กระบือ
กระบือ | |
---|---|
กระบือในประเทศไทย | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
สัตว์เลี้ยงหรือปศุสัตว์
|
|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Artiodactyla |
วงศ์: | Bovidae |
วงศ์ย่อย: | Bovinae |
สกุล: | Bubalus |
สปีชีส์: | B. bubalis |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | |
Bubalus bubalis (Linnaeus, 1758) |
ควาย หรือ กระบือ จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับงานเกษตรกรรมของประเทศทางเอเซียมากที่สุด เพราะ ชาวนานิยมเลี้ยงควายเป็นแรงงานเพื่อไว้ไถนา บ้างก็ใช้ควายเป็นพาหนะ ในการเข้าไปทำไร่ทำนา ในประวัติศาตร์ชาติไทย นายทองเหม็นแห่งหมู่บ้านบางระจันก็ขี่ควายออกไปรบ บ้างก็ฆ่าควายเพื่อกินเนื้อเป็นอาหาร ควายจึงมีประโยชน์หลายประการ ปัจจุบันมีการใช้งานควายน้อยลง เพราะนิยมใช้รถไถ แทน
เนื้อหา |
[แก้] ลักษณะทั่วไป
ควายเป็นสัตว์มีสี่ขา เท้าเป็นกีบ ตัวขนาดใกล้เคียงกับวัวโตเต็มวัยเมื่ออายุระหว่าง 5-8 ปี น้ำหนักตัวผู้โตเต็มวัยโดยเฉลี่ย 520-560 กิโลกรัม ตัวเมียเฉลี่ยประมาณ 360-440 กิโลกรัม ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย มีผิวสีเทาถึงดำ (บางตัวมีสีชมพู เรียกว่า ควายเผือก) มีเขาเป็นลักษณะเด่นเฉพาะตัว ปลายเขาโค้งเป็นวงคล้ายพระจันทร์เสี้ยว
ควายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลูกควายจะกินนมแม่จนอายุประมาณ 1 ปี 6 เดือน ควายจะเจริญเติบโตใช้แรงงานได้ระหว่างอายุ 2.5-3 ปี ช่วงที่ใช้งานได้เต็มที่ คือระหว่างอายุ 6-9 ปี ควายแต่ละตัวจะใช้งานได้จนอายุย่างเข้า 20 ปี อายุควายโดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 25 ปี
[แก้] สายพันธุ์
แยกได้เป็นสองกลุ่มคือควายป่า และควายบ้าน และควายบ้านนั้นก็แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ ควายปลัก (Swamp buffalo) ควายแม่น้ำ (River buffalo) ทั้งสองชนิดจัดอยู่ในวงศ์ และ สกุล เดียวกันคือ Bubalus bubalis แต่ก็มีความแตกต่างกันทางสรีระวิทยา รูปร่าง อย่างเห็นได้ชัดเจน จากการศึกษาทางด้านชีวภาพโมเลกุลพบว่า ควายปลักมีจำนวนโครโมโซม 24 คู่ ส่วนควายแม่น้ำจะจำนวนโครโมโซม 25 คู่ และสามารถผสมข้ามพันธุ์ระหว่างทั้งสองชนิดนี้ได้ [1]
- ควายปลัก
เลี้ยงกันในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาว เลี้ยงเพื่อใช้แรงงานในไร่นา เพื่อปลูกข้าวและทำไร่ และเมื่อกระบืออายุมากขึ้นก็จะส่งเข้าโรงฆ่าเพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร ชอบนอนแช่ปลัก มีรูปร่างล่ำสัน ผิวหนังมีสีเทาเข้มเกือบดำอาจมีสีขาวเผือก มีขนเล็กน้อย ลำตัวหนาลึก ท้องใหญ่ หัวยาวแคบ เขามีลักษณะแบบโค้งไปข้างหลัง หน้าสั้น หน้าผากแบบราบ ตานูนเด่นชัด ช่วงระหว่างรูจมูกทั้งสองข้างกว้าง คอยาวและบริเวณใต้คอจะมีขนขาวเป็นรูปตัววี (chevlon) หัวไหล่และอกนูนเห็นชัดเจน
- ควายแม่น้ำ
พบในประเทศอินเดีย ปากีสถาน อียิปต์ ประเทศในยุโรปตอนใต้และยุโรปตะวันออก ให้นมมากและเลี้ยงไว้เพื่อรีดนม ไม่ชอบลงแช่โคลน แต่จะชอบน้ำสะอาด มีหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์มูร่าห์ นิลิ ราวี เมซานี เซอติ และเมดิเตอเรเนียน เป็นต้น กระบือประเภทนี้จะมีขนาดใหญ่ รูปร่างแข็งแรง ลักษณะทั่วไปจะมีผิวหนังสีดำ หัวสั้น หน้าผากนูน เขาสั้น และบิดม้วนงอ ส่วนลำตัวจะลึกมาก มีขนาดเต้านมใหญ่
[แก้] สิ่งเกี่ยวข้อง
- คำว่า กระบือ เป็นคำยืมมาจากภาษาเขมร ក្របី กฺรบี แปลว่าควายเช่นกัน
- ควาย ในภาษาตากาล็อก เรียกว่า คาราบาว เป็นที่มาของวงดนตรีคาราบาว
- รถไถที่นำมาใช้แทนแรงงานควาย เรียกว่า "ควายเหล็ก"
- พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงริเริ่มโครงการธนาคารกระบือ (Buffalo Bank Project) ขึ้นที่ จ.ปราจีนบุรี
- ในประเทศไทยมีประเพณีวิ่งควายที่จังหวัดชลบุรี ในประเทศเวียดนามมีประเพณีชนควายที่จังหวัดหายฟ่อง[2]
- มีการนำควายมาเลี้ยงเพื่อการท่องเที่ยว อย่างเช่น บ้านควายไทย จังหวัดสุพรรณบุรี
- ควายบ้านที่นำไปปล่อยไว้ในป่า หรือหนีเข้าไปอยู่ในป่า จนกระทั่งมีวิถีชีวิต ลักษณะนิสัยที่เปลี่ยนไปจากความเป็นควายบ้าน มีคำเรียกว่า "ควายปละ" (ข้อมูลคุณมาโนช พุฒตาล การจัดรายการวิทยุ 99.5MHz ออกอากาศวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550)
[แก้] อ้างอิง
- ^ พันธุ์กระบือ กรมปศุสัตว์
- ^ ตามไปดู..เทศกาลชนควายที่หายฟ่อง
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- ข้อมูลเกี่ยวข้องกับ Bubalus bubalis จากวิกิสปีชีส์
- ทำไมคนไทยจึงลืมควาย โดย สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 9
- ศูนย์สนเทศทางกระบือนานาชาติ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- กลุ่มวิจัยและพัฒนากระบือ กองบำรุงพันธุ์สัตว์