane Grus antigone antigone in Kota, Rajasthan". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 102 (ฉบับที่ 1): 102. 
  49. ^ Borad, CK; Mukherjee, Aeshita; Parasharya, BM & S.B. Patel (2002). "Breeding performance of Indian Sarus Crane Grus antigone antigone in the paddy crop agroecosystem". Biodiversity and Conservation 11 (ฉบับที่ 5): 795–805. doi:10.1023/A:1015367406200. 
  50. ^ Ambrosioni P & Cremisini ZE (1948). "Epizoozia de carbonchi ematico negli animali del giardino zoologico di Roma" (ในภาษาItalian). Clin. Vet. 71 (ฉบับที่): 143–151. 
  51. ^ Lal, Mukund Behari (1939). "Studies in Helminthology-Trematode parasites of birds". Proceedings of the Indian Academy of Sciences. Section B 10 (ฉบับที่ 2): 111–200. http://www.archive.org/stream/proceedingsofthe020220mbp#page/n149/mode/2up/search/Antigone. 
  52. ^ Johnston, SJ (1913). "On some Queensland trematodes, with anatomical observations and descriptions of new species and genera". Quarterly Journal of Microscopical Science 59 (ฉบับที่): 361–400. 
  53. ^ Tandan, BK. "The genus Esthiopterum (Phthiraptera: Ischnocera)". J. Ent. (B) 42 (ฉบับที่ 1): 85–101. http://www.phthiraptera.org/Publications/0456.pdf. 
  54. ^ Flower, M.S.S. (1938). "The duration of life in animals - IV. Birds: special notes by orders and families". Proc. Zool. Soc. London (ฉบับที่): 195–235. 
  55. ^ Ricklefs, R. E. (2000). "Intrinsic aging-related mortality in birds" (PDF). J. Avian Biol. 31 (ฉบับที่): 103–111. doi:10.1034/j.1600-048X.2000.210201.x. http://www.umsl.edu/~ricklefsr/Reprints/R2000.pdf. 
  56. ^ Pain, D.J., Gargi, R., Cunningham, A.A., Jones, A., Prakash, V. (2004). "Mortality of globally threatened Sarus cranes Grus antigone from monocrotophos poisoning in India". Science of the Total Environment 326 (ฉบับที่ 1–3): 55–61. doi:10.1016/j.scitotenv.2003.12.004. PMID 15142765. 
  57. ^ Muralidharan, S. (1993). "Aldrin poisoning of Sarus cranes (Grus antigone) and a few granivorous birds in Keoladeo National Park, Bharatpur, India". Ecotoxicology 2 (ฉบับที่ 3): 196–202. doi:10.1007/BF00116424. 
  58. ^ Sundar, KSG & BC Choudhury (2005). "Mortality of sarus cranes (Grus antigone) due to electricity wires in Uttar Pradesh, India". Environmental Conservation 32 (ฉบับที่): 260–269. doi:10.1017/S0376892905002341. 
  59. ^ Kaur, Jatinder; Anil Nair and B.C. Choudhury (2008). "Conservation of the Vulnerable sarus crane Grus antigone antigone in Kota, Rajasthan, India: a case study of community involvement". Oryx 42 (ฉบับที่ 3): 452–455. doi:10.1017/S0030605308000215. 
  60. ^ BirdLife International (2001) (PDF). Threatened birds of Asia: the BirdLife International Red Data Book.. BirdLife International, Cambridge, UK. ISBN 0946888426. http://birdbase.hokkaido-ies.go.jp/rdb/rdb_en/grusanti.pdf. 
  61. ^ Borad, C.K., Mukherjee, A., Parasharya, B.M. (2001). "Damage potential of Indian sarus crane in paddy crop agroecosystem in Kheda district Gujarat, India". Agriculture, Ecosystems and Environment 86 (ฉบับที่ 2): 211–215. doi:10.1016/S0167-8809 (00) 00275-9. 
  62. ^ Sundar, KSG (2009). "Are rice paddies suboptimal breeding habitat for Sarus Cranes in Uttar Pradesh, India?". The Condor 111 (ฉบับที่ 4): 611–623. doi:10.1525/cond.2009.080032. 
  63. ^ นกกระเรียน แฟ้มสัตว์โลก โลกสีเขียว
