หมีขาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หมีขาว
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Ursidae
สกุล: Ursus
สปีชีส์: U. maritimus
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ursus maritimus
Phipps, 1774
แผนที่การแสดงการกระจายพันธุ์ของหมีขาว
ชื่อพ้อง
  • Ursus eogroenlandicus
  • Ursus groenlandicus
  • Ursus jenaensis
  • Ursus labradorensis
  • Ursus marinus
  • Ursus polaris
  • Ursus spitzbergensis
  • Ursus ungavensis
  • Thalarctos maritimus

หมีขาว หรือ หมีขั้วโลก (อังกฤษ: Polar bear, รัสเซีย: Белый медведь, ชื่อวิทยาศาสตร์: Ursus maritimus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในอันดับสัตว์กินเนื้อ (Carnivora) จัดเป็นหมีชนิดหนึ่ง

หมีขาว ถือได้ว่าเป็นสัตว์กินเนื้อบนพื้นดินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากหมีกริซลีย์ (U. arctos horribilis) (บางข้อมูลจัดให้เป็นที่ 1) ที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ ตัวผู้เต็มวัยอาจสูงได้ถึง 3 เมตร น้ำหนักตัวอาจมากได้ถึง 350–680 กิโลกรัม (770–1,500 ปอนด์) หมีขาวมีรูปร่างที่แตกต่างจากหมีชนิดอื่น ๆ ที่เห็นได้ชัดเจน คือ มีส่วนคอที่ยาวกว่า ขณะที่ใบหูก็มีขนาดเล็ก อุ้งเท้ามีขนาดใหญ่ และที่เป็นจุดเด่นเห็นได้ชัด คือ สีขนที่เป็นสีขาวครีมอมเหลืองอ่อน ๆ อันเป็นที่มาของชื่อเรียก เนื่องจากถูกความเค็มของเกลือในทะเล ซึ่งขนสีครีมนี้ทำให้พรางตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยหิมะและน้ำแข็งได้เป็นอย่างดี

หมีขาวกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะซีกโลกทางเหนือ บริเวณขั้วโลกเหนือหรืออาร์กติกเท่านั้น จัดได้ว่าเป็นสัตว์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในซีกโลกนี้ อุ้งเท้าของหมีขาวมีขนรองช่วยให้ไม่ลื่นไถลไปกับความลื่นของพื้นน้ำแข็ง หมีขาวถือเป็นสัตว์ที่เดินทางไกลมาก โดยบางครั้งอาจจะใช้วิธีการนั่งบนแผ่นหรือก้อนน้ำแข็งลอยตามน้ำไป หรือไม่ก็ว่ายน้ำหรือดำน้ำไป ซึ่งหมีขาวจัดเป็นหมีที่ว่ายน้ำและดำน้ำเก่งมาก โดยใช้ขาหน้าพุ้ย หรือบางครั้งก็ใช้ทั้ง 4 ขา เคยมีผู้พบหมีขาวว่ายอยู่ในทะเลที่ห่างจากชายฝั่งไกลถึง 200 ไมล์

หมีขาว เป็นหมีที่ถือได้ว่ากินอาหารมากกว่าหมีชนิดอื่น ๆ ซึ่งอาหารของหมีขาวมีมากมาย เช่น แมวน้ำ หรือ วอลรัส ด้วยการย่องเข้าไปเงียบ ๆ หรือหลบซ่อนตัวตามก้อนหินหรือก้อนน้ำแข็ง นอกจากนี้แล้วบางครั้งยังอาจจับนกทะเล ทั้งไข่และลูกนก บางครั้งก็จับปลากิน หรืออาจจะกินซากของวาฬที่ตายเกยตื้นได้อีกด้วย

เนื้อหา

[แก้] วิถีชีวิต

เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวในเขตอาร์กติก (ราวเดือนธันวาคม-มกราคม) ดวงอาทิตย์จะค่อย ๆ คล้อยต่ำลงเรื่อย ๆ จนไม่ปรากฏอีกเลยที่เส้นขอบฟ้าตลอดฤดูกาล ซึ่งช่วงเวลานี้นับได้ว่าเป็นช่วงที่หฤโหดที่สุดในภูมิภาคนี้ เพราะไม่มีแสงสว่าง กลางวันจะมืดเหมือนกลางคืน อาหารก็ขาดแคลน พร้อมด้วยพายุหิมะติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน

หมีขาว ในช่วงเวลานี้จะเป็นเวลาที่ให้กำเนิดลูก โดยการขุดโพรงในน้ำแข็งหรือใต้ก้อนหิน เมื่อหิมะตกทับถมมา ผนังถ้ำจะหนาขึ้น และมีความอบอุ่นคล้ายกับอิกลูของชาวเอสกิโม แม่หมีจะคลอดลูกภายในถ้ำนั้น ลูกหมีเกิดใหม่จะมีความยาวราว 20 นิ้วเท่านั้น และมีน้ำหนักตัวไม่ถึงกิโลกรัมดี ซึ่งครั้งหนึ่ง แม่หมีจะออกลูกได้ราว 2 ตัว ในบางครั้งอาจมากถึง 4 ตัว ลูกหมีเกิดใหม่ตาจะยังไม่ลืม และยังไม่มีขนปกคลุมตามลำตัว และจะลืมตาได้เมื่ออายุราว 33 วัน แต่เลนส์ตาจะยังใช้การไม่ได้เต็มที่จนเมื่อมีอายุประมาณ 47 วัน และประสาทหูจะได้ยินเมื่ออายุ 26 วัน แต่จะใช้การได้ดีที่สุดเมื่ออายุได้ 3 เดือน เมื่อลูกหมีอายุเข้า 6 สัปดาห์ครึ่ง ก็ตรงกับช่วงระยะเวลาที่ผ่านพ้นฤดูหนาวพอดี

สำหรับแม่หมีในช่วงนี้จะไม่กินอาหารเลย แต่จะใช้พลังงานจากไขมันที่สะสมไว้ แม้กระทั่งหมีตัวผู้ก็จะเข้าสู่ถ้ำเพื่อจำศีล เมื่อผ่านพ้นฤดูหนาวไปแล้ว หิมะและน้ำแข็งเริ่มละลาย แสงแดดกลับมาอีกครั้ง (เดือนมีนาคม-เมษายน) ซึ่งในช่วงนี้ หมีตัวเต็มวัยอาจจะกินหญ้าหรือมอสส์ เป็นอาหารรองท้องได้ ลูกหมีจะหย่านม แม่หมีจะพาลูก ๆ ตระเวนไปในที่ต่าง ๆ เพื่อสอนวิธีการล่าเหยื่อให้ ลูกหมีจะอยู่กับแม่จนอายุได้ขวบกว่า จากนั้นจะจากแม่ไปเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่[1]

[แก้] สัญลักษณ์

หมีขาว ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศรัสเซีย[2]

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ หน้า 124-127, สัตว์สวยป่างาม โดย ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม, 2518)
  2. ^ Polar Bear จากกองทุนสัตว์ป่าโลก (อังกฤษ)
Commons:Category
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่น ๆ เกี่ยวกับ:
หมีขาว

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

เครื่องมือส่วนตัว

สิ่งที่แตกต่าง
การกระทำ
ป้ายบอกทาง
มีส่วนร่วม
พิมพ์/ส่งออก
เครื่องมือ
ภาษาอื่น