  64. ^ Tanee T, Chaveerach A, Anuniwat A, Tanomtong A, Pinthong K, Sudmoon R & P., Mokkamul (2009). "Molecular Analysis for Genetic Diversity and Distance of Introduced Grus antigone sharpii L. to Thailand" (PDF). Pakistan Journal of Biological Sciences 12 (ฉบับที่ 2): 163–167. doi:10.3923/pjbs.2009.163.167. PMID 19579938. http://scialert.net/pdfs/pjbs/2009/163-167.pdf. 
  65. ^ นกกระเรียนไทย ฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทย
  66. ^ 66.0 66.1 นกกระเรียน ชีวิตในตำนาน สารคดี
  67. ^ พรทิพย์ อังคปรีชาเศรษฐ์ นกกระเรียนคืนถิ่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
  68. ^ โครงการนกกระเรียนคืนถิ่น บุบผา อ่ำเกตุ
  69. ^ "นกกระเรียนไทย"ที่สวนสัตว์ดุสิตขยายพันธุ์สำเร็จ ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
  70. ^ กษมา หิรัณยรัชต์. ฉลองนกกระเรียนตัวที่ 100 พันธุ์ไทยแท้-แท้ ที่โคราช. มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2552 หน้า 21
  71. ^ เตรียมปล่อย “กระเรียนไทย”ใกล้สูญพันธุ์ สู่ธรรมชาติที่บุรีรัมย์อีก 9 ตัว, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 27 มีนาคม 2555
  72. ^ Leslie, J. (1998). "A bird bereaved: The identity and significance of Valmiki's kraunca". Journal of Indian Philosophy 26 (ฉบับที่ 5): 455–487. doi:10.1023/A:1004335910775. 
  73. ^ Hammer, Niels (2009). "Why Sārus Cranes epitomize Karuṇarasa in the Rāmāyaṇa". Journal of the Royal Asiatic Society 19 (ฉบับที่): 187–211. doi:10.1017/S1356186308009334. 
  74. ^ Sundar, KS Gopi (2006). "Conservation of the Sarus Crane Grus antigone in Uttar Pradesh, India". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 103 (ฉบับที่ 2-3): 182–190. 
  75. ^ Russell, RV (1916). The tribes and castes of the Central Provinces of India. Volume 3. Macmillan and Co., London. p. 66. http://www.archive.org/stream/tribescastesofce03russ#page/66/mode/2up/search/crane. 
  76. ^ Bühler, Georg (1898). The sacred laws of the Aryas. Part 1 and 2. The Christian Literature Company, New York. p. 64. http://www.archive.org/stream/sacredlawsofarya00buhliala#page/n129/mode/2up/search/crane. 
  77. ^ 77.0 77.1 Sundar, KS Gopi; Choudhury BC (2003). "The Indian Sarus Crane Grus a. antigone: A Literature Review". Journal of Ecological Society 16 (ฉบับที่): 16–41. 
  78. ^ Finn, F (1915). Indian sporting birds. Francis Edwards, London. pp. 117–120. http://www.archive.org/stream/indiansportingbi00finn#page/117/mode/1up/search/Sarus. 
  79. ^ Jerdon, TC (1864). Birds of India. 3. George Wyman & Co, Calcutta. http://www.archive.org/stream/birdsofindiabein03jerd#page/662/mode/2up. 
  80. ^ Kaur, J & BC Choudhury (2003). "Stealing of Sarus crane eggs". Current Science 85 (ฉบับที่ 11): 1515–1516. 
  81. ^ Ali, S (1927). "The Moghul emperors of India as naturalists and sportsmen. Part 2". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 32 (ฉบับที่ 1): 34-63. 
  82. ^ Rothschild D (1930). "Sarus crane breeding at Tring". Bull. Brit. Orn. Club 50 (ฉบับที่): 57-68. 
  83. ^ Irby,LH (1861). "Notes on birds observed in Oudh and Kumaon". Ibis 3 (ฉบับที่ 2): 217–251. doi:10.1111/j.1474-919X.1861.tb07456.x. http://www.archive.org/stream/ibis03brit#page/242/mode/2up/search/antigone. 
  84. ^ Norris, Guy (2005). "India works to overcome Saras design glitches". Flight International 168 (ฉบับที่ 5006): 28. 
  85. ^ Mishra, Bibhu Ranjan. "After IAF, Indian Posts shows interest for NAL Saras", 16 November 2009. สืบค้นวันที่ 13 January 2010

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons


เครื่องมือส่วนตัว

สิ่งที่แตกต่าง
การกระทำ
ป้ายบอกทาง
มีส่วนร่วม
พิมพ์/ส่งออก
เครื่องมือ
ภาษาอื่น